xs
xsm
sm
md
lg

หมายความว่ายังไง? ถ้าคนญี่ปุ่นพูดแบบนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


ภาพจาก english-for-japanese.net
คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน เมื่อก่อนตอนเรียนภาษาต่างประเทศ ฉันเคยนึกว่าแปลความหมายได้ก็พอแล้ว แต่ต่อมาพบว่าสิ่งที่อาจจะสำคัญกว่านั้นคือความเข้าใจเรื่องวัฒนธรรมที่แฝงอยู่ในภาษานั้น ซึ่งภาษาญี่ปุ่นเองก็มีความซับซ้อนในเรื่องนี้อยู่มาก เหตุหนึ่งก็คงเพราะคนญี่ปุ่นนิยมสื่อสารทางอ้อมแต่เป็นที่เข้าใจในหมู่คนญี่ปุ่นด้วยกัน ในขณะที่คนต่างชาติอาจสับสนได้พอสมควรทีเดียว

เป็นเรื่องปกติที่ในหลายกรณีคนญี่ปุ่นจะไม่พูดตรง ๆ แต่เลี่ยงพูดเป็นอย่างอื่นโดยที่คนพูดและคนฟังเข้าใจตรงกัน ในขณะที่บางอย่างก็พูดเป็นมารยาทไปอย่างนั้นเอง แต่ไม่ได้หมายความตามที่พูด ซึ่งอันนี้หากเป็นวัฒนธรรมอื่นคงก่อให้เกิดปัญหาความสัมพันธ์ได้ แต่สำหรับญี่ปุ่นแล้วกลับเป็นธรรมเนียมของเขาอย่างนั้นเอง ขอยกตัวอย่างประกอบนะคะ

“ไว้มาเที่ยวนะ  /ไว้เจอกันนะ / ไว้มากินข้าวที่บ้านนะ”

เวลาคนญี่ปุ่นเขียนข้อความสั้น ๆ ลงบน ส.ค.ส. หลายคนจะลงท้ายว่า “ไว้เจอกันนะ” “รอวันที่จะได้เจอกันอีก” แต่ถึงเวลามีโอกาสอย่างนั้นจริง ก็ใช่ว่าจะนัดเจอกันเป็นเรื่องเป็นราว เหมือนพูดไปอย่างนั้นเพื่อคงมิตรภาพไว้ ให้ความรู้สึกคล้ายเพื่อนที่คบกันผิวเผินเพียงในโลกโซเชียล แต่ไม่ได้มาเจอหน้าถามสารทุกข์สุกดิบกันเป็นเรื่องเป็นราวจริงจังนัก

ภาพจาก spring.walkerplus.com
ส่วนเวลาที่คนญี่ปุ่นเอ่ยปากชวนหรือเชิญ มีความเป็นไปได้สองอย่างคือหมายความตามนั้นจริง หรือไม่ก็แค่พูดตามมารยาท(แบบญี่ปุ่น) แล้วทีนี้เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเขาหมายความตามนั้นจริงหรือเปล่า ก็อาจต้องดูสถานการณ์ประกอบ อย่างเช่น ถ้าเรากับเขาเพิ่งรู้จักกัน ก็น่าจะเป็นไปได้มากว่าเขาพูดไปตามมารยาท หรือต่อให้รู้จักกันอยู่แล้ว แต่หากเขาชวนโดยที่ไม่มีการนัดหมายเป็นเรื่องเป็นราว หรือหากเราพยายามจะนัดแล้วเขาบ่ายเบี่ยง มีข้ออ้าง ก็แสดงว่าตอนนั้นเขาพูดเพื่อรักษามิตรภาพ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะนัดเจอจริงดังที่พูดออกมา

แต่ถ้าเกิดอีกฝ่ายแสดงทีท่ากระตือรือร้นในการนัดเจอ เช่น ชวนแล้วชวนอีก ถามว่าเมื่อไหร่จะมา อย่างนี้ก็ค่อนข้างมั่นใจได้ว่าเขาหมายความตามนั้นจริง ซึ่งหากเขาเชิญไปบ้านก็อย่าลืมหาของติดไม้ติดมือไปฝากด้วย เป็นมารยาทอย่างหนึ่งของญี่ปุ่นที่คล้าย ๆ ของไทยอยู่เหมือนกัน

ฉันสังเกตว่าเวลาคนญี่ปุ่นจะไปเจอใครที่เพิ่งรู้จักหรือไม่ได้เจอกันนาน บางทีเขาก็มีอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปฝากอีกฝ่ายด้วย ไม่ไปมือเปล่า และเตรียมถุงใส่ที่ดูดีไปด้วยเพื่อให้ผู้รับสามารถถือกลับบ้านได้ แต่ถ้าเราไปบ้านเขา ก็ให้เฉพาะของแต่ไม่ต้องให้ถุงใส่ จะสะดวกสำหรับเจ้าบ้านมากกว่า

“ขนมวันก่อนอร่อยดี”

ฉันคิดว่าสิ่งหนึ่งที่ทำให้คนญี่ปุ่นดูน่ารักก็คือการไม่ลืมว่าอีกฝ่ายเคยทำอะไรดี ๆ ให้ตนไว้บ้าง แล้วตอบแทนเมื่อมีโอกาส ไม่เป็นฝ่ายรับเพียงอย่างเดียว ทำให้ตามมารยาทแล้วคนญี่ปุ่นมักจะเอ่ยปากขอบคุณอีกฝ่ายถึงน้ำใจที่เคยได้รับ แม้ว่าเรื่องนั้นอาจผ่านไปนมนานแล้ว จนบางทีคนฟังเองก็นึกไม่ออกเหมือนกันว่าขอบคุณเรื่องอะไร

ภาพจาก biz.trans-suite.jp
แต่เรื่องนี้ก็สร้างความเข้าใจผิดได้อยู่เหมือนกันค่ะ ครั้งหนึ่งเพื่อนร่วมงานชาวญี่ปุ่นเคยเล่าให้ฉันฟังด้วยความประหลาดใจว่า ตอนเธอทักทายเจ้านายชาวไทยและขอบคุณเขาที่วันก่อนซื้อขนมมาฝาก และบอกว่าขนมอร่อยดี ปรากฏว่าไม่นานหลังจากนั้นเธอก็ได้รับขนมดังกล่าวเป็นของฝากอีก เจ้านายคงเข้าใจผิดคิดว่าชอบขนมที่ว่า เธอบอกฉันว่าจริง ๆ แล้วเธอพูดไปตามมารยาท ไม่ได้หมายความว่าอยากกินอีก หรืออยากให้อีกฝ่ายซื้อมาให้อีก

แล้วก็เป็นมารยาทแบบญี่ปุ่นอีกเช่นกันที่เวลาซื้อของไปฝากใคร ผู้ให้จะไม่อวดสรรพคุณของของที่นำไปฝาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะไม่บอกว่านี่ของดีนะ หาซื้อยาก อุตส่าห์หามาเพื่อเธอเลยนะนี่ แต่จะพูดไปในทางตรงกันข้าม คือจะบอกว่านี่ของนิด ๆ หน่อย ๆ ไม่มีราคา หรืออาจบอกว่าเป็นของน่าเบื่อ ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ อาจเป็นของดี ซึ่งที่พูดอย่างนี้ก็เพื่อแสดงความถ่อมตน ไม่อย่างนั้นอาจฟังดูเหมือนตัวเองอยู่ในฐานะสูงกว่า ซึ่งคนญี่ปุ่นจะไม่ชอบ

“พูดภาษาญี่ปุ่นเก่งจัง”

ได้ยินว่าคนต่างชาติหลายคนที่เพิ่งเรียนภาษาญี่ปุ่นหรือพูดญี่ปุ่นได้แค่ไม่กี่คำ ได้รับคำชมเช่นนี้จากคนญี่ปุ่นกันบ่อยครั้ง แล้วรู้สึกไม่เข้าใจว่าคนญี่ปุ่นทำไมถึงชม แต่หากพูดภาษาญี่ปุ่นได้คล่องปรื๋อ คนกลับไม่ค่อยชมแล้วว่าเก่ง

ภาพจาก japaninsider.com
ดูเหมือนว่าการชมของคนญี่ปุ่นแบบนี้มีความหมายได้สามอย่าง หนึ่งคือประหลาดใจว่ามีคนต่างชาติที่พูดภาษาญี่ปุ่นได้ด้วย สองคือให้กำลังใจว่า เก่งนะที่หัด ฝึกต่อไปนะ ยังมีโอกาสพัฒนากว่านี้อีก คล้าย ๆ ผู้ใหญ่ชมเด็กที่เพิ่งหัดทำอะไรใหม่นั่นเอง สามคือคิดว่าการชมอย่างนั้นเป็นการแสดงความสุภาพต่ออีกฝ่าย ส่วนคนที่เก่งภาษาญี่ปุ่นแล้วไม่ค่อยมีคนชมนั้น คนญี่ปุ่นคนหนึ่งบอกว่าก็เหมือนคนเป็นนักร้อง คงไม่มีใครไปชมว่าเขาร้องเพลงเก่งจัง

การที่คนญี่ปุ่นชมคนต่างชาติว่าเก่งภาษาญี่ปุ่นอาจฟังดูเหมือนเป็นเรื่องดี แต่ให้ผลตรงกันข้ามสำหรับคนต่างชาติที่รู้ดีว่าตัวเองอ่อนหัด เพราะทำให้พวกเขารู้สึกทะแม่ง ๆ ราวกับโดนเสียดสี จึงมีคนแนะว่าเวลาคนญี่ปุ่นชมว่า “พูดภาษาญี่ปุ่นเก่งจัง” อย่าไปแปลความหมายตามตัวอักษร แต่ให้เข้าใจว่าเขาหมายถึงว่า “อุ๊ย คุณพูดญี่ปุ่นได้ด้วยเหรอ” ต่างหาก แล้วหากวันใดที่ไม่ค่อยได้ยินคนชมแล้ว ก็มีความเป็นไปได้ว่าเก่งภาษาญี่ปุ่นจริง ซึ่งก็อาจจะพลอยหงุดหงิดเป็นพิเศษหากวันดีคืนดีมีคนมาชมว่าเก่งภาษาญี่ปุ่นจัง

“ยากนะ” / “จะพิจารณาดู”


คนญี่ปุ่นไม่ค่อยจะพูดปฏิเสธกันตรง ๆ โดยเฉพาะถ้าไม่ใช่คนที่สนิทชิดเชื้อกันมากพอ แต่จะใช้คำอื่นที่มีความหมายอ้อม อย่างเช่น เวลาเรานำเสนออะไรบางอย่าง หรือขอความร่วมมือจากอีกฝ่าย แล้วเขาบอกว่า “ยากนะ” “ขอคิดดูก่อน” “ต้องพิจารณาเรื่องนี้ให้รอบคอบก่อน” ส่วนใหญ่ก็ตีความได้ว่า “ไม่” นั่นเอง

ภาพจาก biz.trans-suite.jp
การปฏิเสธอย่างสุภาพยังมีอีกหลายคำ เช่น หากพนักงานร้านสะดวกซื้อถามว่า “รับซาลาเปาเพิ่มมั้ยคะ” เราไม่เอาก็อาจตอบว่า “ไม่เป็นไรครับ/ค่ะ” ซึ่งในกรณีนี้ภาษาญี่ปุ่นจะพูดว่า “เค็กโคเดส” (結構です) หรือ “ไดโจบุเดส” (大丈夫です)

บางคนอาจเคยได้ยินคำว่า “จ๊ตโตะ…” (ちょっと...) แล้วหยุดแค่นั้นเหมือนพูดค้าง ไม่จบประโยค แต่เป็นที่รู้กันว่าเป็นการปฏิเสธ เช่น ถ้าเพื่อนถามว่าวันเสาร์นี้ว่างมั้ย แล้วเราไม่สะดวกก็อาจตอบไปว่า “โดะโย่บิ วะ จ๊ตโตะ…” (เสาร์ไม่ได้/ไม่สะดวก) ความหมายคล้ายกับบอกว่า “ยากนะ” นั่นเอง

“อยากให้ทำซุปเต้าเจี้ยวให้ทุกเช้า”

ประโยคนี้ฟังดูค่อนข้างโบราณแต่ปัจจุบันก็ยังมีคนใช้กัน เป็นคำขอแต่งงานของผู้ชายญี่ปุ่นค่ะ เคยมีคนต่างชาติที่ไม่รู้ความหมายเป็นนัย ๆ ของประโยคนี้เข้าใจไปว่า คนพูดคงทำกับข้าวไม่เป็นจึงต้องขอให้คนอื่นมาช่วยทำให้

ฉันเห็นคนญี่ปุ่นมาตั้งกระทู้ถามบนกระดานสนทนาออนไลน์กันเยอะว่า “ขอแต่งงานด้วยคำว่า ‘ทำซุปเต้าเจี้ยวให้ฉันทุกเช้าหน่อยนะ’ ดีไหม?”

ภาพจาก conobie.jp
คนที่ไม่ปลื้มกับถ้อยคำแบบนี้ตอบว่า “โบราณไป แถมยังเป็นประโยคคำสั่ง และสื่อความหมายว่าผู้หญิงมีหน้าที่ต้องทำงานบ้านอีกต่างหาก” “เหมือนบอกนัย ๆ ว่าตัวเองจะไม่ยอมทำงานบ้าน” บางคนก็บอกว่า “เดี๋ยวนี้บ้านที่กินขนมปังเป็นอาหารเช้าเยอะขึ้น อย่างบ้านฉันไม่มีเต้าเจี้ยวด้วยซ้ำไป ทำไงล่ะ?” มีคนแซวเล่นว่า “ถ้าบอกว่า ‘ฉันจะทำซุปเต้าเจี้ยวให้ทุกเช้าเลย’ สิค่อยน่าฟังหน่อย”

ในขณะเดียวกันสาว ๆ หลายคนที่ไม่ถือสากับประโยคนี้ก็บอกว่า “ขอแต่งงานทั้งที ได้ยินก็ดีใจแน่นอน” ส่วนจะทำซุปเต้าเจี้ยวให้รึเปล่านั่นอีกเรื่อง ส่วนบางคนก็ไม่แน่ใจว่าอีกฝ่ายพูดจริงหรือพูดเล่น แล้วก็มีอีกหลายคนบอกว่าอยากให้พูดมาตรง ๆ ง่าย ๆ สั้น ๆ ว่า “แต่งงานกันนะ” มากกว่า สรุปคือนานาจิตตัง แต่โดยภาพรวมแล้วถ้าพูดขอแต่งงานตรง ๆ ดูเหมือนจะปัญหาน้อยกว่า

วันนี้ขอลาเพื่อนผู้อ่านไปแต่เพียงเท่านี้นะคะ แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง"  เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.
กำลังโหลดความคิดเห็น