นายกรัฐมนตรี ปฎิเสธตอบคำถาม ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ขณะที่กิจกรรมเนื่องในวันแรงงานแห่งชาติคึกคัก รมว.แรงงาน รับข้อเรียกร้องจากผู้นำแรงงาน 9 ข้อ ส่วนพรรคประชาชนรณรงค์ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน "ทำงาน พักผ่อน ใช้ชีวิต" สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ร้องปรับค่าจ้าง 492 บาท คัดค้าน พ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์
วันนี้ (1 พ.ค.) น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ปฏิเสธการให้สัมภาษณ์ ถึงกรณีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท เป็นข่าวดีให้กับแรงงาน เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ โดยนายกรัฐมนตรีได้หันไปรับไหว้ อสม. ที่มารอส่งขึ้นรถกลับทำเนียบรัฐบาล หลังเสร็จภารกิจเปิดงานโครงการบริการทุกช่วงวัย ด้วยความห่วงใยจากกระทรวงสาธารณสุข “30 บาท รักษาทุกที่ อสม.มั่นคง สาธารณสุขเข้มแข็ง เพื่อคนไทยห่างไกล NCDs” เขตสุขภาพที่ 4 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
ด้านสภาองค์การลูกจ้าง 20 สภา สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย และศูนย์ประสานแรงงานนอกระบบ ร่วมกับกระทรวงแรงงาน จัดกิจกรรมวันแรงงานแห่งชาติ โดยจัดพิธีถวายภัตตาหารเช้าแด่พระภิกษุสงฆ์เพื่อเสริมสิริมงคลให้แก่พี่น้องแรงงาน จากนั้นตั้งขบวนที่แยก จปร. ถนนราชดำเนินนอก เพื่อไปเวทีหลักที่ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร รวมระยะทางกว่า 1.4 กิโลเมตร
โดยกิจกรรมในจุดนี้มี นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน เป็นตัวแทนนายกฯ รับข้อเรียกร้องจากผู้นำแรงงาน 9 ข้อ เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นข้อเรียกร้องเดิมจากปีก่อน เช่น รัฐบาลต้องเร่งรัดการรับรองอนุสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิ์ในการรวมตัว และการร่วมเจรจาต่อรอง ให้รัฐบาลตรากฎหมายให้มีการจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยง เพื่อเป็นหลักประกันในการทำงานของลูกจ้าง ให้รัฐบาลปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันสังคม เช่น ปรับฐานการรับเงินบำนาญ ให้มีรายรับไม่น้อยกว่า 5,000 บาท เมื่อผู้ประกันตนรับบำนาญแล้ว ให้คงสิทธิรักษาพยาบาลตลอดชีวิต นายพิพัฒน์ เน้นย้ำว่า รัฐบาลดำเนินนโยบายมุ่งเน้นทุกคนต้องมีงานทำ มีทักษะ มีหลักประกันและมีคุณภาพชีวิตที่ดี ผ่านการดำเนินงานต่างๆ ของกระทรวงแรงงาน ยืนยันว่าข้อเรียกร้องต่างๆ ที่นำเสนอรัฐบาลพร้อมรับฟังและให้ความสำคัญในการพิจารณาขับเคลื่อนอย่างจริงจัง
ขณะที่บริเวณหน้ากระทรวงคมนาคม ทางพรรคประชาชน นำกลุ่มแรงงานร่วมขบวนทำกิจกรรมวันแรงงาน นำโดยนายเซีย จำปาทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพื่อรณรงค์ร่าง พ.ร.บ คุ้มครองแรงงานฉบับพรรคประชาชน แบ่งเป็น 3 ส่วนคือ ทำงาน พักผ่อน ใช้ชีวิต เช่น ปรับเวลาทำงานไม่เกิน 40 วันต่อสัปดาห์ เพิ่มวันหยุดประจำปีจาก 6 วันเป็น 10 วัน หลังจากนั้นก็ไปร่วมขบวนที่ลานคนเมือง โดยขอให้รัฐบาลรักษาสัญญาที่จะดูแลคุณภาพชีวิตของแรงงานให้ดีขึ้น โดยเฉพาะการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามที่หาเสียงไว้ และการประกาศว่าจะปรับขึ้นค่าจ้าง 400 บาท ควรที่จะปรับขึ้นให้เท่ากันทั้งประเทศ ให้สอดคล้องกับค่าครองชีพ มากกว่าการปรับขึ้นบางกลุ่มอาชีพ บางจังหวัด
ส่วนที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทางสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) จัดกิจกรรมวันแรงงาน ชูป้ายข้อความ พร้อมเครื่องขยายเสียง เดินขบวนไปยื่นข้อเรียกร้องถึงนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อติดตามทวงถามข้อเรียกร้องเดิมที่ยังคงค้างอยู่ 15 ข้อ และข้อเรียกร้องใหม่เร่งด่วน 6 ข้อ อาทิ ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 492 บาทเท่ากันทั่วประเทศ รัฐต้องลดรายจ่ายของประชาชน ควบคุมราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ให้สิทธิ์ลาคลอด 180 วันตามมาตรฐานสากล และคัดค้าน พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจร หรือเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์