xs
xsm
sm
md
lg

สอบ "สมชาย" วิศวกรโครงการ PKW ลากยาว 8 ชม. รับรู้แก้ไขแบบตึก สตง. ทั้ง 9 ครั้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



MGR Online - ดีเอสไอ เรียกสอบปากคำ ”สมชาย ทรัพย์เย็น“ วิศวกรผู้จัดการ PKW ควบคุมงานก่อสร้างตึก สตง. รับรู้งานแก้แบบทั้ง 9 ฉบับ ทุกฝ่ายร่วมตัดสินใจ

วันนี้ (3 พ.ค.) แหล่งข่าวกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยผลการสอบสวนปากคำ “นายสมชาย ทรัพย์เย็น“ วิศวกรผู้จัดการโครงการ ภายใต้กิจการร่วมค้า PKW ในฐานะผู้ควบคุมงาน ก่อสร้างอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ที่เกิดพังถล่ม ว่า วานนี้ (2 พ.ค.) พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ได้มีการสอบปากคำ นายสมชาย ตั้งแต่เวลา 13.30 น. จนถึงเวลา 21.00 น. เป็นเวลากว่า 8 ชม. โดยคำให้การถือเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อการสอบสวนในคดีอย่างมาก โดยอธิบายตามหลักการทำงานก่อสร้างโครงการต่างๆ ย่อมประกอบด้วยผู้เกี่ยวข้อง 4 กลุ่ม คือ 1.เจ้าของงาน 2.ผู้ออกแบบ 3.ผู้รับเหมาก่อสร้าง และ 4.ผู้ควบคุมงาน ดังนั้น ผู้รับเหมาก่อสร้างและผู้ควบคุมงาน ย่อมมีการพูดคุยประสานงานกัน เพราะถ้าหน้างานการก่อสร้างมีปัญหาอะไร ก็ต้องแจ้งมายังผู้ควบคุมงาน

แหล่งข่าวดีเอสไอ กล่าวว่า ส่วนการเซ็นชื่อลงนามในเอกสารการควบคุมงานก่อสร้าง (แก้แบบตึก สตง.) เป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ แต่ก็ไม่ได้ถือเป็นคนตัดสินใจทั้งหมด อีกทั้งการจะแก้ไขแบบได้ ต้องมีการถูกตรวจก่อนในการออกแบบเพื่อจะนำไปสู่การก่อสร้าง ซึ่งก็ต้องเสนอตามลำดับชั้น ทางผู้ว่าจ้างเองก็ต้องรับทราบเพื่อให้การอนุมัติ จึงได้มีการก่อสร้างตามแบบที่ปรับแก้ไขให้เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมาย และระหว่างการก่อสร้างนั้นต้องมีการควบคุมงานเพื่อให้การก่อสร้างเป็นไปตามแบบที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ นายสมชาย ยอมรับว่า รู้รายละเอียดเอกสารแก้ไขแบบทั้ง 9 ฉบับ เพราะเป็นสิ่งที่ต้องรับทราบตามการทำงานอยู่แล้ว

“สำหรับการแก้ไขผนังปล่องลิฟต์ (Core Lift) และผนังรับแรงเฉือน (Core Wall) หรือส่วนใดก็ตาม นายสมชาย ให้ข้อมูลว่า ทุกคนภายใต้สัญญาโครงการฯ ต้องรับรู้รับทราบหมด เพราะมันเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับตัวกฎหมาย อาทิ กรณีการปรับแก้ผนังปล่องลิฟต์บางจุดเกิดขึ้นในช่วงการบริหารสัญญาระหว่างดำเนินการก่อสร้าง โดยผู้รับจ้างก่อสร้างพบว่าแบบงานโครงสร้างขัดกับแบบงานสถาปัตยกรรมภายใน กล่าวคือ ขนาดของผนังปล่องลิฟต์บริเวณทางเดินเมื่อรวมกับวัสดุตกแต่งตามแบบ (หินแกรนิต) ทำให้ทางเดินมีความกว้างไม่เป็นไปตามกฎกระทรวงฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 จึงต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบของทางราชการ จึงเป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยกันหลายฝ่าย ต้องร่วมกันพิจารณา มิใช่เพียงใครคนใดคนหนึ่งมีอำนาจตัดสินใจทั้งหมด“

แหล่งข่าวดีเอสไอ เผยด้วยว่า กรณีของนายสมชาย มีเอกสารเกี่ยวข้องจำนวนมากที่ต้องลงนามเซ็นรับรอง ไม่เพียงแต่เอกสารการปรับแก้แบบ แต่ด้วยความที่เจ้าตัว คือ ผู้จัดการโครงการก่อสร้าง จึงจะมีพนักงานคอยเตรียมเอกสารให้เซ็น อาทิ แบบรายงานการควบคุมงานก่อสร้างประจำสัปดาห์ และแบบรายงานการควบคุมงานก่อสร้างประจำเดือน เป็นต้น

ทั้งนี้ กรณีของนายสมชาย ทรัพย์เย็น และนายสมเกียรติ ชูแสงสุข ประธานคลินิกช่าง วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ซึ่งถูกแอบอ้างชื่อและปลอมลายเซ็นเป็นผู้ควบคุมงานตึก สตง. ภายใต้กิจการร่วมค้า PKW นั้น นายสมชายได้ให้การว่า ไม่เคยเจอนายสมเกียรติ ที่ไซต์งานก่อสร้าง อีกทั้งระหว่างบทบาทของนายสมชาย กับนายสมเกียรติ หากดูตามตำแหน่งในเอกสาร ก็ดูแลรับผิดชอบกันคนละส่วน เพราะนายสมชาย คือ ผู้จัดการโครงการ หากมีปัญหาใดในระหว่างการก่อสร้างก็ต้องเข้าไปตรวจสอบ
กำลังโหลดความคิดเห็น