ศูนย์ข่าวศรีราชา- ครั้งแรก!! เรือสำรวจขั้วโลก "เสว่หลง 2" เยือนแผ่นดินไทย กระชับสัมพันธ์ทางการฑูตไทย-จีน ปีที่ 50 เฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสมหามงคลที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า ฯ ทรงเจริญพระชนมายุครบ 70 พรรษา
เมื่อวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา พลเรือโท วัชระ พัฒนรัฐ ผู้บัญชาการฐานทัพเรือสัตหีบ มอบหมายให้ พลเรือตรี ธำรง สุพรรณพงศ์ ผู้อำนวยการการท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ (ผอ.กทส.ฐท.สส.) เป็นผู้แทนให้การต้อนรับ นายเสียว ชื่อหมิง ผู้บังคับการเรือเสว่หลง 2 (Mr.XIAO ZHIMIN, Captain) และคณะลูกเรือ ตัดน้ำแข็งสำรวจขั้วโลก เนื่องในโอกาสเข้าเยือนประเทศไทย
โดยมี ศ.ดร. ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM เข้าร่วมณ ท่าเทียบเรือจุกเสม็ด ฐานทัพเรือสัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี
ศ.ดร.ไพรัช กล่าวว่าการมาเยือนของเรือเสว่หลง 2 ในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสมหามงคลที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเจริญพระชนมายุครบ 70 พรรษา ในวันที่ 2 เมษายน 2568 และยังเป็นการเฉลิมฉลองวาระสำคัญของการครบรอบ 50 ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทย และสาธารณรัฐประชาชนจีน ในปี พ.ศ. 2568
การมาเยือนถือเป็นโอกาสอันล้ำค่าที่นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยไทย รวมถึงเยาวชน และประชาชนชาวไทย จะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และประสบการณ์โดยตรงกับทีมวิจัยระดับแนวหน้าของจีน ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการสำรวจขั้วโลก ซึ่งจะเปิดให้ประชาชนเข้าชม ระหว่างวันที่ 19 – 23 พ.ค.68
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมพิเศษที่จะจัดขึ้นควบคู่กับการมาเยือนของเรือเสว่หลง 2 ได้แก่ การจัดนิทรรศการ “Xue Long 2 and See the Unseen in Polar Region” ระหว่างวันที่ 14 – 25 พฤษภาคม 2568 ณ Crystal Court ชั้น 2 ศูนย์การค้าสยามพารากอน และการเสวนาระหว่างนักวิทยาศาสตร์ผู้มีประสบการณ์เดินทางไปสำรวจขั้วโลกใต้ด้วยเรือเสว่หลง 2 กับเยาวชนไทย
กิจกรรมเผยแพร่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์สู่สาธารณชนของนักวิทยาศาสตร์ไทยและจีน ที่เคยเดินทางไปสำรวจขั้วโลกใต้ ด้วยเรือเสว่หลง 2, การประชุมวิชาการ “Thailand-China Polar Science Conference”, และพิธีอำลาเรือเสว่หลง 2
โดยในระหว่างที่เรือจอดเทียบท่าเรือจุกเสม็ด จะมีการนำคณะลูกเรือเข้าร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และเยี่ยมชมความงดงามของศิลปวัฒนธรรมไทย ณ สวนนงนุช พัทยาอีกด้วย
โดยกิจกรรมทั้งหมดได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย, กระทรวงการต่างประเทศ, กองทัพเรือ, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กลุ่มธุรกิจ TCP, สำนักงานบริหารอาร์กติกและแอนตาร์กติกแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (CAA) และสถาบันวิจัยขั้วโลกแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (PRIC)
สะท้อนถึงความร่วมมืออันดีระหว่างประเทศไทย และจีน ในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของทั้งสองประเทศ
ขณะที่ ผศ..ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM กล่าวถึงความร่วมมือในการต้อนรับเรือตัดน้ำแข็งเสว่หลง 2 ว่า NSM มุ่งมั่นส่งเสริมวิทยาศาสตร์สู่สังคม โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้เยาวชนได้เรียนรู้จากการวิจัยระดับนานาชาติ
ซึ่งในครั้งนี้ NSM ยังได้ร่วมจัดนิทรรศการ “Xue Long 2 and See the Unseen in Polar Region” เพื่อเปิดโลกวิทยาศาสตร์ขั้วโลกให้กว้างขึ้น ผู้ชมจะได้เห็นความสำคัญของการวิจัยขั้วโลกผ่านนักวิจัยไทย และเทคโนโลยีสำรวจอันล้ำสมัยของจีน
"นิทรรศการนี้ มุ่งหวังให้ตระหนักถึงความสำคัญของขั้วโลก ต่อระบบนิเวศ และชีวิตประจำวันของเรา รวมถึงกระตุ้นความสนใจในวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ในงานนิทรรศการที่จะจัดแสดงขึ้น NSM มีแผนนำไปจัดแสดงต่อที่จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. เดอะ สตรีท รัชดา เพื่อให้ประชาชนที่พลาดโอกาสยังสามารถเข้าถึงความรู้เกี่ยวกับการสำรวจขั้วโลกใต้ เทคโนโลยี และงานวิจัยสำคัญได้"ผศ..ดร.รวิน กล่าว
ด้าน นายเสียว ชื่อหมิง ผู้บังคับการเรือเสว่หลง 2 (Mr.XIAO ZHIMIN, Captain) กล่าวว่า เรือเสว่หลง 2 เป็นเรือสำรวจขั้วโลกลำที่ 4 ของจีน และถือเป็นเรือสำรวจขั้วโลกลำแรกของจีนที่สร้างขึ้นเองทั้งหมดภายในประเทศ เป็นเรือตัดน้ำแข็งขนาดกลางที่มีความทันสมัย และมีสมรรถนะสูงที่สุดลำหนึ่งของโลก ด้วยเทคโนโลยีการตัดน้ำแข็ง 2 ทิศทาง
ทำให้สามารถตัดน้ำแข็งหนา 1.5 เมตร พร้อมเดินทางด้วยความเร็ว 2-3 น็อต ทำให้เดินทางผ่านแผ่นน้ำแข็งได้หลายทิศทางอย่างคล่องตัว
โดยที่ หัวเรือส่วนใต้น้ำถูกออกแบบมาเป็นพิเศษให้มีความแข็งแรง สามารถชน และไต่ขึ้นบนแผ่นน้ำแข็ง พร้อมแรงกดที่ช่วยแยกน้ำแข็ง เพื่อให้เรือสามารถเคลื่อนที่ต่อไปได้
ทั้งนี้ รือเสว่หลง 2 มีความยาว 122.5 เมตร ความกว้าง 22.3 เมตร กินน้ำลึก 12 เมตร และมีระวางขับน้ำ 13,990 ตัน สามารถรองรับลูกเรือได้ 40 นาย และนักวิจัยได้อีก 50 นาย รวมทั้งสิ้น 90 ชีวิต ภารกิจหลักของเสว่หลง 2 คือการสนับสนุนการสำรวจวิจัยขั้วโลกในหลากหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลก ธารน้ำแข็งวิทยา วิทยาศาสตร์ทางทะเล วิทยาศาสตร์บรรยากาศ ธรณีวิทยาและธรณีฟิสิกส์ นิเวศวิทยาและชีววิทยา รวมถึงการศึกษาสิ่งแวดล้อม ทั้งในแผนงานระยะสั้นและระยะยาว
นอกจากนี้ เรือยังมีบทบาทสำคัญในการรับส่งนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย พร้อมเครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมถึงการขนส่งเสบียง อาหาร เชื้อเพลิง และอุปกรณ์ก่อสร้างสำหรับสถานีวิจัยของจีนทั้งที่ขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ โดยจีนมีสถานีวิจัยหลายแห่งทั้งที่ขั้วโลกใต้
ได้แก่ สถานี Great Wall (1985), Zhongshan (1989), Kunlun (2009), Taishan Camp (2014) และสถานีล่าสุด Qinling (2024) และที่ขั้วโลกเหนือคือสถานี Yellow River (2004) ซึ่งเสว่หลง 2 มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการดำเนินงานของสถานีเหล่านี้
โดย "เสว่หลง 2" ยังได้รับการยกย่องว่าเป็นเรือสำรวจอัจฉริยะที่ทันสมัยที่สุดลำหนึ่งของโลก ด้วยการติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจวัดหลายชนิด ครอบคลุมการสำรวจที่หลากหลาย พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย อีกทั้งยังมีเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัยสำหรับการประมวลผลข้อมูลทั้งด้านปฏิบัติการและการวิจัย
และเรือยังถูกออกแบบมาพร้อมเทคโนโลยีสะอาด SCR (Selective Catalytic Reduction) เพื่อลดการปล่อยมลพิษในเขตขั้วโลก ที่อยู่ในระดับสูงกว่ามาตรฐานทั่วไป