xs
xsm
sm
md
lg

ผ้าเหลืองสะเทือน“สีกากอล์ฟ”กวาดพระขั้นเทพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



คดีเจ้าคุณอาชว์วัดตรีฯสะเทือนวงการผ้าเหลือง “สีกากอล์ฟ”กวาดพระเทพเกลี้ยง ทยอยสึกแล้วไม่น้อยกว่า 7 รูป คาดอาจมีสึกถึง 20 รูป ทนายชี้วัดคือขุมทองบนดิน เชื่อสีกาตั้งใจเลือกพระผู้ใหญ่เก็บหลักฐาน ผลกระทบวงกว้างพระที่ถูกคดีเป็นอุปัฌาย์กี่รูป บวชให้คนอื่นเป็นพระสมบูรณ์หรือไม่? หลายฝ่ายเต้นหาทางคุม

ช่วงเทศกาลวันอาฬาหบูชาต่อเนื่องจนถึงวันเข้าพรรษา เรื่องของวงการสงฆ์ร้อนแรงเป็นอย่างยิ่ง พระผู้ใหญ่ชั้นเทพ ลาสิกขากันหลายรูป หลังจากเกิดเรื่องสีกากอล์ฟกับพระเทพวชิรปาโมกข์ หรือเจ้าคุณอาชว์ เจ้าอาวาสวัดตรีทศเทพ กรุงเทพมหานคร ที่เดินทางไปสึกที่จังหวัดหนองคาย เมื่อ 29 มิถุนายน 2568 แดงออกมา

เมื่อสืบข้อมูลเพิ่มเติมพบว่าสีกาคนดังกล่าวได้พัวพันกับพระผู้ใหญ่หลายรูป ทั้งพื้นที่ต่างจังหวัดและในกรุงเทพมหานคร เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบโทรศัพท์มือถือของสีกากอล์ฟพบว่ามีภาพและคลิปวีดิโอมากกว่า 8 หมื่นไฟล์ เท่าที่ระบุได้เกี่ยวข้องกับพระ 8 รูป

เริ่มที่พระเทพวชิรปาโมกข์ หรือ ทิดอาชว์ อดีต เจ้าอาวาสวัดตรีทศเทพวรวิหาร ที่ถูกพิษสีกาแบล็กเมลด้วยภาพและคลิปจนต้องหนีไปสึกถึงหนองคาย ส่วนพระที่เพิ่งสึกมี 3 รูป พระเทพวชิรธีราภรณ์ เจ้าอาวาสวัดพระพุทธฉาย จังหวัดสระบุรี พระเทพวชิวธีรคุณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ กรุงเทพมหานคร พระครูสิริวิริยธาดา ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดโสธรวรารามวรวิหาร จังหวัดฉะเชิงเทรา

ส่วนอีก 2 รูป พระเทพพัชราภรณ์ เจ้าอาวาสวัดชูจิตธรรมาราม ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 1,2,3 (สายธรรมยุต) พระราชรัตนสุธี เจ้าคณะจังหวัดพิษณุโลก และผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร หรือวัดใหญ่

นอกจากนี้ยังมีพระที่สึกออกไปได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.พระมหาบุญเลิศ ช่วยธานี รองผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์ฯ ฝ่ายบริหารวิทยาลัยสงฆ์พุทธปัญญาศรีทวารวดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย นครปฐม ได้ลาสึกขาเมื่อ 9 กรกฎาคม 2568 และโพสต์เฟสบุ๊กว่า “ขอแจ้งทุกท่านเพื่อทราบ บัดนี้ได้ลาสิกขาแล้ว เป็นการลาสิกขาเพราะความผิดพลาด ส่วนที่สื่อลงว่ามีการวางยานั้น ไม่ทราบข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร จึงถือว่าเรื่องที่เกิดขึ้นจนเป็นเหตุให้ลาสิกขาเป็นเพราะความผิดพลาดของตนเองตั้งแต่ปี 2559 ไม่โทษคนอื่นนะครับ”

ขณะที่บางวัดไม่พบเจ้าอาวาสอยู่ที่วัด เช่น พระมหาทิวากร ดีไพร เจ้าอาวาสวัดใหญ่จอมประสาท จังหวัดสมุทรสาคร และยังมีกระแสข่าวว่าผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหารได้ลาสิกขาแล้ว ส่วนบางวัดที่มีชื่ออยู่ต้องรอติดตามอีกครั้ง


ฝ่ายสีกาเตรียมการ

ที่จริงคดีลักษณะนี้เริ่มกันที่กรณีของเจ้าอาวาสวัดไร่ขิง พระธรรมวชิรานุวัตรหรือเจ้าคุณแย้มวัดไรขิงกับสีกาเก็นที่เป็นข่าวคึกโครมเมื่อช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2568 โดยมีการร้องเรียนไปที่ตำรวจ ซึ่งอยู่ในระหว่างการออกหมายจับเจ้าคุณแย้มที่นำเงินไปให้สีกาเก็นเกี่ยวข้องกับการพนัน โดยเจ้าคุณแย้มชิงมอบตัวก่อน

หลังจากนั้นจึงเกิดเหตุเจ้าคุณอาชว์ เจ้าอาวาสหายตัวไปจากวัดตรีทศเทพ จนพบว่าเดินทางข้ามไปประเทศลาวแล้วกลับมาสึกที่จังหวัดหนองคาย

นายอรรณพ บุญสว่าง ทนายความด้านพระพุทธศาสนากล่าวว่า ตอนนี้เราได้เห็นพระผู้ใหญ่หลายท่านต้องลาสิกขา เพราะไปเกี่ยวข้องกับสีกากอล์ฟ เท่าที่เราเห็นตอนนี้น่าจะ 7-9 รูป เชื่อว่าน่าจะพระที่เกี่ยวข้องมากกว่านี้ เผลอ ๆ เราอาจได้เห็นพระระดับนี้ต้องสึกอีกรวมแล้วอาจถึง 20 คน

พระที่ลาสึกขาด้วยเหตุที่เกี่ยวข้องกับกรณีของสีกากอล์ฟนั้น ถือว่าเป็นพระผู้ใหญ่ มียศ มีตำแหน่งเป็นพระปกครองในระดับสูง มีโอกาสก้าวหน้าในวงการพระพุทธศาสนาได้อีกไกล ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย

จากสิ่งที่เราทราบข้อมูลคือฝ่ายหญิงมีการบันทึกภาพ และวีดิโอกับพระผู้ใหญ่ไว้ นั่นสะท้อนถึงมีการเตรียมการไว้ ส่วนจะเข้าข่ายกรรโชกทรัพย์หรือไม่ ขึ้นอยู่กับผู้เสียหายว่าจะมีการเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับสีกากอล์ฟหรือไม่ แต่ในเมื่อพระท่านต้องสึกจากความเป็นพระแล้ว และหากต้องการช่วยให้พระพุทธศาสนาดีขึ้นควรเข้าแจ้งความดำเนินคดี ไม่เช่นนั้นฝ่ายสีกาก็จะไม่ถูกดำเนินคดี

จากนี้จะเป็นขั้นตอนในการพิสูจน์ว่าเงินที่โอนไปให้สีกากอล์ฟนั้น เป็นเงินวัดหรือเงินส่วนตัว หากเป็นเงินส่วนตัวก็ต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจว่าจะดำเนินคดีข้อหากรรโชกทรัพย์หรือไม่ หากเป็นเงินวัดก็ต้องถูกดำเนินคดีทั้งอดีตพระและสีกาขึ้นอยู่กับการพิสูจน์ว่าทราบหรือไม่ว่าเป็นเงินวัด

กระทบวงกว้าง

พระมหารูปหนึ่งกล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องใหญ่มีผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะเรื่องความเป็นพระสงฆ์ คดีความของพระบางรูปมีการร้องเรียนกันมาเป็นสิบปีแต่เรื่องก็เงียบ พระที่ถูกร้องเรียนก็ยังครองผ้าเหลืองอยู่

บางรูปเกิดตั้งแต่ 2556 จนถึงวันนี้ก็ 12 ปี บางรูปก็เกิดเหตุปี 2565 แล้วช่วงที่เกิดเหตุ ท่านก็ยังครองผ้าเหลืองอยู่ คำถามคือพระเหล่านั้น มีความผิดเรื่องแต่งกายเลียนแบบสงฆ์หรือไม่

ที่ใหญ่กว่านั้นคือพระเหล่านี้เป็นพระอุปัฌาย์ด้วยหรือไม่ ท่านทำหน้าที่บวชให้บุคคลทั่วไปไปแล้วกี่รูป เพราะเป็นคดีที่เกิดขึ้นทำให้ท่านขาดจากความเป็นพระไปแล้ว แล้วที่บวชให้บุคคลทั่วไปนั้นพวกเขาเป็นพระสมบูรณ์หรือไม่นี่จึงเป็นอีกข้อกังวลหนึ่ง


คุมเงินพระทำได้

“ที่จริงฆราวาสเรามุ่งเน้นไปการทำบุญด้วยปัจจัยเป็นหลัก ส่งผลให้มีเงินไหลเข้าวัดเป็นจำนวนมาก พวกที่ทำบุญด้วยแรง หรือช่วยเหลือตามความรู้ความสามารถมีไม่มากนัก อย่างเรื่องไวยาวัจกรควรหาบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาช่วยงาน”ทนายอรรณพกล่าว

ที่จริงแล้ววัดทุกแห่งมีสถานะเป็นนิติบุคคล แต่เราเป็นนิติบุคคลแค่ชื่อเท่านั้น ระบบนิติบุคคลไม่มีการนำมาใช้ ระบบบัญชีต่าง ๆ เดิมเคยมีเรื่องของการให้จัดทำบัญชีวัดเข้ามา หลังจากนั้นทุกอย่างก็เงียบหายไป ทุกวัดพร้อมทำบัญชีให้สำนักพุทธฯ ตรวจสอบหรือไม่ ตอนนี้มีปลุกแนวคิดเรื่องธนาคารพุทธขึ้นมา ซึ่งเป็นเรื่องที่เคยมีการเสนอกันมาแล้วในอดีต แต่ไม่ได้รับการผลักดัน
สำคัญที่สุดคือต้องแยกบัญชีเงินส่วนตัวของพระออกจากบัญชีวัดไม่ให้ปะปนกัน อย่างตอนนี้ที่ทำได้เลยคือ เราสามารถใช้เทคโนโลยียุคปัจจุบันควบคุมได้ คือการใช้ E-donation ส่วนพระที่อาจมีข้อจำกัดในเรื่องการจับเงินก็อาจใช้พวกบัตรเครดิต บัตรเดบิตหรือ Mobile Banking เพราะทุกการใช้จ่ายสามารถตรวจสอบได้

ไม่ใหม่แต่ใหญ่

เรื่องพระกับสีกานั้นไม่ใช่เรื่องใหม่มีมาตั้งแต่ยุคโบราณ เกิดขึ้นมาก็ฮือฮาครั้งหนึ่งแล้วก็เงียบหายไป รอให้เกิดคดีใหม่แล้วก็มาพูดกันอีกครั้ง อย่างพระยันตระ สมีนิกร และอีกหลายกรณี แต่นั่นเป็นพระ 1 รายกับสีกา 1 ราย แต่กรณีของสีกากอล์ฟนั้นสีกา 1 รายกับพระหลายราย

ที่สำคัญคือเป้าหมายส่วนใหญ่เป็นพระผู้ใหญ่ เจ้าอาวาส/ผู้ช่วยเจ้าอาวาส/มีตำแหน่งทางปกครองระดับเจ้าคณะฯ มีชั้นยศ เช่น ชั้นธรรม ชั้นเทพ เพราะพระระดับนี้คุมกิจการของวัด เช่นค่าเช่า ต่าง ๆ ภายในวัด มีรายได้ทั้งจากเงินนิตยภัต รายได้จากซองกิจนิมนต์ หรือส่วนแบ่งของการจำหน่ายวัตถุมงคล เชื่อว่าสีกาคงหาข้อมูลมาอย่างดีแล้ว

ส่วนพระหลายคนอาจมองในเชิงเห็นใจว่าอ่อนต่อโลก บวชเรียนมาตั้งแต่เป็นเณรไม่ทันเล่ห์เหลี่ยมของสีกา นั่นก็อาจเป็นข้ออ้างอย่างหนึ่ง แต่กฎและวินัยของสงฆ์ย่อมทราบดีว่าเรื่องของสตรีและสตางค์ เป็นเรื่องที่ต้องพึงระวังมีการเตือนกันมาตั้งแต่ก่อนบวช ทุกอย่างมันอยู่ที่เราห้ามกิเลสตัวนี้ได้หรือไม่ ไม่ปล่อยตัว เผลอใจไปกับอุบายต่าง ๆ ที่อีกฝ่ายหนึ่งวางแผนไว้

เชื่อว่าพระทุกรูปก็ทราบดีว่าสีกาเหล่านี้เป้าหมายคืออะไร บางรูปเห็นสีกามีฐานะดีก็หวังจะให้มาช่วยทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา สุดท้ายก็ถูกหลอก

วัดทุกแห่งเปรียบเสมือนเป็นขุมทรัพย์บนดิน ขึ้นอยู่กับว่ามีมูลค่ามากน้อยแค่ไหน วัดใหญ่ วัดดัง มูลค่าย่อมสูงกว่าวัดทั่วไป ยิ่งเจ้าอาวาสมีชื่อเสียง มีตำแหน่งทางปกครอง เช่น เจ้าคณะ ตำบล-จังหวัด เจ้าคณะภาค หน หรือสูงกว่านั้น ยิ่งเพิ่มบารมีดึงผู้ศรัทธาเข้าวัดได้มาก

หากวัดนั้นขึ้นชื่อในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ โด่งดังเรื่องวัตถุมงคล มีตลาดนัด ที่จอดรถ มีตู้รับบริจาคจำนวนมาก ย่อมสามารถสร้างรายได้เข้าวัดได้เป็นจำนวนมาก ที่สำคัญคือวัดไม่ต้องเสียภาษี อยู่ได้ด้วยเงินบริจาคไม่ต้องรายงานใคร ไม่ต้องทำบัญชี


คุมพระ-ฆราวาสเสพเมถุน

นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม โพสต์เฟสบุ๊ก เรื่องการบวช อ้างที่มาจากหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ ไว้ดังนี้

การบวช คือ การออกไปแสวงหาว่าอะไรเป็นกุศลที่ดีกว่าการครองเรือน การบวชเป็นการออกไปอยู่อย่างต่ำต้อย เป็นการฝึกการอยู่อย่างต่ำ อยู่แบบคนขอทาน เป็นการบังคับตน บังคับอินทรีย์ เป็นการถือศีลถือสิกขาบท เสียสละของรักของชอบ คนบวชต้องบังคับอินทรีย์ บังคับจมูก ลิ้น กาย ใจ

การบวช มี 2 ประเภท คือ

1. การบวชชั่วคราว ถือเป็นการฝึกอยู่แบบบรรพชิต เป็นการออกจากบ้านเรือนไปอยู่อาศรม ถึงเวลาก็ออกมาไปเป็นผู้ครองเรือน ก็ได้ชื่อว่าเป็น“บัณฑิต” หรือ“ทิด” ติดตัวออกมาด้วย การบวชชั่วคราวก็ต้องปฏิบัติอีกแบบหนึ่งจัดไว้สำหรับคนหนุ่มสาว เป็นการปฏิบัติเพื่อการศึกษาบังคับจิตใจให้อยู่ในอำนาจของตน หากบวชแล้วเห็นว่าดีก็อาจบวชตลอดไป

2. การบวชตลอดไป ก็ถือเป็นการทำจริง เป็นการบวชของคนที่ผ่านโลกมาแล้ว จนเห็นว่าไม่มีอะไรดีกว่านี้ จึงบวชเพื่อเดินให้ถึงจุดหมายปลายทางของชีวิต ซึ่งในพระพุทธศาสนาเรียกว่า“วิมุตติ” -

หากบวชชั่วคราว ก็ขอให้ทำจริงตามความหมายของการบวช เป็นการทดลองอยู่อย่างต่ำต้อย อยู่แบบขอทาน การบวชชั่วคราวก็มีประเพณีบวชสามเดือน หรืออาจบวชไม่กี่วันก็ได้ แต่ขอให้ปฏิบัติจริง “ในอินเดียสมัยพุทธกาลไม่มีการบวชขั่วคราว แต่เป็นการบวชของผู้ที่ผ่านโลกมาระยะหนึ่งแล้ว และเห็นว่าควรออกไปหาสิ่งที่ดีกว่าการครองเรือน”

กล่าวโดยสรุป แม้เป็นการบวชชั่วคราว ก็ต้องฝึกใจ เป็นอยู่อย่างต่ำ แบบขอทาน ข่มใจ ช่วงที่บวชก็ต้องสละของรักของหวง เมื่อรู้จักข่มใจ รู้จักบังคับอินทรีย์ สึกออกมาแล้ว ก็จะได้สิ่งที่ปฏิบัติในขณะบวชมาใช้ในการครองเรือน ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์/
นอกจากนี้ยังเสนอความเห็นเรื่องการออกกฎหมายควบคุมพระและฆราวาสเกี่ยวกับเรื่องการเสพเมถุน เมื่อวานผมคิดว่าประชาชนคงตื่นตระหนกกับพฤติกรรมของสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ ที่ล่วงละเมิดพระธรรมวินัยเสพเมถุนกับหญิงคนหนึ่ง ผมเลยคิดว่า ควรมีกฎหมายบังคับให้สอดคล้องกับพระธรรมวินัย ด้วยการลงโทษจำคุกภิกษุและฆราวาสผู้เสพเมถุน

ภิกษุรูปใดไม่อาจอดทน อดกลั้นในเรื่องนี้ได้ก็ควรสึกออกมาก่อนที่จะทำให้ศาสนามัวหมอง

ความจริงการพยายามลงโทษภิกษุผู้เสพเมถุน ได้มีการคิดกันมานานแล้ว กล่าวคือ พนักงานอัยการจังหวัดเพชรบุรี เคยฟ้องภิกษุผู้เสพเมถุน ด้วยเหตุผลว่า ถือว่าเป็นการเหยียดหยามศาสนา แต่ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 736/2505(ประชุมใหญ่) ด้วยเหตุที่ยังไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ จึงยังไม่เป็นความผิด เห็นได้ว่า การพยายามคุ้มครองพุทธศาสนาด้วยการลงโทษภิกษุผู้เสพเมถุนมีมานานแล้ว แต่ยังไม่มีกฎหมายบังคับจึงลงโทษไม่ได้

เมื่อสงฆ์ละเมิดพระธรรมวินัยด้วยการเสพเมถุนมากขึ้น จึงเห็นควรทบทวนกฎหมายเรื่องนี้ ด้วยการออกกฎหมายลงโทษจำคุกสงฆ์และผู้เสพเมถุนกับสงฆ์

ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่


Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j
กำลังโหลดความคิดเห็น