สำหรับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แล้ว การยอมรับเครื่องบินจากกาตาร์ เพื่อจะนำมาใช้เป็นเครื่องบินประจำตำแหน่ง “แอร์ฟอร์ซวัน” ของเขาแทนที่ลำเดิมซึ่งเขาบ่นมานานว่าเก่าโทรมเต็มทีนั้น เป็นเรื่องที่ไม่ต้องเสียเวลาคิดเลย
“ผมจะไม่มีทางเป็นคนที่ปฏิเสธไม่ยอมรับข้อเสนอแบบนี้หรอก” ประมุขทำเนียบขาวยบอกกับพวกผู้สื่อข่าวเมื่อวันจันทร์ (12 พ.ค.) “ผมไม่สามารถที่จะเป็นคนโง่เง่า และพูดว่า ‘ไม่เอาหรอก เราไม่ต้องการเครื่องบินราคาแพงมากที่ได้มาฟรีๆ หรอก’”
อย่างไรก็ดี สำหรับอีกหลายๆ ฝ่ายหลายๆ คน เรื่องนี้หมิ่นเหม่ทั้งด้านจริยธรรม กฎหมาย ความมั่นคง และการต่อต้านการจารกรรมข่าวกรอง
เจสซิกา เลวินสัน ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายรัฐธรรมนูญของ โลโยลา ลอว์ สกูล (คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยโลโยลา แมริเมาต์) ชี้ว่า เรื่องเช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลย ดังนั้นเราจึงไม่เคยทดสอบกันว่าขอบเขตของเรื่องนี้อยู่ที่ตรงไหน
ทรัมป์ กำลังพยายามแก้ต่างกระแสคัดค้านโดยบอกว่า หลังพ้นตำแหน่ง เครื่องบินมูลค่า 400 ล้านดอลลาร์ที่กาตาร์เสนอให้นี้ จะบริจาคให้ห้องสมุดประธานาธิบดีแบบเดียวกับเครื่องโบอิ้ง 707 ที่เคยเป็นแอร์ฟอร์ซวัน สมัยอดีตประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ได้ถูกปลดระวางและนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์
ทว่า คำอธิบายนี้ยังฟังไม่ขึ้นสำหรับพรรคเดโมแครต รวมถึงสมาชิกรีพับลิกันบางคนที่เป็นพันธมิตรของทรัมป์
ตัวอย่างเช่น ลอรา ลูเมอร์ นักทฤษฎีสมรู้ร่วมคิดที่ก่อนหน้านี้แสดงความคิดเห็นโดยมุ่งกำจัดคนที่เธอคิดว่าไม่จงรักภักดีต่อทรัมป์ ให้ออกจากคณะบริหาร ตอนนี้ ลูเมอร์โพสต์บนโซเชียลมีเดียว่า เธอนั้นพร้อมรับกระสุนแทนทรัมป์ แต่สำหรับเรื่องนี้ มัน “น่าผิดหวังมาก”
แรน พอล วุฒิสมาชิกรีพับลิกัน บอกว่า เขาไม่เห็นด้วยที่ทรัมป์จะยอมรับเครื่องบินหรูจากกาตาร์ เพราะคิดว่า “ดูไม่ดีเท่าไหร่ แถมกลิ่นยังทะแม่ง” แต่ไม่ยอมตอบเมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า เข้าข่ายละเมิดรัฐธรรมนูญหรือไม่
ทำไมทรัมป์อยากได้เครื่องบินกาตาร์
แอร์ฟอร์ซวัน ลำปัจจุบัน ซึ่งจริงๆ แล้วมี 2 ลำใช้ผลัดเปลี่ยนกัน มีอายุการใช้งานมาเกือบ 4 ทศวรรษ และทรัมป์อยากเปลี่ยนเต็มที ขณะที่งานปรับปรุงโบอิ้ง 747 ซึ่งจะนำมาใช้เป็น แอร์ฟอร์ซวันรุ่นใหม่ มีความล่าช้ามาเกือบ 10 ปีแล้ว โดยที่ โบอิ้ง 747 เหล่านี้เดิมผลิตสำหรับสายการบินรัสเซียที่ปัจจุบันเลิกกิจการไปแล้ว พอนำเอามาปรับปรุงก็เจอปัญหานานา เช่น ผู้รับช่วงสัญญารายใหญ่เกิดล้มละลาย รวมทั้งปัญหาในการสรรหาและรักษาบุคลากรที่มีความสามารถที่จะได้รับอนุญาตให้เข้าถึงชั้นความปลอดภัยระดับสูง
ตอนนี้คาดกันว่าเครื่องบินเหล่านี้จะปรับปรุงแล้วเสร็จในช่วงที่ทรัมป์ใกล้พ้นตำแหน่งสมัยสอง แต่เขาหมดความอดทนแล้ว นอกจากโวยว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้น “ขัดใจอย่างมาก” ทรัมป์ยังบ่นว่า แอร์ฟอร์ซวันไม่ดีงามเหมือนเครื่องบินของผู้นำอาหรับบางคน
เขาแจงว่า กาตาร์ ซึ่งเป็นที่ตั้งฐานทัพใหญ่ที่สุดของอเมริกาในตะวันออกกลาง เสนอเครื่องบินมาให้รัฐบาลสหรัฐฯ ใช้แทนระหว่างที่รอปรับปรุงโบอิ้ง 747 ก่อนสำทับว่า ข้อเสนอนี้ไม่ต่างจากการที่นักกอล์ฟยอมให้คู่แข่งพัตต์ก่อน ซึ่งเป็นสิ่งที่ยอมรับกันได้
ทว่า โรเจอร์ วิกเกอร์ วุฒิสมาชิกรีพับลิกัน ชี้ว่า จะต้องมีการตรวจสอบเพิ่มเติมว่า อเมริกาควรรับเครื่องบินของกาตาร์หรือไม่
เครื่องบินใหม่ปลอดภัยหรือไม่
แม้เครื่องบินของกาตาร์เลอค่าถึงขั้นถูกเรียกว่า “พระราชวังลอยฟ้า” ทว่าสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับเครื่องบินประจำตำแหน่งประธานาธิบดีย่อมไม่ใช่ความหรูหรา แต่เป็นความปลอดภัย แอร์ฟอร์ซวันที่ประจำการอยู่ขณะนี้ได้รับการออกแบบในช่วงก่อนสิ้นสุดสงครามเย็น จึงสามารถทนต่อแรงระเบิดนิวเคลียร์ได้ อีกทั้งยังมีฟีเจอร์ความปลอดภัยอีกมากมาย เช่น ระบบต่อต้านขีปนาวุธ และการมีศูนย์บัญชาการบนเครื่องบิน นอกจากนั้นยังสามารถเติมเชื้อเพลิงกลางอากาศในกรณีฉุกเฉิน
อดีตเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ คนหนึ่งบอกว่า แม้อาจเพิ่มคุณสมบัติบางอย่างในเครื่องบินของกาตาร์ได้ แต่ไม่มีทางที่จะเพิ่มฟีเจอร์ทั้งหมดได้ทันในระยะเวลาอันสั้น และจะเสี่ยงมากหากประธานาธิบดีเดินทางด้วยเครื่องบินที่มีระบบรักษาความปลอดภัยไม่ครบครัน
ด้วยเหตุนี้บางคนจึงกังวลว่า ทรัมป์อาจยอมผ่อนปรนเกี่ยวกับคุณสมบัติด้านความปลอดภัยด้วยการเร่งรัดปรับปรุงเครื่องบินของกาตาร์
วิลเลียม อิวานินา อดีตผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านข่าวกรองและความมั่นคงแห่งชาติในสมัยทรัมป์ 1.0 โพสต์บนโซเชียลมีเดียว่า ลำพังการถอดชิ้นส่วนและค้นหาอุปกรณ์สอดแนมต้องใช้เวลานานหลายปี และเสริมว่า เครื่องบินของกาตาร์ควรถือเป็นเพียงพิพิธภัณฑ์ล้ำค่าของประธานาธิบดีเท่านั้น
ผิดกฎหมาย-จริยธรรมหรือไม่
แม้ถูกมองว่า เป็นประธานาธิบดีที่กำลังทำให้เส้นแบ่งระหว่างการรับใช้ชาติกับผลประโยชน์ส่วนตัวลางเลือนลงมาก กระนั้นแผนการรับเครื่องบินจากกาตาร์ของทรัมป์ก็ยังคงทำให้ทั้งวอชิงตันสั่นสะเทือน
ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญของอเมริการะบุห้ามเจ้าหน้าที่รัฐบาลรับของมีค่า หรือ “ค่าตอบแทน” จากรัฐบาลต่างชาติโดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน
แคโรไลน์ เลวิตต์ โฆษกทำเนียบขาว แก้ต่างผ่านฟ็อกซ์นิวส์ เมื่อวันจันทร์ (12) ว่า การบริจาคนี้ยังอยู่ในขั้นตอนศึกษารายละเอียด และจะดำเนินการไปตามกฎหมาย พร้อมปฏิเสธเสียงครหาว่า กาตาร์ต้องการมีอิทธิพลเหนือทรัมป์ โดยยืนยันว่า กาตาร์รู้ดีว่า ทรัมป์ทำงานโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของอเมริกันชนเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ทรัมป์นั้นเคยถูกฟ้องร้องเรื่องการรับค่าตอบแทนระหว่างดำรงตำแหน่งสมัยแรก จากกรณีที่เขาเปิดห้องพักในโรงแรมของตนใน วอชิงตัน ดี.ซี.ต้อนรับล็อบบี้ยิสต์ นักธุรกิจ และนักการทูต โดยทนายความของทรัมป์อ้างว่า กฎหมายไม่ได้ห้ามการทำธุรกรรมที่เป็นการแลกเปลี่ยนระหว่างบริการ เช่น ห้องพัก กับเงิน ทว่า นักกฎหมายบางคนโต้ว่า ไม่มีการเปิดเผยชัดเจนว่า บุคคลเหล่านั้นจ่ายค่าห้องพักในราคาเต็มหรือไม่
มาถึงยุคทรัมป์ 2.0 ธุรกิจตระกูลทรัมป์เดินสายต่างประเทศเป็นว่าเล่น เดือนธันวาคมมีการทำข้อตกลงโครงการอสังหาริมทรัพย์แบรนด์ทรัมป์ 2 โครงการในกรุงริยาด โดยร่วมมือกับบริษัทซาอุดีอาระเบียที่เมื่อสองปีที่แล้วเป็นหุ้นส่วนของทรัมป์ในโครงการกอล์ฟรีสอร์ตในโอมาน นอกจากนั้น ทรัมป์ ออร์แกไนเซชันยังเปิดตัวโครงการรีสอร์ตริมทะเลในกาตาร์เมื่อเดือนที่แล้ว
วุฒิสมาชิกเดโมแครต 4 คนในคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์ ออกคำแถลงบอกว่า แผนการของทรัมป์ก่อให้เกิดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างชัดเจน ทำให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ เปิดทางให้ต่างชาติเข้ามามีอิทธิพล และบ่อนทำลายความไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อรัฐบาล ก่อนปิดท้ายว่า “ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย แม้แต่ประธานาธิบดีก็ตาม”
(ที่มา: เอพี)