xs
xsm
sm
md
lg

"วิศวกร" รับแล้ว 3 ราย ลงลายชื่อใบควบคุมงานตึก สตง. - "ดีเอสไอ" เตรียมเรียก 6 บริษัท ร่วมประมูลโครงการก่อสร้าง พ.ค.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



 "รอง ผอ.กองคดีฮั้วประมูล" เผยเรียกสอบวิศวกรแล้ว 17 ราย รับเป็นลายเซ็นคุมงาน 3 ราย - แย้มเรียก 6 บริษัทให้ข้อมูลประมูลโครงการก่อสร้างตึก สตง.

วันนี้ (30 เม.ย.) ที่ห้องประชุมกองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (กองคดีฮั้วประมูล) นายศุภภางกูร พิชิตกุล รอง ผอ.กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ เปิดเผยความคืบหน้าการเรียกสอบปากคำวิศวกรที่ถูกปลอมลายเซ็น ในคดีพิเศษ 32/2568 (โครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการ สตง.) ว่า วันนี้วิศวกรเข้ามาให้ปากคำรวมทั้งหมด 10 คน โดยมี 3 คนที่ยอมรับว่าเป็นลายเซ็นของตัวเองจริงที่ปรากฏรายชื่อควบคุมงานของกิจการร่วมค้า PKW (พี เอ็น ซิงค์โครไนซ์ จำกัด / ว.และสหายคอนซัลแตนตส์ จำกัด / เคพี คอนซัลแทนส์ แอนด์ แมเนจเม้นท์ จำกัด) ทั้ง 3 คนอ้างว่าไปควบคุมงานและปฏิบัติงานในไซต์งานจริง ซึ่งลายเซ็นของทั้ง 3 คนเป็นลักษณะการเซ็นรายงานประจำสัปดาห์ ส่วน 7 ราย เป็นวิศวกรของบริษัท ว.และสหายฯ ให้การปฏิเสธว่าลายเซ็นที่ปรากฏในเอกสารรายงานประจำสัปดาห์การควบคุมงาน ช่วงปี 2563 ไม่ใช่ลายเซ็นของตนเอง ซึ่งเป็นเอกสารประกอบการเบิกเงินกับ สตง. และไม่เคยเข้าไซต์งานก่อสร้าง สตง. รวมถึงบางคนก็ลาออกจากบริษัทไปแล้ว ซึ่งก็อยู่ในขั้นตอนสอบสวนว่าชื่อและลายเซ็นไปปรากฏในเอกสารวิศวกรควบคุมงานได้อย่างไร โดยจะส่งตรวจพิสูจน์ที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์

นายศุภภางกูร กล่าวว่า สำหรับเจ้าหน้าที่ดีเอสไอได้มีการสุ่มตรวจใบควบคุมรายงานประจำสัปดาห์ โดย 1 คนต่อ 2 สัปดาห์ และทั้ง 3 คนมีลายเซ็นอยู่ในรายงานที่สุ่มออกมา โดยวิศวกรผู้ที่มีลายเซ็นยืนยันว่าจะต้องตรวจสอบก่อนเซ็นทุกครั้ง ถ้าระหว่างการก่อสร้างหากพบความผิดปกติ ก็จะมีการรายงานเป็นขั้นตอนตามลำดับชั้นไปถึงผู้จัดการโครงการ และหากเป็นปัญหาที่กระทบกับโครงสร้าง ผู้จัดการโครงการก็จะรายงานเป็นขั้นตอนไปถึง สตง. ซึ่งแต่ละคนมีหน้าที่ไม่เหมือนกัน อย่างบริษัท ว.และสหายฯ จะดูแลเรื่องของระบบ ส่วนเคพีฯ ดูแลเรื่องโครงสร้าง

“การก่อสร้างต้องรายงานเริ่มต้นจากผู้รับเหมาอยู่แล้ว คือ อิตาเลียนไทยฯ และไชน่า เรลเวย์ฯ ซึ่งเป็นกิจการร่วมค้า เพราะรับดำเนินการก่อสร้าง เขาต้องพบว่ามีปัญหาในการก่อสร้างออกแบบหรือไม่อย่างไร ทั้งนี้ หากเป็นงานหลักๆ ด้านโครงสร้าง จะต้องรายงานตามขั้นตอนจนถึงผู้ออกแบบ แต่หากเป็นปัญหาเล็กๆน้อยๆในการก่อสร้าง สามารถพิจารณาแก้ไขปัญหาตามหน้างานได้เลย“ นายศุภภางกูร กล่าว

นายศุภภางกูร กล่าวอีกว่า กรณีหากวิศวกรรายใดถูกปลอมลายเซ็นจริง ก็จะเป็นความผิดที่ต้องดำเนินคดีโดยพนักงานสอบสวนท้องที่ และก็เป็นความผิดในคดีพิเศษของดีเอสไอได้ เพราะทราบว่าก่อนหน้านี้ได้มีวิศวกรบางส่วนไปแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษกับ สน.ท้องที่ กรณีที่ถูกปลอมลายเซ็นไว้บ้างแล้ว

นายศุภภางกูร ระบุว่า บริษัทผู้ออกแบบตึก สตง. คือ บริษัท ฟอ-รัม อาร์คิเทค และบริษัท ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด ขณะนี้ได้เรียกสอบปากคำพยานบริษัท ไมนฮาร์ทฯ ไปแล้ว ซึ่งรับผิดชอบด้านวิศวกรรม ส่วนบริษัท ฟอ-รัมฯ รับผิดชอบเกี่ยวกับงานสถาปัตยกรรม แต่ในฐานะที่ทั้งคู่เป็นกิจการร่วมค้า ดีเอสไอก็ต้องเชิญ บ.ฟอ-รัมฯ มาให้การเช่นเดียวกัน ส่วนกรณีว่าทั้งสองบริษัทมีอำนาจในการแก้ไขแบบนั้น โดยหลักตามกฎหมาย พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ต้องขออนุญาตจากบริษัทผู้ออกแบบ แต่ตอนนี้มันอยู่ในขั้นตอนการสอบสวนอยู่ว่ามีการดำเนินการตามหลักการหรือไม่

"ส่วนกรณีของนายธีระ วรรธนะทรัพย์ กรรมการบริษัท ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด ที่ยอมรับว่ามีการแก้ไขแบบแปลนปล่องลิฟต์เพื่อให้พื้นทางเดินมีความกว้างมากขึ้น ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 กรณีที่มีการแก้ไขปล่องลิฟต์ โดยลดขนาดจาก 30 ซม. เหลือ 25 ซม. เป็นตามข้อตกลงให้การแก้ไขเป็นการตัดสินใจร่วมกันของ 2 บริษัท คือ บริษัท ฟอ-รัม อาร์คิเทค จำกัด กับบริษัท ไมน์ฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด"

เมื่อถามว่าหากพบว่าการแก้ไขแบบดังกล่าวเป็นต้นเหตุที่ทำให้ตึก สตง.ถล่ม ทั้ง 2 บริษัทจะต้องรับผิดชอบอย่างไร นายศุภภางกูร ระบุว่า เรื่องนี้อยู่ระหว่างการแสวงหาข้อเท็จจริง จึงขอเวลาให้เจ้าหน้าที่ทำการสืบสวน และรวบรวมพยานหลักฐานก่อน แต่เบื้องต้นทุกบริษัทและทุกคนที่เข้าให้การพยานค่อนข้างให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

นายศุภภางกูร กล่าวถึงกรณี นายเกรียงศักดิ์ กอวัฒนา รองประธานบริหารอาวุโส บริษัท อิตาเลียนไทยฯ เข้าให้ปากคำ ดีเอสไอ วานนี้ (29 เม.ย.) ว่าเบื้องต้นได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกิจการร่วมค้ากับบริษัทไชน่า เรลเวย์ฯ โดยขั้นตอนการก่อสร้างจะเป็นผู้รับเหมา และดำเนินการก่อสร้างตามแบบ หากเกิดปัญหาจะต้องรายงานผ่านผู้ควบคุมงาน หรือ บริษัท PKW ซึ่งการจะดำเนินการก่อสร้างได้จะต้องดำเนินการตามขั้นตอน และได้รับการอนุมัติ โดยบทบาทของหน้าที่ผู้รับเหมา ก็จะต้องก่อสร้างตามแบบอยู่แล้ว

เมื่อถามว่าส่วนเหตุใดบริษัท อิตาเลียนไทยฯ จึงไว้วางใจบริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ ร่วมประมูลงานโครงการของรัฐโครงการอื่นมาก่อนนั้น นายศุภภางกูร ระบุว่า เพราะก่อนหน้านี้ทั้ง 2 บริษัทเคยทำธุรกิจร่วมกันเกี่ยวกับการก่อสร้างตั้งแต่ก่อนปี 2563 แต่ยังไม่มีการสอบสวนรายละเอียดอย่างชัดเจน โดยขณะนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษกำลังมุ่งเน้นสืบสวนสอบสวนในประเด็นตึก สตง.ถล่ม และขยายไปเรื่องของการออกแบบ การจ้างควบคุมงาน ส่วนจะพบความผิดปกติในขั้นตอนงานอะไรบ้าง ก็อยู่ระหว่างการสอบสวน และรวบรวมพยานหลักฐาน

นายศุภภางกูร กล่าวทิ้งท้ายว่า ขณะนี้มีวิศวกรเข้าพบดีเอสไอแล้ว 17 ราย จากทั้งหมด 40 ราย อย่างไรก็ตาม สำหรับความผิดตามคดีฮั้วประมูล มีการตั้งประเด็นเกี่ยวกับความผิดตาม พ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ โดยต้องตรวจสอบทุกโครงการ เน้นย้ำที่การกีดกันการเสนอราคาโดยไม่เป็นธรรม เพราะตอนนี้ สตง. ได้ส่งเอกสารเกี่ยวกับโครงการแล้ว ซึ่งหลังจากนี้จะมีการเรียกบริษัทที่เสนอราคาในโครงการก่อสร้างตึก สตง. จำนวน 6 บริษัท มาให้ข้อมูล โดยนัดหมายประมาณกลางเดือน พ.ค.นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น