เหตุทหารเหยียบระเบิดบริเวณเนิน 481 อุบลราชธานี บาดเจ็บ 3 นาย เมื่อวานนี้ (16 ก.ค.) ใกล้จุดขัดแย้งและทหารเขมรขุดแนวคูเลต-ห้ามทหารไทยสร้างถนน พบเป็นทุ่นระเบิด PMN-2 ผลิตในรัสเซีย ขณะที่หน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดที่ 3 ระบุ พื้นที่ตรงนั้นกวาดล้างทำลายหมดแล้ว คาดลอบวางใหม่ในพื้นที่
วันนี้ (17 ก.ค.) จากกรณีที่เมื่อวานนี้ (16 ก.ค.) ชุดลาดตระเวนกองร้อยทหารพรานที่ 2302 (ชุด ลว. ร้อย ทพ.2302) ได้จัดกำลังพล จำนวน 14 นาย ประกอบด้วยทหารพราน 2 นาย ชุดกองพันพร้อมรบเคลื่อนที่เร็วกองทัพบก (RDF) 6 นาย ทหารช่าง 6 นาย ออกลาดตระเวนจากฐานปฏิบัติการมรกต อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี ไปยังเนิน 481 โดยกำลังพลชุด ลาดตระเวนได้เหยียบกับระเบิด บริเวณพิกัด WA 220 861 ทางชุดลาดตระเวนจึงได้วิทยุขอกำลังหน่วยแพทย์เข้าปฐมพยาบาลเบื้องต้นก่อนที่จะนำตัวส่งโรงพยาบาล โดยทั้ง 3 มีอาการบาดเจ็บข้อเท้า 1 นาย และบาดเจ็บเล็กน้อย 2 นาย โดยจุดที่โดนเป็นบริเวณพิกัด WA 220 861 ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้กับพื้นที่มีกรณีความขัดแย้ง ที่ทางทหารกัมพูชาเคยเข้ามาขุดแนวคูเลต และเคยเข้ามาห้ามไม่ให้ทหารไทยสร้างถนนก่อนที่จะถอยออกไป
ล่าสุด รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า พื้นที่แนวสนามทุ่นระเบิดดังกล่าว หน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมที่ 3 (นปท.3) กองกำลังสุรนารี ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี หนองคาย อุดรธานี และหนองบัวลำภู ได้กวาดล้างและทำลายหมดแล้ว และจากการพิสูจน์ด้วยภาพรายงาน พบว่าเป็นทุ่นระเบิด PMN-2 ที่เป็นทุ่นใหม่ จึงคาดว่าน่าจะเป็นทุ่นระเบิดที่วางใหม่
ย้อนกลับไปก่อนเกิดเหตุเพียง 1 วัน เมื่อวันที่ 15 ก.ค. ที่ผ่านมา กำลังพลจากกองร้อยทหารราบที่ 6021 (ร้อย ร.6021) กองพันพร้อมรบเคลื่อนที่เร็วกองทัพบก (RDF) จัดกำลังพลลาดตระเวน เจาะเส้นทางจากต้นพญาสัตบรรณ ไปยังฐานปฏิบัติการตัว T ตรวจพบวัตถุระเบิดชนิด PMN2 ผลิตโดยรัสเซีย ซึ่งเป็นระเบิดใหม่ จำนวน 1 ลูก พิกัด 48P WA 21507 86176 เวลาต่อมาตรวจพบระเบิดชนิด PMN2 จำนวน 3 ลูก พิกัด WA 21907 858869 ชุดทหารช่าง (ชุด ช.ร้อย.ร.6021) จึงทำการถอนตัว เนื่องจากพบสนามทุ่นระเบิด ไม่สามารถเคลื่อนที่ต่อไปได้
สำหรับรายละเอียดทุ่นระเบิด PMN-2 เป็นทุ่นระเบิดสังหารบุคคลอยู่กับที่ มีน้ำหนักตัวทุ่น 15.9 ออนซ์ ใช้ดินระเบิด COM P-B จำนวน 4.1 ออนซ์ มีชนวนระเบิดในตัว ทำงานด้วยน้ำหนักกด 1,111 ปอนด์ อำนาจระเบิดทำอันตรายฝ่าเท้าผู้เหยียบ ตัวทุ่นทำจากวัสดุพลาสติก การตรวจค้นทำได้ยาก ผลิตในประเทศรัสเซีย
เจ้าหน้าที่เชื่อว่า ทุ่นระเบิดชุดนี้ไม่ใช่ของเก่า และไม่มีอยู่ในระบบคลังของไทย จึงมีความเป็นไปได้สูงว่าเป็นการลอบวางใหม่ในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพื้นที่เคยได้รับการรับรองว่าปลอดภัยจาก นปท.3 มาก่อนแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการขยายผลทางยุทธวิธีและการข่าวกรอง เพื่อหาที่มาและประเมินความเชื่อมโยงกับกลุ่มหรือฝ่ายที่อาจอยู่เบื้องหลัง