โฆษกดีเอสไอ เผย เตรียมสรุปสำนวนคดี "นอมินี" ตึก สตง. ถล่ม ภายในเดือน พ.ค.นี้ - ล่าจับ "บินลิง วู" ผู้ต้องหาหลบหนี พร้อมแยก "คดีฮั้วประมูล" เอาผิดเพิ่มเติม
วันนี้ (22 พ.ค.) เวลา 9.30 น. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ที่ 32/2568 "ความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 (คดีนอมินี) บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด กรณีโครงการก่อสร้างอาคาร สตง. ถล่ม" ร่วมประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยมี พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค พร้อมด้วย พ.ต.ท.อมร หงษ์ศรีทอง ผอ.กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ , นายศุภภางกูร พิชิตกุล รอง ผอ.กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ , นางภัทรพร วิจิตรทัศนา ผอ.ส่วน 2 กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ และพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ เข้าร่วม
พ.ต.ต.วรณัน เปิดเผยหลังการประชุมว่า วันนี้มีการพิจารณา 3 ประเด็น 1.การสอบสวนดำเนินคดีนอมินี ออกหมายบุคคลที่เกี่ยวข้อง 5 ราย ประกอบด้วย 1.นายโสภณ มีชัย 2.นายประจวบ ศิริเขตร 3.นายมานัส ศรีอนันท์ (3 คนไทยนอมินี) 4.นายชวนหลิง จาง ชาวจีน กรรมการบริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ และ 5.นายบินลิง วู นายทุนชาวจีน ผู้ต้องหารายเดียวซึ่งอยู่ระหว่างการหลบหนี หากตามจับกุมตัวได้หลังส่งสำนวนอัยการแล้วก็จะนำตัวมาแจ้งข้อหา และส่งตัวตามไปในภายหลังได้
พ.ต.ต.วรณัน เผยว่า จากการตรวจสอบข้อมูล นายบินลิง วู ยังไม่พบสัญญาณเดินทางออกนอกประเทศ และมีการประสาน ตม. แล้ว พร้อมมอบหมายศูนย์สืบสวนสะกดรอยและการข่าว ดีเอสไอ เร่งติดตามตัวจับกุมซึ่งที่อยู่เป็นหลักแหล่งคาดว่าไม่อยู่แล้ว ส่วนการพูดคุยกับบุคคลใกล้ชิด นายบินลิง วู ขอให้มอบตัวหรือเข้าพบเจ้าหน้าที่ดีเอสไอนั้น อยากให้เจ้าตัวมาแสดงตัวต่อเจ้าหน้าที่เพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
พ.ต.ต.วรณัน เผยอีกว่า ในส่วนผู้ต้องหา 4 ราย พนักงานสอบสวน ส่งฝากขังศาลอาญาแต่ได้รับอนุญาตประกันตัว และเปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาส่งหนังสือมาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ซึ่งเจ้าหน้าที่ยึดหลักฟังความทั้งสองฝ่ายแต่ผู้ต้องหาก็ไม่ได้ใช้สิทธิ์นำหลักฐานมาอธิบาย ซึ่งคดีนอมินี มีระยะเวลาการฝากขัง เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องเร่งสรุปสำนวนเสนอความเห็นผ่านอธิบดีดีเอสไอและส่งมอบให้พนักงานอัยการ ภายในสิ้นเดือน พ.ค.68
พ.ต.ต.วรณัน เผยต่อว่า 2.ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 (คดีฮั้วประมูล) พบมีความเกี่ยวข้องในคดีต้องสืบสวนสอบสวนต่อ โดยในที่ประชุมจึงมีมติแยกเลขคดีพิเศษ เพื่อดำเนินการต่อไป และขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน เพราะยังมีประเด็นที่เกี่ยวข้องอีกหลายส่วน เน้นสัญญา 3 ฉบับ อาทิ สัญญาก่อสร้าง สัญญาออกแบบ สัญญาควบคุมงาน รวมถึง มีการเรียกสอบพยานกลุ่มบริษัทที่เคยเสนอราคา E-Bidding หรือคัดเลือกแล้วแต่รายละเอียดอยู่ในสำนวน
"ส่วนการสอบปากคำเจ้าหน้าที่ สตง. ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการทุจริตฮั้วประมูลหรือไม่นั้น ประเด็นนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 กำหนดไว้ว่าหากมีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องต้องส่งสำนวน ป.ป.ช. โดยการฮั้วมีหลายรูปแบบอาจเป็นเอกชนกับเอกชนหรือเอกชนกับรัฐก็ได้ นอกจากนี้ ในคดีฮั้วประมูล ผู้ต้องหาจะเชื่อมโยงกับคดีของตำรวจหรือไม่ ต้องดูรายละเอียดของสำนวน และต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงเพิ่มเติม"
พ.ต.ต.วรณัน กล่าวเพิ่มเติมว่า 3.ประเด็นเรื่องสิ่งของที่มีการตรวจยึดระหว่างการสืบสวนสอบสวน โดยในที่ประชุมมีการพิจารณาว่าสิ่งของบางอย่างยังใช้เป็นพยานหลักฐานและส่วนไหนที่ไม่เกี่ยวข้องให้มีมติส่งคืนสิ่งของดังกล่าวให้กับผู้ถือสิทธิ์ โดยสิ่งของทั้งหมดเกี่ยวข้องกับทั้ง 2 คดี