xs
xsm
sm
md
lg

ชำแหละงบปี 69 ลงทุนหด ใช้หนี้เงินกู้บาน จะกู้ชีพเศรษฐกิจรอดหรือไม่ ต้องลุ้นหนัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ชำแหละงบประมาณรายจ่าย ปี 2569 วงเงินรวม 3.78 ล้านล้านบาท ที่ผ่านมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อนเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร (สส.) วาระแรก ในวันที่ 28-30 พฤษภาคมนี้ว่าจะกู้เศรษฐกิจที่ผันผวนหนักให้รอดพ้นจากพิษการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ สักเพียงใด โดยเฉพาะเงินก้อนใหญ่ภายใต้ “งบกลาง” ที่เสมือน “ตีเช็คเปล่า” ซึ่งยังคลุมเครือ ขณะที่การใช้หนี้เงินกู้ก็พุ่งพรวดขึ้นอีกด้วย


ใส้ในของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ที่เพิ่งผ่านมติ ครม. เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2568 วงเงิน 3,780,600 ล้านบาท จำแนกตามกลุ่มงบประมาณ ดังนี้ รายจ่ายงบฯ กลาง 632,968 ร้อยละ 16.74, รายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ 1,408,060 ร้อยละ 37.25, รายจ่ายบูรณาการ 98,767 ร้อยละ 2.61, รายจ่ายบุคลากร 820,820 ร้อยละ 21.71, รายจ่ายสำหรับทุนหมุนเวียน 274,576 ร้อยละ 7.26, รายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ 421,864 ร้อยละ 11.16, รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 123,541 ร้อยละ 3.27

และหากจำแนกตามยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย ด้านความมั่นคง 415,327 ล้านบาท, การสร้างความสามารถในการแข่งขัน 394,611ล้านบาท, การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 605,927 ล้านบาท, การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 942,709 ล้านบาท, การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 147,216 ล้านบาท และการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ 605,441 ล้านบาท

สำหรับ 10 อันดับแรกที่ได้รับการจัดสรรงบฯมากที่สุด คือ 1.งบฯกลาง 632,968 ล้านบาท ลดลงจากปี 2568 จำนวน 209,032 ล้านบาท 2.กระทรวงการคลัง 397,856 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8,197 ล้านบาท 3.กระทรวงศึกษาธิการ 355,108 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14,333 ล้านบาท 4.กระทรวงมหาดไทย 301,265 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,852 ล้านบาท 5.กระทรวงกลาโหม 204,434 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,713 ล้านบาท

6.กระทรวงคมนาคม 200,756 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7,403 ล้านบาท 7.กระทรวงสาธารณสุข 177,639 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,673 ล้านบาท 8.กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 140,300 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8,058 ล้านบาท 9.กระทรวงเกษตรฯ 130,111 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7,483 ล้านบาท และ 10.กระทรวงแรงงาน 68,069 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.5 ล้านบาท

ทั้งนี้ คาดว่าจะจัดเก็บรายได้ประเภทต่าง ๆ จำนวน 3,494,900 ล้านบาท แต่เมื่อหักลดภาระการคืนภาษีต่าง ๆ แล้วจะคงเหลือเป็นรายได้สุทธิจำนวน 2,920,600 ล้านบาท ทำให้ประมาณการรายจ่ายจะสูงกว่ารายได้สุทธิ จำนวน 860,000 ล้านบาท จึงมีการกำหนดจำนวนดังกล่าวให้เป็นเงินกู้ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 22.7 ของประมาณการรายรับ

หลังผ่าน ครม. แล้ว ร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 2569 จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร (สส.) วาระแรก ในวันที่ 28-30 พฤษภาคม 2568 จากนั้นจะเข้าสู่วาระที่ 2 เพื่อพิจารณารายมาตรา และวาระที่ 3 เพื่อประกาศใช้ในเดือนตุลาคม 2568

การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ในช่วงที่สองพรรคใหญ่ “เพื่อไทย – ภูมิใจไทย” เปิดศึกรบทั้งทางลับและทางแจ้ง จึงมีคำถามต่อ “นายกฯอิ๊งค์” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่าคุยกันกับพรรคร่วมรัฐบาลแล้วหรือไม่ คำตอบคือ “พูดคุยกันเรียบร้อยแล้ว ไม่มีเรื่องอะไรที่ตื่นเต้น .... พรรคร่วมรัฐบาลเห็นตรงกันตั้งแต่แรกอยู่แล้วไม่มีอะไร”

สอดประสานกับการออกมาให้สัมภาษณ์ของ “เสี่ยหนู” นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่ยืนยันด้วยเสียงหนักแน่นว่า ไม่เป็นความจริงที่พรรคภูมิใจไทย จะโหวตคว่ำร่างพ.ร.บ.งบฯ 2569 เพราะรัฐบาลทำงบประมาณมาด้วยกัน และผ่านมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้ว โดยรวมแล้วกระทรวงที่พรรคภูมิใจไทย ดูแลอยู่มีงบประมาณล้านล้านบาท หากว่าจะไม่เห็นชอบหรือไปโหวตคว่ำก็คงไม่ผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

เป็นการสยบข่าวร่ำลือหนาหูกันว่า สองพรรคใหญ่ จะเล่นเกมการเมืองในสภาฯ ถึงขั้นคว่ำร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ 2569 เหมือนที่เคยเกิดซีน “ตบจูบ”กันในเรื่องร่าง กม.กาสิโนพ่วงเอ็นเทอร์เทนเม้นท์คอมเพล็กซ์

ขณะที่พรรคประชาชน แกนนำฝ่ายค้าน โพสต์ ‘อภิปรายงบ 2569 : ช่วยรัฐบาลหาเงิน โอกาสสุดท้ายก่อนเศรษฐกิจไทยพังจริง’ ว่า การขึ้นภาษีของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ทำให้ส่งออกชะลอตัว นักท่องเที่ยวลด สินค้าเกษตรราคาตก คนงานถูกเลย์ออฟ ค่าครองชีพพุ่ง ไม่มีใครไม่รู้สึกว่าคนไทยทั้งประเทศกำลังเดินหน้าสู่หายนะทางเศรษฐกิจ รายได้หลักของไทยที่มาจากการส่งออกและการท่องเที่ยว กำลังโคม่าจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก กลไกเดียวที่พอจะพยุงสถานการณ์ได้ ก็คือการลงทุนจากภาครัฐ แต่รัฐบาลเองก็อยู่ในสภาวะใกล้ถังแตก จากการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 2 เฟส จนต้องเลื่อนการแจกเงินเฟส 3 ออกไปอย่างไม่มีกำหนด

การอภิปรายงบประมาณปี 2569 พรรคประชาชน จึงอาสาช่วยรัฐบาลหาเงิน ผ่านการตัดงบประมาณที่ไม่จำเป็น และขอแค่รัฐบาลให้คำมั่นว่าจะใช้งบประมาณที่มีอยู่มาใช้พยุงสภาพเศรษฐกิจ ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ปรับโครงสร้างระยะยาว รวมถึงเตรียมเงินชดเชยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากภาษีทรัมป์อย่างไรบ้าง

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ขนคณะทำงานชุดใหญ่บินไปอังกฤษเพื่อเปิดตลาดสินค้า - Soft Power ไทย ให้กระจายทั่วสหภาพยุโรป
ในภาพรวมการจัดสรรงบประมาณฯ ปี 2569นายอลงกรณ์ พลบุตรรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตกรรมาธิการพิจารณาร่างพรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีของสภาผู้แทนราษฎร ได้วิเคราะห์ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 ในภาวะผันผวน โดยชี้ประเด็นสำคัญที่ควรไตร่ตรอง นั่นคือ การลดรายจ่ายลงทุน อาจกระทบโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และพลังงาน ซึ่งเป็นหัวใจหลักของแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤต

ส่วนการเพิ่มวงเงินชำระหนี้ สะท้อนภาระหนี้สาธารณะที่สูงขึ้น ซึ่งต้องจับตาการบริหารจัดการเพื่อไม่ให้กระทบความมั่นคงทางการคลังระยะยาว

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 2569 มีโครงสร้างและวงเงินงบประมาณวงเงินรวม 3.78 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 27,900 ล้านบาท แบ่งเป็น รายจ่ายประจำ 2.65 ล้านล้านบาท (ลดลง 1%), รายจ่ายลงทุน 864,077 ล้านบาท (ลดลง 7.3%), รายจ่ายชำระคืนเงินกู้ 151,200 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 0.7%), งบขาดดุล 860,000 ล้านบาท

สำหรับการเตรียมงบประมาณรับมือวิกฤตเศรษฐกิจจากผลกระทบของนโยบาย“ทรัมป์ 2.0”ที่ทำให้ภาคส่งออกและอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบหนัก จึงเป็นไปได้สูงที่รัฐบาลจะใช้กลไกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 2569 ของสภาฯ ปรับโอนงบประมาณจากรายการไม่จำเป็น เข้างบกลาง 25,000 ล้านบาท เพื่อรับมือความผันผวนทางเศรษฐกิจ

นายอลงกรณ์ ตั้งข้อสังเกตว่า การไม่ปรับแก้งบฯในชั้น ครม. อาจถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่างบกลางที่เพิ่มขึ้น 25,000 ล้านบาท จะเป็นการ “ตีเช็คเปล่า” ไม่มีแผนและรายละเอียดในการตรวจสอบโดยรัฐสภาระหว่างการพิจารณางบประมาณ ซึ่งรัฐบาลและสำนักงบประมาณ ควรสร้างความชัดเจนให้มากที่สุด

นอกจากนั้น รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคประชาธิปัตย์ ยังตั้งข้อสังเกตและเสนอแนะว่า การจัดสรรงบกลางเพื่อรับมือวิกฤตยังคลุมเครือสามารถแก้ไขได้โดยเพิ่มความโปร่งใสด้วยการเปิดเผยข้อมูลงบประมาณแบบ Real-time ผ่านแพลตฟอร์ม Open Data ส่วนรายจ่ายงบประจำ ลดลงแม้เพียง 1% แต่ถือเป็นสัญญาณบวก ควรดำเนินการต่อในปีงบประมาณถัดไปอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การลดลงของงบลงทุน อาจกระทบการเติบโตระยะยาว

ส่วนงบประมาณที่ควรชะลอไว้ก่อน อาทิ โครงการลงทุนที่ไม่เร่งด่วน และโครงการที่ยังไม่มีแผนรองรับการใช้งานอย่างชัดเจน หรือโครงการที่ใช้งบประมาณสูงแต่มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจต่ำ

ที่น่าห่วงคือ ตัวเลขหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากปี 2564 มีสัดส่วน 62.44% ของ GDP และปี 2569 จะเพิ่มใกล้แตะเพดาน 70 % ของ GDP ทั้งนี้ หนี้สาธารณะรวมเมื่อถึงปี 2569 คาดว่าจะสูงถึง 13.6 ล้านล้านบาท เป็นภาระหนักของประเทศเสมือนโคลนติดล้อ

การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 2569 ยังต้องลุ้นกันหนักว่าจะมีการปรับลด ปลด แก้ อีกสักกี่มากน้อย แต่ที่ไม่ต้องรอกันอีกต่อไปแล้ว นั่นคือ การแจกเงินหมื่น เฟส 3 ซึ่งอยู่ในสภาวะจอดสนิท โดยคณะรัฐมนตรี เห็นชอบเรื่องแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในกรอบวงเงิน 1.57 แสนล้านบาท ตามมติคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ครั้งที่ 2/2568 เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2568 เห็นชอบทบทวนค่าใช้จ่ายงบประมาณปี 2568 งบกลางรายการค่าใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน

การทบทวนใหม่ นั่นคือการยอมรับว่าโครงการแจกเงินหมื่น หรือ ดิจิทัล วอลเล็ต ยังไม่ใช่ตัวกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดีที่สุด ประจวบเหมาะกับเสียงทักท้วงของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ไม่เห็นด้วยกับการแจกเงินหมื่น และขอให้รัฐบาลทบทวนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจโลก โครงการ “เรือธง” จึงจอดสนิท และคงกลายเป็น “เรือล่ม” ในที่สุด

สำหรับแผนกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่นายจิรายุ ห่วงทรัพย์โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า จะครอบคลุมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำและคมนาคม การยกระดับแหล่งท่องเที่ยว สนับสนุนภาคเกษตรและผู้ประกอบการ SMEs ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนผ่านกองทุนหมู่บ้าน และโครงการพัฒนาทุนมนุษย์ในด้านการศึกษา

ตามไทม์ไลน์ หน่วยงานเสนอโครงการผ่านการกลั่นกรองของคณะอนุกรรมการฯ ภายในเดือนพฤษภาคม ก่อนเสนอครม.พิจารณาอนุมัติในเดือนมิถุนายน และเข้าสู่การจัดสรรงบโดยสำนักงบประมาณ ภายในเดือนกรกฎาคม 2568
เอาเป็นว่าในช่วง 4-5 เดือนนับต่อแต่นี้ ก่อนถึงสิ้นปีงบประมาณในเดือนกันยายน 2568 รัฐบาลจะเทงบ 1.57 แสนล้านบาท กระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นผ่านโครงการ “เร่งด่วน” ซึ่งหน่วยงานต่าง ๆ อาจเอาโครงการเก่ามาปัดฝุ่นใหม่ หรือทำโครงการแบบสุกเอาเผากินเพื่อให้ทันการใช้งบ และผลจากการละเลงงบรอบนี้ จะทำให้กระเป๋านักการเมืองค่ายไหนตุงสุด สังคมคงพอมีคำตอบกันอยู่

ส่วนประชาชนคนไทยนั้น คงได้แต่ต้องเตรียมพร้อมตามเสียงเตือนของนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ขอให้ภาคธุรกิจและประชาชนมีความระมัดระวังในการดำเนินชีวิตและธุรกิจในช่วงถัดไป เพื่อที่จะทำให้ผ่านช่วงเวลานี้ไปให้ได้

ทั้งนี้ สศช. หั่นจีดีพีไทยปี 2568 เหลือเพียง 1.8% จากความเสี่ยงเศรษฐกิจโลก แม้ว่าไตรมาสแรกของปี 2568 จะเติบโต 3.1 % ต่อเนื่องจากการขยายตัว 3.3% ในไตรมาสที่สี่ของปี 2567 ซึ่งเป็นผลจากการเร่งนำเข้าของผู้ค้าสหรัฐฯ ทำให้การส่งออกและการผลิตปรับตัวดีขึ้น ก่อนที่โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะออกมาตรการกำแพงภาษี เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา

การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยทั้งปี ยังมีข้อจำกัดจากภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง และมีแนวโน้มชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 ตามแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก และผลกระทบจากการดำเนินมาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ สถานการณ์จะผันผวนมากขึ้น ทั้งการค้า การลงทุน และอัตราแลกเปลี่ยน

ขณะเดียวกัน ถ้อยแถลงของนางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังเผยให้เห็นสภาพลูกหนี้ที่หลังชนกำแพง จ่ายหนี้กันไม่ไหวแล้ว จากตัวเลขสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ (รวมเครือ) ในไตรมาส 1 ปี 2568 หดตัวอยู่ที่ 1.3% จากระยะเดียวกันปีก่อน นับเป็นการหดตัว 3 ไตรมาสติดต่อกัน

สำหรับสินเชื่อ SME ยังคงหดตัวในทุกภาคธุรกิจที่หดตัว 5.5% โดยเฉพาะภาคการพาณิชย์ ส่วนหนึ่งมาจากแบงก์เข้มงวดปล่อยสินเชื่อ ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคหดตัวต่อเนื่อง ตามความเสี่ยงด้านเครดิตที่ยังอยู่ในระดับสูง

ส่วนยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (non-performing loan: NPL) ไตรมาส 1 ปี 2568 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.48 แสนล้านบาท ส่งผลให้สัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.9% หลัก ๆ มาจากสินเชื่อ SMEs และสินเชื่อที่อยู่อาศัย และเมื่อแยกตามขนาดธุรกิจพบว่า NPL ของสินเชื่อธุรกิจวงเงินน้อยกว่าหรือเท่ากับ 500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นแตะระดับ 7.35% ของสินเชื่อ SME ทั้งระบบ ซึ่งสูงกว่าช่วงเกิดการระบาดของโรคโควิด – 19 เสียอีก

เมื่อแยกตามพอร์ตสินเชื่ออุปโภคบริโภค พบว่า สัดส่วน NPL ของสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มสูงต่อเนื่องอยู่ที่ 4.10% ของสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งระบบ และสูงสุดเมื่อเทียบกับพอร์ตสินเชื่ออุปโภคบริโภคประเภทอื่นๆ โดยสัดส่วน NPL ของสินเชื่อเช่าซื้อ อยู่ที่ 2.20% สินเชื่อส่วนบุคคล อยู่ที่ 2.95% สินเชื่อบัตรเครดิต อยู่ที่ 3.35% และสินเชื่อที่อยู่อาศัย อยู่ที่ 4.10%

สำหรับภาพรวมหนี้ครัวเรือนต่อ GDP พบว่า ทยอยปรับลดลงจากจุดสูงสุด เมื่อช่วงประมาณกลางปี 2564 จากระดับ 94.6% ต่อ GDP เหลืออยู่ที่ 88.4% ต่อ GDP แต่ยังต้องติดตามภาวะการเงินที่ตึงตัว ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและครัวเรือน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่รายได้ฟื้นตัวช้า และมีภาวะหนี้สูง ทั้งอาจได้รับแรงกดดันทางการเงินจากผลกระทบของนโยบายการค้าโลก

ฉะนี้แล้ว การทุ่มงบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น และการจัดงบฯปี 69 เพื่อสู้ศึกการขึ้นภาษีของทรัมป์ หากยังวนอยู่ในลูปเดิมอย่างที่เห็น คงบอกได้คำเดียวว่าอาการน่าเป็นห่วงทั่วทั้งแผ่นดิน

ขณะที่ตัว “นายกฯ อิ๊งค์” เองก็ขนคณะชุดใหญ่ไปอังกฤษ โดยป่าวประกาศว่า เพื่อขยายโอกาสสินค้า - Soft Power ไทยให้กระจายทั่วสหภาพยุโรป ซึ่งเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังกระหึ่มตามมาว่า จะเกิดประโยชน์โภชผลกับประเทศชาติคุ้มค่าจริงหรือ
กำลังโหลดความคิดเห็น