สถานการณ์การเมืองไทยขณะนี้ ถ้าเทียบกับกีฬาฟุตบอล ก็ต้องบอกว่า อยู่ในช่วงฤดูกาลที่แต่ละทีม แต่ละสโมสรกำลังคัดสรร “นักเตะ” เข้ามาร่วมทีม เช่นเดียวกับนักเตะที่มองหาสโมสรที่ต้องตาต้องใจตัวเอง ด้วยมีความเคลื่อนไหวของบรรดานักการเมืองที่ทยอย “ย้ายค่าย-เปลี่ยนขั้ว” ให้เห็นมากขึ้น
โดยมีทั้งที่ประกาศตัวว่าจะย้ายไปสังกัดค่ายไหน มีทั้งโยนหินถามทางว่าจะไปแน่ แต่ยังไม่บอกว่าจะลงเอย ณ แห่งหนตำบลไหน และมีทั้งที่ยื่นใบลาออกแต่ขออยู่นิ่งเพื่อรอความชัดเจนทางการเมือง เป็นต้น
ทั้งนี้ ป้อมค่ายการเมืองที่ “เนื้อหอม” มากที่สุดก็คือ “พรรคกล้าธรรม” ที่ตามนิตินัยมี “มาดามแหม่ม-นฤมล ภิญโญสินวัฒน์” เป็นหัวหน้า แต่ในทางพฤตินัยแล้วคือ “ผู้กองธรรมนัส-ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า” อย่างที่ไม่อาจปฏิเสธความจริงได้
ตามข่าวที่ปรากฏออกมา อย่างน้อยมี 1 คนที่ชัดเจนว่า จะไปอยู่ “พรรคกล้าธรรม” ขณะที่อีก 2 คนก็ถูกอกถูกใจกับวัตรปฏิบัติของพรรคนี้เป็นพิเศษ
คนแรกคือ “กฤษฎิ์ ชีวะธรรมานนท์” สส.ชลบุรี ที่ประกาศยุติการทำงานทางการเมืองกับ “พรรคประชาชน” เนื่องจากแนวทางการทำงานทางการเมืองที่ไม่ตรงกันทำให้ไม่สามารถทำงานเพื่อประโยชน์ของประชาชนได้อย่างเต็มที่พร้อมทั้งขอให้ขับพ้นพรรคเพื่อที่จะได้ไปร่วมงานกับ “พรรคกล้าธรรม”
ทั้งนี้ สส.กฤษฎิ์ร่ายยาวถึงสาเหตุที่ต้องแยกทางกับพรรคส้มว่า เนื่องจากพรรคมีเป้าหมายเน้นสร้างพรรค ไม่ได้เน้นสร้างคน เรื่องที่พรรคสนใจแก้ปัญหาการทำงานจึงเป็นประเด็นการสร้างกระแส สร้างความนิยมให้กับพรรคเป็นหลัก โดยไม่ได้มุ่งเน้นผลประโยชน์ประชาชน ทำให้ตนเองไม่สามารถแก้ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนได้
สำหรับสาเหตุที่เลือก “พรรคกล้าธรรม” สส.กฤษฎิ์ตอบว่า ที่ผ่านมาได้ประสานงานกับรัฐมนตรีหลายคน ในการทำงานในพื้นที่ ซึ่งได้รับการตอบรับจาก ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ช่วยแก้ไขปัญหาให้ประชาชนมาโดยตลอด ส่วนกระแสข่าวที่มีการเสนอเงิน 55 ล้านบาท เงินเดือน 250,000 บาท และรถตู้หรูนั้น ขอให้ไปถามคนที่พูด
แน่นอน “ด้อมส้ม” ย่อมไม่พอใจ และก่นด่า “สส.กฤษฎิ์” อย่างสาดเสียเท ขณะที่หัวหน้าพรรคส้ม “เสี่ยเท้ง-ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ” สวนกลับว่า เป็นเรื่องความไม่พอใจส่วนตัว ไม่ใช่อุปสรรคในการทำงานรับใช้ประชาชน พร้อมยืนยันว่าจะไม่ใช่วิธีการขับ แต่จะใช้ “มาตกการดองงูเห่า” และนำเข้าที่ประชุมกรรมการวินัยเพื่อตัดสิทธิทุกอย่างที่พึงมีในฐานะสมาชิกพรรค
ขณะที่เมื่อย้อนดูปูมหลังของ สส.กฤษฎิ์ก็จะพบความไม่ธรรมดาปรากฏ โดยเฉพาะเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับผู้สมัครทั้ง 10 เขตของพรรคส้มในจังหวัดชลบุรี กล่าวคือ เธอเป็นลูกสาว “เฮียย้ง” พรเทพ ชีวะธรรมานนท์ ประธานบริษัทพรเทพอินเตอร์กรุ๊ป จำกัด หนึ่งในผู้นำด้านการผลิตพาเลทไม้ และบรรจุภัณฑ์ไม้ อันดับต้นๆ ของประเทศไทย และเป็นหนึ่งในผู้นำเข้าไม้เป็นอันดับ 1 ของประเทศ
ที่น่าสนใจคือ ก่อนเข้าสู่ถนนการเมือง “สส.กฤษฎิ์” มีความสนิทสนมกับอดีตคนเพื่อไทย 2 คนคือ “นิชนันท์ วังคะฮาต” อดีตแกนนำแดงแหลมฉบัง และ “จิรวุฒิ สิงโตทอง” สส.ชลบุรี ที่เคยสังกัดพรรคสีแดง ก่อนที่จะแยกย้ายกันไปโดยนิชนันท์ ลงสมัคร สส.ชลบุรี เขต 8 (สัตหีบ) ในนามพรรคก้าวไกล และนำ “กฤษฎิ์” ลูกสาวเฮียย้ง เข้าสังกัดพรรคสีส้ม ขณะที่ จิรวุฒิ สิงโตทอง ย้ายค่ายไปอยู่กับ “เสี่ยเฮ้ง-สุชาติ ชมกลิ่น” พรรครวมไทยสร้างชาติ
แต่สายสัมพันธ์ก็ยังเหมือนเดิม โดยจิรวุฒิเคยโพสต์รูปคู่กฤษฎิ์ ชีวะธรรมานนท์ พร้อมแคปชั่น อา-หลาน อยู่ต่างพรรคต่างขั้ว แต่หัวใจเดียวกัน
ความจริงต้องบอกว่า พรรคส้มเผชิญปัญหาในเรื่อง “งูเห่า” มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เป็นพรรคอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกลมาจนถึงพรรคประชาชนในปัจจุบัน ซี่งสะท้อนให้เห็นว่า วิธีการคัดคน คัดผู้สมัครเลือกตั้งของพรรคมีปัญหา
“งูเห่า” ที่เคยปรากฏก่อนหน้า สส.กฤษฎิ์ก็อย่างเช่น นายคารม พลพรกลาง อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ นางศรีนวล บุญลือ อดีต สส.เชียงใหม่ น.ส.กวินนาถ ตาคีย์ อดีต สส.ชลบุรี พรรคอนาคตใหม่ นายขวัญเลิศ พานิชมาท อดีต สส.ชลบุรี พรรคอนาคตใหม่ นายกิตติชัย เรืองสวัสดิ์ อดีตสส.ฉะเชิงเทรา นายฐิตินันท์ แสงนาค อดีต สส.ขอนแก่น ร.ต.ต.มณฑล โพธิ์คาย และนายโชติพิพัฒน์ เตชะโสภณมณี อดีต สส.กรุงเทพฯ เป็นต้น
ขณะที่อีกหลายคนก็เผชิญคดีความและเรื่องราวฉาวโฉ่ เช่น นายวุฒิพงษ์ ทองเหล่า สส.ปราจีนบุรี ที่เจอคดีคุกคามทางเพศ นายสิริน สงวนสิน สส.กทม.ทำร้ายแฟนสาว นายไชยาพวาน มั่นเพียรจิตต์ สส.กทม.คดีคุกคามทางเพศ นายนครชัย ขุนณรงค์ สส.ระยอง ต้องโทษคดีลักทรัพย์ หรือนายสิทธิชัย สัมฤทธิ์ ผุ้สมัคร สท.นครเจ้าพระยา ที่เจอคดีมียาบ้าไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เป็นต้น
ส่วนอีก 2 คนคือ ** “น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ”** และ ** “นายการุณ โหสกุล” จาก “พรรคไทยสร้างไทย” ก็มีการเปิดตัวจากทางฝั่งผู้กองว่า จะย้ายไปร่วมงานกัน
ทว่า เจ้าตัวคือ “น.อ.อนุดิษฐ์” ก็ยังแบ่งรับแบ่งสู้ เพียงแต่เมื่อพิจารณาจากถ้อยคำที่สื่อสารออกมา คงไม่แคล้วไปร่วมงานกับ “ผู้กองและอาจารย์แหม่ม” เป็นแน่แท้
“หากผมตัดสินใจร่วมงานกับ พรรคกล้าธรรม ก็คงเป็นพันธุกรรม-บุคลิกการทำงานถึงลูกถึงคน น้ำใจกว้างขวาง ไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ที่รับถ่ายทอดมาจาก หัวหน้าพรรค-ประธานที่ปรึกษา ผสมผสานกันเป็นตัวตนที่ แตกต่าง-ชัดเจน ยากจะเลียนแบบ
“ท้ายที่สุดไม่ว่า พรรคกล้าธรรม จะมีผมและ สส.เก่ง ร่วมเดินทางไปด้วยหรือไม่ก็ตาม ก็เชื่อแน่ว่า อีกไม่นาน พรรคการเมืองน้องใหม่พรรคนี้ จะกลายเป็นตัวแปรสำคัญของการเมืองไทย ตลอดจนมีศักยภาพเป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อนประเทศชาติไปข้างหน้า สร้างโอกาส-อนาคตที่ดีให้กับประชาชนได้อย่างแน่นอน”น.อ.อนุดิษฐ์ร่ายยาว
อย่างไรก็ดี ต้องบอกว่า ความจริงก็ไม่น่าจะแปลกใจอะไรที่คนในพรรคนี้จะเข้าสู่โหมด “ทางใครทางมัน” ด้วยสภาพของ “พรรคเจ๊หน่อย” ในเวลานี้ แทบไม่มีความเป็นพรรคหลงเหลืออยู่แล้ว โดยเฉพาะเวลา “ยกมือ” ในสภาก็เห็นชัดว่า มิได้ไปในทิศทางเดียวกับ “ผู้นำพรรค” และแสดงตัวชัดเจนสนับสนุนรัฐบาล ขณะที่ตัว “คุณหญิงหน่อย” เองก็ไม่สามารถทำอะไรได้
ทั้งนี้ มีการคาดหมายกันว่า หลังมีความชัดเจนเรื่องการเลือกตั้งจะมีการโบกมือลาร้อยเปอร์เซ็นต์ เพียงแต่ขณะนี้ทำได้แค่ “อดใจรอ” ไว้ก่อน เพราะ “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ก็เลือกใช้ “วิธีดอง” เหมือนกับที่ “พรรคส้ม” ทำกับ สส.กฤษฎิ์
ถัดมาคือเบอร์ใหญ่จาก “ค่ายลุงตู่-พรรครวมไทยสร้างชาติ” นั่นคือ “เสี่ยเฮ้ง-สุชาติ ชมกลิ่น” ที่เรียกว่า “แบะท่า” และ “ออกตัว” ตั้งแต่หัววันว่า ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการร่วมหัวจมท้ายกับ “หัวหน้าพีระพันธุ์-สาลีรัฐวิภาค” ซึ่งสาละวันเตี้ยลงในทางการเมืองทุกที
“วันนี้เรายังอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติ แต่วันข้างหน้าไม่สามารถบอกได้ เพราะเราดูสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ส่วนตัวก็ย้ายมาทุกพรรคแล้ว ตั้งแต่ปี 54 ก็พรรคหนึ่ง ปี 62 ก็พรรคหนึ่ง ปี 66 ก็อีกพรรคหนึ่ง เราไม่สามารถบอกได้ เพราะจะเป็นคำพูดที่มัดตัวเรา เราต้องยอมรับว่า เราไปอยู่ตรงไหนที่คิดว่าเราทำงาน และมีความสุขก็ไปอยู่ตรงนั้น”เสียเฮ้งกล่าว พร้อมกับกล่าวถึงกรณีของ สส.กฤษฎิ์ ด้วยว่า เป็นเอกสิทธิ์ที่สามารถทำได้
มีการวิเคราะห์กันว่า “เสี่ยเฮ้ง” น่าจะเป็นอีกหนึ่งนักการเมืองที่มีโอกาสย้ายพรรค และน่าจะมีนัยสำคัญต่อเกมการเมืองในพื้นที่จังหวัดชลบุรีค่อนข้างมากว่าจะพลิกโฉมหน้าไปจากเดิม ทว่า “เสี่ยเฮ้ง” ก็โพสต์แสดงจุดยืนออกมาว่า “ประเด็น ผมไปร่วมงานกับพรรคกล้าธรรมนั้น ไม่เป็นความจริงครับ”
เรื่องก็เป็นอันจบไป ส่วนสุดท้ายแล้ว “เสี่ยเฮ้ง” จะไปลงเอยที่พรรคใดก็คงต้องติดตาม แต่ไม่ได้อยู่พรรครวมไทยสร้างชาติแน่ๆ เพราะสถานการณ์ของ “เสี่ยเฮ้ง” ในพรรคก็มิได้ดีเท่าใดนัก เผลอๆ หวยจะออกที่ “ค่ายสีน้ำเงิน” เสียก็ไม่รู้
สำหรับพรรครวมไทยสร้างชาตินั้น จะว่าไปก็ตกอยู่ในอาการน่าเป็นห่วงไม่น้อย เพราะไม่มีการย้ายเข้า แต่การย้ายออกเกิดขึ้นแน่ๆ ด้วยมีปัญหาภายใน โดยเฉพาะตัวหัวหน้าพรรคคือนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาคที่กำลังเผชิญวิบากกรรมจากกรณีกรณีถือหุ้น และเป็นกรรมการบริหารบริษัทเอกชน รวมถึงโดนร้องกรณีแจกถุงยังชีพซึ่งติดรูปตัวเอง
ถ้าไม่มีการ “รีแบรนด์” ใหม่หรือมีทุนในการทำงานการเมืองเพียงพอโอกาสที่ สส.และนักการเมืองจะไหลออกก็มีสูง ซึ่งเท่าที่สำรวจตรวจตรามีจำนวนไม่น้อยเช่นกัน
ส่วน “ค่ายลุงป้อม-พรรคพลังประชารัฐ” ก็เรียกเสียงฮือฮาจากคอการเมืองไม่น้อย เมื่ออดีตหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคที่ปลุกปั้นพรรคมาตั้งแต่เริ่มแรกร่วมกับ “เฮียกวง-สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” คือ “อุตตม สาวนายน” และ “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” ยื่นใบลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคเป็นที่เรียบร้อย
ทั้งนี้ ทั้งสองคนเลือกที่จะ “เว้นวรรคทางการเมือง” หลังได้รับคำแนะนำว่า “อยู่เฉยๆ” จนกว่าจะมีการชัดเจนทางการเมือง
เห็นการลาออกของ “อุตตม-สนธิรัตน์” แล้วก็อดเป็นห่วง “ลุงป้อม-พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ” ผู้เป็นหัวหน้าพรรคไม่ได้ เพราะดูทรงแล้วอาจจะถึงเวลาต้องตัดสินใจ “ล้างมือในอ่างทองคำ” คือเลิกเล่นการเมืองเสียแล้วกระมัง แม้จะยังคงมี “ลูกยุ” จากคนใกล้ตัวอยู่ก็ตาม
เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะสุดท้ายแล้วพรรคพลังประชารัฐคงหนีไม่พ้น “ภาวะเลือดไหล” ไม่หยุด ด้วยบรรดา “บ้านใหญ่” ที่เป็น สส.ปัจจุบันนี้ดูทิศทางลมแล้ว คงเตรียมโบกมือลา ที่เห็นกันชัดๆ ก็อย่าง “บ้านใหญ่เมืองมะขามหวาน-สันติพร้อมพัฒน์” เป็นอาทิ ซึ่งแม้เจ้าสำนักบ้านป่าจะอัดโปรโมชั่นแบบถึงใจก็ยังรั้งไม่อยู่
ถึงตรงนี้ คงต้องติดตามสถานการณ์ทางการเมืองกันต่อไป โดยเฉพาะคดีความที่มะรุมมะตุ้มกันอยู่ก็อาจก่อให้เกิดจุดเปลี่ยนทางการเมืองได้ทุกเมื่อ และโอกาสที่จะยุบสภาหรือลาออกก็ใช่ว่า เป็นไปไม่ได้ แม้ตอนนี้จะมีคำยืนยันว่า “ไม่ยุบ” ก็ตามที