(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)
China’s jets and missiles make Pakistan a winner over India
by Gabriel Honrada
12/05/2025
การที่ปากีสถานสามารถสอยเครื่องบินขับไล่อินเดียร่วงหลายลำ เป็นสัญญาณแสดงถึงการปรับเปลี่ยนในดุลอำนาจทางอากาศในเอเชียใต้ และการที่จีนก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจสงครามเวหารายหนึ่งของโลก
การสู้รบกันทางอากาศระดับย่อมๆ เหนือท้องฟ้าแคชเมียร์เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา [1] ได้เห็นอินเดียสูญเสียเครื่องบินรบไปหลายลำ โดยมีทั้งเครื่องบินขับไล่ Rafale (ราฟาล) ผลิตในฝรั่งเศสที่ได้รับการประเมินค่าอย่างสูงจำนวนหลายลำ, Su-30 MKI และ MIG-29 ซึ่งทำในรัสเซียอย่างละลำ, และอากาศยานไร้คนขับอีก 1 ลำ --ผลลัพธ์เช่นนี้ ถ้าหากเป็นความจริง ก็จะเป็นการท้าทายพวกข้อสมมุติฐานที่ว่าอินเดียมีแสนยานุภาพทางอากาศเหนือชั้นกว่าปากีสถาน
การสู้รบย่อมๆ เหล่านี้ ยังอาจกลายเป็นรายการโชว์อวดโอ่ประสิทธิภาพเทคโนโลยีเครื่องบินขับไล่และขีปนาวุธของจีน ว่าเหนือล้ำกว่าของฝ่ายตะวันตกและของรัสเซีย ถึงแม้ว่าส่วนประกอบที่เป็นมนุษย์ของแต่ละข้างที่สู้รบกัน ก็ได้แสดงบทบาทอย่างชัดเจนในผลลัพธ์ซึ่งออกมาคราวนี้
พิจารณากัน ณ ระดับยุทธวิธี (tactical level) ความเหนือกว่าของปากีสถานในเรื่องขีปนาวุธและเครื่องบินขับไล่ อาจจะเป็นปัจจัยชี้ขาดที่ทำให้พวกเขาเอาชนะอินเดียได้ จุดใหญ่สำคัญที่สุดในเรื่องเหล่านี้เลย ก็คือ ขีปนาวุธ PL-15E ผลิตในจีนซึ่งมีเทคโนโลยีสามารถยิงใส่เป้าหมายที่อยู่ในระยะไกลเกินสายตามองเห็น (beyond-visual-range หรือ BVR) โดยที่มีการกู้ซากของขีปนาวุธชนิดนี้ออกมาได้จากพื้นที่ในรัฐปัญจาบ ของประเทศอินเดีย [2] เป็นเครื่องหมายยืนยันการถูกนำออกมาใช้สู้รบจริงๆ ครั้งปฐมฤกษ์ของมัน
ตามรายงานชิ้นหนึ่ง ที่เขียนโดย จัสติน บรองค์ (Justin Bronk) แห่งราชสถาบันสหบริการ (Royal United Services Institute หรือ RUSI) [3] หน่วยงานคลังสมองด้านกลาโหมและความมั่นคงระหว่างประเทศ ซึ่งตั้งฐานอยู่ในกรุงลอนดอน ขีปนาวุธเทคโนโลยี BVR แบบ PL-15 ของจีน สามารถทำผลงานได้ดีงามเทียบเคียงได้กับขีปนาวุธ AIM-120 AMRAAM ของสหรัฐฯ และเหนือชั้นกว่า R-77 ของรัสเซีย
บรองค์ กล่าวย้ำว่า PL-15 นั้นติดตั้งด้วยเรดาร์แบบ active electronically scanned array หรือ AESA ขนาดเล็กๆ (เรดาร์รุ่นใหม่ที่ใช้เสาอากาศเรียงเป็นแถวควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ ซึ่งสามารถบังคับลำแสงคลื่นวิทยุด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ชี้ไปยังทิศทางต่างๆ ได้โดยเสาอากาศไม่เคลื่อนที่) และใช้มอเตอร์จรวด dual-pulse solid rocket motor (มอเตอร์จรวดเชื้อเพลิงแข็งแบบจุดระเบิดคู่)
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Active_electronically_scanned_array และ https://en.wikipedia.org/wiki/Pulsed_rocket_motor) เขาประมาณการว่าพิสัยทำการของ PL-15 น่าจะอยู่ที่ 200 กิโลเมตร ถึงแม้บทความชิ้นหนึ่งในหนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์เมื่อเดือนกันยายน 2021 [4] ระบุว่า เวอร์ชั่นส่งออก (ใช้ชื่อว่า PL-15E) ถูกจำกัดพิสัยทำการเอาไว้สูงสุดที่ 145 กิโลเมตร
นอกจากนั้น ดักลาส บาร์รี (Douglas Barrie) แห่งสถาบันระหว่างประเทศเพื่อยุทธศาสตร์ศึกษา (International Institute for Strategic Studies หรือ IISS) [5] หน่วยงานคลังสมองด้านกลาโหมและความมั่นคงระหว่างประเทศอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งฐานในลอนดอนเช่นกัน ได้ชี้เอาไว้ในบทความชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่ตั้งแต่เดือนกันยายน 2022 ว่า แรงขับเคลื่อนด้วยการใช้เชื้อเพลิงแข็งของ PL-15 สามารถให้อัตราเร็วที่รวดเร็วกว่าขีปนาวุธ มีทีเออร์ (Meteor) ซึ่งติดตั้งในเครื่องบิน Rafale ของอินเดีย
อย่างไรก็ดี เขายอมรับว่า ramjet sustainer ของ มีทีเออร์ ทำให้รักษาแรงผลักดันเอาไว้ได้ตลอดเที่ยวการเดินทางของมัน จึงเป็นการเพิ่มพูนความอึดในระหว่างการเดินทาง ทั้งนี้ สมรรถนะของแพลตฟอร์มที่ทำการปล่อยขีปนาวุธนี้ออกมา สามารถเพิ่มขยายความได้เปรียบของขีปนาวุธชนิดนี้
สำหรับสมรรถนะของเครื่องบินขับไล่ J-10C ผลิตในจีนนั้น บรองค์ชี้ว่า รุ่นส่งออกที่ดัดแปลงจากรุ่นปกติ มีทั้งเรดาร์ AESA, ระบบอินฟราเรดใช้ค้นหาและติดตาม (infrared search and track หรือ IRST) อันทันสมัย, มาตรการสนับสนุนทางอิเล็กทรอนิกส์ (electronic support measures หรือ ESM), ระบบเตือนเมื่อตรวจพบสัญญาณที่ส่งมาจากระบบล็อคเป้าของเรดาร์ข้าศึก (radar warning receiver หรือ RWR), ชุดระบบเตือนภัยขีปนาวุธที่กำลังเข้ามาใกล้ (missile approach warning suite หรือ MAWS), และระบบดาตาลิงก์ (datalinks) ทำให้มันมีโอกาสดีกว่าเมื่อแข่งขันชิงชัยกับพวกศัตรูสมัยใหม่ ในแง่มุมของความตระหนักรับรู้สถานการณ์
บรองก์ บอกว่า J-10C สามารถแข่งขันชิงชัยกับอากาศยานฝ่ายตรงข้ามที่ไม่ใช่รุ่นเจเนอเรชั่นที่ 5 โดยที่มีลายเซ็น (signature) ทางคลื่นเรดาร์, ทางภาพที่ถูกมองเห็น และทางอินฟราเรด น้อยกว่า Su-27 รุ่นต่างๆ ของรัสเซีย เวลาเดียวกันก็สามารถประชันขันแข่งได้กับพวกเครื่องบินขับไล่เครื่องยนต์เดียวของฝ่ายตะวันตก อย่างเช่น F-16 และ Gripen เช่นกัน
เขาชี้ว่า ด้วยเรดาร์ AESA, ขีปนาวุธ PL-15 ที่มีพิสัยทำการไกลๆ, ห้องนักบินสมัยใหม่, และจอดิสเพลย์ติดตั้งเอาไว้ในหมวกครอบศีรษะ (helmet-mounted display) ทำให้ J-10C และพวกรุ่นดัดแปลงต่อๆ ไปในอนาคต อาจจะกลายเป็นภัยคุกคามระดับนำของพวกรัฐทางตะวันตก ในการแข่งขันแสนยานุภาพทางอากาศระหว่างคู่ต่อกรที่มีความใกล้เคียงกัน ในยุคทศวรรษ 2020 ก็เป็นได้
เวลาเดียวกับที่ J-10C พุ่งพรวดขึ้นไปข้างหน้าในเรื่องสมรรถนะ พวกคู่แข่งในโลกตะวันตกกลับทำท่าว่าอาจกำลังเปิดเผยให้เห็นสัญญาณของความแก่ชรา รายงานชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่ในเดือนมกราคม 2025 โดยสถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของฝรั่งเศส (French Institute of International Relations หรือ IFRI) [6] ระบุออกมาว่า การที่ Rafale ไม่มีทั้งเรื่องเทคโนโลยีหลีกเร้นเรดาร์ (radar stealth) และพวกสมรรถนะที่มุ่งกดข่มกำราบการป้องกันภัยทางอากาศของข้าศึก (suppression of enemy air defenses หรือ SEAD) คือจุดอ่อนข้อบกพร่องที่สำคัญ
รายงานนี้อ้างอิงพวกนายทหารอากาศอาวุโสของฝรั่งเศส ซึ่งพูดถึงการปฏิบัติภารกิจสู้รบกับพวกเครื่องบินขับไล่ที่มีเทคโนโลยีหลีกเร้นเรดาร์ ในระหว่างการซ้อมรบร่วมครั้งต่างๆ ว่า “ยากลำบากมากที่จะเอาชนะ” โดยใช้ชุดสัญญาณเซนเซอร์ที่มีอยู่ในปัจจุบันของ Rafale
รายงานฉบับนี้เตือนว่า ขณะที่ Rafale ยังคงสามารถใช้งานได้ในระยะสั้นไปจนถึงระยะกลาง แต่ความจำกัดต่างๆ ของมันอาจทำให้ Rafale ถูกลดความสำคัญลงจนต้องไปทำเพียงบทบาทให้การสนับสนุน ในยุทธการที่เป็นการร่วมมือกันระหว่างพันธมิตรหลายฝ่ายซึ่งมีความเข้มข้นรุนแรงสูง และถูกครอบงำโดยพวกเครื่องบินยุคเจเนอเรชั่นที่ 5
ยิ่งไปกว่านั้น ราจอร์ชี รอย (Rajorshi Roy) กล่าวอ้างเอาไว้ในบทความชิ้นหนึ่งซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนเมษายน 2023 ในวารสาร MGIMO Review of International Relations journal [7] ซึ่งเป็นวารสารทางวิชาการประเภทที่ส่งเรื่องไปให้ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงเดียวกันอ่านและวิจารณ์ให้ความเห็นก่อนตีพิมพ์เผยแพร่ (peer-reviewed) ว่า ฝูงเครื่องบินขับไล่ Su-30 MKI ของอินเดีย มีอัตราความพร้อมในระดับต่ำ นั่นคือเพียงแค่ 60% ในเวลาที่เขาเขียนบทความชิ้นนี้ สืบเนื่องจากปัญหาต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นแวดล้อมการที่ไม่สามารถหาอะไหล่จากรัสเซียสำหรับเครื่องบินแบบนี้ได้
ณ ระดับยุทธการ (operational level) ฝูงเครื่องบินระบบเตือนภัยล่วงหน้าและควบคุมทางอากาศ (airborne early warning and control หรือ AEW&C) ของปากีสถาน อาจจะเป็นตัวแสดงบทบาทตัดสินชี้ขาด ในการสอยเครื่องบินขับไล่อินเดียเหล่านี้
ตามความเห็นของ เซบาสเตียน รอบลิน (Sebastien Roblin) ในบทความที่เผยแพร่ในเดือนพฤษภาคมนี้ที่ 1945 [8] เว็บไซต์ด้านกลาโหมและประเด็นทางความมั่นคงแห่งชาติที่ตั้งฐานอยู่ในสหรัฐฯ เขาบอกว่าเครื่องบิน AEW&C ซาบ 2000 ติดตั้งระบบเรดาร์ เอริอาย (Erieye-equipped Saab 2000 airborne early warning and control aircraft) ของปากีสถาน มีศักยภาพในการตรวจจับและการติดตามเครื่องบินข้าศึกภายในพิสัยสูงสุด 450 กิโลเมตร รวมทั้งพวกอากาศยานที่กำลังบินอยู่ในระดับต่ำๆ เพื่อพยายามหลบหลีกเรดาร์
รอบลิน ชี้ว่าแพลตฟอร์มในระบบของปากีสถานเหล่านี้ สามารถร่วมมือประสานงานกับพวกเครื่องบินขับไล่เพื่อนมิตรซึ่งกำลังปฏิบัติการโดยปิดเรดาร์ของพวกเขา ซึ่งเป็นการเพิ่มพูนความสามารถในการหลีกเร้นเรดาร์และเพิ่มพูนโอกาสในการอยู่รอด เขากล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ขีปนาวุธ PL-15 ของจีน ซึ่งมีรายงานว่าปากีสถานนำไปใช้ในการสู้รบขนาดย่อมๆ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ถูกออกแบบมาให้สามารถรับคำแนะนำกลางทางผ่านดาต้าลิงก์จากระบบ AEW&C หลายแพลตฟอร์ม เป็นต้นว่า ซาบ 2000 จึงเปิดทางให้มันสามารถพุ่งเข้าใส่เป้าหมายต่างๆ ได้โดยที่เครื่องบินขับไล่ซึ่งเป็นคนยิงมันออกมา ไม่จำเป็นต้องเพิ่มการสั่งการแจกแจงให้มันเลย
รอบลินอธิบายว่าวิธีการแบบปฏิบัติการกันเป็นเครือข่ายเช่นนี้ เป็นการปิดประตูไม่ให้ระบบเตือนภัยล่วงหน้าของเครื่องบินซึ่งตกเป็นเป้าหมายทำงาน จวบจนกระทั่งเมื่อขีปนาวุธ PL-15 เปิดโหมดค้นหาของเรดาร์ AESA ที่ติดตั้งอยู่บนตัวมัน เพื่อขอคำแนะนำสำหรับช่วงท้ายของภารกิจ
ตรงกันข้ามกับฝ่ายปากีสถาน สวาอิม ซิงห์ (Swaim Singh) อ้างอิงเอาไว้ในบทความชิ้นหนึ่งที่เขียนให้ ศูนย์เพื่อแสนยานุภาพทางอากาศศึกษา (Center for Air Power Studies หรือ CAPS) หน่วยงานวิจัยและวิเคราะห์ด้านกลาโหม ความมั่นคงแห่งชาติ และการบิน ของอินเดีย ออกเผยแพร่ในเดือนสิงหาคม 2022 [9] ว่า อินเดียกำลังล้าหลังในเรื่องความสามารถทางด้านระบบเตือนภัยล่วงหน้าและควบคุมทางอากาศ เพื่อตรวจตราเฝ้าระวังน่านฟ้าที่มีพื้นที่กว้างขวางใหญ่โตมากของตน โดยที่มีเพียงหน่วยเครื่องบิน AEW&C แบบ A-50EI เพียงแค่ 3 หน่วย และเครื่องบินระบบ AEW&C เนตร เอ็มเค 1 (Netra Mk 1) ที่พัฒนาขึ้นเองภายในประเทาศอีก 3 หน่วย
ความบกพร่องไม่เพียงพอในทางยุทธการเหล่านี้ ยังส่งผลตอเนื่องไปถึงภาพรวมทางยุทธศาสตร์ในวงกว้างอีกด้วย ทั้งนี้ ชัยชนะทางอากาศของปากีสถานที่มีเหนืออินเดีย สามารถที่จะกลายเป็นการโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งที่สุดเท่าที่เคยมีมาของจีน ในการเพิ่มยอดขายเครื่องบินขับไล่ของตนอีกด้วย
ขณะที่ สถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศแห่งสต็อกโฮม (Stockholm International Peace Research Institute หรือ SIPRI) [10] ระบุอ้างอิงว่า จีนเป็นประเทศที่ทำขายขายอาวุธได้มากที่สุดในอันดับ 4 ของโลกในปี 2024 ทว่าในเรื่องเครื่องบินขับไล่แล้ว แดนมังกรประสบความยากลำบากทีเดียวในการเสนอขายให้ประเทศอื่นๆ โดยที่ในปัจจุบันมีลูกค้าจำกัดอยู่เฉพาะพวกรัฐอย่างเช่น ปากีสถาน, บังกลาเทศ, แซมเบีย, ซูดาน, และเกาหลีเหนือ เท่านั้น
อย่างไรก็ดี ผลงานของปากีสถานในศึกเวหาขนาดย่อมๆ กับอินเดียคราวนี้ อาจกลายเป็นซูเปอร์ชาร์จเพิ่มยอดขายเครื่องบินขับไล่จีนในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยที่ อียิปต์, อิหร่าน, และซาอุดีอาระเบีย คือประเทศที่มีศักยภาพจะเป็นผู้ซื้อ ทั้งนี้ตามความเห็นของ พอล อิดดอน (Paul Iddon) ในข้อเขียนชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์นิตยสาร ฟอร์บส์ (Forbes) [11]
ด้วยการขายดังที่ว่ามานี้ ยังอาจทำให้จีนสามารถผลักดัน “การทูตเครื่องบินขับไล่” ต่อไปอีก โดยอาศัยการที่เครื่องบินขับไล่ย่อมมีข้อเรียกร้องที่ขยายต่อเนื่องออกไปเรื่อยๆ ทั้งทางเทคนิค, การซ่อมบำรุง, และการฝึก มาบ่มเพาะความผูกพันทางยุทธศาสตร์ระหว่างจีนกับบรรดาลูกค้าของพวกเขาให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็ให้เรื่องนี้กลายเป็นคานดีดที่ช่วยเพิ่มพูนอิทธิพลของปักกิ่งได้อย่างรวดเร็ว
ในอีกด้านหนึ่ง อินเดีย กับ ปากีสถาน อาจจะได้เรียนรู้บทเรียนทางยุทธศาสตร์ของเหตุการณ์การโจมตีทางอากาศเมืองบาลาคอตปี 2019 (2019 Balakot airstrikes) มาหมาดๆ และอาศัยมาเป็นตัวชี้นำการตอบสนองของพวกเขาในเหตุการณ์ปะทะครั้งล่าสุดเหนือน่านฟ้าแคชเมียร์ครั้งนี้
มูฮัมหมัด ไฟซาล (Muhammad Faisal) และ ฮูมา เรห์มาน (Huma Rehman) อ้างอิงเอาไว้ในบทความเผยแพร่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2024 ทาง เซาท์ เอเชียน วอยซ์ (South Asian Voices หรือ SAV) [12] สิ่งตีพิมพ์ของศูนย์ สติมสัน เซนเตอร์ (Stimson Center) หน่วยงานคลังสมองที่เน้นหนักประเด็นเกี่ยวกับสันติภาพของโลก ซึ่งตั้งฐานอยู่ในกรุงวอชิงตัน ว่า ขีดต่ำสุดของความเสี่ยงที่ปากีสถานจะยอมรับได้ ได้ขยายต่ำลงกว่าเดิมภายหลังเหตุการณ์การโจมตีทางอากาศที่บาลาคอต ทำให้การใช้กำลังทหารกลายเป็นการตอบโต้ประการหนึ่งซึ่งเป็นที่ยอมรับกัน
ไฟซาล กับ เรห์มาน กล่าวต่อไปว่า บทเรียนก็คือ การไม่ตอบโต้ใดๆ เมื่ออธิปไตยด้านดินแดนถูกล่วงละเมิด ต้องไม่ใช่ทางเลือกที่รัฐบาลและกองทัพปากีสถานจะเลือกใช้ และการติดต่อสื่อสารทางการทูตอย่างชัดเจน ในระหว่างที่เกิดวิกฤตซึ่งมีการใช้อาวุธตามแบบแผนธรรมดาไม่ใช่อาวุธนิวเคลียร์ ตลอดจนภายหลังจากที่มีการโจมตีตอบโต้ในทำนองเดียวกันไปแล้ว จะเป็นกุญแจสำคัญที่สามารถบรรเทาลดระดับความบานปลายลงมาได้
สำหรับทัศนะมุมมองของฝ่ายอินเดียเรื่องเดียวกันนี้ ดีพันดรา ฮูดา (Deependra Hooda) อ้างอิงเอาไว้ในบทความเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ที่เผยแพร่โดยศูนย์สติมสัน เซนเตอร์ [13] ว่า เหตุการณ์โจมตีทางอากาศที่บาลาคอต คือสิ่งที่กำจัดลบเลือนแนวคิดที่เคยเชื่อกันว่า การใช้กำลังทางอากาศเป็นสิ่งที่จะทำให้ความขัดแย้งบานปลายขยายตัว พร้อมกับชี้ว่าการโจมตีที่บาลาคอตคราวนั้นเป็นสิ่งที่สาธิตให้เห็นอย่างชัดเจนว่า มีพื้นที่อยู่ภายในเขตแดนของการสู้รบขัดแย้งแบบกึ่งๆ ใช้แค่อาวุธแบบแผน ซึ่งทำให้อินเดียสามารถใช้แสนยานุภาพทางอากาศเพื่อโจมตีเป้าหมาย โดยที่ยังสามารถควบคุมไม่ให้เกิดการบานปลายขยายตัวได้
พิจารณาโดยอิงจากบทเรียนของกรณีบาลาคอต และสาวย้อนไปถึงความรู้ความเข้าใจอย่างลงลึกในเหตุการณ์อื่นๆ ทำนองเดียวกันในอดีตกว้างไกลกว่านั้น การปะทะกันระหว่างอินเดีย-ปากีสถานเหนือแคชเมียร์ครั้งล่าสุดนี้ สามารถที่จะมองว่าเป็นวิวัฒนาการของพลวัตซึ่งปรากฏชัดเจนขึ้นมาในระหว่างสงครามคาร์กิลปี 1999 (1999 Kargil War) และปรับจูนให้ชัดเจนยิ่งขึ้นอีกระหว่างเหตุการณ์โจมตีทางอากาศบาลาคอต โดยที่ประเทศทั้งสองซึ่งต่างมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองด้วยกันทั้งคู่ กำลังพบช่องทางสำหรับการปล่อยให้การปะทะกันแบบไม่ใช้นิวเคลียร์ขยายตัวยกระดับขึ้นไป โดยที่มิได้เว้าวอนให้อีกฝ่ายหนึ่งดำเนินการตอบโต้โดยใช้อาวุธนิวเคลียร์
ความสำเร็จของปากีสถาน จากการสอยเครื่องบินขับไล่ ตลอดจนโดรนอีกอย่างน้อย 1 ลำของอินเดียในเหตุการณ์ล่าสุดนี้ มันอาจจะไม่ได้เพียงแค่ปรับเปลี่ยนดุลอำนาจทางอากาศในภูมิภาคเอเชียใต้เท่านั้น แต่ยังเป็นหลักหมายแสดงให้เห็นว่า จีนก้าวขึ้นมาเป็นพลังระดับโลกที่แท้จริงพลังหนึ่งไปแล้ว ในการสงครามทางอากาศ และในการขายเครื่องบินขับไล่
เชิงอรรถ
[1] https://asiatimes.com/2025/05/india-loses-top-fighter-jet-bad-news-for-its-future-air-combat/
[2] https://x.com/clashreport/status/1920060569941422529
[3]https://static.rusi.org/russian_and_chinese_combat_air_trends_whr_final_web_version.pdf
[4] https://www.scmp.com/news/china/military/article/3150623/new-version-chinas-most-advanced-air-air-missile-pl-15-destined
[5] https://www.iiss.org/online-analysis/military-balance/2022/09/analysis-air-to-air-warfare-speed-kills
[6] https://www.ifri.org/sites/default/files/2025-01/ifri_gorremans_avenir_superiorite_aerienne_2025_0.pdf
[7] https://doi.org/10.24833/2071-8160-2023-2-89-120-141
[8] https://www.19fortyfive.com/2025/05/the-real-reason-indias-dassault-rafale-jets-lost-to-pakistans-air-force/
[9] https://capsindia.org/prioritisation-of-awacs-for-the-iaf/
[10] https://www.sipri.org/sites/default/files/2025-03/fs_2503_at_2024_0.pdf
[11] https://www.forbes.com/sites/pauliddon/2025/05/07/china-struggles-to-attract-middle-eastern-buyers-for-its-fighter-jets/
[12] https://www.ifri.org/sites/default/files/2025-01/ifri_gorremans_avenir_superiorite_aerienne_2025_0.pdf
[13] https://www.stimson.org/2022/three-years-after-balakot-reckoning-with-two-claims-of-victory/#:~:text=The%20Balakot%20airstrikes%20illustrated%20that%20strategic%20space%20exists,quickly%20escalate%20into%20the%20nuclear%20domain%20are%20unfounded.