เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาสื่อใหญ่หลายสำนักได้ให้ความสำคัญกับข่าว J-10CE เครื่องบินขับไล่ ซึ่งจีนผลิตเพื่อการส่งออก ประสบความสำเร็จในการรบจริงเป็นครั้งแรก บทบรรณาธิการของโกลบอลไทมส์สื่อทางการจีนระบุ
ตามรายงานของ “Why the ‘fighter of national pride’ J-10 is once again in the global spotlight” ซึ่งเป็นชื่อของบทบรรณาธิการชิ้นนี้ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนอธิบายว่า เครื่องบินรุ่น J-10 มีข้อได้เปรียบสำคัญหลายประการ เช่น คล่องแคล่วว่องไวสูง พรางตัวเก่ง มีพิสัยการตรวจจับเรดาร์ได้ไกล และติดตั้งระบบขีปนาวุธขั้นสูง ด้วยจุดแข็งเหล่านี้จึงสามารถตรวจจับ ติดตามและชิงโจมตีเครื่องบินฝ่ายข้าศึกได้ก่อน
การกำเนิดและเติบโตของ J-10 ถือเป็นประวัติศาสตร์ของการดิ้นรนฟันฝ่าเพื่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ไม่พึ่งพาใคร โครงการริเริ่มสร้าง J-10 ผุดขึ้นในทศวรรษ 1980 ( พ.ศ. 2523-2532) โดยเวลานั้นรากฐานอุตสาหกรรมของจีนยังอ่อนแอ เงินทุนก็จำกัดจำเขี่ย พร้อมกับคำถามดังระงมว่า คุ้มกับการลงทุนไหมโครงการนี้ การซื้อเครื่องบินไอพ่นจากต่างชาติ แล้วมาแก้ไขดัดแปลงน่าจะง่ายกว่า
สมัยนั้นเครื่องบินขับไล่กระแสหลักในโลก เช่นเอฟ-16 ของอเมริกา มิราจ 2000 ของฝรั่งเศส และซูคอย ซู-27ของรัสเซีย กำลังพัฒนาเป็นรุ่นที่สามหรือแม้กระทั่งรุ่นที่สี่ ครั้นหันมาดูนักบินเลือดมังกร เมื่อต้องบินเป็นระยะทางไกล ยังคงต้องพึ่งแผนที่และเข็มทิศ ประกอบกับในช่วงนั้นสหรัฐอเมริกาได้ยกเลิกความร่วมมือกับจีนในการอัปเกรด J-8 อย่างกะทันหัน
เมื่อเผชิญกับความจริงดังกล่าว เหล่าวิศวกรการบินชาวจีนจึงตัดสินใจอย่างแน่วแน่ว่า “อย่ารอช้า อย่าพึ่งพาคนอื่น และอย่าคาดหวังว่าคนต่างชาติจะช่วยเหลือเรา” เส้นทางการสร้างนวัตกรรมซึ่งไม่ยืมจมูกคนอื่นหายใจจึงเริ่มต้นขึ้น
ความสำเร็จในการพัฒนา J-10 นับเป็นการสร้างความก้าวหน้าครั้งสำคัญให้กับการวิจัยและพัฒนาเครื่องบินขับไล่ขั้นสูงของจีนในระดับโลก นอกจากนี้ เครื่องบิน J-10 ยังประสบความสำเร็จอย่างโดดเด่นในประวัติศาสตร์การทดสอบการบิน นั่นคือไม่มีผู้เสียชีวิตเลย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงชั้นเชิงด้านเทคนิคและความปลอดภัยในการสร้างเครื่องบิน
เครื่องบินขับไล่ J-10 เข้าประจำการในปี 2549 จากนั้นจีนก็เริ่มติดเขี้ยวเล็บในการรบให้อย่างจริงจัง
นอกจากได้รับการยกย่องกันอย่างกว้างขวางว่าเป็น “ เครื่องบินประจัญบานแห่งความภาคภูมิใจของชาติ" J-10 ยังเป็นตัวแทนที่สะท้อนให้เห็นความรู้สึกอัปยศอดสูที่จีนได้รับจาก “เหตุการณ์หยินเหอ” ( Yinhe Incident เมื่อปี 2536 โดยสหรัฐฯ สั่งชาติรอบอ่าวเปอร์เซียห้ามอนุญาตให้เรือบรรทุกสินค้าหยินเหอจอดเทียบท่า เพราะได้รับข่าวกรองมาว่า เรือลำนี้ขนอาวุธเคมีไปให้อิหร่าน แต่ผลตรวจสอบต่อมาพบว่าไม่เป็นความจริงและสหรัฐฯไม่ขอโทษ)
สะท้อนให้เห็นถึงความโกรธเกรี้ยวต่อเหตุการณ์ สถานทูตจีนในสาธารณรัฐยูโกสลาเวียถูกเครื่องบินนาโต้ภายใต้การนำของสหรัฐฯยิงขีปนาวุธถล่ม
และ J-10 ยังสร้างขึ้นมาจากความเศร้าโศกและเพื่อเป็นเกียรติแด่ “ หวัง เว่ย” เสืออากาศจีนผู้พลีชีพอย่างกล้าหาญในเหตุการณ์เครื่องบินขับไล่ของเขาชนกับเครื่องบินสอดแนมของสหรัฐฯ ในทะเลจีนใต้เมื่อวันที่ 1 เมษายน ปี 2544 อีกด้วย