xs
xsm
sm
md
lg

อดีตขุนคลังเผยประเทศชาติได้อะไรจาก G-token

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า ประเทศชาติได้อะไรจาก G-token

[เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2568 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติวิธีการกู้เงินโดยการออกโทเคนดิจิทัลของรัฐบาล (Government Token: G-Token) ตามมาตรา 10 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548

อนุมัติให้กระทรวงการคลังออกโทเคนดิจิทัลโดยวงเงินกู้ตามกรอบการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณด้วยวิธีการเสนอขายให้แก่ผู้มีสิทธิซื้อโดยตรงผ่านผู้ที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ได้แก่ ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือนิติบุคคลอื่นที่สามารถรับคำสั่งซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลได้ ซึ่งมีหน้าที่ดำเนินการด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำและการออกโทเคนดิจิทัล นายทะเบียน หรือผู้รับฝากโทเคนดิจิทัล เป็นต้น

ให้กระทรวงการคลังกำหนดหลักเกณฑ์การชำระระดอกเบี้ยและการใช้เงินตามโทเคนดิจิทัล โดยให้กระทรวงการคลังหรือนิติบุคคลอื่นใดที่กระทรวงการคลังมอบหมาย โอนเงินให้แก่ผู้ถือโทเคน ดิจิทัลหรือผู้รับตามที่นายทะเบียนกำหนด

ให้การโอนโทเคนดิจิทัลดำเนินการตามวิธีการที่ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือนิติบุคคลอื่นใดที่สามารถรับคำสั่งซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลได้ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผู้โอนได้เปิดบัญชีเก็บรักษาโทเคนดิจิทัลของตนไว้โดยให้มีผลสมบูรณ์เมื่อผู้โอนนั้นได้บันทึกการรับโอนโทเคนดิจิทัลเข้าไปในบัญชีของผู้รับโอนแล้ว

เพื่อนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการพัฒนากลไกการบริหารหนี้สาธารณะให้มีประสิทธิภาพและภาครัฐสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่หลากหลายมากขึ้น ตลอดจนเป็นการส่งเสริมการออมของภาคประชาชน อันสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัล พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่มีคุณภาพ มั่นคง ปลอดภัย ครอบคลุมเพียงพอ และเข้าถึงได้ทั้งในด้านพื้นที่และราคา เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำนักงบประมาณ และธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นชอบ/ไม่ขัดข้อง

สำนักงาน ก.ล.ต. เห็นว่า หาก กค. พิจารณาได้ว่าการกู้เงินโดยวิธีการออก G-Token ไม่ใช่การออกตราสารหนี้ ซึ่งไม่เป็น “หลักทรัพย์” ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 แล้ว ก็สามารถดำเนินการภายใต้พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 โดย G-Token มีการกำหนดสิทธิให้ผู้ถือมีสิทธิได้รับชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยตามเงื่อนไขที่ กค. กำหนด จึงมีลักษณะเป็นหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดสิทธิของผู้ถือในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือ กิจการใด ๆ หรือกำหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการหรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง และเข้าข่ายเป็นโทเคนดิจิทัล ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561]

**ถามว่า ประเทศชาติได้อะไรจาก G-token?

+เรื่อง การนำประเทศสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

การนำประเทศสู่เศรษฐกิจดิจิทัลให้สำเร็จนั้น มีเรื่องที่ต้องดำเนินการด้านโครงสร้างพื้นฐานก่อนหลายอย่าง (ดูรูป) กล่าวคือ

(1) ต้องช่วยให้ประชากรเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ตอย่างกว้างขวาง
(2) ต้องให้ความรู้ทั้งในระบบโรงเรียนและในกลุ่มประชาคม
(3) ต้องพัฒนาธุรกิจการเงินแบบดิจิทัลให้กว้างขวางมากขึ้น
(4) ต้องกระตุ้นคนรุ่นหนุ่มสาวให้ลองทำธุรกิจขนาดย่อมด้านดิจิทัลให้มากขึ้น และ
(5) รัฐต้องให้บริการทางออนไลน์มากขึ้นรวมทั้งใช้บล็อกเชนในการบริหารราชการให้โปร่งใส

หน้าที่ของฝ่ายรัฐบาล คือพัฒนาให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ รวมไปถึงความแน่นอนด้านกฎหมายที่จะตีความกรณีเกิดข้อพิพาทเกี่ยวข้องกับโทเคน และการนำโทเคนไปใช้เป็นหลักประกัน

ส่วนการดำเนินการให้โทเคนเกิดขึ้นในหลักทรัพย์ต่างๆ (tokenization) อย่างหลากหลาย เพื่อนำไปสู่ตลาดทุนดิจิทัลนั้น จะต้องมีโครงสร้างพื้นฐานครบถ้วนเสียก่อน ทั้ง stable coin สกุลบาท ทั้ง smart contract ทั้งระบบเคลียริ่งที่ปลอดภัย โดยภายหลังจากมีโครงสร้างพื้นฐานแน่นหนาแล้ว ก็จะเป็นหน้าที่ของเอกชนเป็นผู้ดำเนินการ

สำหรับรัฐบาลเองไม่ควรมีหน้าที่ไปออกโทเคนของตนเอง ดังเห็นได้ว่าปัจจุบันนี้ยังไม่มีประเทศใดที่ระบบการเงินล้ำหน้า ที่รัฐบาลเป็นผู้ออกโทเคนของตนเองในการกู้หนี้สาธารณะ

+เรื่อง การทำให้ผู้ลงทุนรายย่อยซื้อพันธบัตรได้สะดวก

วิธีการในการเปิดให้ผู้ลงทุนรายย่อยเข้ามาลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลนั้นมีอยู่แล้วในปัจจุบัน ด้วยกลไกผ่านกองทุนรวมที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล

ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงต้องชี้แจงให้ชัดเจนก่อนว่า G-Token จะเพิ่มความสะดวกอย่างใดแก่ผู้ลงทุน โดยเฉพาะในเรื่องการขายคืน ซึ่งราคาในกองทุนรวมจะเป็นไปตามกติกาโดยมี ก.ล.ต. กำกับดูแล แต่กรณี G-Token ผู้ลงทุนจะต้องไปขายในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลซึ่งราคาอาจจะผันผวนไปแต่ละชั่วโมงตามแรงเก็งกำไรได้

แทนที่จะเป็นการชักจูงให้ผู้ลงทุนรายย่อย ลงทุนเพื่อออมเงินอย่างปลอดภัย ระวังจะกลับกลายเป็นเวทีเก็งกำไร ระวังจะกลายเป็นกาสิโนโทเคนดิจิทัล

+เรื่อง ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548

ถึงแม้มาตรา 10 วรรคหนึ่งเปิดช่อง ให้กู้เงินตามพระราชบัญญัตินี้จะทำเป็นวิธีการอื่นใดก็ได้ตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ แต่ข้อความก่อนหน้าซึ่งบัญญัติว่า “การกู้เงินตามพระราชบัญญัตินี้จะทำเป็นสัญญาหรือออกตราสารหนี้หรือวิธีการอื่นใดก็ได้” นั้น คำว่า “วิธีการอื่นใด” น่าจะอยู่ในความหมายเดียวกับสัญญาหรือตราสารหนี้

ดังที่รายงานคณะรัฐมนตรีไว้ว่า “ปัจจุบัน การกู้เงินตามพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 จะทำเป็นสัญญาหรือออกตราสารหนี้ เช่น พันธบัตร ตั๋วเงินคลัง หรือหุ้นกู้”

การที่ กค. พิจารณาได้ว่าการกู้เงินโดยวิธีการออก G-Token ไม่ใช่การออกตราสารหนี้ เพื่อไม่เป็นให้เป็น “หลักทรัพย์” ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 นั้น ผมเห็นว่าขัดกับเจตนารมย์ของพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548

ทั้งนี้ โทเคนดิจิทัลซึ่งตามนิยามในมาตรา 3 แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 กำหนดเป็นหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดสิทธิของผู้ถือในการได้มาซึ่งสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง นั้น คำว่า token แปลว่า สัญลักษณ์ ดังเช่น non-fungible token (NFT) หมายถึงสัญลักษณ์ที่ไม่สามารถแทนกันได้ ตัวอย่างที่ใช้กรณีงานศิลปะ

ดังนั้น G-Token จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนสัญญาหรือตราสารหนี้ที่ผูกพันกระทรวงการคลัง ตัว G-Token เองจึงไม่ใช่สัญญาหรือตราสารหนี้ที่ผูกพันกระทรวงการคลัง

ผมจึงเห็นว่า ในเมื่อเป็นเพียงสัญลักษณ์แทน แต่ไม่ใช่สัญญาหรือตราสารหนี้ที่ผูกพันกระทรวงการคลัง จึงไม่เข้าข่ายนิยามใดในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548

และจะนำไปสู่ปัญหาข้อพิพาททางกฎหมายเกิดขึ้นได้ในภายหลัง

+เรื่อง การปฏิบัติตามกฏหมายเงินตรา

ยังมีจำเป็นจะต้องมีเงื่อนไขบังคับ เพื่อไม่ให้ผู้ถือ G-Token นำไปใช้เพื่อชำระหนี้ตามกฎหมายแก่บุคคลอื่น เพราะจะเข้าข่ายเป็นเงินตราอย่างหนึ่งซึ่งจะต้องขออนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยก่อน

กระทรวงการคลังต้องชี้แจงก่อนว่า จะมีมาตรการป้องกันไม่ให้ผู้ถือ G-Token นำไปใช้เพื่อชำระหนี้ตามกฎหมายแก่บุคคลอื่นได้อย่างไร

+เรื่อง การประหยัดค่าใช้จ่าย

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง กล่าวว่าการออก G-Token จะช่วยลดต้นทุนการดำเนินการ จากเดิมที่ออกพันธบัตรมีค่าธรรมเนียมดำเนินการจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) 0.03% ของกรอบวงเงินจำหน่ายนั้น

กระทรวงการคลังจะต้องแจกแจงก่อนว่า G-Token จะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายจริงเท่าไหร่ ทั้งด้านกระทรวงการคลัง ซึ่งต้องรวมไปถึงค่าใช้จ่ายทำหน้าที่เป็นนายทะเบียน ว่าต่ำกว่า ธปท. อย่างไร และทั้งด้านประชาชนผู้ลงทุนที่จะซื้อและขายคืน จะสูงหรือต่ำกว่ากลไกกองทุนรวมอย่างใด

ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่าเงินที่กระทรวงการคลังจ่ายแก่ ธปท. นั้นไม่รั่วไหลไปไหน เพราะ ธปท. เป็นองค์กรของรัฐ

**กล่าวโดยสรุป

ระบบการขายพันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้ของรัฐบาลที่มีอยู่แล้วขณะนี้โดยผ่านกลไก ธปท. นั้น ใช้งานได้ดีไม่เคยมีปัญหา

ดังนั้น การที่กระทรวงการคลังจะเพิ่มแนวการกู้หนี้สาธารณะโดยใช้โทเคนดิจิทัลนั้น จะต้องชั่งน้ำหนักแสดงแก่ประชาชนก่อนว่า ผลได้คุ้มกับผลเสียหรือไม่

ส่วนความหวังที่จะนำไปสู่ตลาดทุนดิจิทัลนั้น ควรนำเสนอต่อประชาชนก่อนว่า รัฐบาลมีแผนการพัฒนาองค์รวมด้านนี้เป็นอย่างไร

ไม่ใช่เดินหน้าเพียงเสี้ยวเดียวในเรื่องของการจัดทำโทเคนของรัฐบาล ซึ่งจนถึงบัดนี้ก็ยังไม่มีรัฐบาลอื่นใดในโลกที่ดำเนินการ

วันที่ 14 พฤษภาคม 2568

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล
รองหัวหน้าพรรคฝ่ายเศรษฐกิจ พรรคพลังประชารัฐ
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง