เปิดประวัติโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) ขนาด 400 เตียง ที่ก่อตั้งโดยพระอุบาลีฯ อดีตเจ้าอาวาส พระนักพัฒนาผู้ล่วงลับ มาถึงยุคเจ้าคุณแย้มกลับไม่ใยดี หยุดสนับสนุนกว่า 3 ปี แล้วยังใช้ตู้รับบริจาคภายในวัดแอบอ้าง ต้องจัดตั้งมูลนิธิขึ้นมาใหม่ เปิดรับบริจาคแยกต่างหาก
วันนี้ (21 พ.ค.) การจับกุมนายแย้ม อินทร์กรุงเก่า หรืออดีตพระธรรมวชิรานุวัตร (เจ้าคุณแย้ม) อายุ 69 ปี อดีตเจ้าอาวาสวัดไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม และอดีตเจ้าคณะภาค 14 ข้อหายักยอกเงินวัดกว่า 300 ล้านบาท หลังตำรวจสอบสวนกลางตรวจสอบพบการทุจริตนำเงินในบัญชีธนาคารของวัดไปเล่นการพนันออนไลน์บาคาร่า หนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจคือเงินบริจาควัดไร่ขิง ที่พบว่ามีรายได้หลายทาง ทั้งการตั้งตู้รับบริจาคเงิน แต่พบว่าส่วนใหญ่เข้ากระเป๋าเจ้าคุณแย้ม แทบไม่ตกถึงบัญชีวัด
คณะทำงานประกอบด้วยตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก. หรือ CIB) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ตรวจสอบบัญชีธนาคาร 53 บัญชี มี 2 บัญชีที่เปิดเพื่อรับเงินจาคตู้บริจาคในนามของมูลนิธิเมตตาประชารักษ์ และจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ ให้กับโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง)
แต่พนักงานสอบสวนได้รับแจ้งข้อมูลจากผู้เกี่ยวข้องของโรงพยาบาลว่า ทางวัดไม่ได้สนับสนุนเงินให้กับโรงพยาบาลมานานกว่า 3 ปี แต่อย่างใด นอกจากนี้จากการตรวจสอบยอดเงินในบัญชีธนาคาร ทั้ง 2 บัญชี พบว่า มีเงินคงเหลือในบัญชีเพียงแค่ล้านกว่าบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างยื่นขอตรวจสอบรายงานเดินบัญชีจากสถาบันการเงิน ว่านำไปใช้ประโยชน์ผิดวัตถุประสงค์หรือไม่
ในอดีตโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) เคยได้รับเงินสนับสนุนเงินผ่านมูลนิธิเมตตาประชารักษ์ ทั้งด้านทุนการศึกษาให้กับนักศึกษาแพทย์ การอบรม และบัญชีสนับสนุนการซื้อเครื่องมือแพทย์อยู่เป็นประจำ แต่ในช่วงปี 2564-2565 ทางโรงพยาบาลฯ ได้รับเงินสนับสนุนจากทางวัดน้อยลง และหยุดสนับสนุนมานานกว่า 3 ปี
ทางโรงพยาบาลได้จัดตั้งมูลนิธิขึ้นมาใหม่ เพื่อเปิดรับเงินจากประชาชนอีกหนึ่งบัญชี โดยขาดอำนาจจากมูลนิธิเมตตาประชารักษ์เดิม ที่มีนายแย้ม อดีตเจ้าอาวาสเป็นประธานมูลนิธิและผู้มีอำนาจเบิกถอน จึงได้ขออนุญาตจากคณะกรรมวัดไร่ขิง ตั้งตู้บริจาคเงินโรงพยาบาลอีก 1 ตู้ เพื่อรับเงิน โดยทางโรงพยาบาลจะส่งเจ้าหน้าที่มาเปิดไขเงินจากตู้บริจาคเอง ไม่เกี่ยวข้องกับบัญชีวัด แต่ก็ยังพบเห็นตู้บริจาคของมูลนิธิฯ และตู้บริจาคซื้ออุปกรณ์การแพทย์อันเดิมตั้งอยู่ด้วยเช่นกัน
จากการตรวจสอบข้อมูลของทีมงาน Sondhi X พบว่าปัจจุบันโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) ได้เปิดบัญชีบริจาค และประชาสัมพันธ์ผ่านเว็บไซต์ เชิญชวนร่วมบริจาคกับโรงพยาบาล ผ่านระบบ e-Donation เข้าบัญชีธนาคารกรุงไทย สาขาสามพราน 3 บัญชี ได้แก่ 1. เงินบริจาคโครงการกิจกรรมเพื่อสังคม 2. เงินบริจาคธนาคารแว่นตา และ 3. เงินบริจาคสมทบซื้อเครื่องมือแพทย์และสงเคราะห์ผู้ป่วยยากไร้ ซึ่งเงินบริจาคจะเข้าโรงพยาบาลโดยตรง ไม่ผ่านมูลนิธิเมตตาประชารักษ์อีก
โดยเมื่อปี 2560 แพทย์หญิงสายจินต์ อิสีประดิฐ ขณะนั้นเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) ได้ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) ต่อนายทะเบียนมูลนิธิจังหวัดนครปฐม และ ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2560 โดยมีวัตถุประสงค์ 6 ข้อ คือ
1. ส่งเสริมการดำเนินการงานของโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) ให้มีความเจริญรุ่งเรือง มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
2. ส่งเสริมการรักษาและป้องกันโรคของประชาชนให้ได้ผลดียิ่งขึ้น
3. ส่งเสริมและให้ทุนการศึกษาและวิจัยค้นคว้าเพื่อการรักษาพยาบาลผู้ป่วยในโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง)
4. ช่วยเหลือสงเคราะห์ข้าราชการ ลูกจ้าง พนักงาน ในโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง)
5. ร่วมมือกับองค์การการกุศลอื่นๆ เพื่อสาธารณประโยชน์
6. ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่อย่างใด
7. ให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้
สำหรับโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) ก่อตั้งเมื่อปี 2532 โดยพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ เจ้าอาวาสวัดไร่ขิง จัดสร้างโรงพยาบาลขนาด 400 เตียง โดยใช้เงินบริจาคจากศรัทธาของประชาชน รวมที่ดินและสิ่งก่อสร้างตลอดจนวัสดุครุภัณฑ์เป็นจำนวนทั้งสิ้น 95,778,494 บาท โดยเมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2532 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ประกอบพิธีเปิดที่ทำการ “ศูนย์พัฒนาการควบคุมโรคไม่ติดต่อ” โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) และได้เปิดบริการผู้ป่วยอย่างเป็นทางการเป็นต้นมา
กระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้ กรมการแพทย์ ดำเนินการตามพระราชประสงค์ โดยกำหนดให้เป็นศูนย์พัฒนาการควบคุมโรคไม่ติดต่อ โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) รับผิดชอบในการดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ และในปี 2545 กำหนดให้เป็นโรงพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านจักษุวิทยา เพื่อก้าวสู่สถาบันจักษุวิทยาแห่งชาติในอนาคต การให้บริการเป็น 2 ลักษณะคือ สถาบันจักษุวิทยา และโรงพยาบาลทั่วไประดับตติยภูมิ เน้นโรคที่เกี่ยวข้องกับเด็กและผู้สูงอายุ
อนึ่ง พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (ปัญญา อินทปัญฺโญ) ถือเป็นครูพระนักพัฒนาในด้านคุณธรรม จริยธรรมและคุณภาพชีวิตของชุมชน นับตั้งแต่เป็นเจ้าอาวาสวัดไร่ขิงเมื่อปี 2503 โดยมอบที่ดินวัดสร้างโรงเรียนวัดไร่ขิงวิทยา โรงเรียนวัดไร่ขิง (สุนทรอุทิศ) ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนอำเภอสามพราน (วัดไร่ขิง) สำนักงานการประถมศึกษาอำเภอสามพราน ศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 1 สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา วิทยาลัยการอาชีพนครปฐม (วัดไร่ขิง) โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) ที่ทำการไปรษณีย์วัดไร่ขิง ที่ทำการ อบต.ท่าตลาด ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก หน่วยบริการประชาชนเมตตา (วัดไร่ขิง) ที่ทำการ อบต.ไร่ขิง สถานีตำรวจภูธรโพธิ์แก้ว และมอบที่ดินของวัดก่อสร้างสะพานมงคลรัฐประชานุกูล (วัดไร่ขิง) ข้ามแม่น้ำนครชัยศรี ทำให้เป็นชุมชนที่มีความเจริญในปัจจุบัน
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ มรณภาพเมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2551 ที่โรงพยาบาลธนบุรี เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ด้วยอาการสงบจากอาการติดเชื้อที่ปอดและกระแสโลหิต สิริอายุได้ 85 ปี 4 เดือน 5 วัน พรรษา 65 พรรษา