xs
xsm
sm
md
lg

เปิดตลาดนำเข้าหมูสหรัฐฯ ปลิดชีวิตฟาร์มไทยทั้งระบบนับแสน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“ทำเนียบขาว” ทยอยเรียกประเทศคู่ค้าเป้าหมายของสหรัฐอเมริกาไปหารือทวิภาคี เพื่อแลกกับดุลการค้าที่สหรัฐฯ เสียเปรียบภายใต้นโยบาย “America First” และกดดันการค้าแบบไม่เป็นธรรมอย่างเป็นระบบ หนึ่งในนั้นคือประเทศไทย ที่อาจจะโดนเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าสูงถึง 36% สำหรับทีมเจรจาไทยนำโดย นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกเดินทางไปหาทางแก้ปัญหาเรื่องภาษี reciprocal tariffs กับสหรัฐฯ ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2568 ก่อนที่จะครบกำหนดเวลายืดอายุ 90 วัน ของสหรัฐฯ

หนึ่งในสินค้าสำคัญที่สหรัฐฯ พุ่งเป้ากดดันให้ไทยเปิดตลาดนำเข้า คือ เนื้อหมูและชิ้นส่วน และเมื่อไหร่ก็ตามที่หมูอเมริกันราคาถูกเข้ามาขายในไทยได้ นั่นคือ "เดิมพันชีวิต" ของผู้เลี้ยงหมูไทยนับแสน ที่เสี่ยงจะสูญเสียอาชีพอย่างสิ้นเชิง

ตั้งแต่ปี 2565 ผู้เลี้ยงหมูไทยพยายามฟื้นฟูฟาร์มและการผลิตหลังวิกฤตโรคระบาด ASF ประกอบกับผลกระทบจากต้นทุนอาหารสัตว์พุ่งสูง บั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของไทย ต้นทุนการผลิตปรับขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะปัจจัยการผลิตเพื่อป้องกันโรคสัตว์ แต่ผู้เลี้ยงหมูไทยไม่ย่อท้อฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ จนรอดมาได้และผลผลิตเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติได้เมื่อไม่นานมานี้

ความเสี่ยงสูงสุดที่ไทยจะต้องเผชิญหากเปิดประตูให้เนื้อหมูและชิ้นส่วนราคาถูกจากสหรัฐฯ เข้ามา โดยไร้กลไกควบคุม ไร้ความเท่าเทียม ไร้หลักประกันด้านอาหารปลอดภัย คือ หมูไทย...จะถูกแทนที่ โดยเฉพาะผู้เลี้ยงรายย่อยไม่น้อยกว่า 180,000 ราย จะสูญพันธุ์ถูกบีบให้เลิกอาชีพ เพราะหมูสหรัฐฯ ที่เลี้ยงในฟาร์มขนาดใหญ่ ได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาล มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าไทยไม่ต่ำกว่า 30–40% ต่อกิโลกรัม จะเข้ามาตัดราคาในตลาดอย่างสมบูรณ์ เกิดภาวะ "หมูล้นตลาด–ราคาตก" ทำให้เกษตรกรไทย ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้

นอกจากนี้ หากผู้เลี้ยงหมูล้ม ระบบเกษตรพื้นฐานจะล้มทั้งห่วงโซ่ คนไทยต้องรับความเสี่ยงด้านความปลอดภัยอาหาร เนื่องจากสหรัฐฯ อนุญาตให้ใช้สารเร่งเนื้อแดง (Ractopamine) ซึ่งไทยห้ามโดยเด็ดขาด การนำเข้าโดยไม่มีมาตรฐานเทียบเท่า กระทบโดยตรงต่อสุขภาพของผู้บริโภค และภาพลักษณ์อุตสาหกรรมไทยที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และเกิดความเสียหายต่อห่วงโซ่อุปทานการเลี้ยงหมูที่เชื่อมโยงกับเกษตรอื่น เช่น ข้าวโพด–มันสำปะหลัง ที่ใช้ในการผลิตอาหารสัตว์

สินค้าเกษตรไม่ว่าจะเนื้อหมูหรือเนื้อสัตว์ใดๆ ไม่ควรถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองการค้า เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจฐานรากมากกว่าสินค้าอุตสาหกรรมใดๆ แต่สหรัฐฯ กลับเลือกใช้ “หมู” เป็นเครื่องต่อรองสำคัญในการเจรจา ทั้งที่สำหรัฐยังอุดหนุนเกษตรกรในประเทศตัวเองทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างต่อเนื่อง

รัฐบาลไทยไม่ควรถูกบีบให้ลดมาตรฐานความปลอดภัยอาหารของคนทั้งประเทศ โดยยอมรับแรงกดดันด้านภาษีของสหรัฐฯ และยอมเสียอุตสาหกรรมเลี้ยงหมู เพื่อรักษาสิทธิ์การส่งออกสินค้าอื่นที่คนส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสผลิต เพียงเพื่อรักษาความสัมพันธ์การค้าเพียงบางด้าน

ในทางกลับกัน ไทยต้องมีกลยุทธ์ที่ไตร่ตรองอย่างรอบคอบและรอบด้าน ไม่ใช่เพียง "ป้องกัน" แต่ต้อง "ต่อรอง" เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ

กรณีจำเป็นต้องเปิดตลาดบางส่วน รัฐควรใช้โควต้าภาษี (Tariff Quota) หรือกำหนดปริมาณนำเข้า, ข้อจำกัดด้านคุณภาพ หรือเปิดเฉพาะชิ้นส่วนที่ตลาดไทยไม่บริโภค รวมถึงออกมาตรฐาน “ฉลากชัดเจน” แสดงที่มา ว่าหมูนั้นเลี้ยงด้วยสารต้องห้ามหรือไม่ และควรเสนอสินค้าอุตสาหกรรมอื่นมาแลกเปลี่ยนแทนเนื้อหมู เป็นต้น ที่สำคัญต้องกดดันสหรัฐฯ ให้ลดการอุดหนุนภาคการเกษตรภายในประเทศลง เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่ยุติธรรมในระดับโลก

เห็นได้ว่าหมูไทยไม่ใช่แค่สินค้า แต่คือชีวิตของผู้คนนับแสน การเปิดตลาดให้กับเนื้อหมูสหรัฐฯ คือ การทำลายทั้งระบบเศรษฐกิจชนบท และความสามารถพึ่งตนเองทางอาหาร ที่รัฐบาลควรปกป้องและส่งเสริมให้ยืนหยัดได้อย่างยั่งยืน

ปราบดา มหากุศล นักวิชาการอิสระ
กำลังโหลดความคิดเห็น