บอร์ดรฟม.ไฟเขียวแก้พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน พ.ศ. 2543 มาตรา 65 ดึงเงินรายได้สะสมชดเชยเอกชน มาตรการรถไฟฟ้า 20 บาททุกสาย เร่งชงครม.ดันเข้าสภา ด้าน”บีทีเอส”เสนอรัฐชดเชยตามจริงเคลียร์รายได้วันต่อวัน
รายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2568 คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.ที่มีนายมนตรี เดชาสกุลสม อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เป็นประธาน มีการประชุมวาระพิเศษ เพื่อพิจารณาการแก้ไขพ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2543มาตรา 65 โดยจะมีการขยายข้อความเพิ่มเติมในส่วนของรายได้สะสม กำหนดวิธีการรับเงิน จ่ายเงินโดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกำหนด และคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ เพื่อสนับสนุนและบูรณาการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม ซึ่งจากนี้ รฟม.จะสรุปนำเสนอไปยังกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)โดยเร็ว เนื่องจากยังมีขั้นตอนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร กว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการ ทั้งนี้เพื่อให้ทันกับการนโยบายกระทรวงคมนาคม ที่จะขยายค่าโดยสารสูงสุด20บาทใช้ได้กับรถไฟฟ้าทุกสาย สามารถขึ้นกี่ต่อก็ได้ ภายในวันที่30ก.ย.2568
ทั้งนี้ ตามพ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนฯ พ.ศ.2543 มาตรา 65 ระบุว่า รายได้ที่รฟม.ได้รับจากการดำเนินการในปีหนึ่งหนึ่งให้ตกเป็นของรฟม.สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และเมื่อได้หักรายจ่ายสำหรับการดำเนินงานเช่นค่าบำรุงรักษาค่าเสื่อมราคาเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้ว เหลือเท่าใดให้นำส่งเป็นรายได้ของรัฐ ทั้งนี้ตามระเบียบที่กระทรวงการคลังกำหนด
ในกรณีที่รายได้ไม่เพียงพอสำหรับกรณีตามวรรคหนึ่งและไม่สามารถหาเงินที่อื่นได้รัฐพึงจ่ายเงินให้แก่ รฟม. เท่าจำนวนที่จำเป็นต่อการดำเนินงานของรฟม.
จะเห็นว่า มาตรา 65 เขียนไว้กว้างๆ การแก้ไขเพิ่มเติม เป็นการเปิดทางให้นำเงินรายได้สะสมของรฟม.มาใช้ได้ในนโยบาย20บาทตลอดสายได้ เพราะ ในพ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนฯพ.ศ.2543ไม่มีการระบุเรื่องการนำเงินสะสมของรฟม.มาอุดหนุนดังกล่าว ดังนั้นการจะนำมาใช้ทันทีจึงเสี่ยงผิดระเบียบและกฎหมายรวมถึงวินัยการเงินการคลัง
ในการขับเคลื่อนนโยบาย20 บาทตลอดสาย กระทรวงคมนาคมต้องผลักดัน กฎหมาย2 ฉบับ คือพ.ร.บ. การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมฯ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภาแล้ว ยังต้องแก้ไขพ.ร.บ. การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนฯ พ.ศ.2543 ด้วยปัจจุบัน รฟม.มีเงินรายได้สะสมประมาณ 7,000- 8,000 ล้านบาท นอกจากนี้ รฟม.จะมีการเจรจากับคู่สัญญา ทั้งบมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ,บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีชมพู และ บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ในการทำข้อตกลงในสัญญาร่วมกันในการชดเชยค่าโดยสารจากนโยบาย 20 บาทตลอดสาย
“รายได้รฟม.จะมีจากหลายส่วน ได้แก่ สัมปทาน MRT สีน้ำเงิน ปีละประมาณ 5,000 ล้านบาท รายได้จ่ายค่าเช่าพื้นที่ ค่าจอดรถ ฯลฯ ซึ่งจะนำมาใช้เป็นค่าใช้จ่ายในแต่ละปีของรฟม. โดยกระทรวงการคลังจะพิจารณาจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมกรณีไม่เพียงพอโดย หากมีเงินเหลือจึงจะส่งเข้าเป็นรายได้สะสม”
@“บีทีเอส”พร้อมร่วม 20 บาท เสนอรัฐชดเชยค่าโดยสารวันต่อวัน
ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา ในฐานะผู้บริหาร บริษัท ผู้รับสัมปทาน รถไฟฟ้า สายสีเขียว สีเหลืองและสีชมพู กล่าวว่า บริษัทฯพร้อมเข้าร่วมน โยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายของรัฐบาล โดยขอรัฐชดเชยค่าโดยสารให้ตามจริง และเสนอขอให้มีการตัดบัญชีและชดเชยค่าโดยสารในวันรุ่งขึ้น ซึ่งฝ่ายรัฐรับข้อเสนอไปพิจารณา ทั้งนี้ ปัจจุบันมีบัตรหลักคือ บัตร Rabbit ซึ่งมีผู้ถืออยู่ประมาณ 20 ล้านใบ โดยสามารถใช้ในโครงข่ายรถไฟฟ้าสีเขียว ส่วนรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสีชมพู นั้น สามารถใช้บัตรแรบบิทและ บัตร EMV ได้
ซึ่งขณะนี้ ทราบว่า ทาง สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.)หรือ DGA กำลังพัฒนาระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (Central Clearing House : CCH) เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการชดเชยและการใช้บัตรชำระค่าโดยสาร ในการเดินทางเชื่อมต่อในแต่ละสายทาง
โดยปัจจุบัน รถไฟฟ้าสายสีเขียวมีผู้โดยสารเฉลี่ยประมาณ 8 แสนคน/วัน แต่ยังไม่เท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ที่เคยมีผู้โดยสารถึง 9 แสนคน/วัน รถไฟฟ้าสายสีชมพูมีผู้โดยสารเฉลี่ย 6.4 หมื่นคน/วัน และรถไฟฟ้าสายสีเหลืองมีผู้โดยสารเฉลี่ย 4.6 หมื่นคน/วัน