xs
xsm
sm
md
lg

แพทยสภาส่งมติลงโทษ "3 หมอ" ปม "ทักษิณ" พักชั้น 14 ให้ รมว.สธ.แล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ผศ.นพ.ต่อพล วัฒนา ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา พร้อมด้วยทีมกฎหมายของแพทยสภา เดินทางนำส่งมติแพทยสภาให้ลงโทษแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการรักษานายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ จำนวน 3 คน โดยตักเตือน 1 คน ในกรณีประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ไม่ได้มาตรฐาน และพักใช้ใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม 2 คน เพื่อยื่นให้กับ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะสภานายกพิเศษแพทยสภา โดยมีนายกองตรี ดร.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้รับมอบ

ด้าน ผศ.นพ.ต่อพล ยืนยันว่า ทางแพทยสภาส่งมติดังกล่าวให้กับสภานายกพิเศษฯ เท่านั้น ยังไม่ได้มีการส่งมติดังกล่าวให้กับแพทย์ที่ถูกตัดสินลงโทษแต่อย่างใด เพราะถือว่ากระบวนการยังไม่สิ้นสุด ดังนั้น การที่มีแพทย์ที่เข้าใจว่าตัวเองถูกตัดสินแล้วมาร้องเรียนนั้น ตนไม่ทราบว่าแพทย์เหล่านั้นทราบมติของแพทยสภาจากที่ใด

เมื่อถามว่าหนักใจหรือไม่ที่มีทั้งผู้ที่มาร้องขอความเป็นธรรมและม็อบมาคัดค้านไม่ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แทรกแซงเรื่องนี้ รวมถึงกรณีมีกระแสว่าทางแพทยสภากำลังรวบรวมเสียงให้ได้ 2 ใน 3 เพื่อรองรับกรณีหากถูกวีโต้นั้น ตนก็ไม่ทราบ

นายกองตรี ดร.ธนกฤต กล่าวว่า หลังการรับมอบมติในวันนี้แล้วจะมีการลงเลขรับหนังสือ พร้อมส่งให้นายสมศักดิ์ สภานายกพิเศษ พิจารณาเรื่องนี้ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2568 เป็นต้นไป จากการพูดคุยกับนายสมศักดิ์ จะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อช่วยกันดูมติ รวมถึงเอกสารประกอบจากแพทยสภา จำนวนหลัก 1 พันหน้า รวมถึงกรณีที่มีแพทย์ที่เข้าใจว่าตนเองเป็นผู้ที่ถูกแพทยสภาสั่งลงโทษและมาร้องขอความเป็นธรรมเมื่อ 1 - 2 วัน คือ พล.ต.ท.โสภณรัชต์ สิงหจารุ อดีตนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.ท.ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ ซึ่งเบื้องต้น ได้เปิดเอกสารที่นำมายื่นขอความเป็นธรรมคร่าวๆ แล้ว

ในส่วนของ พล.ต.ท.ทวีศิลป์ นั้นมี 1 ข้อ แต่เอกสารเยอะ ส่วน พล.ต.ท.โสภณรัชต์ มี 8 ประเด็น แต่เอกสารมีไม่มาก แต่ทั้งหมดก็ต้องนำมาพิจารณาประกอบกัน อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ รมว.สาธารณสุข ยังไม่ได้มีการแต่งตั้งทีมอย่างเป็นทางการ เพียงแต่พูดไว้ว่าจะตั้ง

ทั้งนี้ ในส่วนของกฎหมายไม่ได้กำหนดว่า สภานายกพิเศษสามารถขอยืดเวลาในการพิจารณาได้ ถ้าครบ 15 วันตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว ก็ต้องส่งให้แพทยสภา ว่าจะยืนยันตามมติแพทยสภาหรือจะวีโต้ในประเด็นใด และหากไม่ส่งกลับใน 15 วัน ก็ถือว่าเป็นการยอมรับมติดังกล่า

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ตามปกติคณะกรรมการแพทยสภา จะมีการประชุมประจำเดือนทุกวันพฤหัสบดีที่ 2 ของเดือน