xs
xsm
sm
md
lg

คุก คุก คุก TONY GO TO JAIL!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ถือเป็น “สัญญาณพิเศษ” ที่ไม่ธรรมดา สำหรับการที่ “ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” มีมติเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2568 ว่า ไม่รับคำร้องของ “นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์” ที่ยื่นขอให้ไต่สวนกรณีกรมราชทัณฑ์อนุญาตให้ “นายทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งถูกตัดสินจำคุก 8 ปี แต่ได้รับการลดโทษเหลือ 1 ปี ออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เข้ารับการรักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล ผิดขั้นตอนกฎหมายหรือไม่ แต่ตัดสินใจใช้อำนาจไต่สวนเอง

ที่ใช้คำว่า เป็น “สัญญาณพิเศษที่ไม่ธรรมดา” สำหรับนิยายลวงโลกเรื่อง “ทักษิณกับคุกวีไอพีชั้น 14 ของเขา“ ก็เพราะแสดงว่า มีประเด็นทางกฎหมายที่จำเป็นต้องกระจ่างและสิ้นกระแสความ เนื่องจากมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก โดยศาลมีคำวินิจฉัยเอาไว้ชัดเจนว่า “เมื่อความปรากฏว่า อาจมีการบังคับตามทำพิพากษาที่ไม่เป็นไปตามหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดของศาลนี้ ศาลย่อมมีอำนาจไต่สวนและมีคำสั่งตามที่เห็นสมควร”

ขณะเดียวกันก็ เห็นควรส่งสำเนาคำร้องให้โจทก์และจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ อม.4/2551 จำเลยที่ 1 ในคดีหมายเลขแดงที่ อม.10/2556 และจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ อม.5/2551 ของศาลนี้ แล้วโจทก์และจำเลยดังกล่าวแจ้งต่อตามว่าข้อเท็จจริง ตามที่กล่าวอ้างในคำร้อง หรือไม่ อย่างไร กับสำเนาคำร้องให้ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณาของศาลว่าการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบังคับโทษจำคุกแก่จำเลยเป็นไปตามหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดของศาล หรือไม่ อย่างไร ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. มาตรา โดยให้โจทก์ จำเลยดังกล่าว ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมทานคร อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ แจ้งให้ศาลทราบ พร้อมกับแสดงหลักฐานที่เกี่ยวข้องภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่งศาล

ทั้งนี้ ศาลมีคำสั่งให้นัดพร้อมหรือนัดไต่สวนในวันที่ 13 มิถุนายน 2568 เวลา 09.30 น.

การที่ศาลฎีกาฯ ตัดสินใจรับพิจารณาคดีด้วยตนเองถือเป็น “หมุดหมาย” สำคัญ โดยประเด็นที่สำคัญที่จะต้องพิสูจน์ให้สิ้นกระแสความก็คือ “ทักษิณ” นั้น “ป่วยจริง” หรือ “ป่วยทิพย์” ทั้งนี้ หากดูแง่มุมพลิกเหลี่ยมกฎหมายต้องบอกว่า “รอดยาก” ด้วยประเด็นที่ตั้งว่า “กรมราชทัณฑ์” อนุญาตให้ “ทักษิณ” ออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เข้ารับการรักษาตัวที่ โรงพยาบาลตำรวจ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 89, มาตรา 89/2 (1) (2) และมาตรา 246
โดยเฉพาะ “มาตรา 246” ที่ระบุว่า ต้องได้รับอนุญาตจากศาลเสียก่อน

ที่ต้องขีดเส้นใต้ก็คือความชัดเจนของกฎหมายที่ระบุเงื่อนไขเอาไว้ชัดเจน กล่าวคือ พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ 2560 มาตรา 55 ที่อ้างว่า

ใช้ส่งตัว “ทักษิณ” ไปรักษานอกเรือนจำนั้น เขียนไว้ว่า สำหรับคนมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิตและโรคติดต่อ เช่นเดียวกันกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษานอกเรือนจำ พ.ศ.2563 ซึ่งออกตามมาตรา 55 ก็ระบุไว้เช่นเดียวกัน

ดังนั้น เมื่อ “ทักษิณ” ไม่ได้ป่วยด้วย 2 โรคนี้จะมาอ้างใช้มาตรานี้หรือกฎกระทรวงนี้ไม่ได้

หากยังจำกันได้กรณี “ทักษิณ” ที่ป่วยตั้งแต่ยังไม่ข้ามคืนแรกในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร สถานที่คุมขัง จนต้องส่งตัวไปที่ โรงพยาบาลตำรวจ กลางดึก และอยู่โยงตลอด 180 วันจนพ้นโทษกันเลยทีเดียว

ครั้งนั้นมีการออกแถลงการณ์โดย กรมราชทัณฑ์ ระบุตอนหนึ่งว่า เนื่องจากผู้ต้องขังยังคงมีอาการเจ็บป่วยที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดโดยแพทย์ผู้ทำการรักษาเฉพาะทาง และหากเกิดภาวะแทรกซ้อน หรืออาการที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตจะได้ดำเนินการรักษาอย่างทันท่วงที กรมราชทัณฑ์ ได้ดำเนินการปฏิบัติตามกฎกระทรวงฯ จึงรายงานให้รัฐมนตรีทราบต่อไป ซึ่งเป็นไปตามกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563


ตามที่อ้างถึงกฎกระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ มีอำนาจในการส่งตัวผู้ต้องขังที่ป่วยเพื่อรักษาไม่ให้วิกฤตหรือเสียชีวิตก็จริง แต่ “จุดตาย” อยู่ตรงการพักรักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ยาวถึง 6 เดือนหรือ 180 วัน สอดคล้องกับอาการป่วยของ “ทักษิณ” หรือไม่

เพราะในกฎกระทรวง ระบุประมาณว่า ให้ส่งตัวไปรักษาที่สถานพยาบาลอื่นได้ หากรักษาในสถานพยาบาลของเรือนจำแล้วอาการไม่ทุเลา เท่ากับว่าหากอาการทุเลาอยู่ในข่ายที่ ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ หรือหายดีแล้ว ก็ต้องส่งตัวกลับมาคุมขังในเรือนจำ

หากอาการป่วยไม่ทุเลา จนไม่ถูกส่งกลับนอนค้างคืนที่เรือนจำแม้แต่วันเดียวแบบที่เกิดขึ้น ก็ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า มีอาการป่วยร้ายแรงอันตรายถึงแก่ชีวิตตลอด 180 วัน

ตรงนี้มีข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ที่ “ขัดแย้ง” กับที่กล่าวอ้าง ทั้งข้อสังเกตเรื่องสีผมดำขลับทุกครั้งที่ “ทักษิณ” ปรากฎต่อสาธารณชน หรือนอนบนเตียงผู้ป่วยถูกเข็นไปเอกซเรย์ หรือผ่าตัด ก็ดูจะไม่วิกฤตอย่างที่พยายามโพนทะนา

จนเป็นที่มาของข้อครหา “ป่วยทิพย์” ตลอดจนเสียงลือเสียงเล่าว่า บางครั้งดูเจ้าตัวยังแข็งแรงฟิตเปรี๊ยะกว่าคนที่ “มุด” เข้าไปเยี่ยมเสียอีก และตามปากคำของ “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์” ผู้อ้างว่ามีโอกาสเข้าไปที่ชั้น 14 ถึง 2 ครั้ง ก็เป็นการนั่งพูดคุยสบายๆ เหมือนคนปกติ

กระทั่งวันได้รับการพักโทษ แม้จะปรากฎตัวด้วยสีหน้าสีตาเป็นกังวล กับสายคล้องพยุงแขน และเฝือกดามคอ คล้ายคนป่วยจริงๆ ก็ตาม แต่ก็ถูกจับจ้องว่าเป็นแค่ “พร็อพ” ประดับให้ “ดูเหมือน” เท่านั้น จนเสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังกระหึ่ม

กระทั่งโฆษกพรรคเพื่อไทยต้องออกมาแถลงแทนหัวหน้าพรรค ผู้มีศักดิ์เป็นลูกสาวคนสุดท้องของ “ทักษิณ” ว่า ทักษิณเคยป่วยเป็นโควิด-19 ถึง 3 รอบ จนมีอาการลองโควิดที่รุมเร้ามาตลอด เพราะมีอายุ 70 กว่าปีแล้ว และยังเป็นโรคกระดูกคอเสื่อม และเส้นเอ็นเปื่อยยุ่ย จึงต้องสวมเฝือกดามคอ และสายคล้องพยุงแขน

ทว่า ก็มีซีน “ช็อตฟีล” ในอีกไม่กี่วันต่อมา “ทักษิณ” เดินทางกลับไปที่บ้านเกิด จ.เชียงใหม่พร้อมครอบครัวลูกๆ หลานๆ ปรากฎเฝือกดามคอ และสายคล้องพยุงแขน ที่สวมมาจาก กทม.ถูกถอดทิ้งกลางทริป แบบไม่แคร์ “เอ็นเปื่อยยุ่ย” เสียอย่างนั้น

แถมปีเศษที่ผ่าน หลังได้รับการพักโทษ ก็เห็นๆ กันว่า “ทักษิณ” ไม่คิดหลบหลังฉาก ไม่แวะไปเลี้ยงหลาน แล้วยังอหังการ์โชว์ “ฟิตปั๋ง” ราวกับเป็น “นายกฯ ตัวจริง” อีก เพิ่มน้ำหนักว่า ไม่เคยเฉียดความตายอะไรมาก่อนเลย

ดังนั้น “จุดตาย-จุดสลบ” ของเรื่องก็อยู่ที่อาการ “ป่วยทิพย์“ ที่ส่งผลให้การพักอยู่ที่ โรงพยาบาลตำรวจ ตลอด 180 วันของ ”ทักษิณ“ ไม่นับได้ว่าถูกจำคุกตามคำพิพากษา จึงต้องนำตัวมารับโทษตาม “หมายจำคุก” ใหม่อีกครั้งให้ครบ 180 วัน

แน่นอน “จำเลย” ที่จะต้องตอบคำถามในเรื่องนี้ และจะต้องได้รับการไต่สวนตามที่ศาลฎีกาฯ นัดหมายไต่สวนมีอย่างน้อย 5 ปากคือ “ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ” รวมถึงโจทย์คือ “สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)” กับจำเลยคือ “ทักษิณ ชินวัตร”

“ทักษิณ” ต้องมาระทึกขวัญกับประเด็น “คุกวีไอพีชั้น 14” อีกครั้ง ทั้งๆที่ ที่ผ่านมา ไม่เคยระคายผิว หรือสะเทือนความรู้สึกตัว “นายใหญ่รัฐบาล” เลย เพราะมั่นใจใน “ดีลลึก-ดีลลับ” ว่ายังคงคุ้มกะลาหัวอยู่ เพราะผลการไต่สวนของ “ศาลนักการเมือง” ในคดี “ทักษิณ ชั้น 14” นี้ มีมุมออกแค่ 2 หน้า ไม่หัวก็ก้อย ไม่ซ้ายก็ขวา ไม่เจ๊งก็เจี๊ยะ ไม่มีมุมออก “เจ๊า” ให้เสียอารมณ์

หน้าแรกคือ “ทักษิณ” ยังคงตีตีตราเป็น “อดีตนักโทษเด็ดขาดชาย” สามารถ “สทร.” ไปทั่วได้เหมือนตอนนี้

หรืออีกทาง ศาลสั่งบังคับคดีตามที่ศาลเคยพิพากษาจำคุก 8 ปี ก่อนได้รับการอภัยลดโทษเหลือจำคุก 1 ปี และเข้าเกณฑ์พักโทษ เนื่องจากอายุเกิน 70 ปี เหลือโทษจำคุก 6 เดือน ตาม ”หมายจำคุก“ ซึ่ง “กรมราชทัณฑ์” ต้องปฏิบัติตาม ส่งผลให้ต้องตาม “ทักษิณ” กลับไปติดยศ “นักโทษเด็ดขาดชาย” และเข้าไปรับโทษจำคุกแบบ “ขังจริง” ไม่ “ติงนัง” หาเหตุออกไปนอนนอกคุก 180 วัน ไม่แวะกลับมาเลยแบบหนก่อนอีก

และที่น่าจะทำให้ “ทักษิณ” กินไม่ได้ นอนไม่หลับ อีกเรื่อง ก็คือ กรณีการสอบสวนจริยธรรมทางวิชาชีพเวชกรรมของแพทย์รพ.ราชทัณฑ์และแพทย์ รพ.ตำรวจ กรณีการพักรักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ

วงในแพทยสภาบอกว่า ผลสอบเป็นไปตามที่สังคมคาดหวัง และจะเข้าที่ประชุมกรรมการแพทยสภาชุดใหญ่ในสัปดาห์หน้า ซึ่งศาลน่าจะใช้หยิบยกมาพิจารณาได้ เพราะศาลเป็นระบบไต่สวน แสวงหาข้อเท็จจริงเองได้

“รศ. ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต” ผู้อำนวยการหลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา คณะพัฒนาสังคมและยุทธศาสตร์การบริหาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) วิเคราะห์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเอาไว้ว่า คำสั่งของศาลฎีกาฯ ที่ไม่รับคำร้องของนายชาญชัย แต่ตัดสินใจไต่สวนเอง สร้างผลกระทบต่อนายทักษิณทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ในระยะสั้น นายทักษิณได้รับประโยชน์จากการที่คำร้องของนายชาญชัยถูกยกเลิก และมีเวลาเตรียมตัวรับมือการไต่สวนในวันที่ 13 มิถุนายน 2568

อย่างไรก็ตาม การที่ศาลตัดสินใจไต่สวนเองแสดงถึงความจริงจังในการตรวจสอบกระบวนการบังคับโทษ ซึ่งอาจนำไปสู่ความเสี่ยงทางกฎหมายและการเมืองสำหรับนายทักษิณในอนาคต ผลกระทบที่สำคัญจะขึ้นอยู่กับผลการไต่สวนและคำชี้แจงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจส่งผลต่อสถานะส่วนตัว ภาพลักษณ์ทางการเมือง และความน่าเชื่อถือของระบบยุติธรรมในประเทศไทย




ขณะที่ “นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม” ประธานพรรคไทยภักดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า การที่ศาลฎีกาขยับลงมาดูแลเอง ปัญหานี้น่าจะสยบความเคลื่อนไหวทุกอย่างได้ เพราะข้อสงสัยของประชาชนว่า มีการเอื้อประโยชน์ให้นายทักษิณไม่ต้องติดคุกนั้น คาใจประชาชนมาตลอด ซึ่งประชาชนก็ต้องการความจริง ต้องการการบังคับใช้กฎหมายที่เท่าเทียม ไม่ต้องการให้ใครใช้อภิสิทธิ์เหนือคนอื่น กฏหมายต้องเป็นกฎหมาย

“วันนี้ไม่ว่าป.ป.ช.และแพทยสภา จะมีผลออกมาอย่างไร ก็ไม่มีความหมาย เพราะศาลฎีกา เรียกหลักฐานไต่สวนเอง เพียงแต่อาจจะมีผลต่อความน่าเชื่อถือขององค์กรเหล่านี้เท่านั้น เพราะทุกอย่างขึ้นถึงศาลฎีกาแล้ว”

นพ.วรงค์แสดงความคิดเห็นด้วยว่า ถ้าสมมติว่าผลออกมาว่า นายทักษิณไม่ได้ป่วยวิกฤติจนต้องส่งตัว หรือถือว่าไม่ได้ติดคุกจริง หรือไม่มีการบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาเรื่องนี้น่าจะขยายไปสู่ผู้ให้ความร่วมมือ ทั้งแพทย์ที่เกี่ยวข้องของรพ.ตำรวจ เจ้าหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ อาจจะโยงไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รวมถึง “นางสาวแพทองธาร ชินวัตร” ในฐานะนายกรัฐมนตรีด้วย เพราะมีการร้องเรียนแต่ไม่ได้ดำเนินการใดๆ ซึ่งก็สุ่มเสี่ยงที่จะมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 ด้วย

ขณะที่ “ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล" อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า คดีนี้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุก 8ปี นายทักษิณ ได้รับการอภัยลดโทษเหลือ 1 ปี และเข้าเกณฑ์พักโทษเพราะอายุ 70ปี ทำให้เหลือโทษจำคุก 6 เดือน ซึ่ง 6 เดือนที่เหลืออยู่ต้องติดคุก ตามหมายจำคุก โดยกรมราชทัณฑ์จะต้องปฏิบัติตามหมายจำคุก แต่ที่ถูกร้องเพราะตลอดเวลาที่จะต้องถูกจำคุกนายทักษิณไม่ได้อยู่ในเรือนจำ ไปพักรักษาตัวชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งตามกฎกระทรวงให้อำนาจอธิบดีกรมราชทัณฑ์ในการอนุญาตให้ผู้ต้องขัง ที่เจ็บป่วยถึงขนาดที่สถานพยาบาลของเรือนจำรักษาไม่ได้

ทั้งนี้ การส่งตัวออกไปถือเป็นเรื่องหนึ่ง แต่เรื่องสำคัญคือการที่นายทักษิณพักรักษาตัวอยู่ตลอด 6 เดือน ซึ่งข้อความตามกฎกระทรวง ระบุว่า ให้ส่งตัวไปรักษาได้หากการรักษาในสถานพยาบาลของเรือนจำแล้วอาการจะไม่ทุเลา ความหมายคือถ้าอาการทุเลาแล้ว คนที่ส่งตัวออกไปข้างนอกจะต้องส่งตัวกลับมาเรือนจำ ดังนั้นหากมีอาการอยู่ตลอด โดยไม่ทุเลาลงทั้ง 180 วัน เรื่องนี้ก็จบ ถือว่ากรมราชทัณฑ์ไม่ได้ฝ่าฝืนหมายจำคุก

ดังนั้นเรื่องนี้เป็นประเด็นที่กรมราชทัณฑ์และแพทย์โรงพยาบาลตำรวจจะต้องพิสูจน์ ให้ศาลเชื่อว่า นายทักษิณป่วยตลอดทั้ง 180 วัน จึงไม่สามารถส่งตัวกลับไปยังเรือนจำได้ แต่หากไม่สามารถทำให้ศาลเชื่อได้ คนที่ตกที่นั่งลำบากคือ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ในฐานะผู้อนุญาต รวมถึงแพทย์เจ้าของไข้ ซึ่งหากถึงขั้นนั้นคนเดือดร้อนคนต่อไปคือนายทักษิณเอง และจะกระทบต่อการเมืองที่นายทักษิณเข้ามามีบทบาท

แต่ในทางกลับกันก็จะเป็นผลดีกับนายทักษิณหากนายทักษิณป่วยจริง แล้วที่ผ่านมา เป็นความบกพร่องของกรมราชทัณฑ์กับโรงพยาบาลตำรวจ ที่ไม่สามารถทำให้คนเชื่อได้ ครั้งนี้ก็จะได้เป็นการพิสูจน์เพื่อหมดข้อครหา

“เรื่องนี้เป็นได้ทั้งสองทางกับนายทักษิณ คือเป็นได้ทั้งคุณและโทษ หากป่วยจริง เรื่องนี้ก็จบ แต่หากไม่ได้เป็นอย่างนั้นก็จะเป็นโทษกับนายทักษิณ”อาจารย์ปริญญากล่าว

ดังนั้น ระยะเวลาเดือนเศษๆ นับจากนี้ จึงเป็นห้วงเวลาสำคัญสำหรับชะตากรรมของ “ทักษิณ ชินวัตร” ว่าจะออกหัวออกก้อย ตลอดรวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวกจนได้รับฉายาว่า “นักโทษเทวดา”

“ดีล” จะดำเนินต่อไปหรือจะหยุดอยู่เพียงแค่วันที่ 13 มิถุนายน 2568

งานนี้ บอกได้เลยว่า “อย่ากระพริบตา” เกิดสภาวะ “ฝุ่นตลบ” และทุกคนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องนี้หนาวๆ ร้อนๆ จนอาจนอนไม่หลับไปอีกหลายวันอย่างแน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น