'ประชาชน' ไม่เลิกหมกมุ่น ชงตั้งคณะกลั่นกรอง 112 อ้างเหตุคดีการเมือง
การประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 9 กรกฎาคม ถือว่ามีความน่าสนใจอย่างยิ่งเพราะมีวาระสำคัญ คือ ร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มวาระดังกล่าวอาจถูกเลื่อนการพิจารณาออกไปก่อน หลังจากเจอกระแสต่อต้านจนยากต่อการเดินหน้าผลักดันในเรื่องดังกล่าวต่อไป แต่กระนั้นมีประเด็นต้องจับตาว่าจะมีการพิจารณาเรื่องอื่นๆ หรือไม่ โดยเฉพาะร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการนิรโทษกรรม จำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติสร้างเสริมสังคมสันติสุข ร่างพระราชบัญญัติสร้างเสริมสังคมสันติสุข ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง และร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมประชาชน
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวถึงการพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม 4 ฉบับว่า เป้าหมายของการนิรโทษกรรม คือการให้อภัย ฟื้นฟูความสัมพันธ์และเดินหน้ากันใหม่ ดังนั้น หากเดินหน้านิรโทษกรรมแบบมีเงื่อนไข ก็จะอธิบายต่อสังคมยาก พรรคประชาชนจึงยืนยันว่าเรา ย้ำในจุดยืนเดิม คือต้องมีคณะกรรมการ ที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเปิดเผยและโปร่งใส ขึ้นมาพิจารณานักโทษในคดีที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 อย่างลงรายละเอียดและกลั่นกรองก่อน และเราก็ยินดีรับหลักการของทุกร่าง เพราะเราเชื่อว่าการให้อภัยกัน ไม่ควรมีการลักลั่นหรือตั้งเงื่อนไขต่อกัน และเชื่อว่าข้อเสนอของเรา ไม่น่าจะมีใครปฏิเสธหากพิจารณาโดยวางอคติลง
ส่วนที่หลายพรรคมีธงอยู่แล้วว่า ไม่นิรโทษกรรมให้กับนักโทษในคดี 112 นายวิโรจน์ กล่าวว่า ต้องหารือกันในการอภิปรายวาระหนึ่งซึ่งทางฝั่งที่เห็นด้วยก็ต้องแสดงความจริงใจ และคิดบนหลักให้อภัยกัน เพราะการให้อภัยหากเราเลือกปฏิบัติมันก็ผิดวัตถุประสงค์ และเราก็ทราบดีถึงความผิดในมาตรานี้ จึงไม่เลือกนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง แต่เสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมากลั่นกรอง พร้อมยอมรับว่าเรื่องนี้ยังไม่ได้มีการพูดคุยกับพรรคการเมืองอื่น เพราะเข้าใจว่า Entertainment Complex จะเข้ามาก่อน
ส่วนการเดินหน้านิรโทษกรรม หลายคนก็มองหน้าตาของผู้ที่จะได้รับอานิสงส์ ซึ่งก็รวมถึงนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตสส.พรรคก้าวไกล สส.พรรคประชาชนด้วย นายวิโรจน์ กล่าวว่า คณะกรรมการคงไม่ได้หยิบยกว่าหน้าตาใคร จะเป็นอย่างไร แต่คงดูที่พฤติการณ์เป็นหลัก แต่คดีมาตรา 112 ต้องยอมรับว่า เข้าข่ายเป็นคดีการเมือง เพราะแต่ละห้วงเวลามีมาตรฐานการดำเนินคดีที่แตกต่างกัน ถึงต้องมีคณะกรรมการขึ้นมากลั่นกรอง เนื้อหาสาระ องค์ประกอบทางนิตินัย พฤตินัย เจตนา โดยไม่ต้องสนใจว่าหน้าตาใครเป็นอย่างไร