รมช.พาณิชย์ เผยผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) ยื่น 3 ข้อเสนอ เพิ่มสินค้าเข้าถึงตลาดในไทยกว่า 1 หมื่นรายการ ลดภาษีนำเข้าเหลือ 0% พร้อมให้ลดข้อกีดกันทางการค้า และสนับสนุนการลงทุนในสหรัฐฯ ด้านพิชัยลุ้นข้อเสนอเข้าเป้ามะกัน สร้างสมดุลต่อคนไทย ถือโอกาสได้ยกเครื่องเศรษฐกิจและปรับปรุงโครงสร้าง
วันนี้ (18 ก.ค.) นายฉันทวิชญ์ ตัณฑสิทธิ์ รมช.พาณิชย์ กล่าวถึงความคืบหน้าการเจรจาภาษีนำเข้าสหรัฐอเมริกา ว่า มีทิศทางที่ดี ทั้งสองฝ่ายมีความพึงพอใจมากขึ้น หลังจากที่มีการเจรจาผ่านทางออนไลน์เมื่อคืนวันพุธที่ผ่านมา (16 ก.ค.) ได้มีข้อเสนอให้ไทยพิจารณา 3 ประเด็น คือ เพิ่มรายการสินค้าที่เป็นการเข้าถึงตลาด (Market access) โดยลดภาษีให้เหลือ 0% ลดมาตรการข้อกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTB) และสนับสนุนการลงทุนในสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ต้องมีการพิจารณาอย่างใกล้ชิดว่าจะตอบรับข้อเสนอสหรัฐฯ มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะรายละเอียดของสินค้ามากกว่า 10,000 รายการ เช่น สินค้าเกษตร สินค้าอุตสาหกรรม ที่สหรัฐฯ ยังไม่บรรลุการเจรจา ส่วนสินค้าที่ไม่ใช่ภาษี ที่ทีมไทยแลนด์ ต้องมาดูผลกระทบ
ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมข้อมูลการเจรจาเชิงเทคนิค (List Market ) อาทิ มาตรการ NTB มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี การใช้สัดส่วนการใช้วัตถุดิบภายในประเทศจะพิจารณาปรับสัดส่วนของวัตถุดิบภายในประเทศ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของกรมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ยืนยันว่ามีความคืบหน้าแน่นอน เบื้องต้นหลังจากมีการส่งข้อเสนอให้กับผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) ทางทีมเจรจาฝั่งสหรัฐฯ ค่อนข้างพึงพอใจในทิศทางที่ถูกต้อง ยืนยันว่าการเจรจาจะจบภายในวันที่ 1 ส.ค. แต่ก็ยอมรับว่าทีมเจรจามีความกังวลในสินค้าที่ใช้สัดส่วนวัตถุดิบในประเทศ (Local content) เนื่องจากมีประเด็นที่อ่อนไหวจะกระทบประเทศที่สาม ส่วนแผนการลงทุนที่ไทยเสนอให้สหรัฐฯ เพื่อให้ธุรกิจสหรัฐฯ ลงทุนในประเทศไทย ในรายละเอียดต้องความเหมาะสมว่าไทยสามารถทำได้มากน้อยขนาดไหน
รมช.พาณิชย์ กล่าวอีกว่า ยอมรับว่าระยะเวลาเจรจามีจำกัด ทุกชาติที่จะไปคุย USTR ทุกประเทศต้องเร่งปิดดีลให้จบภายในวันที่ 1 ส.ค. หากสหรัฐฯ ส่งข้อเรียกร้องมา ทางทีมไทยแลนด์พร้อมพิจารณาและส่งกลับได้เร็วยิ่งขึ้น ยอมรับว่าข้อเสนอหรือข้อเรียกร้องเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าการใช้สัดส่วนวัตถุดิบในประเทศ (Local content) ในไทยเปลี่ยนแปลงไป มีการใช้สัดส่วนของสินค้าต่างประเทศในการผลิตมากขึ้น การพูดคุยอย่างต่อเนื่องถือว่าเป็นสัญญานเจรจาที่ดี แต่ก็ไม่ได้ไว้วางใจและเดินหน้าทำงานอย่างเต็มที่ การเจรจาขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย ได้แก่ 1. สิ่งที่ USTR คุยกับไทย 2. ต้องคุยกับเอกชนในประเทศให้เร็วที่สุด ยอมรับว่าสถานการณ์เปลี่ยนแปลงเร็วมาก ประเทศต่างๆ มีการเจรจาทั้งสำเร็จและไม่สำเร็จ แม้ว่าจะมีการพูดคุยอยู่ ก็ต้องคุยให้เร็วมากยิ่งขึ้น เพราะสถานการณ์เปลี่ยนแปลงรวดเร็วและเปลี่ยนแปลงทุกวัน
ทั้งนี้ เมื่อมีการแข่งขันเข้ามา เป็นโอกาสให้ประเทศไทยปรับตัวเพื่อให้อุตสาหกรรมไทยแข่งขันได้ แม้ว่าจะมีการเจรตาหรือไม่ก็ต้องปรับตัว ไม่ได้อย่างให้มองว่าสหรัฐฯ ได้ประโยขน์จากไทยอย่างเดียว ส่วนความไม่แน่นอนทางการเมือง ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่เชื่อว่าทุกฝ่ายน่าจะเห็นประโชยน์ของประเทศ โดยสหรัฐฯ ได้กำหนดการใช้ Local content สำหรับสินค้าที่จะส่งออกไปสหรัฐฯ เป็น 3 กลุ่ม คือ 1. วัตถุดิบของไทย, วัตถุดิบที่ไทยนำเข้าจากสหรัฐฯ มาผลิตเป็นสินค้าส่งออก และวัตถุดิบจากประเทศพันธมิตร ที่ถูกเก็บภาษีตอบโต้ต่ำกว่าไทย ภายใต้หลักเกณฑ์การคำนวณสัดส่วนมูลค่าการผลิตในประเทศหรือภูมิภาค (Regional Value Content หรือ RVC) 2. วัตถุดิบจากจีน และ 3. วัตถุดิบจากประเทศอื่น ที่ไม่อยู่ใน 2 กลุ่มแรก ซึ่งไทยต้องพิจารณาการใช้สัดส่วนวัตถุดิบอย่างละเอียดรอบคอบ เพราะเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมาก
ด้านนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ระบุว่า เมื่อคืนที่ผ่านมานี้ได้พูดคุยอย่างเป็นทางการครั้งที่ 2 กับทางผู้แทนการค้าอเมริกา (USTR) โดยประเทศไทยได้ส่งข้อเสนอที่ได้รับการปรับปรุงไปตั้งแต่ก่อนหน้านี้ และก็ได้มีการนำข้อเสนอเพิ่มเติมหลังจากที่หารือกันกับหลายภาคส่วนมานำเสนอเพิ่มเติม ย้ำว่าการปรับปรุงข้อเสนอครั้งนี้เชื่อว่าจะเข้าตรงเป้า และเป็นที่พอใจกับทางอเมริกา ในขณะที่จะสร้างสมดุลต่อประโยชน์กับคนไทยและอุตสาหกรรมไทยได้เป็นอย่างดี ที่ผ่านมา ได้มีการพูดคุยและทำแบบทดสอบภาวะวิกฤต (Stress test) กับภาคธุรกิจ ภาคเกษตรกรรม ซึ่งได้ให้ความเห็นที่เป็นประโยชน์ โดยหลายภาคส่วนเห็นว่าการเจรจาครั้งนี้ จะเป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยจะได้ยกเครื่องเศรษฐกิจ ปรับปรุงโครงสร้าง
จึงขอเป็นตัวแทนประเทศไทยขอบคุณทุกภาคส่วนที่ช่วยให้ความเห็นที่เป็นประโยชน์ คิดถึงภาพรวมของประเทศ และแสดงเจตจำนงค์ที่จะเห็นประเทศไทยพัฒนาต่อเนื่องจนออกมาเป็นข้อเสนอล่าสุดนี้ ต้องขอขอบคุณทีมไทยแลนด์ทุกคนที่ร่วมกันทำงานมาโดยตลอด ทั้งทีมที่ไทย และทีมที่กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา จากทุกกระทรวงและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ส่วนเรื่องอัตราภาษีจะเป็นเท่าไรนั้น ทางเราก็ได้รับแจ้งว่าจะนำส่งผลการประชุมไปรายงานประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ให้ทราบ และหากมีการอัปเดต ทางสหรัฐอเมริกาก็จะแจ้งให้ทราบโดยพร้อมกัน สำหรับงานการเจรจายังไม่จบ ยังมีงานเอกสารที่จะต้องทำกันต่อเนื่อง และทีมไทยแลนด์ที่ประจำอยู่ที่กรุงวอชิงตันก็จะยังเกาะติดสถานการณ์นี้อย่างต่อเนื่อง