เอเจนซีส์ - ปักกิ่งเข้ามาพัวพันทางตรงในความขัดแย้งระหว่างอินเดีย-ปากีสถานล่าสุดมากกว่าที่คิด หลังศูนย์การศึกษายุทธการรบร่วมอินเดีย CENJOWS (Centre For Joint Warfare Studies)ภายใต้กระทรวงกลาโหมอินเดียเปิดเผยผลการค้นพบ
บลูมเบิร์กรายงานวันจันทร์(19 พ.ค)ว่า ระหว่างอินเดียเปิดปฎิบัติการซินดูร์(Operation Sindoor)ในวันที่ 7 พ.ค ที่ผ่านมา ศูนย์การศึกษายุทธการรบร่วมอินเดีย CENJOWS (Centre For Joint Warfare Studies)พบว่า ปักกิ่งเข้ามาพัวพันในความขัดแย้งมากกว่าที่เข้าใจในตอนแรก เพราะพบปักกิ่งให้ระบบการป้องกันภัยทางอากาศและการช่วยเหลือทางดาวเทียมแก่ปากีสถานคู่ปรับแดนภารตะ
บิสซิเนสอินไซเดอร์เคยรายงานเมื่อวันพุธ(14)ที่ผ่านมาว่า ปักกิ่งน่าจะจับตาความขัดแย้งทางการทหารระหว่างปากีสถานและอินเดียอย่างใกล้ชิด
นักวิเคราะห์ทางการทหารหลายคนออกมาแสดงความเห็นว่า ปักกิ่งได้มอบยุทโธปกรณ์ให้ปากีสถานเพื่อทำการทดสอบในการรบ
ซาจจาน เอ็ม. โกเฮล (Sajjan M. Gohel)ผู้อำนวนการความมั่นคงระหว่างประเทศประจำสถาบันเอเชียแปซิฟิก(Asia-Pacific Foundation) ที่มีฐานในกรุงลอนดอนแสดงความเห็นว่า
นี่เป็นโอกาสที่หาได้ยากสำหรับจีน สิ่งนี้จะช่วยให้ปักกิ่งสามารถ “ทดสอบ ปรับปรุง และสาธิต ระบบยุทโธปกรณ์ของตัวเองโดยที่ไม่ต้องเผชิญหน้าโดยตรง
บลูมเบิร์กรายงานว่า อาโชค กุมาร์ (Ashok Kumar ) ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษายุทธการรบร่วมอินเดีย CENJOWS ซึ่งมีฐานในกรุงนิวเดลีและสถาบันอยู่ภายใต้กระทรวงกลาโหมอินเดียได้ให้ข้อมูลว่า
ปักกิ่งช่วยปากีสถานปรับปรุงระบบเรดาร์และระบบป้องกันภัยทางอากาศให้มีประสิทธิภาพเพื่อตรวจจับการเคลื่อนกำลังทหารและอาวุธของอินเดีย
ปักกิ่งยังช่วยปากีสถานในการปรับสัญญาณดาวเทียมให้ครอบคลุมเหนือ “อินเดีย” ระยะเวลา 15 วันช่วงเวลาระหว่างวันที่ 22 เม.ย ที่เกิดการสังหารนักท่องเที่ยวไป 26 คนที่ส่วนใหญ่เป็นชาวอินเดียและไปจนถึงวันที่เกิดเความขัดแย้งระหว่าง 2 ชาติ
“ช่วยคนเหล่านั้นในการใช้เรดาร์การป้องกันประเทศทางอากาศดังนั้นแล้วความเคลื่อนไหวใดๆที่พวกเราทำในเส้นทางอากาศจะเป็นที่รู้ต่อคนเหล่านั้น” กุมาร์ให้สัมภาษณ์กับบลูมเบิร์กที่สำนักงานใหญ่ในกรุงนิวเดลี
อย่างไรก็ตามบลูมเบิร์กชี้ว่า รัฐบาลอินเดียยังไม่ได้เปิดเผยต่อวสาธารณะถึงความเกี่ยวข้องของ “จีน” ในความขัดแย้ง ในขณะที่ฝ่ายปากีสถานได้เปิดเผยว่าใช้อาวุธยุทโธปกรณเมดอินไชน่าในการทำสงคราม ซึ่งกุมาร์ประเมินว่า ถ้าหากมีความถูกต้องจะเป็นข้อบ่งชี้ ถึงการเข้ามาพัวพันของจีนนั้นไปไกลขึ้น มีการสนับสนุนทางลอจิสติกและข่าวกรองลับให้อิสลามาบัดระหว่างรบกับอินเดีย
ผู้เชี่ยวชาญอินเดียยังแสดงความเห็นว่า จีนใช้สนามจริงในการทดสอบระบบอาวุธของตนเองระหว่างการเกิดความขัดแย้งระหว่างอินเดียและปากีสถาน อย่างไรก็ตามอาโชค กุมาร์กล่าวว่า ระบบการป้องกันของจีนต่ำกว่ามาตรฐาน และล้มเหลวอย่างเลวร้ายในบางสถานการณ์ เขาอ้างไปถึงการประเมินของกองทัพอินเดียและไม่ได้ให้ข้อมูลในรายละเอียด
ทั้งนี้ระบบป้องกันของอินเดียมีปฎิกริยาตอบโต้ได้ดีต่อการใช้โดรนหลายร้อยตัวของปากีสถานในความขัดแย้ง กุมาร์กล่าว
และเสริมว่า เครือข่ายรวมระบบเซ็นเซอร์สามารถทำให้มีศักยภาพถึงขีดสุด แต่อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญอินเดียไม่ได้เอ่ยไปถึงเครื่องบินรบขับไล่จีน J-10C หรือการอ้างจากปากีสถานที่สามารถยิงเครื่องบินรบของอินเดียตกสำเร็จ
ไทม์สออฟอินเดียรายงานว่า ในปฎิบัติการซินดูร์นี้กองทัพอินเดียประสบความสำเร็จสามารถเอาชนะระบบป้องกันจีน รวมถึงระบบป้องกันทางอากาศจีน HQ-9 ที่พิสูจน์แล้วว่าไม่มีประสิทธิภาพไม่สามารถป้องกันการโจมตีทางอากาศ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับมิสไซล์ Brahmos ของอินเดีย
อินเดียทูเดย์รายงานว่า กองทัพอินเดียยิงมิสไซล์ซุปเซอร์โซนิกแบบร่อนพิสัยไกล Brahmos มาพร้อมเทคโนโลยีนำวิถีและการล่องหน เป็นอาวุธที่ถูกพัฒนาร่วมกันระหว่างอินเดีย-รัสเซียในปฎิบัติการ เป็นการยิงโจมตีออกไป 15 ลูกสามารถทะลุทะลวงระบบป้องกันทางอากาศอิสลามาบัดได้สำเร็จ โดยเป็นการยิงโจมตีฐานทัพอากาศปากีสถานระหว่างวันที่ 9พ.ค –วันที่ 10 พ.ค