xs
xsm
sm
md
lg

เปิดคำพิพากษาจำคุก 3 ปี “กฤษอนงค์“ เรียกรับทรัพย์สิน “บอสพอล”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



เปิดคำพิพากษา ศาลอาญาคดีทุจริต จำคุก 3 ปี “กฤษอนงค์“ เรียกรับทรัพย์สิน “บอสพอล” แต่ยกฟ้องฐานกรรโชกทรัพย์ ชี้พฤติกรรมไม่เข้าข่าย

เมื่อวันที่ 19 พ.ค. ที่ผ่านมา ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติชอบกลาง อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อท 194/2567 ระหว่าง พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต โจทก์ ยื่นฟ้อง น.ส.กฤษอนงค์ หรือพัช หรือภัชชญา สุวรรณวงศ์ จำเลย ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143

ทางไต่สวนพยานโจทก์และพยานจำเลยรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติในเบื้องต้นตามสำนวนการสอบสวน ว่า นายวรัตน์พล วรัทย์วรกุล ผู้เสียหาย เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจขายสินค้าอุปโภคบริโภคและอาหารเสริมผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (ออนไลน์) โดยใช้ตัวแทนจำหน่ายสินค้าให้แก่ผู้บริโภคต่อมาตัวแทนจำหน่ายสินค้าของบริษัทดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ร้องเรียนการทำธุรกิจของบริษัทดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ต่อเพจเฟซบุ๊ก “กฤษอนงค์ต้านโกง” ของจำเลย วันที่ 7 มิ.ย. 67 ตัวแทนจำหน่ายสินค้าของบริษัทดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด พบและพูดคุยกับจำเลยเกี่ยวกับเรื่องที่ร้องเรียน จำเลยจึงโทรศัพท์พูดคุยกับผู้เสียหายซึ่งรู้จักกันมาก่อน ผู้เสียหายปฏิเสธว่าบริษัทดิไอคอนกรุ๊ป จำกัดไม่ได้กระทำตามที่มีการร้องเรียน

ต่อมาจำเลยรวบรวมข้อมูลของผู้ที่อ้างว่าได้รับความเสียหายจากการทำธุรกิจของบริษัทดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด และนัดประชุมในวันที่ 18 มิ.ย. 2567 เพื่อสรุปแนวทางในการเรียกเงินคืน วันที่ 19 มิ.ย. 2567 จำเลยส่งไฟล์หนังสือเรียกร้องค่าเสียหายถึงผู้เสียหายผ่านทางแอปพลิเคชันไลน์ วันที่ 25 มิ.ย. 2567 ผู้เสียหายโทรศัพท์พูดคุยกับจำเลย และแอบบันทึกเสียงการสนทนา วันที่ 5 ก.ค. 2567 ผู้เสียหายและนางสาว ภ. อดีตภริยาผู้เสียหาย ไปพูดคุยกับจำเลยและทนายความของจำเลยที่ทำการพรรคสุวรรณภูมิหรือศูนย์ข่าวต้านโกงของจำเลย ซึ่งผู้เสียหายแอบบันทึกเสียงการสนทนาไว้ วันที่ 7 ก.ค. 2567 ผู้เสียหายกับพวกไปพบจำเลยที่ที่ทำการพรรคสุวรรณภูมิหรือศูนย์ข่าวต้านโกงของจำเลยและมอบเงิน 300,000 บาท ให้จำเลย วันที่ 9, 14 และ 21 ก.ค. 2567 ตัวแทนของบริษัทดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ไปเจรจาและมอบเงินให้ตัวแทนจำหน่ายสินค้าของบริษัทดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ที่ร้องเรียนกับจำเลยที่ที่ทำการพรรคสุวรรณภูมิหรือศูนย์ข่าวต้านโกงของจำเลย

หลังจากนั้นจำเลยทำรายการค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการเจรจาดังกล่าวเรียกเก็บจากผู้เสียหายเป็นเงิน 220,000 บาท วันที่ 7 ส.ค. 2567 ผู้เสียหายโอนเงินจำนวนดังกล่าวจากบัญชีธนาคารกสิกรไทย เลขที่ 555-3-53xx ของผู้เสียหายไปยังบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เลขที่ 110-227-x ของนาย ก. ตามที่จำเลยแจ้ง วันที่ 2 ส.ค. 2567 ผู้เสียหายโอนเงิน 450,000 บาท จากบัญชีธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เลขที่ 555-3-55xx-x ชื่อบัญชี “บริษัทดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด” ไปยังบัญชีธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เลขที่ 172-3-56xxx ชื่อบัญชี “กองทุนป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี/มันนี้เกมส์-แชร์ลูกโซ่ (ภาคประชาชน) โดย น.ส.กฤษอนงค์ สุวรรณวงศ์” ซึ่งจำเลยเป็นผู้เปิดบัญชีและมีอำนาจถอนเงินเพียงผู้เดียว ต่อมาผู้เสียหายถูกจับกุมดำเนินคดีในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชนและความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ จึงมอบอำนาจให้ทนายความร้องทุกข์ดำเนินคดีนี้กับจำเลย

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า พฤติการณ์แห่งคดีจึงรับฟังข้อเท็จจริงได้ว่า หลังจากผู้เสียหายพูดคุยกับจำเลยเมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2567 ผู้เสียหายมีความเห็นคล้อยตามคำแนะนำของจำเลยในการคืนเงินให้ตัวแทนจำหน่ายสินค้าของบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ที่มาร้องเรียนกับจำเลย โดยเชื่อมั่นว่าเมื่อตัวแทนจำหน่ายสินค้าดังกล่าวได้รับเงินคืนแล้ว จำเลยสามารถจูงใจให้ตัวแทนจำหน่ายสินค้าดังกล่าวยกเลิกความคิดที่จะไปร้องเรียนบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ผ่านสื่อมวลชน ทั้งจะให้จำเลยเป็นที่ปรึกษาในการแก้ปัญหาของบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ในวันที่ 9, วันที่ 14 และวันที่ 21 ก.ค. 2567 ผู้เสียหายจึงให้ตัวแทนของ บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ไปเจรจาและมอบเงินให้ตัวแทนจำหน่ายสินค้าของ บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ที่ร้องเรียนกับจำเลยที่ที่ทำการพรรคสุวรรณภูมิหรือศูนย์ข่าวต้านโกงของจำเลย โดยการโอนเงินของผู้เสียหายทั้งสองครั้งมิได้กระทำไปภายใต้ความเกรงกลัวว่าจำเลยจะนำตัวแทนจำหน่ายสินค้าของบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ไปร้องเรียนต่อสื่อมวลชนเพื่อให้บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด และผู้เสียหายเสื่อมเสียชื่อเสียง เนื่องจากการขู่เข็ญดังกล่าวขาดตอนไปแล้วตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค. 2567

ผู้เสียหายทำตามคำแนะนำของจำเลยที่ให้ตัวแทนของบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ไปเจรจาและคืนเงินให้ตัวแทนจำหน่ายสินค้าของบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ที่ร้องเรียนกับจำเลย และแม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่า นอกจากจำเลยข่มขู่ผู้เสียหายว่าจะนำตัวแทนจำหน่ายสินค้าของบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ไปร้องเรียนผ่านสื่อมวลชนแล้ว จำเลยยังบอกผู้เสียหายว่า จำเลยเป็นคณะทำงานของรัฐมนตรีน้ำหรือ น.ส.จิราพร สินธุ์ไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งดูแลงานของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่สามารถให้คุณให้โทษหรือทำให้ผู้เสียหายได้รับความเดือดร้อนได้ หากไม่เคลียร์เงินให้ตัวแทนจำหน่ายสินค้าของบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด และจำเลย

แต่จากไฟล์เสียงการสนทนาวัตถุพยานหมาย จำเลยพูดถึงน.ส.จิราพรหลังจากที่ผู้เสียหายตกลงจะเสนอที่ประชุมของบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ให้คืนเงินแก่ตัวแทนจำหน่ายสินค้าของบริษัทที่ร้องเรียนผ่านจำเลยในอัตราร้อยละ 50 ของเงินลงทุนหลังหักผลตอบแทนที่ได้รับจากบริษัทและรับคืนสินค้าทั้งหมด ทั้งมีใจความสำคัญเพียงว่า น.ส.จิราพรจะแต่งตั้งจำเลยเป็นผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือและป้องกันอาชญากรรมทางเครือข่ายออนไลน์ ซึ่งเป็นคณะทำงานของศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล แต่จำเลยไม่ได้ตอบรับเพราะจะสูญเสียความเป็นอิสระ

ถ้าจำเลยรับตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือและป้องกันอาชญากรรมทางเครือข่ายออนไลน์ จำเลยจะมีอำนาจในการจัดประชุม สคบ. ขายตรงทั้งหมด นอกจากจำเลยจะพูดถึงนางสาวจิราพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว จำเลยยังกล่าวอ้างว่าสนิทสนมกับนักการเมืองอื่นอีก ตามพฤติการณ์แห่งคดีน่าเชื่อว่าจำเลยอ้างชื่อ น.ส.จิราพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งดูแลงานของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และอ้างความสนิทสนมกับนักการเมืองอื่นเพื่อจูงใจให้ผู้เสียหายแต่งตั้งจำเลยให้เป็นที่ปรึกษาของบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด

ทั้งใจความที่จำเลยพูดถึงน.ส.จิราพรเป็นเพียงการพูดเพื่อให้ผู้เสียหายเห็นว่า จำเลยได้รับความไว้วางใจจากน.ส.จิราพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งดูแลงานของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ให้มาร่วมเป็นคณะทำงาน โดยจำเลยไม่ได้พูดว่าการเป็นคณะทำงานดังกล่าวทำให้จำเลยสามารถให้คุณให้โทษหรือทำให้ผู้เสียหายได้รับความเดือดร้อน หากไม่เคลียร์เงินให้ตัวแทนจำหน่ายสินค้าของบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ตามที่โจทก์บรรยายฟ้อง

การกระทำของจำเลยตามที่พิจารณาได้ความจึงไม่เป็นความผิดฐานกรรโชกทรัพย์จากผู้เสียหายหรือบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ส่วนความผิดฐานเรียกรับเงิน 300,000 บาท เป็นการตอบแทนในการที่จะจูงใจผู้บังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาโดยวิธีอันทุจริต ให้กระทำการหรือไม่กระทำการในหน้าที่อันเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้เสียหาย และความผิดฐานเรียกรับเงิน 300,000 บาท เป็นการตอบแทนในการจูงใจหรือได้จูงใจผู้บังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานของรัฐโดยวิธีอันทุจริต ให้กระทำการหรือไม่กระทำการในหน้าที่อันเป็นคุณเป็นโทษแก่ผู้เสียหายนั้น

ตามไฟล์เสียงการสนทนาวัตถุพยาน จำเลยพูดในทำนองว่าจะเลื่อนการแถลงข่าวในวันที่ 9 ก.ค. 2567 ออกไป โดยอ้างว่าผู้การ สอท. ไม่ว่าง จำเลยต้องเคลียร์กับผู้การ สอท. เมื่อนายวรัตน์พลแสดงท่าที่ไม่เข้าใจคำว่าเคลียร์ จำเลยจึงให้ทนายความของจำเลยพูดต่อ ทนายความของจำเลยจึงพูดว่าต้องไปให้เขา ผู้เสียหายพูดแสดงความเข้าใจและพูดขึ้นว่า “แล้วไปขอคืนไม่ได้หรือ เมื่อไม่ได้ใช้งานเขาแล้ว” จำเลยพูดว่า “ขออะไรคืน เราต้องทำความเคารพเขา นี่คือประเทศไทย” ผู้เสียหายหัวเราะและพูดว่าจ่ายแล้วจ่ายเลย จำเลยพูดว่า “ให้เขาดูแลเราดีกว่า ไม่งั้นพี่ทำงานหน้าไม่ได้ด้วย” และจำเลยพูดว่า “ส่วนเรื่องผู้การ ไปเป็นน้องเค้าเถอะ พี่จะพาเข้าไป แต่พี่ไปจ่ายเค้าก่อน ให้เค้าก่อน เค้าต้องรู้สึกเกรงใจเราก่อนนะ เอาไปให้เค้าก่อนเลย เกรงใจเราทันที”

โดยจำเลยระบุด้วยว่า ผู้การใช้นามสกุล “คล้ายคลึง” ซึ่งผู้เสียหายก็ตอบรับว่ารู้จักเจ้าพนักงานตำรวจที่ใช้นามสกุล “คล้ายคลึง” ถ้อยคำจากไฟล์เสียงการสนทนาดังกล่าวเมื่อรับฟังประกอบกับข้อมูลการสนทนาที่จำเลยส่งข้อความถึงผู้เสียหายเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2567 ว่า “เรื่องเงิน 2 แสน ไม่ได้เอามาให้พี่นะ ทำไมบอกว่าเอามาให้พี่ค่ะ พี่ไม่ได้เอามาเองสักหน่อย” เมื่อผู้เสียหายส่งข้อความตอบโต้จำเลยว่า “2 แสนที่พี่บอกว่าต้องเอาไปให้ตำรวจ เพราะนัดท่านไว้แล้ว ผมก็เลยต้องชดเชยให้พี่ ผมบอก 100,000 บาท ได้มั้ย พี่บอกว่าเค้ามีกัน 6 คน ให้แบบนี้อย่าให้ดีกว่า ผมก็เลยให้พี่ไป 2 แสน” จำเลยจึงตอบกลับข้อความดังกล่าวว่า “พิมพ์แบบนี้ไม่โอเคค่ะ พี่ไม่โอเคยกเลิกได้นะคะ ทุกอย่างมาเอาคืนไปเลย”

โดยที่จำเลยนำสืบรับว่าได้รับเงิน 300,000 บาท จากผู้เสียหายจริง แต่ต่อสู้ว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการที่กลุ่มผู้เสียหายเตรียมการจะไปแถลงข่าวที่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งข้อต่อสู้ของจำเลยมีพิรุธเนื่องจากขัดแย้งกับข้อมูลการสนทนาดังกล่าว

ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า ในวันที่ 7 ก.ค. 2567 ผู้เสียหายนำเงิน 300,000 บาท ไปให้จำเลย โดยจำเลยอ้างว่าต้องนำเงินจำนวนดังกล่าวไปให้ผู้การ สอท. ซึ่งเป็นคำย่อของตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เพราะจำเลยจะไม่นำตัวแทนจำหน่ายสินค้าของบริษัทดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ที่มาร้องเรียนกับจำเลยไปร้องเรียนต่อผู้บังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในวันที่ 9 ก.ค. 2567 ตามที่ได้นัดหมายไว้ล่วงหน้า และเพื่อให้ผู้บังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีช่วยเหลือจำเลยหรือผู้เสียหายเกี่ยวกับข้อพิพาททางคดีที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเรียกรับทรัพย์สินเป็นการตอบแทนในการที่จะจูงใจผู้บังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาโดยวิธีอันทุจริต ให้กระทำการหรือไม่กระทำการในหน้าที่อันเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้เสียหาย และเป็นการเรียกรับทรัพย์สินเป็นการตอบแทนในการจูงใจหรือได้จูงใจผู้บังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานของรัฐโดยวิธีอันทุจริต ให้กระทำการหรือไม่กระทำการในหน้าที่อันเป็นคุณเป็นโทษแก่ผู้เสียหาย

พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 175 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานเรียกรับทรัพย์สินสำหรับตนเองหรือผู้อื่นเป็นการตอบแทนในการที่จะจูงใจเจ้าพนักงานโดยวิธีอันทุจริต ให้กระทำการหรือไม่กระทำการในหน้าที่อันเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลใด จำคุก 3 ปี

จำเลยให้การในชั้นสอบสวนและนำสืบรับว่าได้เงิน 300,000 บาท จากผู้เสียหาย เป็นการให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 2 ปี ยกฟ้องโจทก์ในข้อหากรรโชกทรัพย์
กำลังโหลดความคิดเห็น