xs
xsm
sm
md
lg

“เหี้ย” ซอฟต์พาวเวอร์แห่งสวนลุมฯ นักท่องเที่ยวแห่มาดูกันหลักร้อยต่อวัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา “สวนลุมพินี” มีจุดเช็กอินใหม่ที่นักท่องเที่ยวแวะเวียนกันมาถ่ายภาพไม่ขาดสาย คือ รูปปั้น “เหี้ย” หรือตัวเงินตัวทอง ซึ่งเป็นโมเดลที่ได้รับการบริจาคมาจากเอกชน นำมาติดตั้งจัดแสดงไว้ภายในสวนลุมฯ เป็นการชั่วคราว

นักท่องเที่ยวแวะมาถ่ายรูปกันคึกคัก
“สวนลุมพินี” สวนสาธารณะที่เปรียบดังปอดขนาดใหญ่ใจกลางกรุงเทพมหานคร ไม่เพียงแต่เป็นสวนสาธารณะขวัญใจคนกรุงเท่านั้น แต่มีสถานะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวต่างชาติ เดินทางมาเยือนกันไม่เคยว่างเว้น

โดยนอกจากการมาเดินชมภูมิทัศน์ พักผ่อนหย่อนใจ ในบรรยากาศสวนอันร่มรื่นแล้ว กิจกรรมหนึ่งที่นักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยปักหมุดไว้ว่าต้องมาชมด้วยตาสักครั้ง คือ การได้เจอกับสัตว์เลื้อยคลานคู่สวนลุมอย่าง “เหี้ย” (ตัวเงินตัวทอง) โดย เฟซบุ๊กแฟนเพจ “หวังสร้างเมือง” ที่นำเสนอเรื่องราวสร้างสรรค์และการพัฒนาเกี่ยวกับกรุงเทพมหานคร ระบุว่า

บรรยากาศสระน้ำกลางสวน
“เจ้าหน้าที่ที่สวนลุมบอกว่ามีคนเข้ามาที่สวนแล้วถามถึงตัวเงินตัวทอง ตกวัน100-200 คนต่อวัน เยอะขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก ส่วนใหญ่ก็จะถามว่าจุดไหนที่ดูได้ น้องอยู่ตรงไหนเยอะ ฯลฯ”

วันก่อนซีคอนสแควร์จัดงาน แล้วมีรูปปั้นน้องเหลือหลังงาน เลยบริจาคมาให้ทาง กทม. เราเลยเอามาตั้งไว้ที่สวนลุมช่วงสั้นๆ ช่วยเจ้าหน้าที่ตอบคำถาม ใครผ่านไปมาอาจจะตกใจนิดนึง เลยมาแจ้งกันไว้ครับ”

ชาวต่างชาติ นั่งดูตัวเหี้ย
รู้จัก “เหี้ย” สวนลุมพินี
สำหรับ “เหี้ย” หรือ “ตัวเงินตัวทอง” ในสวนลุมพินี หรือ ที่อยู่ตามพื้นที่ชุ่มน้ำต่างๆในกรุงเทพฯ มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Water Monitor (Bangkok Dragon) หรือ Varanus salvator ในชื่อทางวิทยาศาสตร์ มีลักษณะลำตัวสีดำ ลิ้นยาวสีม่วงปลายสองแฉก ผิวหนังเป็นเกล็ด มีลายดอกสีเหลืองเป็นแถวพาดขวางลำตัว หางลายเป็นแถบปล้องสีดำสลับเหลืองอ่อน มีขนาดลำตัวที่ใหญ่ที่สุดในสัตว์ตระกูลเหี้ยและตะกวดในประเทศไทย

เหี้ยออกมาสำรวจพื้นที่
แม้รูปลักษณะภายนอกที่อาจดูน่าเกลียดน่ากลัวสำหรับใครหลายคน แต่ความจริงแล้ว เหี้ยเป็นสัตว์ที่ทำหน้าที่รักษาความสมดุลในระบบนิเวศ เพราะคอยควบคุมประชากรสัตว์ชนิดอื่นในพื้นที่และช่วยกำจัดซาก กำจัดเก็บกินซากสัตว์ของเน่าเปื่อยไม่ให้เกิดโรค

อาหารของเหี้ย สามารถกินสิ่งมีชีวิตได้ทุกชนิดที่มีขนาดเล็กกว่าขนาดปาก เช่น ไส้เดือน ตะขาบ นก ไก่ กบ เขียด ปลา เต่า งู หนู ฯลฯ รวมไปถึงเศษอาหารของมนุษย์ ซึ่งโดยธรรมชาติ เหี้ยไม่ใช่สัตว์นักล่า แต่นับเป็นกลไกสำคัญของห่วงโซ่อาหารภายในสวนสาธารณะ

โดยสถานะภาพปัจจุบันของเหี้ย ถือเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 (ที่สามารถขออนุญาตเพาะเลี้ยงได้)

ว่ายน้ำสบายใจเฉิบ
สัตว์ป่าที่อยู่ร่วมกับคนเมือง
เมื่อหลายปีก่อน กรุงเทพมหานคร (กทม.) และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เคยร่วมกันเปิดปฏิบัติการขนย้ายตัวเหี้ยออกจากสวนลุมพินี ไปยังสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน อ.จอมบึง จ.ราชบุรี จากการมีข้อร้องเรียนว่ามีจำนวนมากเกินไป พร้อมด้วยเหตุผลว่าพื้นที่สวนลุมฯ กำหนดให้เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ เป็นสวนสาธารณะที่ไม่ใช่พื้นที่ป่า จึงถูกมองว่าไม่ใช่พื้นที่ที่เหมาะสำหรับตัวเงินตัวทอง ซึ่งปฏิบัติการดังกล่าวถือเป็นข่าวดังในวงกว้างเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ก็มีกระแสเห็นต่างที่มองว่า การจับไปปล่อยในอีกพื้นที่หนึ่ง ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่แท้จริง เพราะถ้ามีอาหารมากขึ้น ประชากรเหี้ยก็จะเพิ่มขึ้นได้อีก ดังนั้นควรควบคุมในช่วงฤดูวางไข่ให้เจ้าหน้าที่ช่วยเก็บไข่ส่วนหนึ่งไปทำลายน่าจะดีกว่า

ซอฟต์พาวเวอร์แห่งสวนลุม
ในปัจจุบัน กทม. เพิ่มการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับอุปนิสัยของเหี้ย หรือตัวเงินตัวทอง พร้อมแนะนำแนวทางการอยู่ร่วมกันโดยไม่รบกวนซึ่งกันและกัน รวมถึงพิจารณามาตรการควบคุมปริมาณไข่ตัวเงินตัวทองไม่ให้มากจนเกินไป

โดยข้อแนะนำหนึ่งสำหรับผู้ที่เข้าไปชมเหี้ยในสวนลุม คือ โปรดหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้หรือให้อาหาร เพราะมันอาจกัดหรือทำร้ายได้ด้วยความตกใจ

เหี้ยตัวน้อย
รูปปั้นเหี้ย จุดเช็กอินใหม่ (ชั่วคราว)
หลังจากห้างซีคอนสแควร์จัดงานแล้วนำรูปปั้น (โมเดล) บริจาคมาให้ทาง กทม. และนำมาติดตั้งภายในสวนลุมพินี บริเวณริมน้ำสวนบึง ตรงข้ามศาลาภิรมย์ภักดี สวนปาล์ม กระแสดังกล่าว ทำให้มีผู้สนใจตามไปเช็กอิน ถ่ายภาพรูปปั้น หรือโมเดลเหี้ย หรือตัวเงินตัวทองกันเป็นจำนวนมาก ตลอดจนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เดินเที่ยวในสวนลุมฯ ต่างก็แวะเข้ามาเช็กอิน ถ่ายภาพ รวมทั้งยืนอ่านป้ายสื่อความหมายที่ให้ความรู้เกี่ยวกับตัวเหี้ย

โมเดล “ตัวเหี้ย” ในสวนลุมฯ
โดยล่าสุด แฟนเพจ “หวังสร้างเมือง” แจ้งข่าวว่า มีการชวนตั้งชื่อ เพราะตอนนี้น้อง (รูปปั้น) ได้รับความสนใจมาก กลายเป็นดาราสวนไปแล้ว “คนมาดู เรียกกัน here! here! (อยู่นี่ๆ) ผมเลยอยากชวนตั้งชื่อให้น้องกัน” (ในเพจ)

โดยล่าสุด กทม.เอาเชือกมากั้นเพิ่ม เพราะกลัวคนเข้าไปกอดจับน้องแน่นเกิน แล้วน้องจะติดใจติดมือกลับบ้านไปด้วย และเพิ่มป้ายแนะนำตัว (สองภาษา) ให้คนได้รู้จักน้องกันมากขึ้นครับ

นักท่องเที่ยวแวะมาชม

น้องเหมียวเจ้าถิ่น นอนงีบยามบ่าย
สวนลุมพินี
เปิดบริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 04.30 - 22.00 น.
เดินทางด้วยรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สถานีสีลม หรือสถานีลุมพินี

นกประจำสวนลุม
กำลังโหลดความคิดเห็น