ฝ่ายสหรัฐฯนำโดยรัฐมนตรีคลัง สกอตต์ เบสเซนต์ และหัวหน้าผู้เจรจาทางการค้า เจมิสัน กรีเออร์ นัดหมายพบกับฝ่ายจีนนำโดย เหอ ลี่เฟิง รองนายกรัฐมนตรี ที่ได้ชื่อว่าเป็นซาร์ดูแลนโยบายเศรษฐกิจคนปัจจุบันของแดนมังกร ที่สวิตเซอร์แลนด์สุดสัปดาห์นี้ เพื่อการพูดจาซึ่งวาดหวังกันว่าจะเป็นก้าวแรกไปสู่การคลี่คลายยุติสงครามการค้าที่กำลังทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะงักงัน
รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ออกตัวในคืนวันอังคาร (6 เม.ย.) ตามเวลาในสหรัฐฯ ว่าการพบกันที่นครเจนีวาในวันเสาร์ (10) และวันอาทิตย์ (11) ครั้งนี้ ถือเป็นการผ่อนคลายความขัดแย้ง ไม่ใช่การเจรจาข้อตกลงการค้าสำคัญ ขณะที่ฝ่ายจีนแถลงในวันพุธ (7) ตามเวลาปักกิ่งว่า วอชิงตันเป็นฝ่ายเรียกร้องให้มีการเจรจา ก่อนสำทับว่า การหารือต้องอยู่บนพื้นฐานความเท่าเทียม และจีนจะไม่ยอมตกลงด้วย ถ้าอเมริกาพูดอย่างแต่ทำอีกอย่าง หรือพยายามใช้การเจรจาเพื่อปิดบังการข่มขู่คุกคาม
การพบกันครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างจีนกับอเมริกาลุกลามนานหลายสัปดาห์ สืบเนื่องจากการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นภาษีศุลกากรสินค้านำเข้าจากจีนรวมแล้วสูงถึง 145% โดยที่ยังมีบางรายการพุ่งขึ้นถึงระดับ 245% ด้วยซ้ำ จากนั้นปักกิ่งเอาคืนด้วยการเรียกเก็บภาษีศุลกากรสินค้าเข้าอเมริกัน 125% ซึ่ง เบสเซนต์ ขุนสหรัฐฯ กล่าวย้ำอีกครั้งในวันอังคาร (6 ) ว่า ภาษีสูงลิบเช่นนี้ เท่ากับมหาอำนาจทางเศรษฐกิจรายใหญ่อันดับ 1 และอันดับ 2 ของโลก ดำเนินการคว่ำบาตรทางการค้าระหว่างกัน
ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีนเช่นนี้ ประกอบกับการที่ทรัมป์ยังบังคับรีดภาษีศุลกากรเอากับอีกหลายสิบประเทศเมื่อเดือนที่แล้ว ส่งผลกระทบรุนแรงทั้งต่อห่วงโซ่อุปทาน ตลาดการเงิน อีกทั้งกระตุ้นความกังวลว่า เศรษฐกิจโลกอาจทรุดดิ่งรุนแรง
แหล่งข่าวฝ่ายสหรัฐฯ 2 คนซึ่งทราบเรื่องการวางแผนการพบปะที่เจนีวานี้ เผยกับรอยเตอร์ว่า การเจรจาคราวนี้ถูกคาดหมายว่า จะเกี่ยวข้องทั้งกับการลดภาษีศุลกากรโดยรวม และภาษีศุลกากรที่เรียกเก็บจากผลิตภัณฑ์บางรายการ การควบคุมการส่งออกของอเมริกา และการที่ทรัมป์ยกเลิกมาตรการยกเว้นภาษีขั้นต่ำ (de minimis exemptions) สำหรับสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 800 ดอลลาร์
เบสเซนต์ ให้สัมภาษณ์ฟ็อกซ์ นิวส์ หลังการแถลงข่าวนี้เมื่อคืนวันอังคารว่า การพบกันครั้งนี้จะเป็นการผ่อนคลายสถานการณ์ความขัดแย้ง ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำเนินการขั้นตอนต่อไป และยังไม่ใช่การทำข้อตกลงการค้า และย้ำว่า อเมริกาไม่ได้ต้องการแยกขาดจากจีน แต่ต้องการการค้าที่เป็นธรรม
ในเวลาต่อมา โฆษกกระทรวงพาณิชย์จีนแถลงวันพุธ ยืนยันว่าปักกิ่งตกลงพบกับทีมเจรจาของสหรัฐฯ ก่อนสำทับว่า ถ้าอเมริกาพูดอย่างแต่ทำอีกอย่าง หรือพยายามใช้การเจรจาที่กำลังจะเกิดขึ้นเพื่อปิดบังการข่มขู่คุกคาม จีนจะไม่ยอมตกลงด้วย รวมทั้งจะไม่ยอมเปลี่ยนแปลงจุดยืนหรือละทิ้งความยุติธรรมเพื่อแลกกับการบรรลุข้อตกลง
ด้าน หลิน เจี้ยน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ออกแถลงสำทับว่า การเจรจาที่เจนีวาเกิดขึ้นจากคำขอของสหรัฐฯ และจุดยืนของจีนยังคงเดิมคือคัดค้านการขึ้นภาษีศุลกากรเช่นนี้ของวอชิงตัน รวมทั้งการหารือกันต้องกระทำกันบนพื้นฐานความเท่าเทียม ความเคารพกันและกัน และผลประโยชน์ร่วมกัน การกดดันหรือขู่เข็ญไม่ว่ารูปแบบใดไม่ได้ผลกับจีนทั้งสิ้น
การหารือที่เจนีวาจะเป็นการพบกันครั้งแรกระหว่างเจ้าหน้าที่อาวุโสจีนและอเมริกา นับจากที่วุฒิสมาชิกสตีฟ เดนส์ พบกับนายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียงที่ปักกิ่งในเดือนมีนาคม
ที่ผ่านมา ปักกิ่งยืนกรานปฏิเสธการเจรจา เว้นแต่อเมริกายกเลิกภาษีศุลกากรก่อน อย่างไรก็ดี เมื่อวันศุกร์ (2) ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์จีนแถลงว่า กำลังประเมินข้อเสนอของวอชิงตันในการจัดเจรจา
ทั้งนี้ เศรษฐกิจจีนมีเดิมพันสูงมาก เนื่องจากอุตสาหกรรมมากมายต่างได้รับผลกระทบจากสงครามภาษี นักวิเคราะห์หลายคนปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจแดนมังกรประจำปีนี้ ขณะที่โนมูระ วาณิชธนกิจชั้นนำของญี่ปุ่น เตือนว่า สงครามการค้าอาจทำให้คนจีนตกงานถึง 16 ล้านคน
ในวันพุธ (7 พ.ค.) ธนาคารกลางจีนประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่เพื่อรับมือผลกระทบจากภาษีศุลกากร ด้วยการลดดอกเบี้ย พร้อมอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการธนาคาร
คริสโตเฟอร์ เบดเดอร์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของเกฟคัล ดราโกโนมิกส์ในจีน ชี้ว่า ความเคลื่อนไหวนี้ยังเป็นการส่งสัญญาณถึงวอชิงตันว่า จีนไม่ได้ตื่นตระหนกหรือรีบร้อนพยุงเศรษฐกิจ รวมทั้งจะไม่เข้าสู่การเจรจาในสภาพที่อ่อนแอ
ในอีกด้านหนึ่ง ทั้งทรัมป์และพวกเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ มีการให้ข่าวเรื่อยมาว่า นับจากที่ทรัมป์สั่งรีดภาษีพื้นฐาน 10% กับประเทศส่วนใหญ่เมื่อวันที่ 2 เม.ย. และภาษีศุลกากรตอบโต้ที่สูงกว่านั้นเมื่อวันที่ 9 เม.ย. แล้ว สหรัฐฯก็ได้มีการเจรจากับคู่ค้าหลายชาติเพื่อทำข้อตกลงการค้าเป็นรายประเทศ
อย่างไรก็ดี ทรัมป์และพวกสมาชิกในทีมเจรจาการค้า กลับส่งสัญญาณขัดแย้งกันเองเกี่ยวกับความคืบหน้าในการเจรจา ทั้งนี้เมื่อวันอังคารเบสเซนต์แถลงต่อสภาว่า คณะบริหารทรัมป์กำลังเจรจากับคู่ค้าสำคัญ 17 ชาติ และอาจประกาศข้อตกลงการค้ากับบางประเทศอย่างเร็วที่สุดในสัปดาห์นี้
ทว่า ทรัมป์กลับให้สัมภาษณ์ก่อนพบกับนายกรัฐมนตรีมาร์ก คาร์นีย์ ของแคนาดาที่ทำเนียบขาวว่า ตนและเจ้าหน้าที่คณะบริหารระดับสูงจะทบทวนข้อตกลงการค้าที่เป็นไปได้ภายในสองสัปดาห์หน้า ก่อนตัดสินใจว่าจะตกลงกับประเทศใด
(ที่มา: รอยเตอร์/เอเอฟพี)