xs
xsm
sm
md
lg

จีนเบ่งกล้ามรุกเข้าร่วมซ้อมรบทางอากาศกับอียิปต์ ผู้เป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


ภาพจากการซ้อมรบทางอากาศ “อินทรีแห่งอารยธรรมปี 2025” ระหว่างอียิปต์กับจีน  (ภาพนี้มาจากสำนักงานโฆษกอียิปต์)
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

China muscling in on US Egyptian ally
by Richard S Ehrlich
02/05/2025

การซ้อมรบทางอากาศ “อินทรีแห่งอารยธรรม” ครั้งแรกระหว่างจีนกับอียิปต์ เปิดฉากขึ้นท่ามกลางเสียงคาดหมายที่ว่าสหรัฐฯจะต้องตัดงบประมาณช่วยเหลือต่างประเทศที่ให้แก่ไคโรลงไปอย่างมหาศาล

จากกำแพงเมืองจีนมายังพีระมิดของอียิปต์ เป็นระยะทางซึ่งไกลมากทีเดียว ทว่าครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เครื่องบินรบของจีนและของอียิปต์กำลังมารวมตัวกันเพื่อดำเนินการซ้อมรบทางทหารร่วมกันเหนือแม่น้ำไนล์ เป็นการขยายศักยภาพของปักกิ่งในการเข้าไปยังทวีปแอฟริกา

อากาศยานรบของจีน ทั้งเครื่องบินขับไล่ไอพ่น, เครื่องบินระบบเตือนภัยล่วงหน้าและควบคุมทางอากาศ (Airborne Early Warning and Control plane), เครื่องบินเติมน้ำมันกลางอากาศ, เฮลิคอปเตอร์ติดอาวุธหนัก (helicopter gunship) กำลังส่งเสียงคำรามไปทั่งท้องนภา ข้างๆ อากาศยานรบของกองทัพอากาศอียิปต์ ภายหลังทะยานขึ้นฟ้าจากฐานทัพาอากาศวาดิ อบู ริช (Wadi Abu Rish Air Base) ของอียิปต์ที่ตั้งอยู่กลางทะเลทราย

การฝีกร่วมของกองกำลังทางอากาศจีน-อียิปต์ที่ใช้ชื่อรหัสว่า “อินทรีแห่งอารยธรรมปี 2025” (Eagles of Civilization 2025) คราวนี้ เริ่มต้นขึ้นแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 19 เมษายน และกำหนดสิ้นสุดช่วงต้นเดือนพฤษภาคม โดยเป็นที่คาดหมายกันว่ามันจะเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่ความเชื่อมโยงต่างๆ ของแดนมังกรกับ แดนไอยคุปต์ ซึ่งถือเป็นกองทัพที่แข็งแรงที่สุดของทวีปแอฟริกา อีกทั้งเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯมาอย่างยาวนาน

เวลานี้จีนมีฐานทัพอยู่ในต่างประเทศอย่างเป็นทางการเพียงแห่งเดียวคือ ฐานทัพเรือริมทะเลแดง ในดินแดนของจิบูตี ประเทศทางแอฟริกาตะวันออก ขณะที่อียิปต์กำลังวาดหวังที่จะทำให้ความสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์ของตนมีการกระจายตัวหลากหลายยิ่งขึ้น จึงมีความยินดีต้อนรับความสนใจในภูมิภาคนี้ของปักกิ่ง รวมทั้งยังรวมถึงความเป็นไปได้ที่จะซื้อหาอาวุธจีนอีกด้วย

“การฝึกร่วมครั้งนี้จะช่วยเพิ่มพูนสมรรถนะทางเทคนิคและทางยุทธวิธีของกองทัพอากาศของทั้ง 2 ฝ่าย และทำให้ความร่วมมือกันอย่างมีสาระสำคัญระหว่างกองทัพจีนกับกองทัพอียิปต์ยิ่งหยั่งรากลงลึกยิ่งขึ้นอีก” โฆษกกระทรวงกลาโหมจีน พันเอกอาวุโส จาง เสี่ยวกัง (Senior Colonel Zhang Xiaogang) บอกกับที่ประชุแถลงข่าวซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา

“การฝึกร่วมจะดำเนินไปจนกระทั่งถึงต้นเดือนพฤษภาคม เครื่องบินของกองทัพอากาศแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีน (People’s Liberation Army Air Force หรือ PLAAF) จะฝึกฝนโดยร่วมมือประสานงานกับทรัพย์สินต่างๆ ของกองทัพอากาศอียิปต์”

สำหรับการฝึกสู้รบทางอากาศ จะมีทั้ง การเติมน้ำมันทางอากาศของฝ่ายจีนโดยใช้เครื่องบินเติมน้ำมันทางอากาศแบบ Y20U, การสนับสนุนทางอากาศ, การค้นหาและกู้ภัยในสมรภูมิ, และการฝึกโดยใช้เครื่องบินระบบเตือนภัยล่วงหน้าและการควบคุมทางอากาศ คงจิ่ง-500 (Kong Jing-500)

ปักกิ่งยังได้จัดส่งเครื่องบินขับไล่ J-10 ติดตั้งเทคโนโลยีหลีกเร้นเรดาร์ (stealth) ของจีน มาเข้าร่วมการฝึกที่อียิปต์ครั้งนี้ด้วย ทั้งนี้ J-10 ที่ถูกองค์การนาโต้ตั้งชื่อให้ว่า “ไฟร์เบิร์ด” (Firebird) ได้รับเสียงชมในเรื่องสมรรถนะการดำเนินกลยุทธ์ในเวลาสู้รบทางอากาศ, การโจมตีได้อย่างแม่นยำ, และความสามารถที่จะประกอบอาวุธต่างๆ หลายหลาก ทั้งลูกระเบิดแบบอากาศสู่อากาศ และอากาศสู่ภาคพื้น, ขีปนาวุธต่อสู้การแผ่รังสี (anti-radiation missile) , และปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานขนาด 23 มม. ทั้งนี้ตามรายงานข่าวที่อ้างอิงช่องเทเลแกรม China 3 Army Telegram channel

สำหรับฝ่ายอียิตป์นั้นเติมแต้มท้องนภาด้วย เครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์ มิก-29เอ็ม/เอ็ม2 ฟุลครัม (MiG-29M/M2 Fulcrum) และเครื่องบินอื่นๆ จากฐานทัพแห่งนั้น ซึ่งอยู่ห่างราว 60 กิโลเมตรจากทางตะวันตกของอ่าวสุเอซ และราว 4,500 กิโลเมตรจากกรุงปักกิ่ง

“หน่วยอากาศยาน(ของฝ่ายจีน) เพิ่งปรับมาใช้การจัดกำลังแบบผสมผสาน ซึ่งรวมเอาการเคลื่อนย้ายทางอากาศและการขนส่งทางอากาศเข้าด้วยกัน เพื่อทำให้แน่ใจได้ว่าสามารถเคลื่อนย้ายเอาบุคลากรและอุปกรณ์ทั้งหมดเข้าสู่ตำแหน่งต้องการได้อย่างเต็มที่” รายงานของของสถานีโทรทัศน์ส่วนกลางของจีน (ซีซีทีวี) ระบุ

“มีการเสนอแนะกันว่า จีนสามารถใช้การซ้อมรบครั้งนี้เพื่อฝึกการสู้รบกับพวกเครื่องบินขับไล่กับ มิก-29 รุ่นค่อนข้างใหม่ โดยที่ มิก-29 เวลานี้ยังคงเป็นเครื่องบินขับไล่หลักของกองทัพอากาศและกองทัพเรืออินเดีย” เดอะ วอร์โซน (The War Zone) เว็บไซต์เน้นหนักเรื่องทางทหารซึ่งตั้งฐานอยู่ในรัฐฟลอริดาของสหรัฐฯ กล่าว

“มิก-29เอ็ม/เอ็ม2 ของอียิปต์ มีคุณสมบัติจำนวนมากเหมือนๆ กับ มิก-29ยูพีจี (MiG-29UPG )และ มิก29เค (MiG-29K) ของกองทัพอากาศอินเดียและกองทัพเรืออินเดีย ตัวอย่างเช่น ใช้ชุดระบบอิเล็กทรอนิกส์ในอากาศยานชุดเดียวกัน” เว็บไซต์แห่งนี้ แจกแจง

“ยิ่งมีความเป็นไปได้อย่างแท้จริงที่ (สหรัฐฯ) จะตัดความช่วยเหลือทางทางทหารที่ให้แก่พวกผู้รับผลประโยชน์อย่างเช่นอียิปต์ ลงมาอย่างรุนแรง ไคโรจึงอาจมองปักกิ่งว่าเป็นทางเลือกใหม่ทางหนึ่งซึ่งสามารถเข้าแทนที่ความใจดีของวอชิงตัน และส่งผลเป็นการต่อสายเชื่อมโยงกัน” เดอะ วอร์ โซน บอก

“จุดสำคัญก็คือ ความช่วยเหลือทางทหารที่สหรัฐฯให้แก่อียิปต์มีการถูกแช่แข็งเอาไว้ แล้วก็เลิกแช่แข็งกลับส่งให้ใหม่อีกหลายรอบในระยะไม่กี่ปีหลังๆ มานี้ แล้วแต่ว่าคณะบริหารสหรัฐฯแต่ละชุดจะประเมินชั่งน้ำหนักกันอย่างไรเกี่ยวกับความกังวลด้านมนุษยธรรมในอียิปต์ กับความสามารถของไคโรในการเป็นผู้คอยช่วยเหลือสหรัฐฯในวิกฤตทางภูมิรัฐศาสตร์ต่างๆ” นี่เป็นรายงานของ เบรกกิ้ง ดีเฟนซ์ (Breaking Defense) เว็บไซต์ทางทหารออนไลน์ซึ่งตั้งฐานอยู่ในนิวยอร์ก

ขณะที่ พันโท (เกษียณอายุ) อีลี เดเคล (Eli Dekel)ซึ่ งเป็นอดีตนายทหารอิสราเอลฝ่ายการข่าว และผู้เชี่ยวชาญเรื่องอียิปต์ บอกกับสื่อ มารีฟ นิวส์ (Maariv news) ของอิสราเอลว่า “เป็นจีนนี่เองที่กำลังสร้างเมืองหลวงใหม่ของอียิปต์ โดยตั้งใจให้เป็นเพชรเม็ดงามระดับนานาชาติทั้งในด้านความสวยงาม, สถาปัตยธรรม, ความมั่งคั่ง, และความสง่างาม”
(หมายเหตุผู้แปล – เมืองหลวงใหม่ของอียิปต์ เวลานี้ยังคงใช้ชื่อเรียกชั่วคราวว่า เมืองหลวงด้านการบริหารแห่งใหม่ New Administrative Capital หรือ NAC จัดสร้างขึ้นในพื้นที่ซึ่งยังไม่ได้รับการพัฒนาผืนใหญ่ บริเวณครึ่งทางระหว่างไคโรกับเมืองท่าสุเอซ โดยตั้งอยู่ห่างจากไคโรไปทางตะวันออกราวๆ 45 กิโลเมตร (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/New_Administrative_Capital)

จีน “ยังกำลังสร้างท่าเรือขนาดใหญ่และทรงความสำคัญมากอย่างน้อยที่สุด 2 แห่งในอียิปต์ ที่ อบู เคอร์ (Abu Qir) จีนมีส่วนเกี่ยวช้องเยอะแยะมากมาย ดังนั้นผมจึงไม่รู้สึกแปลกใจอะไรที่พวกเขากำลังดำเนินการซ้อมรบคราวนี้” เดเคล กล่าว ตามรายงานข่าวของสื่อเยรูซาเลมโพสต์ (Jerusalem Post)

แหลมและอ่าว อบู เคอร์ ตั้งอยู่ริมชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนของอียิปต์ ทางตะวันอกเฉียงเหนือของเมืองอเล็กซานเดรีย และได้รับการยอมรับว่ามีคุณค่าทั้งจากการผลิตก๊าซธรรมชาติ และการเป็นน่านน้ำที่สามารถกำบังพายุได้ดี

ริชาร์ด เอส เอห์รลิช เป็นผู้สื่อข่าวต่างประเทศชาวเมริกันที่ตั้งฐานอยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งรายงานข่าวจากเอเชียมาตั้งแต่ปี 1978 และเคยเป็นผู้ชนะรางวันผู้สื่อข่าวต่างประเทศของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ตัวอย่างบางส่วนจากหนังสือสารคดี 2 เล่มใหม่ของเขา ที่มีชื่อว่า “Rituals. Killers. Wars. & Sex. — Tibet, India, Nepal, Laos, Vietnam, Afghanistan, Sri Lanka & New York” และ “Apocalyptic Tribes, Smugglers & Freaks” สามารถคลิกชมได้ที่ https://asia-correspondent.tumblr.com/
กำลังโหลดความคิดเห็น