ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ กล่าวระหว่างเยือนกาตาร์วันพฤหัสบดี (15 พ.ค.) ว่า ชาติอาหรับรายนี้จะลงทุนเป็นเงิน 1 หมื่นล้านดอลลาร์ ปรับปรุงยกระดับฐานทัพอากาศ อัล อูเดอิด ที่เป็นค่ายทหารใหญ่ที่สุดในตะวันออกกลางของสหรัฐฯปัจจุบัน หลังจากเมื่อวันพุธ (14) ได้ลงนามซื้ออาวุธสหรัฐฯมูลค่า 42,000 ล้านดอลลาร์ ตลอดจนซื้อเครื่องบินโดยสารของโบอิ้ง 210 ลำไปแล้ว ทั้งนี้ผู้นำสหรัฐฯกำหนดปิดทริปตะวันออกกลางเที่ยวบินโดยบินไปยูเออี เป็นที่คาดหมายกันว่าประเด็นหารือสำคัญที่นั่นคือการช่วยให้ประเทศนั้นก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในผู้นำด้านเอไอระดับโลก ซึ่งจะมีการซื้อสินค้าไอทีอเมริกันมูลค่ามหาศาล
ในวันพฤหัสฯ ขณะไปกล่าวปราศรัยกับกองทหารอเมริกันที่ อัล อูเดอิด ซึ่งตั้งอยู่กลางทะเลทราย ห่างจากกรุงโดฮา เมืองหลวงของกาตาร์ราว 65 กิโลเมตร ทรัมป์บอกว่า ฐานทัพแห่งนี้ซึ่งสหรัฐฯเคยใช้เป็นฐานสำคัญระหว่างทำสงครามอิรัก สงครามอัฟกานิสถาน รวมทั้งการโจมตีกลุ่มกบฎฮูตีในเยเมนเวลานี้ จะได้รับการปรับปรุงยกระดับโดยที่กาตาร์จะออกเงินดังกล่าวในระยะเวลาหลายๆ ปีต่อจากนี้
นอกจากนั้น ทรัมป์ยังบอกว่า ในการทำข้อตกลงหลายฉบับเมื่อวันพุธ (14) กาตาร์ได้ลงนามซื้อหาอาวุธจากสหรัฐฯเป็นมูลค่า 42,000 ล้านดอลลาร์อีกด้วย
ในวันพุธเช่นกัน บริษัทโบอิ้งของสหรัฐฯยังได้สัญญาล็อตใหญ่ เมื่อ กาตาร์ แอร์เวยส์ สายการบินแห่งชาติของกาตาร์ สั่งซื้อเครื่องบินลำตัวกว้างจำนวน 160 ลำ พร้อมกับมีอ็อปชั่นซื้อเพิ่มอีก 50 ลำ โดยที่ทำเนียบขาวเปิดเผยว่าเครื่องบินที่ฝ่ายกาตาร์สั่งซื้อนี้คือ โบอิ้ง 777X และ 787 และเลือกใช้เครื่องยนต์ของ จีอี แอร์โรสเปซ ซึ่งเป็นบริษัทอเมริกันเช่นกัน รวมทั้งหมดแล้วมีมูลค่าราว 96,000 ล้านดอลลาร์
ระหว่างการเยือนภูมิภาคนี้เป็นเวลา 4 วันเริ่มตั้งแต่วันอังคาร (13) ทรัมป์ ประกาศอ้างว่าสามารถบรรลุข้อตกลงขายอาวุธและดีลธุรกิจรวมเป็นมูลค่าเมหาศาล โดยนอกจากดีลกาตาร์ซื้อเครื่องบินโบอิ้ง 210 ลำแล้ว ระหว่างที่ทรัมป์เยือนซาอุดีอาระเบียในวันอังคาร ประเทศนั้นได้ประกาศให้คำมั่นลงทุนในอเมริกามูลค่า 600,000 ล้านดอลลาร์ รวมทั้งยังจะซื้ออาวุธสหรัฐฯอีกราว 142,000 ล้านดอลลาร์
ผู้นำสหรัฐฯ ยกย่องพวกประเทศอาหรับในอ่าวเปอร์เซีย เช่น ซาอุดีอาระเบียเป็นโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจในตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง ขณะเดียวกัน ทรัมป์ยังพยายามหว่านล้อมให้อิหร่านยอมตกลงจำกัดโครงการนิวเคลียร์
ในการเยือนตะวันออกกลางครั้งนี้ ประมุขทำเนียบขาวจากพรรครีพับลิกันยังโชว์ผลงานด้านการทูต ด้วยการประกาศสุดเซอร์ไพรส์ยกเลิกมาตรการแซงก์ชันซีเรียที่บังคับใช้มายาวนาน ตามคำขอของมกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ของซาอุดีอาระเบีย รวมทั้งในวันพุธยังพบหารือกับ อาเหม็ด อัล-ชารา ประธานาธิบดีชั่วคราวของซีเรีย ที่กรุงริยาด ทั้งนี้ อัล-ซารา เป็นผู้นำกลุ่มกบฏซีเรียซึ่งเคยอยู่ในเครือข่ายอัลกออิดะห์มาก่อน
หลังจากกาตาร์แล้ว ทรัมป์บินต่อไปยังกรุงอาบู ดาบี ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางสุดท้ายของการเยือนตะวันออกกลางครั้งนี้ เพื่อพบกับประธานาธิบดีชัยค์ โมฮัมเหม็ด บิน ซาเยด อัล นาห์ยาน ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) และผู้นำคนอื่นๆ ซึ่งคาดว่า ประเด็นหารือสำคัญจะเป็นเรื่องเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ)
รอยเตอร์รายงานในวันพุธ (14 พ.ค.) ว่า อาบู ดาบี หวังว่า อเมริกาจะให้ความช่วยเหลือเพื่อให้ยูเออีก้าวขึ้นเป็นผู้นำเอไอระดับโลก โดยมีรายงานว่าวอชิงตันบรรบุข้อตกลงเบื้องต้นอนุญาตให้ยูเออีนำเข้าชิปเอไอขั้นสูงสุดของบริษัทอินวิเดียปีละ 5,000 ชุด เริ่มต้นจากปีนี้
ก่อนหน้านี้ ในสมัยคณะบริหารของอดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้บังคับใช้มาตรการควบคุมการส่งออกชิปเอไอของอเมริกาให้ตะวันออกกลางและภูมิภาคอื่นๆ เนื่องจากกังวลว่า ชิปเหล่านั้นจะถูกส่งต่อไปยังปักกิ่งและทำให้กองทัพจีนมีแสนยานุภาพเข้มแข็งยิ่งขึ้น
ทว่า ปัจจุบัน ทรัมป์กำลังปรับปรุงความสัมพันธ์กับบางประเทศในแถบอ่าวเปอร์เซีย ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของคณะบริหารชุดนี้ และหากข้อเสนอเกี่ยวกับชิปของประเทศเหล่านี้ทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเสนอของยูเออี บรรลุผล ตะวันออกกลางอาจกลายเป็นฮับเอไอที่มีศักยภาพการแข่งขันระดับโลกอันดับ 3 รองจากอเมริกาและจีน
(ที่มา: รอยเตอร์/เอเอฟพี/เอพี)