xs
xsm
sm
md
lg

ไอซ์ รักชนก เปิดประเด็น ตึก กสทช. 2,600 ล้านสร้างไม่เสร็จ ชี้งบมหาศาลแต่ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



สส.พรรคประชาชนเปิดประเด็นที่ทำการแห่งใหม่ กสทช. ย่านถนนรัตนาธิเบศร์ นนทบุรี ก่อสร้างตั้งแต่สมัยรัฐบาล คสช. งบประมาณ 2,600 ล้าน แต่สร้างไม่เสร็จ อ้างเหตุโควิด-บอกเลิกสัญญาขอแก้แบบควักงบเพิ่ม ชวนจับตางบมหาศาลจากค่าธรรมเนียม ใช้ได้อิสระไม่ผ่านสำนักงบฯ-สภาฯ แต่ทำอะไรไม่เป็นชิ้นเป็นอัน

วันนี้ (29 เม.ย.) น.ส.รักชนก ศรีนอก สส.กทม. พรรคประชาชน โพสต์ข้อความเปิดประเด็นการก่อสร้างอาคารที่ทำการแห่งใหม่ ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ย่านถนนรัตนาธิเบศร์ จังหวัดนนทบุรี งบประมาณ 2,600 ล้านบาท ซึ่งก่อสร้างมาตั้งแต่ยุครัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยระบุว่า วันนี้คณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎรลงพื้นที่ ซึ่งยังมีค่าแบบกับค่าจ้างคุมงานอีก 100 ล้านบาท ริเริ่มจ้างทำแบบตั้งแต่ปี 2556 แต่เริ่มสร้างตึก ม.ค. 2562 ซึ่งจริงๆ ต้องเสร็จ ตั้งแต่ปี 2565 แต่อ้างว่าติดสถานการณ์โควิด ไม่มีทีท่าว่าจะเสร็​จ และปัจจุบัน กสทช. ได้บอกยกเลิกสัญญาจ้างไปแล้ว ด้วยเหตุผลหลายประการ ส่วนหนึ่งเพราะ กสทช. ต้องการแก้แบบเพิ่มอีก ซึ่งแน่นอนว่าบอกเลิกสัญญาและการเปลี่ยนแบบ ก็ต้องจ่ายแพงขึ้นกว่าเดิมอีก

น.ส.รักชนก ระบุต่อว่า ทาง กมธ.ติดตามงบฯ ได้ขอแบบแปลนและ BOQ (Bill of Quantities หรือ ใบแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการสร้างสิ่งก่อสร้าง) รายการของต่างๆ ในตึกไปเรียบร้อยแล้ว ไม่เกิน 10 วัน น่าจะได้ข้อมูลว่ามีอะไรบ้าง จะหรูหราเท่าตึก สตง. หรือไม่ แต่เรื่องที่น่าสนใจนอกจากเรื่องตึก 2,600 ล้านบาท สร้างไม่เสร็จ คือ 1. กระบวนการงบประมาณของ กสทช. เพิ่งจะได้รับรู้วันนี้ว่า นอกจากที่มาของคณะกรรมการ จะไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนแล้ว กระบวนการงบก็ยังเป็นอิสระสูงมาก ถึงขนาดที่ไม่ต้องผ่านสำนักงบประมาณแผ่นดิน และไม่มีส่วนใดๆ เลยที่ต้องให้สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมาจากประชาชนพิจารณาแม้แต่บาทเดียว เพราะ กสทช. มีเงินรายได้จากค่าธรรมเนียม โดยจะเก็บไม่เกิน 2% จากรายได้ทั้งหมดของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคมตามกฎหมาย ซึ่งปีหนึ่งก็หลายพันล้านอยู่แล้ว ก็เอาตรงนี้มาบริหารจัดการเอง จึงไม่ต้องขอเงินจากงบประมาณ

ถ้าเอาตามที่สำนักงาน กสทช. บอก กระบวนการใช้งบจะเริ่มจาก สำนักงานเลขาฯ กสทช. ทำคำของบประมาณ แล้วส่งให้คณะกรรมการฯ ซึ่งตั้งขึ้นเอง โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากสำนักงบประมาณ 4-5 คน มาช่วยปรับลด จากนั้นจะส่งไปรับฟังความเห็นจากคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ดีอี) ที่มีนายกฯ เป็นประธาน และส่งเข้าบอร์ด เพื่อให้บอร์ดตั้งอนุมากลั่นกรองอีกรอบ แต่น่าแปลกมาก สิ่งที่สำนักงานบอกเรากับข้อเท็จจริงไม่ตรงกัน ข้อแรกสำนักงบประมาณบอกว่าไม่รู้ว่ามีกระบวนการนี้ และไม่น่าจะมีการส่งคนจากสำนักงบประมาณเข้ามาช่วยกลั่นกรอง ข้อสอง ตัวบอร์ด กสทช. ผู้ที่จะอนุมัติงบประมาณหลายพันล้าน ในปีที่ผ่านมาได้เห็นคำของบประมาณก่อนวันที่ต้องอนุมัติ เพียง 3 วัน แล้วจะไปตั้งอนุเพื่อกลั่นกรองได้ยังไง มีใครโกหกใคร หรือกระบวนการตรงไหนอยู่ในหลุมดำอีกแล้วหรือเปล่า

2. อัตรากำลังพลจะเพิ่มเท่าไรก็ได้ไม่จำกัด บอร์ดสามารถพิจารณาเองได้เลย ซึ่งถ้าเป็นกำลังพลข้าราชการต้องขอเพิ่มผ่านสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ถ้าเป็นกำลังพลรัฐวิสาหกิจต้องขอเพิ่มผ่านสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) แต่ กสทช. เคาะเองเพิ่มเองได้เลย ซึ่งจะตามมาด้วยการที่ใช้งบประมาณอย่างบานปลาย ได้รู้มาว่าเขามีการแจกเข็มที่เป็นทองแท้ 100% ให้กับคนเกษียณอายุด้วยนะ น่าอิจฉาแทนหน่วยงานอื่นจริงๆ

3. อีกทั้งยังมีกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ที่มีเงินเป็นหมื่นล้านบาท หยิบใช้กันสบายมือ ส่วนหนึ่งเอาไปทำโครงการบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (USO) จุดประสงค์ลดความเหลื่อมด้านอินเทอร์เน็ต แต่ไส้ในก็มีการทุจริตเอื้อประโยชน์ และยังเป็นเหมือนกองทุนที่หน่วยงานรัฐหรือผู้มีอำนาจมาควักเงินไปใช้เมื่อไรก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น ที่เอาเงินไปซื้อลิขสิทธิ์บอลโลก 600 ล้าน แต่สุดท้ายคนไทยไม่ได้ดูฟรี ทั้งๆ ที่ทรูจ่ายแค่ 300 ล้าน เป็นคดีฟ้องร้อง ซึ่งไม่รู้ว่าใครต้องคืนเงินเท่าไหร่จนถึงทุกวันนี้

4. ทุกคนอาจจะยังไม่ทราบ 5 ปีมาแล้วที่ กสทช. ยังไม่มีเลขาฯ จริงสักที อีกทั้งตัวประธาน กสทช. เองก็มีข้อครหาในคุณสมบัติ และที่สำคัญคือ กสทช. ก็ได้ชี้ว่าเป็นองค์กรที่มีความขัดแย้งภายในสูงมาก เพราะมีฝั่งที่ยอมให้นายทุนค่ายมือถือจูงจมูก กับฝั่งที่ไม่ยอมสยบ เป็นองค์กรที่ทำอะไรไม่เป็นชิ้นเป็นอันสักอย่าง เพราะผู้นำไร้ความสามารถในการกำกับดูแล ผู้ให้บริการก็หละหลวมไม่กล้าแตะต้องบางกลุ่มสักเรื่อง ทั้งเรื่องการจัดการปัญหา SMS สแกมหลอกลวง เสาเน็ตเถื่อนตามชายแดน และเบอร์ม้าที่เอื้อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ทุกอย่างคืบหน้าช้ามาก

“เป็นอีกหน่วยงานที่ไอซ์อยากให้ทุกคนสนใจ เพราะเราจ่ายค่าโทรศัพท์มือถือกันทุกเดือน บางคนจ่ายรายวันด้วยซ้ำ กฎหมายให้อำนาจเขาดำเนินการอย่างอิสระ เพื่ออยากให้อยู่เหนือการควบคุมของฝ่ายการเมืองและกลุ่มทุน แต่วันนี้ชัดเจนแล้ว ว่าองค์กรนี้ถูกครอบงำด้วยกลุ่มทุนกลุ่มใด ค่าเน็ตน่ามือถือจริงๆ มันก็เหมือนค่าไฟ เป็นสัมปทานของนายทุนที่เราต้องจ่ายกันทุกเดือน และมันค่อยๆ ซึ่งหลายๆ คนอาจจะไม่สังเกตเห็นว่าหลังการควบรวมเราต้องจ่ายเพิ่มขึ้นโดยที่คุณภาพลดลง เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นเรื่องทำอย่างตั้งใจ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นไปตามระเบียบและกฎหมายทุกประการ และคนที่เดือดร้อน สุดท้ายไม่แคล้วประชาชนตาดำๆ อีกตามเคย" น.ส.รักชนก กล่าว








กำลังโหลดความคิดเห็น