ศึกสายเลือดดุสิตธานีที่ร้อนฉ่าสะท้านวงการ สะเทือนนักลงทุนและพนักงานกว่าสองหมื่นชีวิต ยังต้องรอลุ้นว่าการประชุมผู้ถือหุ้นครั้งใหม่ในวันที่ 28 พฤษภาคม 2568 ที่จะถึงนี้จะมีผลลัพธ์ออกมาเช่นใด ทายาททั้งสามของ “ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย” จะยอมถอยคนละก้าว หรือเดินหน้าแตกหัก ฉุดความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์แบรนด์ดังระดับโลกให้ติดลบ
นับจากท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ผู้ก่อตั้งโรงแรมดุสิตธานี เสียชีวิตไปเมื่อปี 2563 ทายาททั้ง 3 คนคือชนินทธ์ โทณวณิก ลูกชายคนโต, สินี เธียรประสิทธิ์ (แต่งงานกับฐิตินันท์ เธียรประสิทธิ์) และ สุนงค์ สาลีรัฐวิภาค (แต่งงานกับ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค) ก็เกิดความขัดแย้งระหองระแหงกันเรื่อยมา
ความขัดแย้งที่ปะทุสู่จุดแตกหักระหว่าง “พี่ชาย - ชนินทร์” กับ “น้องสาว - “สีณี” และ “สุนงค์” เกิดขึ้นชัดเจนในเหตุการณ์ครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2568 โดย “พี่ชนินทธ์” ถูกถอดออกจากตำแหน่งกรรมการของบริษัท ชนัตถ์และลูก จำกัด
และครั้งที่สอง เมื่อเดือนเมษายน 2568 โดยผู้หุ้นใหญ่ดุสิตธานี คือ กลุ่มสิณีและสุนงค์ แท็กทีมกัน ไม่อนุมัติงบการเงินประจำปี 2567 ทั้งที่ผ่านการรับรองจากผู้สอบบัญชีเรียบร้อยแล้ว เป็นผลจากการเปิดศึกสายเลือดที่บ่งบอกความแรงถึงขั้นผีไม่เผาเงาไม่เหยียบ
ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ก่อตั้งบริษัท ชนัตถ์และลูก จำกัด เมื่อปี 2553 ทุนจดทะเบียน 752 ล้านบาท โดยมีทายาททั้งสามร่วมถือหุ้นเพื่อลงทุนในบริษัท ดุสิตธานีจํากัด (มหาชน) หรือ DUSIT ในสัดส่วน 49.74%
ตามโครงสร้างการถือหุ้นในบริษัท ชนัตถ์และลูก โดยรวมคนในตระกูลเดียวกันนั้น กลุ่มตระกูลโทณวณิก นำโดย ชนินทธ์ โทณวณิก มีสัดส่วนการถือหุ้นรวม 26.66% โดยชนินทธ์ถือหุ้น 25.40% และส่วนที่เหลือเป็นของ ณัฐพร, ศิรินันท์ และ ศิรเดช โทณวณิก ที่ถือคนละ 0.42%
กลุ่มตระกูลเธียรประสิทธิ์ นำโดย สินี เธียรประสิทธิ์ มีสัดส่วนการถือหุ้นรวม 26.65% โดย สินี ถือหุ้น 26.57% ส่วนที่เหลือเป็นของ ณัฐสิทธิ, พัฒนีพร, ลลิตา และ ภมรศักดิ์ เธียรประสิทธิ์
ส่วนกลุ่มตระกูลสาลีรัฐวิภาค นำโดย สุนงค์ สาลีรัฐวิภาค มีสัดส่วนการถือหุ้นรวม 21.68% โดย สุนงค์ ถือหุ้น 21.62% ที่เหลือเป็นของ ชลิตา, ภัทรพรรณ, ภัทรพร และ ภัทร สาลีรัฐวิภาค
นอกจากนี้ ยังมีกองมรดกของท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ถือหุ้นในสัดส่วน 24.99%
หลังสิ้นท่านผู้หญิงชนัตถ์ ทางลูกชายคนโตคือ ชนินทธ์ ได้เข้ามาบริหารดุสิตธานี เต็มตัว พร้อมกับขยายธุรกิจออกไปหลายด้าน และตั้งบริษัทใหม่แตกแขนงออกไปมากมาย รวมถึงการปั้นโครงการใหญ่อย่างโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค มูลค่ากว่า 46,000 ล้านบาท และการปรับโฉมโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ท่ามกลางมรสุมรมเร้าจากโรคระบาดโควิด-19 ที่ทำเอาธุรกิจการท่องเที่ยวโรงแรมพังพินาศ
ช่วงเวลาแห่งการแปลงวิกฤตเป็นโอกาส ชนินทธ์ได้ผลักดันให้ทายาทของตัวเองเข้ามารับผิดชอบหลายโครงการ สั่งสมความขัดแย้งคุกรุ่นระหว่างพี่น้องร่วมสายเลือด
กระทั่งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2568 มีการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัท ชนัตถ์และลูก จำกัด ครั้งสำคัญ กล่าวคือ ชนินทธ์ โทณวณิก คีย์แมนคนสำคัญของดุสิตธานี ดูเหมือนจะถูกฝั่งน้องสาวทั้งสองยึดอำนาจและถอดพ้นจากการเป็นกรรมการ โดยมีการแต่งตั้งกรรมการเข้ามาใหม่ 2 คน คือ นายภัทร สาลีรัฐวิภาค และนางสาวลลิตา เธียรประสิทธิ์ เข้ามาแทนที่
ขณะเดียวกัน ในรายชื่อกรรมการผู้ลงนามผูกพันบริษัทปัจจุบัน คือ นางสินี เธียรประสิทธิ์ หรือ นางสาวลลิตา เธียรประสิทธิ์ ลงลายมือชื่อร่วมกับ นางสุนงค์ สาลีรัฐวิภาค หรือนายภัทร สาลีรัฐวิภาค สองคนลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของบริษัท ซึ่งหมายความว่าอำนาจในการบริหารจัดการบริษัท ชนัตถ์และลูก จำกัด ถูกควบคุมโดยตระกูลเธียรประสิทธิ์และสาลีรัฐวิภาค
กล่าวได้ว่า ตระกูลโทณวณิก หลุดวงโคจร โดย ชนินทธ์ หลุดจากการเป็นกรรมการ และไม่มีอำนาจในการลงนามผูกพันบริษัทแต่อย่างใด ขณะที่ทายาทของตระกูลโทณวณิก ไม่ได้เข้าไปมีบทบาทเป็นกรรมการบริษัท เหมือนดังเช่นทายาทจากตระกูลเธียรประสิทธิ์ และสาลีรัฐวิภาค
หากเช็กชีพจรธุรกิจของบริษัท ชนัตถ์และลูก จำกัด จะเห็นว่าผลประกอบการไม่ค่อยสู้ดีนัก จากที่เคยเติบโตสูงกลับร่วงแรงในช่วงวิกฤตโควิด-19 และค่อย ๆ ฟื้นตัว โดยปี 2562 รายได้รวม 74 ล้านบาท กำไร 73 ล้านบาท ปี 2564 รายได้ลดฮวบเหลือ 2.7 ล้านบาท กำไร 2.3 ล้านบาท ปี 2566 เริ่มฟื้น รายได้รวม 11.5 ล้านบาท กำไร 10.7 ล้านบาท ขณะที่สินทรัพย์รวม ในปี 2566 อยู่ที่ 3,890 ล้านบาท ลดลงจากปี 2565 ที่มี 4,915 ล้านบาท
เชื้อไฟความขัดแย้งที่ปะทุขึ้นครั้งแรก อาจจำกัดวงเฉพาะบริษัทของตระกูล แต่ไฟขัดแย้งที่ปะทุขึ้นมาเป็นครั้งที่สอง ดูเหมือนจะแผดเผาไหม้เป็นวงกว้าง เพราะลามถึงบริษัทในตลาดหุ้น กล่าวคือ ในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 32/2568 เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา บริษัท ชนัตถ์และลูก จำกัด ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DUSIT ไม่อนุมัติงบการเงินสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 ทั้งที่ผ่านการรับรองจากผู้สอบบัญชีเรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ ผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท ชนัตถ์และลูก จำกัด ที่ไม่อนุมัติงบการเงิน ปี 2567 ในวาระที่ 2 ซึ่งเป็นวาระปกติที่แจ้งให้ผู้ถือหุ้นอนุมัติตามปกติเป็นประจำทุกปี ไม่ใช่ใครอื่น แต่คือ “สินี และ สุนงค์”
ความขัดแย้งภายในกลุ่มทายาทของผู้ก่อตั้งดุสิตธานี กำลังส่งผลสะเทือนโดยตรงต่ออนาคตของกลุ่มดุสิตธานี ที่เป็นแบรนด์ชั้นนำระดับโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่เพียงเท่านั้น ยังส่งผลด้านลบต่อราคาหุ้นของ DUSIT ซึ่งกระทบต่อผู้ลงทุนทั้งรายใหญ่รายย่อย รวมถึงอนาคตของพนักงานรวมกว่าสองหมื่นชีวิต
ทั้งนี้ ผลกระทบเบื้องต้น จากการที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท ชนัตถ์และลูก จำกัด ไม่อนุมัติงบการเงินของ DUSIT ทำให้ต้องมีการเลื่อนการประชุมผู้ถือหุ้นออกไปเป็นวันที่ 28 พฤษภาคม 2568 ซึ่งกระทบต่อวาระอื่น ๆ ที่รอการอนุมัติจากที่ประชุม โดยเฉพาะการขอมติแต่งตั้งผู้ตรวจสอบบัญชี ส่งผลให้ดุสิตธานี ไม่สามารถส่งงบการเงิน ไตรมาส 1 ปี 2568 ได้ทันในวันที่ 15 พฤษภาคม 2568
การส่งงบการเงินไตรมาส 1/2568 ของบริษัทฯ ล่าช้าออกไป ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงดำเนินการตามข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ โดยการขึ้นเครื่องหมาย SP (ระงับการซื้อขายหลักทรัพย์เป็นการชั่วคราว) จนกว่าบริษัทจะนำส่งงบการเงินไตรมาส 1/2568 เป็นที่เรียบร้อย
นางสาวมัณฑนี สุรกาญจน์กุลเลขานุการบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่าหากผู้ถือหุ้นมีมติแต่งตั้งผู้สอบบัญชีสำหรับรอบปีบัญชี 2568 เรียบร้อยแล้ว บริษัทฯจะดำเนินการนำส่งงบการเงินไตรมาส 1/2568 ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยเร็วที่สุด และยืนยันว่างบการเงินที่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่นั้น เป็นงบการเงินที่จัดทำขึ้นอย่างถูกต้องทุกประการ ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่เรื่องความถูกต้องของงบการเงินหรือธรรมาภิบาลของบริษัทฯ
บริษัทฯ ตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อภาพลักษณ์ของบริษัทฯ และความเชื่อมั่นของนักลงทุน จึงกำลังหาทางออกที่เหมาะสม โดยยึดถือผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นโดยรวมเป็นสำคัญ และเชื่อมั่นว่า สถานการณ์ความเข้าใจที่ไม่ตรงกันนี้จะสิ้นสุดโดยเร็ว เนื่องจากสถานการณ์นี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อบริษัทฯ และผู้ถือหุ้นทุกราย
สำหรับรายชื่อผู้ถือหุ้นบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 บริษัท ชนัตถ์และลูก จำกัด 422,821,310 หุ้น สัดส่วน 49.74 %, อันดับ 2 บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) 145,238,320 หุ้น สัดส่วน 17.09 %, อันดับ 3 ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 34,500,000 หุ้น สัดส่วน 4.06 %, อันดับ 4 นายวิชิต ชินวงศ์วรกุล 32,886,000 หุ้น สัดส่วน 3.87 % และอันดับ 5 นางจารุณี ชินวงศ์วรกุล 17,793,300 หุ้น สัดส่วน 2.09 %
หากความขัดแย้งของทายาทดุสิตธานี ยืดเยื้อต่อไป ย่อมไม่เป็นผลดีด้วยประการทั้งปวง และผู้ถือหุ้นรายอื่นคงไม่อาจอยู่นิ่งเฉย ยิ่งเวลานี้ ดุสิตธานี กำลังมุ่งทะยานไปข้างหน้า โดยศุภจี สุธรรมพันธุ์ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์สื่อว่า บริษัทฯ ไม่ได้มีปัญหาด้านงบการเงินแต่อย่างใด งบนี้ได้รับการตรวจสอบและอนุมัติจากผู้สอบบัญชี คณะกรรมการตรวจสอบ รวมถึงคณะกรรมการบริษัทแล้ว และบริษัทเปิดเผยข้อมูลต่อนักลงทุนอย่างโปร่งใส สม่ำเสมอ จนได้รับรางวัล Best IR และ Outstanding IR Award ติดต่อกันหลายปี
ที่ผ่านมา แม้จะเผชิญปัญหาจากโควิด แต่บริษัทฯ ยังเดินหน้าธุรกิจ และโครงการมิกซ์ยูสลักซ์ชัวรี Dusit Central Park มูลค่า 46,000 ล้านบาท จนเริ่มเสร็จแล้ว จึงต้องการเห็นการเดินหน้าของ DUSIT เนื่องจากผู้ถือหุ้นและพนักงานกว่า 2 หมื่นคน กำลังรอคอยการตัดสินใจของผู้ถือหุ้นที่คาดหวังว่าจะคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของบริษัทและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
เมื่อปี 2567 ที่ผ่านมา ถือเป็นปีที่ DUSIT มีจุดเปลี่ยนที่สำคัญ โดยภาพรวมทั้งปี 2567 บริษัทฯ มีรายได้รวม 11,204 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 74.8% แยกเป็นสัดส่วนรายได้จากธุรกิจโรงแรม 44.4%, พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ 34.2%, อาหาร 13.1%, การศึกษา 3.8%, อื่นๆ 4.5% มี EBITDA 1,650 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 91.4% จากปีก่อนหน้าอยู่ที่ 862 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี ยังมีผลขาดทุนสุทธิ -237 ล้านบาท ลดลง 58.4% เมื่อเทียบกับปีก่อนซึ่งอยู่ที่ -570 ล้านบาท
สำหรับทิศทางและกลยุทธ์ปี 2568 DUSIT ตั้งเป้าการเติบโตของรายได้รวมจากธุรกิจหลัก (ไม่รวมรายได้ส่งมอบงานก่อสร้าง) ที่ 30-35% และคาดว่าอัตรา EBITDA จะเพิ่มขึ้นเป็น 16-18% ของรายได้รวม โดยมีแผนขับเคลื่อนในแต่ละธุรกิจ อาทิธุรกิจโรงแรมที่เติบจากการเปิดโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ เต็มรูปแบบ คาดการณ์รายได้รวมธุรกิจโรงแรม (ไม่รวมดุสิตธานี กรุงเทพฯ) เติบโต 15-18%, เปิดโรงแรมรับจ้างบริหารเพิ่ม 5-7 แห่ง, ตั้งเป้าเซ็นสัญญาใหม่ 12-14 แห่ง เน้นเอเชียแปซิฟิก ตะวันออกกลาง ยุโรป แอฟริกา
ธุรกิจการศึกษาคาดรายได้โต 10-12% และ EBITDA เป็นบวก เน้นสร้างสมดุลหลักสูตร (โรงแรม, อาหาร) ขยายหลักสูตรให้หลากหลาย เพิ่มประสิทธิภาพ ลดการขาดทุนของ The Food School Bangkok
ส่วนธุรกิจอาหารคาดรายได้โต 20-25%, อัตรา EBITDA เพิ่มเป็น 13-15% และ Epicure Catering ขยายตลาด รักษาความเป็นผู้นำ ร่วมมือกับ Green House (ญี่ปุ่น) ส่วน Bonjour Bakery ขยายสาขา 12-15
แห่ง เพิ่มยอดขาย B2B ตั้งเป้าโตต่อร้าน 3-4% ฯลฯ และเตรียมนำธุรกิจอาหารเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยวางเป้าหมายรายได้ธุรกิจอาหาร 2,500 ล้านบาทในปี 2570 อัตรา EBITDA 14-15%
สำหรับธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในส่วนโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค จะเปิดอาคารสำนักงานและศูนย์การค้า ครึ่งหลังปี 2568, เริ่มโอนที่พักอาศัยปลายปี 2568, เป้าหมายยอดขายปี 2568 ที่ 95% ของพื้นที่ขาย ส่วนเดอะ แฮมป์ตัน ศรีราชา อยู่ระหว่างขายและโอนห้องชุดที่เหลือ
บล.ฟินันเซียไซรัส ออกบทวิเคราะห์หุ้น DUSIT มองปัจจัยบวกและโอกาส จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว ส่งผลบวกต่อธุรกิจโรงแรมซึ่งเป็นรายได้หลักของ DUSIT โครงการอสังหาริมทรัพย์ใหม่ คือโครงการ Dusit Central Park (DCP) และโครงการ Dusit Ajara Hua Hin เป็นแหล่งรายได้สำคัญระยะกลาง-ยาว โดย DCP มียอดขายพรีเซลกว่า 85% และคาดว่าจะเริ่มโอนในปี 2025 และการกระจายธุรกิจ โดยขยายไปสู่ธุรกิจอาหาร เช่น The Food School และการศึกษา ช่วยลดความเสี่ยงจากการพึ่งพิงรายได้โรงแรมเพียงอย่างเดียว
สำหรับปัจจัยลบและความเสี่ยง มาจากการเลื่อนประชุมสามัญผู้ถือหุ้น และผู้ถือหุ้นรายใหญ่ไม่อนุมัติงบการเงิน สร้างความกังวลด้านความโปร่งใสและความเชื่อมั่น ขณะที่รายได้แม้ฟื้นตัวแต่กำไรสุทธิยังท้าทาย ค่า P/E ยังไม่ปรากฏ สะท้อนถึงความสามารถในการควบคุมต้นทุนและสร้างกำไรที่ยังต้องติดตาม รวมถึงการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ ทำให้หนี้สินรวมสูง (ณ เดือนกันยายน 2567 อยู่ที่ 11.5 พันล้านบาท) อัตราหนี้ต่อ EBITDA สูงถึง 9-12 เท่าในปี 2024-2025 ต้องติดตามการบริหารสภาพคล่องและการชำระหนี้อย่างใกล้ชิด
ขณะเดียวกัน ธุรกิจโรงแรมและอสังหาฯ มีการแข่งขันสูง ทั้งจากผู้เล่นเดิม รายใหม่ และแพลตฟอร์มออนไลน์ หากโครงการใหญ่ เช่น DCP หรือ Dusit Ajara Hua Hin ล่าช้าหรือยอดโอนไม่เป็นไปตามแผน จะกระทบต่อรายได้และความสามารถในการลดหนี้
ศึกสายเลือดทายาทดุสิตธานี มีสองทางเลือก จะยืดเยื้อจนกระทบเป้าหมายรายได้และการลงทุนใหญ่ หรือจะตัดจบในเร็ววันนี้เพื่อประโยชน์สูงสุดของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง มีคำตอบในตัวอยู่แล้ว