xs
xsm
sm
md
lg

ศึกเวหาอินเดีย-ปากีสถานที่แคชเมียร์ชี้ชัดว่า สงครามยุคใหม่คือการสู้รบกันระหว่างระบบ-กับ-ระบบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


(ภาพจากแฟ้ม) เครื่องบินขับไล่ J-10CE ที่ผลิตในจีน ทำการทดสอบการบิน รวมทั้งใช้ในการฝึกนักบินปากีสถาน ไม่นานก่อนที่จะถูกส่งมอบให้แก่กองทัพอากาศปากีสถาน เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2022
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)

Kashmir air clash heralds rise of system-of-systems warfare
by Gabriel Honrada
19/05/2025

ศึกเวหาระหว่างอินเดีย-ปากีสถานเหนือแคว้นแคชเมียร์เมื่อเร็วๆ นี้ เป็นเสมือนคำเตือนแบบใช้กระสุนจริงให้ตระหนักรู้กันว่า ในการสงครามทางอากาศสมัยใหม่นั้น เครือข่าย คือสิ่งที่จะมีชัยเหนือฝูงบินซึ่งผสมปนเปกันหลากหลายเป็นจับฉ่าย

การปะทะกันทางอากาศระหว่างอินเดีย-ปากีสถานในเดือนเมษายน 2025 ที่ผ่านมา ไม่ได้เป็นแค่เพียงการทำศึกเวหาครั้งหนึ่งเท่านั้น หากยังเป็นบทเรียนชั้นสูงบทหนึ่งในเรื่องระบบรวมของระบบต่างๆ ทางด้านพลังอำนาจทางอากาศอีกด้วย โดยเป็นตัวอย่างจริงซึ่งแสดงให้เห็นว่าในสงครามสมัยใหม่นั้น มันคือเครือข่าย ไม่ใช่แค่ตัวเครื่องบินไอพ่น ที่เป็นผู้ชนะ และด้วยเหตุนี้กองกำลังทางอากาศในหลายชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ประกอบไปด้วยฝูงอากาศยานต่างๆ หลากหลายคละเคล้าผสมกันไป จึงควรที่จะต้องใส่ใจให้เป็นพิเศษ

ณ ระดับยุทธวิธี (tactical level) ข้อเขียนชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ (South China Morning Post หรือ SCMP) ออกในฮ่องกง เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคมนี้ [1] รายงานว่าฝ่ายปากีสถานนั้นใช้ “ระบบ ABC” –นั่นคือ เครือข่ายเรดาร์ที่อิงอาศัยภาคพื้นดิน (A), เครื่องบินขับไล่ (B), และระบบเตือนภัยทางอากาศ (C)— ในการร่วมมือประสานงานกันติดตามและเข้าสู้รบกับเครื่องบินอินเดีย โดยที่ฝูงเครื่องบินขับไล่ J-10C เป็นผู้ปล่อยขีปนาวุธที่มีพิสัยทำการไกล ตามการชี้นำของหมู่เครื่องบินเตือนภัยล่วงหน้าและควบคุมทางอากาศ (airborne early warning & control หรือ AEW&C) ซาบ 2000 เอริอาย (Saab 2000 Erieye)

ข้อเขียนของ SCMP เน้นประเด็นสำคัญว่า การแลกเปลี่ยนแบ่งปันข้อมูลกันแบบเรียลไทม์ในระหว่างตัวเซนเซอร์ต่างๆ, เครื่องยิงขีปนาวุธ, และพวกผู้บริหารจัดการสมรภูมิเช่นนี้ ถือว่าเป็นสิ่งที่โดดเด่นแตกต่างออกไปอย่างชัดเจนจากการสู้รบทางอากาศแบบที่เคยปฏิบัติการกันมา ซึ่งเครื่องบินรบแต่ละลำเป็นผู้บริหารจัดการเรื่องการติดตามเป้าหมายและการเข้าสู้รบอย่างแยกต่างหากออกจากกัน

สำหรับระบบนี้เชื่อมต่อผูกพันเข้าด้วยกันอย่างไรนั้น กัสตอง ดูบัวส์ (Gaston Dubois) อ้างอิงเอาไว้ในข้อเขียนที่เผยแพร่ทาง อะวิอาซิโอนไลน์ (Aviacionline) [2] เว็บไซต์ข่าวสารด้านการบินภาษาสเปนออกในอาร์เจนตินา ที่ตัวเขาเป็นบรรณาธิการใหญ่ด้านการบินทางการทหาร เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคมว่า ระบบ ลิงก์-17 (Link-17) ที่ปากีสถานพัฒนาขึ้นมาเองภายในประเทศ เป็นตัวที่สามารถติดต่อเชื่อมโยงแพลตฟอร์มสู้รบซึ่งมาจากต้นกำเนิดที่แตกต่างหลากหลายให้เป็นเครือข่ายทางยุทธวิธีซึ่งเป็นอันหนึ่งอันเดียวและสอดประสานกัน

ดูบัวส์ บอกว่า การออกแบบให้เป็นเครือข่ายแบบมีศูนย์กลางเช่นนี้เอง ทำให้สามารถสร้างการมองภาพรวมในทางยุทธการแบบเรียลไทม์ขึ้นมาได้, รวมทั้งสนับสนุนการจัดสรรแบ่งปันเป้าหมายกันอย่างมีพลวัต, และก่อให้เกิดความได้เปรียบในเวลาทำการตัดสินใจอย่างเหนือชั้นกว่าฝ่ายปรปักษ์ ผู้ซึ่งรับรู้กระแสข้อมูลข่าวสารอย่างขาดเป็นห้วงๆ ไม่ปะติดปะต่อกัน หรือมีปัญหาในเรื่องความเข้ากันได้ของระบบ

เขาตั้งข้อสังเกตว่า ขณะที่อินเดียใช้เครื่องบินในการสู้รบคราวนี้มากกว่า 70 ลำ แต่ปากีสถานมีเพียง 40 ลำ อย่างไรก็ดี ปากีสถานสามารถสร้างประสิทธิภาพในการสู้รบของตนได้อย่างสูงสุดโดยผ่านระบบซึ่งพวกตัวเซนเซอร์ทั้งหลายและการเชื่อมโยงข้อมูลมีการบูรณาการกัน เปิดทางให้ฝ่ายนี้สามารถบรรลุฐานะเหนือล้ำกว่าในด้านข้อมูลข่าวสาร และแลกเปลี่ยนแบ่งปันความตระหนักรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ ซึ่งกลายเป็นการยกระดับสมรรถนะของขีปนาวุธ PL-15E ขึ้นมาอย่างเต็มที่
.
เฟเบียน ฮอฟฟ์แมน (Fabian Hoffman) นักวิจัยที่กำลังทำปริญญาเอกอยู่ที่โครงการนิวเคลียร์ออสโล ของมหาวิทยาลัยออสโล ประเศนอร์เวย์ เขียนเอาไว้ใน เดอะ สเปคเตเตอร์ (The Spectator) [3] นิตยสารข่าวการเมืองและวัฒนธรรมรายสัปดาห์อายุเก่าแก่ในสหราชอาณาจักร เผยแพร่เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคมว่า การที่ปากีสถานสร้างความสำเร็จขึ้นมาได้ในคราวนี้ หมายความว่าพวกเขาต้องสามารถบริหารห่วงโซ่ของการทำลายเป้าหมายที่ค่อนข้างสลับซับซ้อนได้เป็นอย่างดี ทั้งในขั้นตอนการค้นหา, การติดตาม, และการสู้รบกับเป้าหมาย โดยที่มีหลักฐานเป็นความสำเร็จปรากฏให้เห็นกัน

ข้อสังเกตของ ฮอฟฟ์แมน เน้นย้ำว่า ความได้เปรียบในศึกเวหาครั้งนี้ของปากีถานมาจากความเร็วและการสอดประสานกันของเครือข่ายการตัดสินใจของพวกเขา ไม่ใช่เป็นเพียงความเหนือกว่าในเรื่องฮาร์ดแวร์ หรือในเรื่องจำนวน

ในบทความชิ้นหนึ่งที่เขียนให้แก่ เว็บไซต์จีน เดอะ ไชน่า อะคาเดมี (The China Academy) เผยแพร่เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม [4] หวัง เซียงซุ่ย (Wang Xiangsui) และ แชร์เรียต ไจ้ (Charriot Zhai) ย้ำว่า ความได้เปรียบของปากีสถานยึดโยงอยู่กับการที่ฝูงเครื่องบินขับไล่ของประเทศนี้มีความเรียบง่ายมากขึ้นเรื่อยๆ โดยปัจจุบันประกอบด้วยอากาศยานเพียง 6 แบบเท่านั้น และนับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ได้กำหนดแหล่งที่มาของเครื่องบินขับไล่ทั้งหมดเอาไว้ว่าจะซื้อหาจากจีนเท่านั้น

ในทางตรงกันข้าม พวกเขาขีดเส้นใต้ข้อเท็จจริงที่ว่าทางฝ่ายอินเดียกลับกำลังใช้งานเครื่องบินขับไล่รวมแล้ว 14 แบบซึ่งมาจากชาติต่างๆ กัน 5 ชาติ ทำให้เพิ่มความสลับซับซ้อนขึ้นมาอย่างสำคัญในเรื่องของการบูรณาการลิงก์เชื่อมข้อมูลต่างๆ ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ถึงแม้กองทัพอากาศอินเดียไม่ได้ล้าหลังกว่าเลยในเรื่องระดับดีไซน์ของเครื่องบินขับไล่แต่ละลำ ทว่าระบบอิเล็กทรอนิกส์ภายในเครื่องบินรวมทั้งพวกเทคโนโลยีของขีปนาวุธซึ่งมีทั้งที่มาจากโลกตะวันตกและที่มาจากรัสเซีย กลับประสบปัญหาต่อเชื่อมกันไม่ได้

ผลที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ หวัง และ ไจ้ ได้อ้างอิงว่า เครื่องบินขับไล่จากฝรั่งเศสและจากรัสเซียภายในคลังแสงของอินเดีย จะต้องคอยเกิดปัญหาการติดต่อสื่อสารกันและกันได้ด้วยความยากลำบากอยู่เป็นระยะๆ และไม่สามารถชี้นำขีปนาวุธของกันและกันได้ ภาวะด้อยคุณสมบัติในการปฏิบัติงานร่วมกันเช่นนี้ จึงกลายเป็นการเปิดเผยให้ทราบถึงจุดอ่อนข้อด้อยของการมีแพลตฟอร์มที่หลากหลายผิดแผกกัน ซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกพิจารณาว่าเป็นความได้เปรียบ ทว่าปัจจุบันกลับกลายเป็นตัวบ่อนทำลายประสิทธิภาพของการสู้รบแบบเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย

(หมายเหตุผูแปล หวัง เซี่ยงซุ่ย เป็นอดีตนาวาอากาศเอกอาวุโสแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีน ที่ปัจจุบันเป็น รองเลขาธิการของมูลนิธิ CITIC เพื่อการศึกษาเรื่องการปฏิรูปและการพัฒนา และเป็นผู้เขียนร่วมของหนังสือเรื่อง Unrestricted Warfare: Two Air Force Senior Colonels on Scenarios for War and the Operational Art in an Era of Globalization หนังสือชื่อดังที่ตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อปี 1999 ส่วน แชร์เรียต ไจ้ เป็นบรรณาธิการอำนวยการของ China Currents และ Top Picks และเป็นผู้รายงานข่าวให้แก่ Wave Media ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Wang_Xiangsui)

บทเรียนทางยุทธการจากการสู้รบทางอากาศขนาดย่อมๆ ระหว่างอินเดีย-ปากีสถานในช่วงไม่นานที่ผ่านมาเหล่านี้ กำลังกลายเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้แก่แนวความคิดของการสำแดงอานุภาพทางอากาศในเชิงยุทธการโดยมองว่าเป็นระบบนิเวศระบบหนึ่ง แทนที่จะพึ่งพาอาศัยแพลตฟอร์ตแต่ละอย่างแยกออกจากกัน

ย้อนหลังไปในเดือนมิถุนายน 2019 ปีเตอร์ แมตเทส (Peter Mattes) นาวาตรีแห่งกองทัพอากาศสหรัฐฯ อ้างอิงเอาไว้ในบทความที่เขียนให้แก่ เดอะ มิตเชลล์ ฟอรั่ม (The Mitchell Forum) [5] อธิบายเรื่องระบบการป้องกันภัยทางอากาศแบบบูรณาการ (integrated air defense system หรือ IADS) เอาไว้ว่า คือระบบที่มีส่วนประกอบต่างๆ อย่างเช่น เรดาร์, ระบบสั่งการบังคับบัญชา, เครือข่ายการติดต่อสื่อสาร, แพลตฟอร์มอาวุธ, และบุคลากร ซึ่งขึ้นต่อพึ่งพากันและกัน แต่ก็มีความหลากหลายและแยกต่างหากจากกันได้ โดยที่มีการจัดระเบียบเพื่อการดำเนินงาน ทั้งในด้านการเฝ้าติดตาม, การบริหารจัดการสมรภูมิ, และการควบคุมอาวุธ

แมตเทสบอกว่า แทนที่ส่วนประกอบเหล่านี้จะปฏิบัติการอย่างเป็นอิสระ พวกมันจะดำเนินงานในเครือข่ายคู่ขนานที่ถูกเชื่อมต่อเข้าด้วยกัน โดยอาศัยการสื่อสารสมัยใหม่และการหลอมรวมด้านข้อมูล เขาชี้ว่าเครื่องบินขับไล่นั้นไม่ได้เป็นทรัพย์สินที่ตั้งอยู่โดดเดี่ยวต่างหากจากทรัพย์สินอื่นๆ แต่ทำงานภายในระบบเช่นว่านี้โดยคอยให้สมรรถนะทางอากาศแบบตอบโต้เพื่อการป้องกัน, การหนุนเสริมพวกขีปนาวุธจากภาคพื้นสู่อากาศ (surface-to-air missiles หรือ SAM) และระบบการทำสงครามอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ

เขากล่าวต่อไปว่า บทบาทของพวกเครื่องบินขับไล่คือ การบูรณการเข้ากับระบบ เคียงข้างกับส่วนประกอบอื่นๆ เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีการป้องกันภัยทางอากาศแบบหลายชั้น ที่มีการปรับตัวได้อย่างยืดหยุ่น และไร้รอยตะเข็บในตลอดทั่วทั้งปริมณฑล
(หมายเหตุผู้แปล - เดอะ มิตเชลล์ ฟอรั่ม เป็นเวทีเปิดให้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการป้องกันประเทศและแสนยานุภาพทางด้านการบินและอวกาศ ของสถาบันมิตเชลล์เพื่อการบินและอวกาศศึกษา Mitchell Institute for Aerospace Studies หน่วยงานคลังสมองในกรุงวอชิงตัน ซึ่งสังกัดอยู่กับสมาคมกองทัพอากาศและกองกำลังอวกาศ Air & Space Forces Association ของสหรัฐฯ ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Air_%26_Space_Forces_Association)

ขณะที่กองทัพอากาศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังไม่ได้มีการดำเนินงานภายในสภาพแวดล้อมแบบระบบ-ต่อ-ระบบอย่างเข้มข้นในระดับสูง การตัดสินใจในด้านการจัดหาจัดซื้อและการวางแผนของกองทัพเหล่านี้ยังบ่งชี้ให้เห็นด้วยว่า พวกเขาอาจจะมีจุดอ่อนในทำนองเดียวกับสถาปัตยกรรมแบบขาดการเชื่อมต่อกัน ซึ่งเป็นตัวบดบังขวางกั้นความมีประสิทธิภาพแห่งแสนยานุภาพทางอากาศของอินเดีย ระหว่างที่เกิดการปะทะสู้รบกันที่แคชเมียร์

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2025 บล็อก ดีเฟนซ์ แอนด์ ซีเคียวริตี้ มอนิเตอร์ (Defense and Security Monitor หรือ DSM) รายงาน [6] ว่า เวียดนามอาจจะกำลังเผชิญกับความท้าทายอย่างสำคัญในการหาเครื่องบินรุ่นใหม่ๆ มาแทนที่เครื่องบินขับไล่ไอพ่น Su-22 ของตน ซึ่งผลิตขึ้นตั้งแต่ยุคสหภาพโซเวียต เนื่องจากสงครามยูเครนได้ก่อให้เกิดความสงสัยข้องใจเกี่ยวกับความเชื่อถือได้ของรัสเซียในฐานะที่เป็นซัปพลายเออร์ รวมทั้งผลงานของเครื่องบินรบรัสเซียก็มีช่องโหว่ซึ่งทำให้ปรารถนาที่จะได้อะไรซึ่งมากกว่านั้น

ขณะที่เวียดนามเพิ่งสามารถบรรลุข้อตกลงกับสหรัฐฯในการซื้อหาเครื่องบินขับไล่ F-16 เป็นจำนวน 24 ลำ [7] แต่การนำเอาเครื่องบินแบบนี้เข้าสู่กองทัพอากาศประชาชนเวียดนาม (Vietnam People’s Air Force หรือ VPAF) ซึ่งแต่ไหนแต่ไรมาก็สร้างขึ้นรอบๆ เครื่องบินของโซเวียตและรัสเซียมาโดยตลอด เรียกร้องให้ต้องจัดทำโครงสร้างทางด้านการฝึก, การซ่อมบำรุง, และการส่งกำลังบำรุงกันใหม่ การปรับปรุงดัดแปลงใหม่ๆ เหล่านี้ยังอาจส่งผลให้เกิดปัญหาร้ายแรงในเรื่องความสามารถที่จะทำงานร่วมกันระหว่างเครื่องบินโซเวียต/รัสเซียกับเครื่องบินสหรัฐฯขึ้นมา

มาเรีย เซียว (Maria Siow) ผู้สื่อข่าวของ SCMP อ้างอิงเอาไว้ในบทความที่เผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์ฮ่องกงฉบับนี้ ในเดือนเมษายน 2025 [8] ว่า การที่เวียดนามตัดสินใจซื้อเครื่องบิน F-16 ของสหรัฐฯคราวนี้ มีแรงผลักดันจากความปรารถนาที่จะได้แต้มต่อรองเพิ่มสูงขึ้นในการเจรจาด้านการค้ากับสหรัฐฯ มากกว่าจะเป็นเรื่องของการจับกลุ่มรวมตัวทางพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์กันใหม่ชนิดที่เวียดนามจะทำตัวให้เหินห่างออกมาจากรัสเซีย

เซียว บอกว่า ก่อนปี 2022 รัสเซียเป็นผู้จัดหาจัดส่งซัปพลายด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ให้เวียดนามถึงราวๆ 80% และในขณะที่เวียดนามกำลังดำเนินการเพื่อกระจายซัปพลายเออร์ของตนออกไปให้มีความหลากหลายมากขึ้นนั้น ฝ่ายทหารเวียดนามก็ยังคงมีความไว้เนื้อเชื่อใจรัสเซียมากกว่าสหรัฐฯอยู่อย่างต่อเนื่อง เธอตั้งข้อสังเกตว่ายังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าเวียดนามจะได้รับ F-16 แบบใหม่เอี่ยมแบรนด์นิว หรือว่าเป็นเครื่องบินมือสอง หากเป็นแบบหลังก็จะถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับคุณค่าในการสู้รบเมื่อต้องเผชิญกับพวกเครื่องบินขับไล่เทคโนโลยีหลีกเร้นเรดาร์ (สเตลธ์) ของจีน

เธอกล่าวต่อไปว่า การที่ F-16 มีค่าใช้จ่ายสูง รวมทั้งก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะเจอการตอบโต้อย่างเป็นปรปักษ์จากจีน รวมทั้งมนตร์เสน่ห์ของพวกทางเลือกที่เป็นเครื่องบินระดับโลว์โปรไฟล์กว่า อย่างเช่น เครื่องบินขนส่ง C-130 ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนมีน้ำหนักที่เป็นไปในทางคัดค้านดีล F-16 ทั้งสิ้น เซียวกล่าวอีกว่า เวียดนามเวลานี้ไม่ได้ประสบความยากลำบากใดๆ ในการหาชิ้นส่วนอะไหล่ต่างๆ จากฝ่ายรัสเซีย จึงยิ่งทำให้ลู่ทางโอกาสที่จะซื้อหา F-16 ไว้ในครอบครอง ยิ่งดูเป็นไปได้น้อยลงอีก

ในส่วนของอินโดนีเซีย การที่อินเดียสูญเสียเครื่องบินขับไล่ ราฟาล ในการทำศึกเวหากับปากีสถานเช่นนี้ อาจเป็นตัวเร่งให้แดนอิเหนาต้องขบคิดทบทวนการสั่งซื้อเครื่องบินขับไล่รุ่นเดียวกันนี้จำนวน 42 ลำจากฝรั่งเศส เป็นมูลค่าราวๆ 8,100 ล้านดอลลาร์ การซื้อหาเช่นนี้ยังจะกลายเป็นการเพิ่มเติมลักษณะความจับฉ่ายของฝูงเครื่องบินขับไล่ของอินโดนีเซียให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้นอีก จากที่ในปัจจุบันก็ประกอบด้วย F-16 ผสมปะปนไปกับ Su-27 และ Su-30 อยู่แล้ว

ในข้อเขียนชิ้นหนึ่งของ SCMP เผยแพร่เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ [9] มีการอ้างอิงความเห็นของ เดฟ ลัคโซโน (Dave Laksono) ส.ส.ของอินโดนีเซีย ที่ออกมาปกป้องการตัดสินใจซื้อเครื่องบิน ราฟาล ของรัฐบาลแดนอิเหนา โดยกล่าวว่า แม้กระทั่งพวกเครื่องบินขับไล่ที่มีศักยภาพมากที่สุดก็ยังคงสามารถที่จะถูกสอยร่วง หรือเจอประสบการณ์ปัญหาทางเทคนิคอยู่ดี ถึงแม้เวลาเดียวกันนั้นเขาก็ยอมรับว่า การกล่าวอ้างของปากีสถานที่สามารถสร้างยิง ราฟาล ของอินเดียตก ทำให้มีพื้นฐานอันถูกต้องชอบธรรมและสร้างสรรค์สำหรับการดำเนินการประเมินทบทวน

ยิ่งกว่านั้น แชปปี้ ฮาคิม (Chappy Hakim) อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศอินโดนีเซีย ได้กล่าวอ้างอิงเอาไว้ในบทความชิ้นหนึ่งเผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์จาการ์ตาโพสต์ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม [10] ว่า การที่อินโดนีเซียได้เครื่องบินราฟาลเอาไว้ในครอบครอง ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถครองความเป็นเจ้าเวหาได้โดยอัตโนมัติ โดยยังจะต้องมีเครือข่ายอันสมบูรณ์แบบของเรดาร์ตรวจการณ์, อุปกรณ์เซนเซอร์เตือนภัยล่วงหน้า, ระบบติดตามแกะรอย, และโครงการการบังคับบัญชาและควบคุมแบบบูรณาการ ถ้าหากปราศจากพวกสถาปัตยกรรมคอยสนับสนุนเช่นนี้แล้ว การเพิ่มเครื่องบินขับไล่อีกแบบหนึ่งเข้ามาก็อาจทำให้เกิดอัตราผลตอบแทนที่ลดต่ำลงไปเรื่อยๆ เท่านั้น

เครื่องบินขับไล่ Su -30MKM ของกองทัพอากาศมาเลเซีย (ภาพจากวิกิพีเดีย)
สำหรับกรณีของมาเลเซีย ดีเฟนซ์ นิวส์ (Defense News) เว็บไซต์และนิตยสารข่าวสารกลาโหมที่ตั้งฐานอยู่ในสหรัฐฯ รายงานเอาไว้เมื่อเดือนกันยายน 2024 [11] ว่า ประเทศนี้กำลังดิ้นรนหนักในความพยายามที่จะทำให้เครื่องบินขับไล่ Su-30 MKM จำนวน 18 ลำของตนยังคงสามารถบินได้ต่อไป โดยที่มาตรการแซงก์ชั่นรัสเซียของฝ่ายตะวันตกได้ส่งผลกระทบกระเทือนต่อความสามารถของมาเลเซียในการจัดซื้อจัดหาชิ้นส่วนอะไหล่จากแดนหมีขาว

ขณะที่ ออลลี ซูออร์ซา (Olli Suorsa) รองศาสตราจารย์ของสถาบันรับดัน (Rabdan Academy) สถาบันอุดมศึกษาของภาครัฐบาลในกรุงอาบู ดาบี, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กล่าวในบทความที่เผยแพร่เมื่อเดือนธันวาคม 2024 ทางวารสารฟัลครัม (Fulcrum) ของสถาบัน ISEAS – Yusof Ishak Institute ของทางการสิงคโปร์ [12] ว่า มาเลเซียวางแผนจะจัดหาเครื่องบินขับไล่ F/A-18 ของคูเวตที่ปลดประจำการแล้วมาใช้งานในฐานะเป็นมาตรการแก้ปัญหาชั่วคราว ทว่าเครื่องบินเหล่านี้ใช้เทคโนโลยีที่ล้าสมัยและมีอายุเก่ากว่าพวก F/A-18 ซึ่งมาเลเซียใช้งานอยู่ เขากล่าวต่อไปว่าการมี F/A-18 จากคนละรุ่นอายุกันเช่นนี้อาจก่อให้เกิดปัญหาการเข้ากันไม่ได้ในเรื่องชิ้นส่วนอะไหล่ รวมทั้งทำให้การซ่อมบำรุงก็มีความสลับซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น

ในยุคสมัยที่แสนยานุภาพทางอากาศถูกนิยามจำกัดความโดยการบูรณาการของระบบต่างๆ พวกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ล้มเหลวไม่สามารถสร้างเครือข่ายการสู้รบทางอากาศที่สามารถเกาะเกี่ยวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันขึ้นมาได้ อาจจะกำลังเปลี่ยนฝูงเครื่องบินขับไล่ของพวกตน ให้กลายเป็นภาระหนักอึ้งราคาแพงระยับไปก็เป็นได้

เชิงอรรถ
[1] https://www.scmp.com/news/china/science/article/3310134/easy-abc-how-pakistan-unified-radars-jets-and-warning-aircraft-against-india
[2] https://www.aviacionline.com/j-10c-and-pl-15-the-made-in-china-combo-that-delivered-a-bloody-nose-to-the-indian-air-forc
[3] https://www.spectator.co.uk/article/does-india-still-have-an-airpower-advantage-over-pakistan/?group=2cards&card=2
[4] https://thechinaacademy.org/how-china-helped-pakistan-shoot-down-indias-rafale/
[5]https://www.mitchellaerospacepower.org/app/uploads/2021/02/a2dd91_2f17e209f90f4aaab80b116e4d139eb4.pdf
[6] https://dsm.forecastinternational.com/2025/02/24/vietnams-urgent-air-force-overhaul-exploring-fighter-jet-options-amid-global-tensions/
[7] https://www.rfa.org/english/vietnam/2025/04/21/us-f16-fighter-jet-sale/
[8] https://www.scmp.com/week-asia/politics/article/3307509/vietnams-f-16s-plan-break-russia-or-power-play-us-tariff-talks
[9] https://www.scmp.com/week-asia/politics/article/3310309/indonesias-costly-bet-french-rafale-jets-under-scrutiny-after-india-pakistan-aerial-clash
[10] https://www.thejakartapost.com/opinion/2025/05/15/reevaluating-indonesias-air-defense-concept-a-lesson-from-india-pakistan-conflict.html
[11] https://www.defensenews.com/global/asia-pacific/2024/02/21/malaysia-is-becoming-wary-of-its-russian-made-weapons/
[12] https://fulcrum.sg/2024-top-10-malaysias-purchase-of-kuwaiti-hornets-is-it-worth-it/
กำลังโหลดความคิดเห็น