รฟท.เคลียร์ปมสถานีอยุธยา”รถไฟไทย-จีน”ปรับแบบหลังคาหน้าจั่วเปลี่ยนเป็นแบบเรียบ และขยับไม่ให้ซ้อนกับสถานีเดิม รอรายงานผู้เชี่ยวชาญมรดกโลกแจ้งผลการลงพื้นที่ คาดเซ็นสัญญา 4-5 ไม่เกินเม.ย.นี้ ส่วนทับซ้อนไฮสปีด 3 สนามบิน รอแก้สัญญาฯคาดเริ่มสร้างไม่เกินกลางปีนี้
แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้า การก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทางรวม 250.77 กม. วงเงินลงทุน 179,412.21 ล้านบาท ว่า ขณะนี้ยังเหลืองานโยธาอีก 2 สัญญา ที่ยังไม่ได้เริ่มก่อสร้าง จากงานโยธาทั้งหมด 14 สัญญา ได้แก่ สัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ที่มีประเด็นมรดกโลกที่สถานีอยุธยา และสัญญา4-1ช่วงบางซื่อ-ดอนเมืองมีประเด็นที่เส้นทางทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน(ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) โดยคาดว่า จะได้ข้อยุติและเริ่มงานก่อสร้างได้ภายในกลางปีนี้
สำหรับ สัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ภายหลังจากที่ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์นานาชาติเพื่อการศึกษาการสงวนรักษาและการบูรณะมรดกทางวัฒนธรรม (ICCROM) และ ผู้เชี่ยวชาญจากสภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ (ICOMOS) ซึ่งเป็นผู้แทนองค์กรที่ปรึกษาของคณะกรรมการมรดกโลก ได้ลงสำรวจพื้นที่จริงและรับฟังข้อมูลเกี่ยวกับรายงานการประเมินผลกระทบทางทรัพย์สินและวัฒนธรรมต่อแหล่งมรดกโลก นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา (HIA) และขอให้รฟท.แก้ไข 2 เรื่อง คือ ปรับลดความสูงของสถานีซึ่งสรุปให้มีการปรับแบบหลังคาจากหน้าจั่ว เป็นหลังคาแบบเรียบ และขยับสถานีเพื่อไม่ให้โครงสร้างของหลังคาสถานีใหม่ ซ้อนทับกับสถานีรถไฟอยุธยาเดิมที่ประกาศเป็นโบราณสถานแล้ว พร้อมทั้งให้อนุรักษ์และคงคุณค่าของสถานีรถไฟอยุธยาเดิมไว้
ซึ่งรฟท.ได้ดำเนินการแก้ไขตามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญเรียบร้อยแล้ว ส่วนเรื่องความสูงของโครงสร้างสถานีจากเดิม 37.45 เมตร ปรับเหลือ 35.45 เมตร และปรับลดความสูงของสันรางจาก 19 เมตร เหลือ 17 เมตร ได้อธิบายทำความเข้าใจแล้วว่า ไม่สามารถลดไปกว่านี้ได้แล้ว
โดยขณะนี้รฟท.ได้ส่งรายละเอียดไปที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) แล้ว เพื่อรายงานต่อคณะอนุกรรมการมรดกโลกทางวัฒนธรรม และคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกทราบ เพื่อนำส่งรายงานให้ศูนย์มรดกโลก (World heritage Centre) ต่อไป
แหล่งข่าวกล่าวว่า ในส่วนของการก่อสร้างสัญญาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ - พระแก้ว ระยะทาง 13.30 กิโลเมตร วงเงิน 10,325.90 ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.มีมติสั่งจ้าง บริษัท บุญชัยพาณิชย์ (1979) จำกัดไปแล้ว โดยทางเอกชนยืนราคาถึงสิ้นเดือนมี.ค.2568 ขณะนี้ รฟท.รอหนังสือจากผู้เชี่ยวชาญฯมรดกโลก รายงานผลการลงพื้นที่ จ.อยุธยา อย่างเป็นทางการ ซึ่งคาดว่าจะส่งหนังสือเป็นทางการ ภายในเดือนมี.ค.และจะลงนามสัญญาก่อสร้างได้ไม่เกินเดือนเม.ย. 2568
“จากการพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญฯที่ลงพื้นที่ ไม่ได้กังวลประเด็นของรถไฟความเร็วสูงแล้ว เนื่องจากมีการปรับแก้ไขตามความเห็นไปหมดแล้ว โดยขอให้ทางจังหวัด เตรียมแผนรองรับกรณีมีรถไฟความเร็วสูง ที่ความว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาที่อยุธยามากขึ้น ทั้งด้านการบริหารจัดการจราจร และจัดการผังเมือง ขณะที่ ทางกรมศิลป์เอง มีความกังวล เรื่องเกาะเมืองอยุธยา ให้ความเห็นว่า ในระหว่างการก่อสร้าง จะต้องเฝ้าระวัง เรื่องแรงสั่นสะเทือน และมีแผนบูรณะไว้รองรับ รวมถึงให้มีการขุดค้นโบราณวัตถุในทุกฐานรากตอม่อ ด้วย
@สัญญา 4-1 ทับซ้อน ไฮสปีด คาดจบในเม.ย.นี้
ส่วนสัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.2 กม. เป็นช่วงที่เส้นทางทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) อยู่ในขั้นตอนการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯ โดยจะเสนอบอร์ดรฟท.ในวันที่ 27 มี.ค. 2568 คาดว่าจะแก้ไขสัญญาและลงนามและเริ่มก่อสร้างในกลางปี 2568 และทางเอกชนจะเริ่มก่อสร้าง ช่วงโครงสร้างร่วมเป็นลำดับแรก และคาดว่าจะใช้เวลาในการก่อสร้างเสาตอม่อ 1 ปีครึ่ง ซึ่งจะทำให้โครงกากรรถไฟไทย-จีน เริ่มวางรางและระบบได้ ประมาณ ปี 2570