ความขัดแย้งเมื่อไม่นานมานี้ระหว่างอินเดียกับปากีสถาน กระตุ้นให้มีการประเมินใหม่ เกี่ยวกับแสนยานุภาพอาวุธยุทโธปกรณ์ของจีน ขณะที่ความสำเร็จของอาวุธจีนในสงครามระหว่างปากีสถานกับอินเดีย กำลังท้าทายความเหนือกว่าที่มีมาอย่างช้านานของตะวันตก ในด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ และโหมกระพือความกังวลแก่ดินแดนต่างๆ ที่มีปัญหากับปักกิ่ง โดยเฉพาะไต้หวัน
ปากีสถาน อวดอ้างว่าพวกเขาใช้เครื่องบินรบ J-10C ของจีน สอยร่วงเครื่องบินขับไล่ของอินเดีย 5 ลำ ในนั้นรวมถึงเครื่องบินรบล้ำสมัย "ราฟาล" ที่ผลิตโดยฝรั่งเศส ในสัปดาห์ที่แล้ว ตอบโต้ปฏิบัติการโจมตีทางทหารของอินเดีย แม้รายงานข่าวนี้ยังไม่เป็นที่ยืนยันและทางอินเดียไม่แสดงความคิดเห็นใดๆ แต่ผู้ผลิตสัญชาติจีนได้เห็นมูลค่าการตลาดของบริษัท พุ่งขึ้นถึง 55,000 ล้านหยวน(2.5 แสนล้านบาท) หรือมากกว่า 1 ใน 4 มในช่วงปลายสัปดาห์
หู ซีจิ้น อดีตบรรณาธิการของโกลบอล ไทม์ส์ หนังสือพิมพ์แท็บลอยด์แห่งชาติจีน เตือนบนสื่อสังคมออนไลน์ว่าถ้าความสำเร็จในปฏิบัติการโจมตีของปากีสถานนั้นเป็นเรื่องจริง ไต้หวันควรรู้สึก "หวาดผวามากกว่าเดิม" ทั้งนี้ปักกิ่งมองเกาะปกครองตนเองตามระบอบประชาธิปไตยแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของดินแดน และสงวนไว้ซึ่งสิทธิในการใช้กำลังทหารในการดึงเข้าไปอยู่ภายใต้การควบคุม
ชู เซียว-หวง นักวิจัย ณ สถาบันวิจัยกลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยที่ได้รับเงินทุนจากกองทัพ ตั้งอยู่ในกรุงเทเป แสดงความคิดเห็นว่า "เราอาจจำเป็นต้องประเมินใหม่แสนยานุภาพในการสู้รบทางอากาศของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน ที่อาจใกล้เคียงหรือกระทั่งก้าวผ่าน ระดับแสนยานุภาพทางอากาศของสหรัฐฯที่มีอยู่ในเอเชียตะวันออก" พร้อมระบุว่าวอชิงตันเองก็อาจจำเป็นต้องทบทวนขายระบบอาวุธที่ล้ำสมัยกว่าเดิมให้ไต้หวัน
แม้ สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน พยายามปรับปรุงกองทัพที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกในแง่ของกำลังพลประจำการ ให้มีความทันสมัยมากขึ้น แต่ที่ผ่านมา กองทัพปลดแอกประชาชนจีนมักมีเรื่องอื้อฉาวต่างๆนานา ซึ่งก่อคำถามเกี่ยวกับความพร้อมในการสู้รบของกองกำลังจรวด ขุมกำลังลับอันทรงอานุภาพของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน ที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับขีปนาวุธทั่วไปและเชื่อว่าจะมีบทบาทสำคัญในกรณีที่มีการรุกรานไต้หวันใดๆ
อย่างไรก็ตามรายงานความสำเร็จของ J-10C ที่แทบไม่เคยผ่านการทดสอบในสนามรบและเคยถูกใช้ลาดตระเวนไต้หวัน ดูเหมือนเป็นการตอบโต้ข้อสงสัยต่างๆนานาเหล่านั้น แต่กระนั้นมันยังไม่แน่ชัดว่า ผลลัพธ์จะออกมาอย่างไร หาก J-10C ต้องเจอกับเครื่องบินขับไล่ทั้งหลายของสหรัฐฯ อย่างเช่น F-16 ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ในฝูงบินรบของไต้หวัน และผ่านบทพิสูจน์ในสังเวียนสู้รบมามากมายหลายทศวรรษ
นอกจากเครื่องบิน J-10C แล้ว ยังมีอาวุธจีนอีกชนิดที่จะถูกพินิจพิเคราะห์อย่างเข้มข้นจากบรรดาอริศัตรูของปักกิ่ง จากความสำเร็จของปากีสถาน โดยเฉพาะขีปนาวุธ PL-15 หลังจากมีการพบเศษซากชิ้นส่วนของขีปนาวุธรุ่นนี้ในอินเดีย ตามหลังมีรายงานข่าวว่าเครื่องบิน J-10C ใช้ขีปนาวุธ PL-15 สอยร่วงเครื่องบินรบของอินเดีย
ด้วยความเร็วสูงสุดมากกว่า 5 มัค หรือ 5 เท่าของความเร็วเสียง ขีปนาวุธ PL-15 จึงกลายมาเป็นคู่ปรับตัวฉกาจของขีปนาวุธยิงจากอากาศสู่อากาศของตะวันตก
จีน คือผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่ที่สุดอันดับ 4 ของโลก แต่ลูกค้าของพวกเขาส่วนใหญ่ได้แก่บรรดาชาติกำลังพัฒนา อย่างเช่นปากีสถาน ซึ่งมีเงินทุนอย่างจำกัด อย่างไรก็ตามสถานการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นอาจเป็นตัวกระตุ้นยอดขายของปักกิ่ง ในขณะที่บรรดาชาติเศรษฐกิจหลักทั้งจากยุโรปไปจนถึงเอเชีย กำลังเดินหน้าเพิ่มการใช้จ่ายด้านกลาโหม
(ที่มา:เจแปนไทม์ส)