xs
xsm
sm
md
lg

ก.คลัง ย้ำ! เคส ขรก. ส่อโกงเบิกค่าเช่าบ้าน ปลอมเอกสาร-อําพรางสัญญาเข้าพักบ้านเช่า-อําพรางสัญญาซื้อขายบ้าน เหตุกู้เงินไม่ผ่าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ก.คลัง เวียนย้ำ! เคส ข้าราชการ "หัวหมอ" ส่อโกงยื่นใช้สิทธิเบิกจ่ายเงินค่าเช่าบ้านเป็นเท็จ ทำรัฐเสียหาย ทั้งเจตนาทุจริตเบิกค่าเช่าบ้านโดยไม่มีการเช่าจริง ใช้เอกสารหลักฐานปลอมหรือเท็จไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ทําสัญญาเช่าบ้านเพื่ออําพรางเข้าพักอาศัยในบ้านฐานะผู้อาศัยมิใช่ในฐานะผู้เช่า อําพรางสัญญาเช่าบ้านซื้อขายบ้านเหตุไม่สามารถทําสัญญากู้เงินได้ สั่งการจังหวัด/ท้องถิ่น "ชะลอการเบิกจ่าย" หากสอบสวนพบความผิดจริง ให้ลงโทษไล่ออก ไม่มีสิทธิได้รับบําเหน็จบํานาญ

วันนี้ (19 พ.ค. 2568) มีรายงานจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงความคืบหน้า ภายหลังกระทรวงการคลัง เวียนหนังสือถึงหน่วยงานรัฐทั่วประเทศ เมื่อเดือน มี.ค.2568 เพื่อเร่งรัดให้ส่วนราชการควบคุม กํากับ ดูแล

ให้มีการตรวจสอบการใช้สิทธิการเบิกจ่ายเงินค่าเช่าบ้าน ข้าราชการของข้าราชการในสังกัด ให้ถูกต้องและเป็นไปตามเจตนารมณ์และหลักเกณฑ์

ตามพระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งมีเจตนารมณ์เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนในเรื่องที่อยู่อาศัยให้กับข้าราชการ อันเนื่องมาจากทางราชการเป็นเหตุ ในการสั่งให้ข้าราชการไปรับราชการประจําสํานักงานในต่างท้องที่

ข้อมูลที่ กระทรวงการคลัง ได้รับจากการหารือการใช้สิทธิเบิกค่าเช่าบ้านข้าราชการของส่วนราชการ พบว่า มีข้าราชการบางรายใช้สิทธิเบิกค่าเช่าบ้านข้าราชการโดยไม่ถูกต้อง ตามพระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือไม่ตรงกับข้อเท็จจริง

เช่น ไม่มีการเช่าและพักอาศัยอยู่จริง หรือ ใช้เอกสารหลักฐานในการเบิกจ่ายเป็นเท็จ หรือ กรณีข้าราชการไม่มีสิทธิเบิกค่าเช่าบ้านข้าราชการ เพราะมีบ้านพักของทางราชการจัดให้พักอาศัยตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกําหนด

หรือ มีบ้านอันเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง หรือคู่สมรสอยู่ในท้องที่ที่รับราชการ โดยไม่มีหนี้ค้างชําระกับสถาบันการเงิน แต่ข้าราชการไม่ยอมเข้าพักอาศัยในบ้านพักของทางราชการ หรือบ้านอันเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเองหรือคู่สมรส

"กลับไปเช่าบ้านเพื่อพักอาศัย และนําหลักฐานการเช่าบ้านหลังดังกล่าวมาเบิกค่าเช่าบ้านข้าราชการจากทางราชการ"

หรือกรณีข้าราชการมีเจตนาแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประวัติของตนเองในแบบขอรับค่าเช่าบ้าน (แบบ 6005) อันเป็นเท็จ เป็นต้น

มีรายงานว่า ในคราวนั้น กระทรวงการคลัง แจ้งไปยัง หน่วยงานรัฐในภูมิภาค และท้องถิ่น ทำได้เพียงขอความร่วมมือส่วนราชการเพื่อดําเนินการ ในส่วนที่เกี่ยวข้อง

โดยขอให้ "ผู้มีอํานาจสั่งบรรจุของกระทรวง หรือกรม เป็นผู้ใช้อํานาจดุลพินิจในการออกคําสั่งย้าย หรือเลื่อนตําแหน่งข้าราชการในสังกัด แล้วแต่กรณี

"กรณีที่จะต้องออกคําสั่งดังกล่าวให้อยู่ภายใต้เหตุผล ความจําเป็น และเพื่อประโยชน์ของทางราชการเป็นสําคัญ เพื่อย้ายหรือเลื่อนตําแหน่งข้าราชการ"

ซึ่งหากผลของคําสั่งย้าย หรือเลื่อนตําแหน่งทําให้ข้าราชการต้องไปรับราชการประจําสํานักงานใหม่ในต่างท้องที่ และได้รับความเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยในท้องที่ที่รับราชการเนื่องจากทางราชการเป็นเหตุ

ข้าราชการจึงจะเกิดสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านข้าราชการจากทางราชการและทางราชการต้องรับผิดชอบจ่ายเงินค่าเช่าบ้านข้าราชการให้กับข้าราชการซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ฯ

มีรายงานว่า กระทรวงการคลัง ได้ยกคําวินิจฉัยชี้ขาดอํานาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ 45/2565 มาเป็นข้อมูล เวียนหน่วยราชการ กรณีที่ข้าราชการได้เบิกเงินค่าเช่าบ้านข้าราชการไป "โดยไม่มีสิทธิ"

"ให้ส่วนราชการ เรียกคืนเงินทั้งจํานวน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 กรณีที่ส่วนราชการ ต้องฟ้องเรียกคืนเงินค่าเช่าบ้านข้าราชการที่รับไปโดยไม่มีสิทธิ ถือว่าเป็นข้อพิพาทที่อยู่ในอํานาจพิจารณา พิพากษาของศาลยุติธรรม ตามนัยคําวินิจฉัยชี้ขาดอํานาจหน้าที่ดังกล่าว"

นอกจากนี้หากเกิดความเสียหายแก่ทางราชการ จะต้องดําเนินการสอบสวนหาผู้รับผิดชดใช้ความเสียหาย ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ต่อไป

และหากพบว่าเป็นกรณีทุจริต ในการเบิกจ่ายค่าเช่าบ้านข้าราชการจากทางราชการ ให้ส่วนราชการแจ้งความร้องทุกข์ดําเนินคดีอาญา กับพนักงานสอบสวน หรือแจ้งเรื่องให้สํานักงาน ป.ป.ช. หรือสํานักงาน ป.ป.ท. เพื่อดําเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

หนังสือเวียน ยังระบุว่า สำหรับกรณีที่มีเหตุให้รับฟังว่าข้าราชการรายใดใช้สิทธิไม่ถูกต้อง เช่น

กรณี ข้าราชการทําหรือใช้เอกสารหลักฐานปลอมหรือเท็จ ซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริงมายื่นเบิกค่าเช่าบ้านข้าราชการจากทางราชการ

กรณี ข้าราชการเข้าพักอาศัยในบ้านในฐานะผู้อาศัยมิใช่ในฐานะผู้เช่า แต่ทําสัญญาเช่าบ้านเพื่ออําพราง การอยู่อาศัยทั้งที่ข้อเท็จจริงเป็นผู้อาศัยในบ้าน

กรณี ข้าราชการได้รับการให้ที่ดินพร้อมบ้านโดยเสน่หา ทั้งที่ไม่ได้มีการชําระราคาที่ดินพร้อมบ้านให้กับผู้ขายแต่นําหลักฐานมายื่นเบิกค่าเช่าบ้านข้าราชการ

กรณี ข้าราชการทําสัญญาเช่าบ้านโดยอําพรางสัญญาซื้อขายบ้านเนื่องจากไม่สามารถทําสัญญากู้เงินได้

กรณี ข้าราชการมีเจตนาโดยทุจริตแจ้งรายละเอียดข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการใช้สิทธิเบิกค่าเช่าบ้าน ข้าราชการของตนเองอันเป็นเท็จ เพื่อให้ทางราชการหลงเชื่อและให้มีการเบิกจ่ายค่าเช่าบ้านข้าราชการไปโดยไม่ถูกต้อง

"ให้ส่วนราชการชะลอการเบิกจ่ายค่าเช่าบ้านของข้าราชการรายนั้นไว้ก่อน แล้วดําเนินการตรวจสอบการใช้สิทธิดังกล่าว อีกครั้งก่อนที่จะอนุมัติให้เบิกเงินค่าเช่าบ้านข้าราชการในเดือนถัดไป"

ท้ายสุด กรณีมีการตรวจสอบการใช้สิทธิแล้วพบว่า ข้าราชการรายใดมีเจตนาทุจริตเพื่อประสงค์ ให้ตนใช้สิทธิเบิกเงินค่าเช่าบ้านข้าราชการโดยไม่ถูกต้องขัดกับพระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ. และที่แก้ไขเพิ่มเติม

"ให้ถือว่าเป็นการทุจริต เมื่อมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนแล้วสอบสวน พบว่า มีความผิดจริง ให้ส่วนราชการพิจารณาลงโทษไล่ออก ซึ่งจะไม่มีสิทธิได้รับบําเหน็จบํานาญ"

มีรายงานว่า โดยปัจจุบันอัตราเบิกค่าเช่าบ้าน เริ่มต้น 2,500 3,000 3,500 4,000 5,000 และ 6,000 บาท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับประเภทของข้าราชการฐานเงินเดือนและระดับชั้นของข้าราชการ.
กำลังโหลดความคิดเห็น