xs
xsm
sm
md
lg

ยืนยัน! อินโดนีเซียบรรลุข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ ทรัมป์สั่งเก็บภาษี 19% แลกดีลจัดซื้อ$หมื่นล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


ประธานาธิบดีปราโบโว ซูเบียนโต ของอินโดนีเซีย ลงบันไดของเครื่องบินประจำตำแหน่ง ขณะกลับจากการเยือนต่างประเทศ มาถึงฐานทัพอากาศฮาลิม เปอร์ดานากุสุมา ในกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย วันพุธ (16 ก.ค.) นี้
อินโดนีเซียแถลงยืนยันในวันพุธ (16 ก.ค.) บรรลุข้อตกลงการค้ากับอเมริกาแล้ว ภายหลัง “การต่อสู้ที่ไม่ธรรมดา” ซึ่งส่งผลให้วอชิงตันยอมลดอัตราภาษีศุลกากรลงอยู่ที่ 19% จากที่ตั้งไว้เดิม 32% แลกกับการที่จาการ์ตางดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าอเมริกัน อีกทั้งยังสั่งซื้อสินค้าสหรัฐฯ มูลค่านับหมื่นล้านดอลลาร์

ก่อนหน้านั้น ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เปิดเผยเมื่อวันอังคาร (15) ตามเวลาในภาคตะวันออกของสหรัฐฯว่า บรรลุข้อตกลงกับอินโดนีเซียแล้วภายหลังหารือกับประธานาธิบดีปราโบโว ซูเบียนโต โดยอเมริกาจะเรียกเก็บภาษีศุลกากรสินค้าอินโดนีเซีย ในอัตรา 19% จากที่เคยประกาศไว้ 32% ใน “วันปลดแอก” 2 เมษายน

ในวันพุธ ฮาซัน นาสบี โฆษกประธานาธิบดีอินโดนีเซีย แถลงที่กรุงจาการ์ตาว่า ความสำเร็จนี้มาจากการต่อสู้ที่ไม่ธรรมดาของทีมเจรจาที่นำโดยรัฐมนตรีประสานงานกิจการเศรษฐกิจ รวมทั้งการหารือทางโทรศัพท์ระหว่างปราโบโวกับทรัมป์

ต่อมาปราโบโวแถลงว่า รัฐบาลอินโดนีเซียเข้าใจผลประโยชน์ของอเมริกาในการเจรจาการค้า และสองประเทศจะเจรจากันต่อไปแม้หลังจากบรรลุข้อตกลงแล้วก็ตาม

จากข้อมูลของสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดอันดับ 4 ของโลกและเป็นสมาชิกจี20 มีการเกินดุลการค้าสหรัฐฯ 17,900 ล้านดอลลาร์ในปี 2024
นาสบีเสริมว่า ข้อตกลงนี้เป็นการพบกันครึ่งทางระหว่างรัฐบาลสองประเทศ และอัตราภาษีศุลกากรของอินโดนีเซียอาจต่ำกว่าอีกหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นอกจากนั้น ทรัมป์ยังเผยว่า ภายใต้ข้อตกลงนี้ อินโดนีเซียตกลงซื้อเครื่องบินโบอิ้ง 50 ลำ พลังงานมูลค่า 15,000 ล้านดอลลาร์ และสินค้าเกษตรของอเมริกามูลค่า 4,500 ล้านดอลลาร์

ผู้นำสหรัฐฯ สำทับว่า ข้อตกลงของอินโดนีเซียคล้ายคลึงกับข้อตกลงที่อเมริกาทำกับเวียดนามก่อนหน้านี้ กล่าวคือสินค้าอเมริกันจะไม่ต้องเสียภาษีเมื่อส่งออกไปยังแดนอิเหนา ขณะที่สินค้าถ่ายลำจากจีนผ่านอินโดนีเซียจะเสียภาษีสูงกว่า 19%

ด้านธนาคารกลางอินโดนีเซียที่ประกาศลดดอกเบี้ยเมื่อวันพุธ แสดงความเห็นว่า ข้อตกลงการค้ากับอเมริกาจะส่งผลดีต่อการส่งออกและการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย

มีร์ดัล กูนาร์โต นักเศรษฐศาสตร์ของเมย์แบงก์ อินโดนีเซีย ขานรับว่า ข้อตกลงนี้ทำให้อินโดนีเซียเสียภาษีต่ำกว่าเพื่อนบ้านหลายชาติ และเปิดโอกาสให้ธนาคารกลางลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และยังคาดว่า จะมีเงินทุนไหลเข้าสู่แดนอิเหนาเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม เนติซิสเตือนว่า เศรษฐกิจอินโดนีเซียอาจได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีศุลกากรของทรัมป์ที่ใช้กับจีน ซึ่งเป็นคู่ค้าใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซีย

ภีมะ ยุทิสฐิระ อาดิเนการา ผู้อำนวยการบริหารศูนย์ศึกษาเศรษฐกิจและกฎหมาย ชี้ว่า การที่สินค้าอินโดนีเซียต้องจ่ายภาษี 19% เมื่อนำเข้าสู่อเมริกา ขณะที่สินค้าอเมริกันที่ส่งไปยังอินโดนีเซียไม่ต้องเสียภาษี ทำให้เกิดความเสี่ยงในเรื่องดุลการค้าของอินโดนีเซีย และแนะนำว่า ไม่ควรพึ่งพิงการส่งออกไปยังอเมริกามากเกินไป เนื่องจากผลการเจรจานี้ยังคงบั่นทอนสถานะของอินโดนีเซีย

ในวันอังคาร นอกจากเรื่องข้อตกลงกับอินโดนีเซียแล้ว ทรัมป์ยังเผยว่า เร็วๆ นี้จะส่งจดหมายแจ้งอัตราภาษีศุลกากรใหม่กับพวกประเทศขนาดเล็กหลายแห่ง ซึ่งอาจต้องจ่ายภาษีสูงกว่า 10% เล็กน้อย

สำหรับเรื่องภาษีศุลกากรอัตราใหม่ที่จะเรียกเก็บจากพวกยาเวชภัณฑ์ที่นำเข้าสู่อเมริกานั้น ทรัมป์บอกว่า อาจประกาศรายละเอียดปลายเดือนนี้ โดยอาจเริ่มจากภาษีระดับต่ำเพื่อให้บริษัทต่างๆ มีเวลาย้ายฐานการผลิตไปยังสหรัฐฯ ก่อนที่จะถูกรีดภาษี “สูงมาก” ในปีหน้าหรือหลังจากนั้น

ในอีกด้านหนึ่ง มีรายงานว่า ฝ่ายการค้าของ คณะกรรมาธิการยุโรป ที่เป็นองค์กรบริหารของสหภาพยุโรป มีการเตรียมการเพื่อเรียกขึ้นภาษีศุลกากรตอบโต้จากสินค้าเข้าของสหรัฐฯ อาทิ เครื่องบินโบอิ้ง รถยนต์ และวิสกี้ รวมเป็นมูลค่า 84,100 ล้านดอลลาร์ หากว่าการเจรจาการค้าที่กำลังดำเนินอยู่กับวอชิงตันประสบความล้มเหลว

ทั้งนี้ สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีศุลกากรอียู 30% นับจากวันที่ 1 ส.ค. ซึ่งเป็นระดับที่เจ้าหน้าที่บรัสเซลส์ระบุว่า ยอมรับไม่ได้ และอาจทำให้การค้าปกติระหว่างอเมริกากับอียู ซึ่งต่างก็เป็นตลาดระดับใหญ่ที่สุดในโลกต้องปิดฉากลง

(ที่มา: รอยเตอร์/เอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น