“ภูมิธรรม” ชี้ มี 2 ทางเลือกสรุปซื้อเรือดำน้ำ ไปต่อหรือยกเลิก คาดสิ้นเดือน พ.ค.-ต้น มิ.ย.เคาะตัดสินใจ วอนอย่าดราม่า ทำเสียหาย-กระทบสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ชี้หากยกเลิกเราจ่ายไปแล้ว 7-8 พันล้านจะไม่ได้อะไร แต่ถ้ารับไว้ทางจีนต้องรับประกันความปลอดภัย และจัดการเรื่องสัญญาให้ชัดเจน
เมื่อเวลา 08.45 น.วันที่ 20 พ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ ก่อนประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ถึงความชัดเจนที่จะได้ข้อสรุปการจัดซื้อเรือดำน้ำ ว่า คงตัดสินใจในเร็วๆ นี้คาดว่าและภายในสิ้นเดือนนี้ หรือต้นเดือน มิ.ย.นี้ และจากการพูดคุยและรับฟังข้อมูลทำให้ตัดสินใจได้แล้ว แต่จะพิจารณาอย่างรอบคอบ ที่ผ่านมาได้หาข้อมูลและพยายามที่จะหาทางออกในเรื่องนี้ให้ได้ และจากการสอบถามประเทศเยอรมัน โดยการทำจดหมายไป 2 ฉบับ ฉบับแร กผบ.ทร.ไทยได้สอบถาม ผบ.ทร.เยอรมัน ได้รับรายงานว่าเขาได้ตอบกลับมาว่าเป็นเรื่องของฝ่ายนโยบาย ที่จริงไม่ขัดข้องแต่ต้องเป็นเรื่องที่พิจารณาแบบนั้น และคิดว่าน่าจะทำได้ยากเพราะมีเรื่องขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต้)เข้ามาเกี่ยวข้อง ขณะที่ตนได้มีโอกาสพบกับรัฐมนตรีกลาโหมเยอรมัน และได้ทำหนังสือถาม ว่าประเทศไทยไม่ได้มีปัญหากับนาโต้ และสอบถามว่าสามารถขายเครื่องยนต์ให้กับประเทศไทยได้หรือไม่ หากยอมเราสามารถหาคนติดตั้งได้ และได้รับคำตอบว่านาโต้ปฏิเสธกองทัพจีน โดยรัฐมนตรีกลาโหมเยอรมัน ยืนยันว่าความสัมพันธ์กับประเทศไทยมีอย่างยาวนาน เขายินดีหากให้ได้แต่ติดอยู่ 2 กรอบ คือ การเป็นสมาชิกนาโต้ และการเป็นสมาชิกสภายุโรป ทำให้ไม่สามารถส่งให้เราได้
นายภูมิธรรม กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นตนได้คุยกับทางทูตจีน ไปถึงกรมการเมืองของจีน ที่มีมีอำนาจตัดสินใจ โดยเขาระบุว่าเป็นเรื่องของเอกชนจีน ไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวได้ และพยายามเจรจากับหลายส่วน และระบุว่าเป็นไปไม่ได้ที่จีนจะยอมเรื่องนี้ และพยายามจะหาทางออกเรื่องประเด็นชดเชยต่างๆ ทั้งนี้ ถือว่าเขาไม่ได้ผิดเงื่อนไขอะไร และพยายามจะหาเครื่องยนต์ที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกันทดแทน นอกจากนี้ตนได้พบกับทูตปากีสถาน ทราบว่าเขามีเรือดำน้ำแบบที่เราสั่งประมาณ 8 ลำ จึงได้สอบถามว่าใช้งานหรือยังเพื่อจะตรวจสอบคุณภาพว่ามีปัญหาอะไรหรือไม่ เพราะเสียงสะท้อนว่าถ้าเอาเรือของจีนมาจะมีปัญหา ไม่ได้เครื่องยนต์อย่างที่ตกลงกัน และไฟฟ้าดับ โดยทราบว่าปากีสถานได้ทดลองนำเรือไปใช้งาน 1 ลำ พบว่าไม่มีปัญหาอะไร
นายภูมิธรรม กล่าวว่า ขณะนี้มี 2 ทางเลือก คือ ไม่ไปต่อ หรือยกเลิก แต่ประเด็นคือเงินที่เราจ่ายเงินไป 7-8 พันล้านบาท ก็จะไม่เหลือ และอีกทางคือรับไว้ ภายใต้เงื่อนไขที่ไว้ใจได้ คือ เรื่องของความปลอดภัย โดยจะต้องจัดการเรื่องสัญญาให้ชัดเจน และตนจะต้องชี้แจงเรื่องนี้ให้กับประชาชนรับทราบ และรายงานให้นายกรัฐมนตรีและผู้เกี่ยวข้อง รับรู้ หากไม่ไปต่อก็เสียเงินไป 8 พันล้านบาท แต่ถ้าไปต่อก็ไม่มีปัญหาอะไร โดยจะได้เครื่องยนต์ที่มีมาตรฐานใกล้เคียงกัน สามารถใช้งานได้ ส่วนที่มีการสอบถามว่าก่อนหน้านี้ทางกฤษฎีการะบุว่า หากเปลี่ยนข้อสัญญาไม่มีปัญหาอะไร และหากจะตัดสินใจก็ต้องไปถามกฤษฎีกา ว่ามี 2 ทางเลือก ตามที่ตนกล่าวมา ผู้ที่เกี่ยวข้องจะมีความเห็นอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องของรัฐบาลเก่าที่อยู่มาก่อน ไม่ใช่เรื่องที่เราทำขึ้นมา แต่เมื่อมีปัญหาก็ต้องตัดสินใจ และตนต้องเป็นคนตัดสินใจคนสุดท้ายก่อนที่จะเสนอคณะรัฐมนตรี
“สิ่งที่ผมกังวลได้ทำทุกขั้นตอนแล้ว และมีคำตอบที่ชัดเจนแล้วตามที่อธิบายไปทั้งหมดของต้นคือคำตอบ และมีแนวโน้มแล้วว่าจะให้ไปทางไหน โดยต้องหาเหตุผลมาชี้แจงให้ประชาชนได้ทราบ เรื่องนี้ผมไม่ได้เซ็นสัญญา แต่เป็นคนเข้ามาแก้ไข หากจะทำอย่างที่หลายคนเคยทำมา คือปล่อยไปเรื่อยๆ ไม่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง ก็ไม่ใช่วิสัยของผู้บริหาร เมื่อเป็นปัญหาคาราคาซัง ผูกพันไปถึงการจัดงบประมาณของกองทัพ สมควรต้องตัดสินใจได้แล้ว และโครงการเรือดำน้ำจะได้ข้อสรุปในยุคของผมอย่างแน่นอน และต้องสามารถตรวจสอบได้ พร้อมย้ำว่าต้องคิดให้ดีเพราะเป็นเรื่องใหญ่กระทบกระหลายอย่าง และที่สำคัญประชาชนต้องเข้าใจ เพราะไม่อยากให้เกิดดราม่า จากทุกส่วน ที่ผ่านมาพยามทำความเข้าใจกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพราะดราม่าเยอะ เช่น มีดราม่า ว่าจะให้กับกัมพูชา คนที่กำลังเจรจาไม่ทำให้เกิดความรู้สึกว่าจะมีปัญหา ซึ่งเขาเคารพการตัดสินใจของเรา อย่าไปดราม่า ที่มีผลเสียหายกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และควรตั้งใจทำงานแก้ปัญหา ขอให้เอาข้อเท็จจริงมาพูดกัน” นายภูมิธรรม กล่าว
เมื่อถามว่าการจัดซื้อเรือดำน้ำแบบจีทูจี เป็นเรื่องระหว่างรัฐต่อรัฐ หากจะยกเลิกจะมีผลต่อความสัมพันธ์หรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า สิ่งที่ต้องคิดคือเรื่องเงินที่จ่ายไปแล้ว มีการตั้งกองเรือดำน้ำ คัดเลือกบุคลากรไปศึกษาต่อเพื่อเรียนรู้ระบบ รวมถึงก่อสร้างอู่เรือดำน้ำ ถ้าตัดสินใจไม่เอาจะเสียสิ่งเหล่านี้ไปด้วย ตรงนี้เป็นสิ่งที่ทำให้คิดมากถ้าเอาต้องทำความเข้าใจกับประชาชน ว่าเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดหรือไม่ จะรักษาประโยชน์ประเทศมากที่สุด สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวตัดสินใจ ซึ่งทางจีนอยากได้คำตอบมานานแล้ว ทั้งจีนและบริษัทและกองทัพเรือ เสนอเงื่อนไขให้ต้องตัดสินใจ แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนกระเทือนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และคุยกับทางการจีนเขาไม่ต้องการแทรกแซงประเทศไทย แต่ย้ำว่าขอให้รักษาเงื่อนไขให้เป็นไปตามข้อสัญญา