xs
xsm
sm
md
lg

มหาดไทยเหิมอ้าง PDPA สั่งลบข้อมูล "ผู้ทิ้งงาน" สคส.สวนกลับหน่วยงานรัฐต้องมีหน้าที่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



กระทรวงมหาดไทยงามหน้า ล่าสุด กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ส่งหนังสือแจ้งลบรายชื่อบริษัทที่ถูกขึ้นบัญชี “ผู้ทิ้งงาน” ออกจากเว็บไซต์ อ้างกฎหมาย PDPA ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ชี้กำลังเอื้อประโยชน์ให้คนผิด ด้านสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ยืนยันหน่วยงานรัฐต้องมีหน้าที่เปิดเผย

วันนี้ (21 พ.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า มีนายมานะ นิมิตรมงคล ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ออกมาเปิดประเด็นว่า เมื่อต้นเดือน เม.ย. ที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือแจ้งไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ให้ลบรายชื่อบริษัทที่ถูกขึ้นบัญชี “ผู้ทิ้งงาน” ออกจากเว็บไซต์ โดยอ้างการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA)

"นี่่คือการกระทำที่ส่งสัญญาณชัดว่า ระบบราชการกำลังเอื้อประโยชน์ให้คนผิดและพยายามลบล้างร่องรอยของความล้มเหลวแทนที่จะเปิดเผยความจริงเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ" นายมานะ ระบุ




สำหรับหนังสือดังกล่าวเป็นของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ที่ มท.0808.2/ว.1558 ลงวันที่ 2 เม.ย. ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ขอความอนุเคราะห์ลบข้อมูลของผู้ประกอบการที่ถูกแจ้งเวียนชื่อให้เป็นผู้ทิ้งงานและเพิกถอนรายชื่อผู้ทิ้งงาน โดยอ้างว่าคณะอนุกรรมการกลั่นกรองการพิจารณาผู้ทิ้งงานแจ้งว่า มีผู้ประกอบการได้ขอให้กรมบัญชีกลางลบชื่อผู้ประกอบการ ซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับนิติบุคคล เลขทะเบียนนิติบุคคล ชื่อกรรมการผู้จัดการ ชื่อหุ้นส่วนผู้จัดการ ที่อยู่ และเลขบัตรประชาชน ซึ่งอาจเป็นช่องทางให้มิจฉาชีพนำไปใช้ในทางผิดกฎหมายได้ ลงนามโดย นายสุรพล เจริญภูมิ รองอธิบดี ปฎิบัติราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

เฟซบุ๊ก Sarinee Achavanuntakul ของ น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและนักวิจารณ์สังคม มองว่าเป็นการอ้างมั่วมาก เพราะกฎหมาย PDPA เขียนข้อยกเว้นชัดอยู่แล้วในมาตรา 24 ว่ากรณีไหนบ้างที่ไม่ต้องขอความยินยอม ได้แก่

(4) เป็นการจำเป็นเพื่อการปฏิบัติหน้าที่ในการดำเนินภารกิจเพื่อประโยชน์สาธารณะของผู้ควบคุม ข้อมูลส่วนบุคคล หรือปฏิบัติหน้าที่ในการใช้อำนาจรัฐที่ได้มอบให้แก่ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล

(5) เป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์โดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล หรือของบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล เว้นแต่ประโยชน์ดังกล่าวมีความสำคัญน้อยกว่าสิทธิขั้นพื้นฐานในข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล


อย่างไรก็ตาม เฟซบุ๊ก PDPC Thailand ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) องค์การมหาชน สังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โพสต์ข้อความระบุว่า การเปิดเผยผู้ทิ้งงานตามกฎหมายเป็นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ 2560 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ 2560 หน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ต้องเปิดเผยตามกฎหมายนั้น ตามมาตรา 24(6) ประกอบ มาตรา 27 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562

สำหรับบัญชีรายชื่อผู้ทิ้งงาน เป็นมาตรการลงโทษสำหรับผู้รับจ้างหรือคู่สัญญาของหน่วยงานของรัฐที่ได้รับการคัดเลือกแล้วแต่ไม่ยอมทำสัญญา ไม่ปฎิบัติตามสัญญาโดยไม่มีเหตุอันควร มีลักษณะขัดขวางการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม ผลการปฎิบัติงานมีข้อบกพร่อง ผิดพลาด หรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่หน่วยงานของรัฐอย่างร้ายแรง และไม่ปฎิบัติตามมาตรา 88 พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ปี 2560 โดยมีอายุความสูงสุด 10 ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น