xs
xsm
sm
md
lg

หืดขึ้นคอ!เยอรมนีได้นายกฯคนใหม่จนได้ ‘ฟรีดริช เมร์ซ’ ผู้นำอนุรักษนิยมมีชัย ในการโหวตรอบ 2 หลังหนแรกเจอเบี้ยว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


ฟรีดริช เมร์ซ ผู้นำของพรรคซีดียู ที่เป็นพวกอนุรักษนิยม ฝ่ายกลาง-ขวา ของเยอรมนี (ขวา) ตอบรับการแสดงความยินดีจากนายกรัฐมนตรี โอลาฟ ชอลซ์ ที่กำลังจะพ้นตำแหน่ง ภายหลังสภาล่างของเยอรมนี ลงมติด้วยคะแนนเสียงข้างมาก เลือกเขาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ในการโหวตเป็นรอบที่ 2 เมื่อวันอังคาร (6 พ.ค.)
ฟรีดริช เมร์ซ ผู้นำพรรคการเมืองสายอนุรักษนิยมกลาง-ขวา ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของเยอรมนีแบบหืดขึ้นคอในวันอังคาร (8 พ.ค.) โดยสามารถคว้าคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาได้สำเร็จ จากการโหวตรอบที่ 2 ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากเขาเพิ่งกลายเป็นแคนดิเดตคนแรกนับจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ไม่สามารถชิงคะแนนเสียงข้างมากมาได้ ในการออกเสียงรอบแรก

เมร์ซ ซึ่งปัจจุบันอายุ 69 ปี ได้เสียงสนับสนุนจากสมาชิกสภาล่าง 325 เสียงในการลงคะแนนรอบสอง ซึ่งเกินกว่ากึ่งหนึ่งของทั้งสภา จึงถือเป็นชัยชนะที่เด็ดขาด ขณะที่ผู้ออกเสียงคัดค้านนั้นมี 289 เสียง ต่อจากนี้ก็จะเป็นขั้นตอนที่ประมุขของประเทศ นั่นคือ ประธานาธิบดีฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ จะแต่งตั้งเขาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ

ชัยชนะในรอบ 2 ของ เมร์ซ เป็นการปิดฉากช่วงเวลาแห่งภาวะอัมพาตทางการเมืองในเยอรมนีที่เรื้อรังมาครึ่งปีนับจากพรรคร่วมรัฐบาลของอดีตนายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ ล่ม
เมร์ซนั้นได้รับการสนับสนุนจากพรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียน (ซีดียู) ของตนเอง กับพรรคสหภาพสังคมคริสเตียน (ซีเอสยู) ที่ถือเป็นพันธมิตรพรรคพี่พรรคน้องกัน โดยทั้ง 2 พรรคร่วมกันชนะได้รับคะแนนเลือกตั้งสภาล่างเป็นอันดับ 1 ในการโหวตซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ จากนั้นเขาก็พยายามเจรจาต่อรองเพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสม กับพรรคสังคมประชาธิปไตย (เอสพีดี) ซึ่งมีแนวทางกลาง-ซ้ายของชอลซ์ ซึ่งเลือกตั้งคราวนี้เข้าป้ายเป็นอันดับ 3 อยู่นานหลายเดือน โดยในทางทฤษฎีแล้ว ทั้งสามพรรครวมกันจะมีที่นั่งในสภาล่าง 328 ที่นั่ง จากทั้งหมด 630 ที่นั่ง ดังนั้น การได้คะแนนเกินกึ่งหนึ่ง ซึ่งคือตั้งแต่ 316 เสียงขึ้นไป ไม่น่าจะเป็นเรื่องลำบากยากเย็น

อย่างไรก็ดี ปรากฏว่า ในการลงคะเนนเสียงรอบแรกในสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นการลงคะแนนลับ ซึ่งก็จัดขึ้นในวันอังคาร (6) กลับกลายเป็นว่า เขาได้คะแนนโหวตแค่ 310 เสียง คัดค้าน 307 เสียง งดลงคะแนน 3 เสียง ไม่เข้าประชุม 9 เสียง และบัตรเสีย 1 เสียง โดยที่มีรายงานว่าพวกสมาชิกสภาล่างหลายคนของเอสพีดีเบี้ยว ไม่ยอมโหวตให้เมร์ซ

ตามรัฐธรรมนูญของเยอรมนีนั้น หากไม่มีผู้ชนะในการลงคะแนนรอบแรก จะต้องมีการลงคะแนนอีกอย่างน้อย 1 รอบภายใน 14 วัน ซึ่งหากยังไม่มีผู้สมัครคนใดได้คะแนนเสียงข้างมาก ประธานาธิบดีจะสามารถแต่งตั้งผู้สมัครที่ได้คะแนนมากที่สุดเป็นนายกรัฐมนตรี หรือประกาศยุบสภาเพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่

อลิซ ไวเดล ผู้นำร่วมของพรรคทางเลือกเพื่อเยอรมนี (เอเอฟดี) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองขวาจัดและได้คะแนนมากเป็นอันดับ 2 ในการเลือกตั้งคราวนี้ บอกว่า เมร์ซควรถอนตัวและเปิดทางสำหรับการเลือกตั้งครั้งใหม่

ขณะที่ โฮลเกอร์ ชมีดดิง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเบเรนเบิร์ก ในลอนดอน ชี้ว่า แม้ยังมีแนวโน้มว่า เมร์ซจะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี แต่เหตุการณ์นี้ฟ้องว่า พรรคร่วมรัฐบาลขาดความสามัคคีซึ่งอาจบ่อนทำลายความสามารถของเมร์ซในการผลักดันนโยบายต่างๆ

การที่เมร์ซยังคงมีชัยในท้ายที่สุด ทำให้ปฏิทินการเมืองในเบอร์ลินไม่ต้องสับสนอลหม่าน โดยสามารถทำตามกำหนดเดิม นั่นคือ ประธานาธิบดีจัดให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีใหม่เข้าสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง จากนั้นนายกรัฐมนตรีใหม่มีกำหนดจะต้องเดินทางไปร่วมการประชุมที่ปารีสและวอร์ซอ ในวันพุธ (7)

พรรคพันธมิตรซีดียู/ซีเอสยู ประกาศก่อนหน้านี้ว่า หากได้เป็นรัฐบาล จะสนับสนุนยูเครนต่อไป ขณะที่ตัวเมร์ซเองยังตั้งเป้าควบคุมการลักลอบเข้าเมือง เพิ่มกำลังตำรวจรักษาความปลอดภัยชายแดน ยุตินโยบายเปิดรับผู้ขอลี้ภัยนับล้านคนของอดีตนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ซึ่งอยู่พรรคเดียวกันกับเขา

ภายหลังการเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ ซีดียู/ซีเอสยูสามารถผลักดันให้สภาอนุมัติโครงการกู้ยืมมูลค่าหลายแสนล้านยูโรที่มีเป้าหมายในการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานและเพิ่มงบประมาณกลาโหม และกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซามาตลอด 2 ปี อย่างไรก็ดี สมาชิกบางคนในพรรคซีดียูแสดงความไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้

ดรามาการเมืองของเยอรมนีเกิดขึ้นขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของอเมริกา จุดชนวนสงครามการค้าทั่วโลกด้วยการขึ้นภาษีศุลกากรสินค้าจากประเทศต่างๆ ซึ่งอาจส่งผลให้ภาวะถดถอยของเยอรมนีเรื้อรังเข้าสู่ปีที่ 3

นอกจากนั้นทรัมป์ยังกดดันให้ชาติยุโรปรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทางการทหารในองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) มากขึ้น

(ที่มา: เอเอฟพี/รอยเตอร์/เอพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น