xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์ทนายความฯ แถลงวาระครบรอบ 1 ปี การเสียชีวิตของ“บุ้ง เนติพร”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


แถลงการณ์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในวาระครบรอบ 1 ปี การเสียชีวิตของ “บุ้ง เนติพร”

“บุ้ง” เนติพร ผู้ต้องขังคดีทางการเมืองที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อ 2 ข้อเรียกร้องสำคัญ คือ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และต้องไม่มีใครติดคุกเพราะเห็นต่างทางการเมืองอีก โดยการอดอาหารประท้วง และเสียชีวิตในระหว่างการถูกควบคุมตัวอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 โดยคดีอยู่ในระหว่างนัดไต่สวนการตาย เพื่อสืบทราบสาเหตุการเสียชีวิตซึ่งจะมีขี้นในวันที่ 20 และ 21 สิงหาคม 2568 ที่ศาลจังหวัดธัญบุรี

ภายหลังจากเสียชีวิตของ “บุ้ง” ยังคงมีผู้ถูกคุมขังในเรือนจำจากการแสดงออกทางการเมือง หรือมีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับการเมือง จำนวนอย่างน้อย 48 คน (เป็นคดีมาตรา 112 จำนวน 31 คน) แยกเป็นผู้ต้องขังที่ไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดี อย่างน้อย 28 คน (เป็นคดีตามมาตรา 112 จำนวน 19 คน) เยาวชน 1 คน ถูกคุมขังในสถานพินิจฯ ตามคำพิพากษาของศาลเยาวชน และผู้ต้องขังที่คดีถึงที่สุดแล้วถูกคุมขังในเรือนจำ อย่างน้อย 18 คน (เป็นคดีตามมาตรา 112 จำนวน 11 คน)

ในวาระครบรอบ 1 ปี การเสียชีวิตของ “บุ้ง“ เนติพร ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนในฐานะที่เป็นองค์กรให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ “บุ้ง” เนติพร และผู้ต้องขังคดีทางการเมืองที่ถูกคุมขังอยู่ จึงจะยื่นคำร้องประกันตัวผู้ต้องขังที่ไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดีและประสงค์จะประกันตัว เป็นจำนวนรวม 12 ราย แบ่งเป็นคดีมาตรา 112 จำนวน 5 ราย และคดีอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง 7 ราย

การยื่นประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมืองในครั้งนี้ เพื่อเป็นการรำลึกถึงการต่อสู้ของ “บุ้ง” เนติพร ที่ยืนหยัดต่อสู้เรียกร้องสิทธิประกันตัวจนลมหายใจสุดท้าย

และเพื่อยืนยันหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ ก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดกระทำความผิดจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 29 วรรคสอง ตลอดจนตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) ซึ่งประเทศไทยได้มีการภาคยานุวัติร่วมเป็นภาคี ที่ต้องปฏิบัติตามกติกาดังกล่าว ในข้อ 14(1) กล่าวว่า “บุคคลทุกคนซึ่งต้องหาว่ากระทำผิดอาญาต้องมีสิทธิได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่ามีความผิด” และในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 11(1) ที่ว่า “ทุกคนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดทางอาญามีสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามีความผิดตามกฎหมายในการพิจารณาคดีที่เปิดเผยซึ่งตนได้รับหลักประกันที่จำเป็นทั้งปวงสำหรับการต่อสู้คดี”

และเพื่อยืนยันหลักการที่เรียกร้องให้ศาลที่พิจารณาให้ประกันตัวผู้ต้องขังคดีการเมืองยึดหลักนิติรัฐและความยุติธรรม ตามเจตนารมณ์ของ “บุ้ง” เนติพร ต่อไป