"ดีเอสไอ" เชิญผู้จัดการบริษัท 3117 บิม เมเนจเม้นท์ฯผู้เชี่ยวชาญเรื่องการควบคุมงานก่อสร้าง ช่วยวิเคราะห์ปมตึก สตง.ถล่ม ชี้พิรุธเพียบ เริ่มสัญญาไป 501 วัน แล้วเสนอแก้แบบลดเสาเข็มงานชั้นใต้ดิน เชื่อจุดวิบัติอยู่ที่การแก้ครั้งที่ 4 ปรับผนังปล่องลิฟต์ แถมล็อกสเปกขนาดช่องลิฟต์ เพื่อเอายี่ห้อที่ผู้รับจ้างเลือกไว้
วันนี้ (5 พ.ค.) ณ ห้องประชุมกองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (กองคดีฮั้วประมูล) อาคารเอ ชั้น 7 ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 32/2568 ได้เชิญ นายวิระ เรืองศรี ผู้จัดการบริษัท 3117 บิม เมเนจเม้นท์ จำกัด (3117 BIM Management) เพื่อให้ข้อมูลเรื่องโครงสร้างตึก สตง. และให้ข้อสังเกตจุดวิบัติของตึก สตง. เนื่องด้วยเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการควบคุมงานก่อสร้าง การออกแบบก่อสร้าง การให้คำปรึกษาการก่อสร้าง มีประสบการณ์เชี่ยวชาญด้านการสร้างแบบจำลองข้อมูลอาคารด้วยโปรแกรม BIM (Building Information Modeling)
นายวิระ เปิดเผยว่า วันนี้ได้ให้ข้อสังเกตกับดีเอสไอใน 3 ประเด็น คือ 1.เหตุของการแก้ไขสัญญา จำนวน 9 ครั้ง 2.ประเด็นเชิงวิศวกรรม การตั้งข้อสังเกตของโครงสร้างอาคาร และ 3.ประเด็นที่มาของผู้ออกแบบ วิศวกร และผู้ควบคุมงาน ซึ่งในการแก้ไขแบบสัญญาทั้ง 9 ครั้ง ต้องเน้นไปที่การแก้ไขแบบครั้งที่ 4 เพราะคือ การแก้ไข Core Lift (การแก้ไขผนังปล่องลิฟต์) ผนังรับเเรงเฉือน และส่วนควบอื่นๆ ทั้งหมด ทั้งการแก้ไข Core Wall ส่วนอาคาร A ชั้น B1-3 คือ การแก้คานที่งานระบบเดินไม่ผ่าน จึงต้องแก้คานด้วย
"ดังนั้น ส่วนที่เหลือเป็นการแก้ไขเรื่องตัวเลข ตัวเงิน การขยายสัญญา ซึ่งมันไม่ได้เกี่ยวกับการแก้ไขแบบ อาทิ การแก้ไขแบบครั้งที่ 1 คือ การลดเสาเข็มต้นหนึ่งของบ่อถังน้ำชั้นใต้ดินที่ไม่ได้มีผลต่ออาคาร เพียงแค่จำนวนเข็มเกิน ส่วนการแก้ไขครั้งที่ 2 คือ การเปลี่ยนฝ้าเพดานอาคารฯ เป็นต้น"
นายวิระ เผยว่า ตนยังตรวจสอบพบสัญญาเริ่มเมื่อวันที่ 30 พ.ย.แต่พอผ่านไป 501 วัน กลับมีการมาแก้ไขสัญญาครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นการลดเสาเข็มบริเวณงานชั้นใต้ดิน ทั้งที่ผ่านไปแล้ว 500 วัน ซึ่งมันก็เป็นคำถามต่อว่าแล้วก่อนหน้านี้ทำอะไรกันอยู่ รวมถึงจ่ายเงินเดือนให้ผู้ควบคุมงานไปกี่เดือนแล้ว แต่ผู้รับเหมาเพิ่งมาทำงานตอกเสาเข็ม
นายวิระ เผยอีกว่า สำหรับกรณีที่กฎกระทรวงฯ ออกตาม พ.ร.บ.การควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มีการระบุว่า ทางเดินต้องมีระยะไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร แต่มันแก้ 2 จุด คือ 2.10 เมตร กับ 1.50 เมตร (1.50 เมตรต้องขยายให้ได้ 1.60 เมตร เนื่องจากต้องเป็นผิวกระเบื้องข้างละ 5 ซม. ซึ่งจากเดิม 2.00 เมตร ก็ขยายเป็น 2.10 เมตร เพราะมีฟินิชชิ่งอยู่หน้าห้องน้ำอีกประมาณ 7-8 ซม. จึงได้เป็น 2.10 เมตร) คำถามคือ 1.50 เมตร ขยายเพื่อให้มันสอดคล้องกับกฎหมาย แล้ว 2.10 เมตรนี้ขยายเพื่ออะไร ในเมื่อกฎหมายไม่ต้องการก็ไม่จำเป็นต้อขยายก็ได้ เพราะมันเป็นทางเดินอยู่หน้าห้องน้ำ จึงสงสัยว่าทำไมต้องขยายเป็น 2.10 เมตร แต่เมื่อไปดูแบบ กลับพบว่าตรงนั้นคือลิฟต์ของผู้บริหาร เป็นกระเบื้องหินแกรนิตที่มองแล้วหรู จึงสงสัยว่าจะเพิ่มเป็น 2.10 เมตรทำไม
นายวิระ เผยต่อว่า ยังมีประเด็นเรื่องการล็อกสเปกปล่องลิฟต์ของผู้ออกแบบ ทำให้ลดผนังปล่องลิฟต์ไม่ได้ ทั้งที่มันลดได้ เพราะถ้าลดผนังปล่องลิฟต์ข้างละ 5 ซม. อย่างไรก็ใส่ลิฟต์ได้อยู่แล้ว แต่ปรากฏว่าในครั้งแรกของการออกแบบ ผู้ออกแบบจะมีการเลือกรุ่นลิฟต์ ขนาดลิฟต์ ยี่ห้อลิฟต์ไว้ ซึ่งใน TOR (รายการประกอบแบบลิฟต์) ที่ผู้รับจ้างเป็นผู้ซื้อลิฟต์ ต้องซื้อยี่ห้อนี้ รุ่นนี้ แบรนด์นี้ ขนาดปล่องเท่านี้ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ก็ต้องไปดูต่อว่ามันเป็นการล็อกสเปกลิฟต์หรือไม่ เพื่อว่าต้องเป็นยี่ห้อนี้เท่านั้น หรือลิฟต์มันแก้ไขอะไรไม่ได้เลย หรือเพราะสาเหตุใดกันแน่ที่ทำให้ลดไม่ได้
นายวิระ เผยด้วยว่า สำหรับเรื่องการเซ็นชื่อรับรองในเอกสารการแก้ไขแบบ ตนให้ความเห็นว่า หากเป็นงานสถาปัตย์จะต้องมีวุฒิสถาปนิกเป็นผู้เซ็นรับรองด้วย แต่ถ้าเป็นงานโครงสร้างจะต้องเป็นวิศวกรผู้ควบคุมงาน ตามข้อกำหนดของ สตง. ระบุว่า แบบที่ผู้ออกแบบรับรองนั้น ให้รับรองร่วมโดยผู้ออกแบบควบคุมงาน (กิจการร่วมค้า PKW) ฉะนั้น ถ้าผู้ออกแบบโอเค ทางกิจการร่วมค้า PKW จึงต้องหาวุฒิวิศวกรมาตรวจแบบ เพราะผู้ออกแบบคือคนตรวจรอบแรก แล้วถ้าผู้ออกแบบตรวจรอบแรกโอเคก็ส่งให้มีการแก้ไข แต่ก่อนที่จะส่งให้ผู้รับเหมาก่อสร้าง ก็ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดเงื่อนไขของ สตง. ว่าแบบทุกครั้งก่อนจะส่งให้ผู้รับเหมา ต้องหาวุฒิมาตรวจแบบก่อน
นายวิระ เผยต่อว่า ส่วนเรื่องวิศวกรรมโครงสร้าง คือเรื่องฐานราก ทำไมด้านหลังของตึก สตง.ทรุดจุดแรก ซึ่งมันมีการแก้ไขตัวฐานรากเพิ่มเติม จากแบบตามสัญญา เพราะมันมี 2 แบบ คือแบบตามสัญญา และแบบแก้ไข แต่ทางผู้รับเหมาก็ทำให้มันดีขึ้น ทั้งที่ไม่ใช่หน้าที่ของเขา นอกจากนี้ แบบในการเสริมเหล็กผนังอาคาร 3 ชั้นของลานจอดรถ สตง. (มีการใส่เหล็กทุกเสา ไม่มีแตก) และการเสริมเหล็กอาคาร 30 ชั้น (เหล็กเล็ก) มันมีความแตกต่าง อาจเป็นผู้ออกแบบคนละคน ซึ่งพบว่าเป็นคนละคนจริง ๆ แต่สามารถทำได้ เพราะคนละตึกกัน อย่างไรก็ตาม มันคือความบกพร่องอย่างหนึ่งของอาคาร 30 ชั้น ต้องดูว่าการเสริมเหล็กถูกต้องหรือไม่ ก็ต้องไปดูที่การคำนวณ
“ส่วนที่ว่าทำไมอาคารมันจึงเอียงไปอีกฝั่ง สไลด์ไปข้างหลัง ซึ่งก็จะสอดคล้องกับปล่องลิฟต์มัดนั้นมันอ่อน อาคารเลยไม่เซหรือทรุดลงตรง ๆ และหากดูตามภาพในไซต์งาน จะมีเสา 5 ต้นของชั้น 19 เรียงในหลุมลิฟต์เป็นแถว เรียงปักทิ่มดิน นี่คือบทพิสูจน์ว่าอาคารมันสไลด์ไปข้างหลัง จึงทำให้เสาชุดนี้ขาด ขาดแล้วก็ไหลตรงๆ เพราะปล่องลิฟต์โล่ง เสาจึงเรียงตามภาพ“ นายวิระ ระบุ
รายงานข่าวแจ้งว่า พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เตรียมเรียกประชุมคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ 32/2568 ติดตามความคืบหน้าทางคดีในวันที่ 6 พ.ค. เวลา 13.00 น. ที่ อาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ เพื่อกำหนดกรอบเวลาในการสรุปสำนวนคดีส่งให้พนักงานอัยการคดีพิเศษ ภายในระยะเวลาการฝากขังผู้ต้องหากลุ่มแรก (3 นอมินีไทย และนายชวนหลิง จาง) ในช่วงผัดฝากขังที่ 1-3 เพื่อให้อัยการได้มีเวลาตรวจสอบสำนวนก่อนส่งไปยังศาลอาญารัชดาภิเษก