xs
xsm
sm
md
lg

เจรจาสันติส่อพัง! ตะวันตกยกเลิกข้อจำกัดพิสัยอาวุธ เปิดทางยูเครนโจมตีรัสเซียจากทุกระยะทำการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


(แฟ้มภาพจากเอเอฟพี) ขีปนาวุธทอรัสของเยอรมนี
นายกรัฐมนตรีฟรีดริช เมร์ซ เปิดเผยในวันจันทร์(26พ.ค.) เยอรมนีและชาติตะวันตกอื่นๆ ที่เป็นผู้สนับสนุนหลักของยูเครน ยกเลิกข้อจำกัดเกี่ยวกับพิสัยทำการของอาวุธที่พวกเขามอบให้เคียฟนำไปต่อสู้กับรัสเซีย ความเคลื่อนไหวที่กระตุ้นให้มอสโกออกมาเตือนว่ามันจะทำให้ความพยายามบรรลุข้อตกลงสันติภาพพังครืนลง

เมร์ซ ซึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อช่วงต้นเดือน ยังประกาศด้วยว่า "เราจะทำทุกอย่างที่อยู่ในอำนาจของเรา ในการเดินหน้าสนับสนุนยูเครน ในนั้นรวมถึงด้านการทหาร ภายใต้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับบรรดาผู้สนับสนุนอื่นๆ" เขาให้สัมภาษณ์กับรายการโทรทัศน์

"นี่หมายความว่า เวลานี้ยูเครนสามารถปกป้องตนเอง ยกตัวอย่างเช่น ด้วยการโจมตีฐานที่มั่นทางทหารต่างๆในรัสเซีย ด้วยข้อยกเว้นเพียงเล็กน้อย พวกเขาไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ก่อนหน้านี้ แต่ตอนนี้พวกเขาสามารถทำมันได้แล้ว" นายกรัฐมนตรีเยอรมนีระบุ

อย่างไรก็ตามด้วยที่ผู้นำเยอรมนีไม่ได้เจาะจงว่าการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงข้อจำกัดครั้งนี้อยู่ในขั้นไหนแล้ว หรือมีชาติไหนบ้างที่ตัดสินใจเปลี่ยนแปลงข้อจำกัดดังกล่าว รวมถึงประเทศของเขาเอง ดังนั้นความเคลื่อนไหวครั้งนี้จึงก่อความสับสนบางส่วน

อดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ตัดสินใจเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2024 ไฟเขียวให้ยูเครนใช้ระบบอาวุธพิสัยไกล Army Tactical Missile System หรือ ATACMS โจมตีเป้าหมายต่างๆภายในรัสเซีย

ในเดือนพฤศจิกายนเช่นกัน ยูเครนยิงขีปนาวุธสตอร์ม ชาโดว์ ที่จัดหาให้โดยสหราชอาณาจักร เข้าไปยังรัสเซียเป็นครั้งแรก หลังได้รับไฟเขียวจากลอนดอน ตามรายงานของสื่อมวลชนสหราชอาณาจักรในช่วงเวลาดังกล่าว ขณะที่ ฝรั่งเศส ซึ่งจัดหาขีปนาวุธ Scalp แก้เคียฟ เน้นย้ำในช่วงเวลานั้นว่า การโจมตีใส่เป้าหมายทางทหารภายในรัสเซีย เป็นอีกทางเลือก

วังเครมลินระบุในวันจันทร์(26พ.ค.) ตามหลังความเห็นของเมร์ซ บอกว่าการตัดสินใจใดๆของตะวันตกในการยกเลิกจำกัดพิสัยทำการของอาวุธที่ป้อนแก่ยูเครน จะเป็นอันตราย "ถ้าการตัดสินใจนี้เกิดขึ้นแล้วจริงๆ มันก็ถือว่าขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับแรงบันดาลใจของเราในการหาทางออกทางการเมือง(สันติภาพ) มันเป็นการตัดสินใจที่อันตรายอย่างยิ่ง ถ้าพวกเขาตัดสินใจไปแล้ว"

รัฐบาลเยอรมนีชุดก่อนของ โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีซ้ายกลาง ให้การสนับสนุนยูเครนอย่างแข็งขัน แต่ปฏิเสธส่งมอบขีปนาวุธพิสัยไกลทอรัสแก่เคียฟ โดยกังวลว่ามันอาจโหมกระพือความตึงเครียดกับมหาอำนาจนิวเคลียร์อย่างรัสเซีย

ในส่วนของ เมร์ซ เคยบอกว่าอยากส่งมอบขีปนาวุธทอรัสแก่ยูเครน แต่ในวันจันทร์(26พ.ค.) เขาไม่ได้พูดอย่างชัดเจนว่าเยอรมนีจะทำเช่นนั้นหรือไม่ หรือเขาอยากส่งมอบระบบอาวุธอื่นๆไปแทนหรือเปล่า

รัฐบาลใหม่ของเมร์ซ เน้นย้ำว่าพวกเขาจะไม่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับอาวุธที่ส่งมอบแก่ยูเครนอีกแล้ว เนื่องจากอยากใช้จุดยืนแบบความคลุมเครือทางยุทธศาสตร์มากกว่า

อย่างไรก็ตามนายกรัฐมนตรีเยอรมนี ใช้โอกาสนี้โจมตีประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ที่ลังเลที่จะมีส่วนร่วมในการเจรจายุติความขัดแย้งในยูเครน

"ประมุขวังเครมลินตอบสนองความพยายามทางการทูตในการนำพาความขัดแย้งเข้าใกล้จุดที่เรียกว่าการทำสงครามหนักหน่วงที่สุดเท่าที่เคยมีมา แน่นอนว่า ปูติน มองข้อเสนอต่างๆของการเจรจา เป็นสัญญาณของความอ่อนแอ" เมร์ซ ระบุ

นับตั้งแต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ กลับสู่ทำเนียบขาวในปีนี้ เขาหาทางผลักดันให้ทั้ง 2 ฝ่ายในความขัดแย้ง มุ่งสู่การเจรจาโดยตรงในระดับสูง

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทรัมป์ บ่งชี้ว่าสำนักวาติกัน อาจเป็นสถานที่สำหรับการจัดเจรจาครั้งถัดไป ในขณะที่รัฐบาลอิตาลีเผยว่าพวกผู้นำโบสถ์คาทอลิก พร้อมสำหรับจัดการประชุม

อย่างไรก็ตามมอสโกตั้งข้อสงสัยถึงความเหมาะสม สำหรับการใช้สถานที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นเจ้าภาพ โดย เซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย บอกว่ามันจะเป็นเรื่องไม่สง่างามสำหรับโบสถ์คาทอลิก ในการเป็นคนกลางการเจรจาระหว่าง 2 ประเทศที่โดยหลักการแล้วนับถือคริสตจักรออร์โธดอกซ์

เมร์ซ เน้นย้ำว่าพวกผู้สนับสนุนตะวันตกของยูเครน พยายามค้นหาทุกทางเลือกทางการทูตเท่าที่เป็นไปได้ ในการเริ่มต้นการเจรจา "หลังจากช่วง 3 สัปดาห์หลังสุด ไม่มีใครสามารถกล่าวหาเราอย่างจริงจังได้อีกแล้วว่า เราไม่ทุ่มเทใช้ทุกวิถีทางทางการทูตทั้งหมดที่มี ยกเว้นแต่ยกธงขาว พวกผู้สนับสนุนยูเครนทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้แล้ว"

"ถ้าข้อเสนอหนึ่งสำหรับการประชุมที่วาติกัน ไม่ได้รับการเห็นชอบจากปูติน เมื่อนั้น เราก็ต้องเตรียมพร้อมสำหรับสงครามนี้ ในกรณีที่มันจะลากยาวมากกว่าที่เราปรารถนาหรือจินตนาการไว้" ผู้นำเยอรมนีระบุ

(ที่มา:เอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น