ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ในวันจันทร์(14ก.ค.) บอกให้รัสเซียยุติสงครามในยูเครนภายใน 50 วัน ไม่เช่นนั้นจะต้องเจอกับมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจชุดใหญ่ครั้งใหม่ ในขณะเดียวกันเขาก็เปิดเผยแผนป้อนอาวุธใหม่แก่เคียฟผ่านทางนาโต้
ทรัมป์ บอกว่าเขารู้สึกไม่พอใจประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย เป็นอย่างมาก เน้นย้ำว่าความอดทนของเขาหมดลงไป หลังจากผู้นำเครมลินปฏิเสธยุติการรุกรานยูเครนที่ยืดเยื้อมานานกว่า 3 ปี "เราจะมีการรีดภาษีอย่างรุนแรงมากๆ ถ้าเราไม่ได้ข้อตกลงภายใน 50 วัน รีดภาษีราวๆ100%" ทรัมป์ กล่าวระหว่างเปิดห้องทำงานรูปไข่ของทำเนียบขาว ต้อนรับการมาเยือนของ มาร์ค รุตต์ เลขาธิการนาโต้
นอกจากนี้แล้วประธานาธิบดีจากรีพับลิกันยังเปิดเผยเพิ่มเติมว่าจะมีการ "รีดภาษีรอง" เล็งเป้าหมายเล่นบรรดาคู่ค้าที่ยังเหลืออยู่ของรัสเซีย หาทางกัดเซาะศักยภาพของมอสโก ที่ยังคงอยู่รอดจากมาตรการคว่ำบาตรอย่างครอบคลุมของตะวันตกรอบแล้วรอบเล่า
ขณะเดียวกัน ทรัมป์ และ รุตต์ ยังได้เปิดตัวข้อตกลงหนึ่ง ซึ่งระบุว่าพันธมิตรทหารนาโตจะซื้ออาวุธจากสหรัฐฯหลายพันล้านดอลลาร์ ในนั้นรวมถึงระบบป้องกันภัยทางอากาศ "แพทริออต" แล้วจัดส่งพวกมันไปให้แก่ยูเครน "มันใหญ่โตจริง" รุตต์ กล่าว อวดอ้างถึงข้อตกลงที่มีเป้าหมายบรรเทาเสียงโวยวายที่มีมาอย่างช้านานของทรัมป์ ต่อกรณีที่อเมริกาต้องจ่ายเงินมากกว่ายุโรปและเหล่าพันธมิตรนาโต ในการช่วยเหลือยูเครน
เยอรมนี, แคนาดา, เดนมาร์ก, ฟินแลนด์, เนเธอร์แลนด์, นอร์เวย์, สวีเดน และ สหราชอาณาจักร จะเป็นหนึ่งในบรรดาผู้ซื้อเหล่านั้น สำหรับช่วยเหลือยูเครน "ถ้าผมเป็นวลาดิมีร์ ปูติน แล้ววันนี้ได้ยินในสิ่งที่คุณพูด ผมจะคิดทบทวนว่าผมควรจะเจรจาเกี่ยวกับยูเครนจริงจังกว่านี้" รุตต์กล่าว
ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน แแถลงว่าเขาได้พูดคุยกับทรัมป์ในเรื่องนี้แล้ว และขอบคุณสำหรับข้อตกลงอาวุธ
ฟรีดริช เมร์ซ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ระบุว่เบอร์ลินจะมีบทบาทสำคัญในแผนป้อนอาวุธใหม่ดังกล่าว อย่างไรก็ตามทาง คาจา คัลลัส หัวหน้านโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป(อียู) มองว่าเส้นตายคว่ำบาตรของทรัมป์นั้น ดูจะเป็นกรอบเวลาที่ยาวนานเกินไป "50 วัน ถือเป็นเวลาที่ยาวนานมากๆ เนื่องจากเราเห็นพวกเขาฆ่าพลเรือนผู้บริสุทธิ์ในทุกๆวัน"
ทรัมป์ พยายามปรับท่าทีกับ ปูติน ไม่นานหลังจากเริ่มดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัย 2 ในความพยายามทำตามที่เคยหาเสียงไว้ว่าจะยุติสงครามยูเครน ภายใน 24 ชั่วโมง
ท่าทีของเขาในการเอนเอียงเข้าหาปูติน โหมกระพือความกังวลในเคียฟ ว่า ทรัมป์ อาจขายยูเครนแลกกับข้อตกลงหนึ่งๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากทรัมป์และคณะทำงาน เปิดศึกวิวาทะกับ เซเลนสกี ในห้องทำงานรูปไข่ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์
แต่เมื่อเร็วๆนี้ ทรัมป์ แสดงความผิดหวังกับปูตินมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากแทนที่จะหยุดการรุกรานยูเครน แต่ทางรัสเซียกลับยกระดับยิงขีปนาวุธและปล่อยโดรนโจมตีมากสุดเป็นประวัติการณ์
นอกจากนี้แล้ว วอชิงตัน ยังได้กลับลำจากถ้อยแถลงเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ที่บอกว่าจะระงับการส่งมอบอาวุธบางส่วนแก่เคียฟ
(ที่มา:เอเอฟพี)