ทรัมป์เซ็นคำสั่งผ่อนคลายภาษีศุลกากรที่เรียกเก็บจากยานยนต์นำเข้า ขณะที่รัฐมนตรีพาณิชย์มะกันคุย เจรจาต่อรองจนปิดดีลได้แล้วกับประเทศใหญ่รายหนึ่ง ซึ่งต่อมาประมุขทำเนียบขาวบอกใบ้ว่า อาจเป็นอินเดีย ในอีกด้านหนึ่ง แหล่งข่าวอ้างจีนกำลังซุ่มร่างรายชื่อสินค้าอเมริกันที่อาจได้รับการยกเว้นภาษีตอบโต้ 125% รวมทั้งแจ้งให้บริษัทต่าง ๆ ทราบอย่างเงียบๆ ทั้งนี้เพื่อบรรเทาผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่ง
ในวันอังคาร (29 เม.ย.) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ลงนามคำสั่งฝ่ายบริหารเพื่อจำกัดผลกระทบจากการประกาศขึ้นภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ซึ่งพวกผู้ผลิตรถโอดครวญว่าทำให้พวกตนต้องจ่ายซ้ำซ้อน รวมทั้งยังให้มีระยะเวลาผ่อนผัน 2 ปี สำหรับที่อุตสาหกรรมนี้จะย้ายห่วงโซ่อุปทานกลับสู่อเมริกา และลดการพึ่งพิงการนำเข้ารถตลอดจนชิ้นส่วนรถยนต์จากต่างชาติ
ยานยนต์ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนักหน่วงที่สุดจากการขึ้นภาษีศุลกากรซึ่งเรียกเก็บจากสินค้านำเข้าหลายระลอกในยุคทรัมป์ 2.0 โดยนอกเหนือจากภาษี 25% ที่เก็บจากพวกรถยนต์นำเข้าแล้ว ในความเป็นจริงผู้ผลิตรถในสหรัฐฯยังต้องเสียภาษีศุลกากรอัตรา 25% สำหรับเหล็กกล้าและอะลูมิเนียมที่นำเข้าจากต่างประเทศอีก โดยนี่ยังไม่รวมภาษีที่จะเรียกเก็บจากพวกชิ้นส่วนรถยนต์นำเข้า ซึ่งคาดกันว่า จะบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค.
ภายใต้คำสั่งฝ่ายบริหารที่ทรัมป์ลงนามในครั้งนี้ บริษัทรถจะต้องจ่ายภาษีศุลกากรสำหรับรถยนต์นำเข้า หรือสำหรับเหล็กกล้าและอะลูมิเนียมนำเข้า เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น ขึ้นอยู่กับว่า ภาษีของตัวไหนสูงกว่ากัน
นอกจากนั้นบริษัทที่นำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์ไปประกอบในอเมริกา ยังสามารถขอชดเชยจากรัฐบาล ได้อัตรา 3.75% ของราคารถที่ผู้ผลิตแนะนำในปีแรก และ 2.5% ในปีที่สอง
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์บอกว่า ทางพวกผู้ผลิตรถแจ้งกับคณะบริหารทรัมป์ว่า พวกเขาจะเพิ่มกำลังผลิตในอเมริกามากขึ้น เพื่อตอบแทนสำหรับการผ่อนผันนาน 2 ปีดังกล่าว
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์เตือนว่า แนวทางเช่นนี้ของทรัมป์อาจไม่ประสบความสำเร็จถึงขั้นจูงใจให้มีการลงทุนเพิ่มเป็นพันล้านดอลลาร์อยู่ดี ถ้าอุตสาหกรรมรถยนต์ยังไม่เชื่อว่า ภาษีศุลกากรต่างๆ ที่ทรัมป์ประกาศออกมา จะมีการบังคับใช้ไปได้ตลอดสมัยของคณะบริหารทรัมป์ หรือกระทั่งยืนยาวหลังจากนั้นไปอีก
ปัจจุบัน รถที่ขายในอเมริกามีเพียง 50% เท่านั้นที่ประกอบภายในประเทศ อีก 25% มาจากเม็กซิโกและแคนาดา ที่เหลือจากประเทศอื่นๆ เช่น เยอรมนี ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
แมตต์ บลันต์ ประธานสภานโยบายยานยนต์แห่งอเมริกา ซึ่งเป็นตัวแทนของพวกบริษัทผู้ผลิตรถสหรัฐฯ แสดงความยินดีกับคำสั่งฝ่ายบริหารล่าสุด แต่สำทับว่า จะพิจารณารายละเอียดก่อนเพื่อประเมินว่า มาตรการนี้ช่วยบรรเทาผลกระทบจากภาษีศุลกากร ซึ่งส่งผลต่อผู้ผลิต ห่วงโซ่อุปทาน ตลอดจนผู้บริโภคอเมริกัน ได้มากน้อยแค่ไหน
ด้าน ออโต้ส์ ไดรฟ์ อเมริกา ซึ่งเป็นตัวแทนของโตโยต้า มอเตอร์, โฟล์คสวาเกน, ฮุนได และค่ายรถต่างชาติอีก 9 แห่งในสหรัฐฯ กล่าวว่า คำสั่งของทรัมป์ช่วยผ่อนคลายผลกระทบได้บ้าง แต่ยังต้องดำเนินมาตรการอื่นๆ ไปด้วย เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์อเมริกาให้เติบโตขยายตัว
วันเดียวกันนั้น โฮเวิร์ด ลุตนิก รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์โทรทัศน์ซีเอ็นบีซีว่า สหรัฐฯสามารถทำข้อตกลงกับประเทศใหญ่รายหนึ่งซึ่งอาจมีการผ่อนคลายภาษีศุลกากรเป็นการถาวร แต่ปฏิเสธที่จะเปิดเผยชื่อประเทศดังกล่าว โดยอ้างว่า ต้องรอให้นายกรัฐมนตรีและรัฐสภาของประเทศนั้นอนุมัติข้อตกลงก่อน
อย่างไรก็ตาม ทรัมป์กลับบอกใบ้ระหว่างให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า เขาคิดว่า อเมริกากำลังจะทำข้อตกลงกับอินเดีย
ทั้งนี้ ทรัมป์ตั้งเป้าเจรจาทำข้อตกลงการค้าแบบทวิภาคีกับพวกประเทศคู่ค้าต่างๆ ราว 90 ราย ให้สำเร็จภายในช่วงเวลา 90 วันที่เขาผ่อนผันการภาษีศุลกากรตอบโต้ ซึ่งเขาประกาศไปเมื่อต้นเดือนเมษายน โดยที่คณะบริหารสหรัฐฯอ้างมาตลอดว่า การเจรจากำลังคืบหน้าไปได้ด้วยดี ทว่าจวบจนถึงตอนนี้ ยังคงไม่มีการแถลงอวดความสำเร็จอย่างเป็นทางการใดๆ
ในอีกด้านหนึ่ง สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานโดยอ้างแหล่งข่าววงใน 2 ราย เปิดเผยว่า ปักกิ่งกำลังซุ่มร่างรายชื่อสินค้าอเมริกันที่อาจได้รับการยกเว้นจากการเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ 125% ของจีน และยังกำลังแจ้งให้บริษัทต่างๆ ทราบอย่างเงียบๆ เกี่ยวกับนโยบายนี้
ก่อนหน้านี้ จีนก็ได้อนุญาตให้ยกเว้นการขึ้นภาษีศุลกากรกับผลิตภัณฑ์อเมริกันบางอย่างที่คัดสรรไว้ เป็นต้นว่า ยาบางชนิด ไมโครชิป และเครื่องยนต์อากาศยาน รวมทั้งขอให้บริษัทต่างๆ ระบุสินค้าจำเป็นยิ่งยวดที่พวกเขาต้องการให้ไม่ถูกเรียกเก็บภาษี โดยที่รอยเตอร์ได้รายงานเรื่องนี้เอาไว้ตั้งแต่เมื่อวันศุกร์ (25) ทว่า ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีรายงานว่า จีนกำลังจัดทำรายชื่อสินค้าอเมริกันซึ่งควรได้รับการยกเว้นภาษี ซึ่งมีการเรียกขานกันว่า “บัญชีขาว” (whitelist)
(ที่มา: รอยเตอร์/เอเอฟพี)