ศธ.เร่งถลุงงบแท็บเล็ต นักเรียนทันใช้เทอมสอง ย้อนดูความพังยุค 'ยิ่งลักษณ์'
ถ้าใครยังจำกันได้เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอโครงการส่งเสริมการศึกษาเท่าเทียมด้วยระบบดิจิทัลพัฒนาทักษะและเครดิตพอร์ตโฟลิโอ (The Digital Skill/Credit Portfolio : Empowering Educations) โดยอนุมัติงบประมาณ 4,214,738,090 บาท และโครงการจัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้ทุกที่ ทุกเวลา หรือ Anywhere Anytime งบประมาณ ระยะที่ 2 ปี งบผูกพันตั้งแต่ปี 2569-2574 จำนวน 29,765,253,600 บาท
การเห็นชอบของครม.ในครั้งนี้ เป็นการอนุมัติงบประมาณต่อเนื่อง และงบประมาณผูกพันสำหรับการแจกอุปกรณ์เสริมการสอนของนักเรียนและครู เช่น จะเป็นแท็บเล็ต แล็บท็อป โน้ตบุ๊ก หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ในรูปแบบเช่าใช้งาน พร้อมสัญญานอินเตอร์เน็ตคุณภาพสูง โดยในปี 2568 ได้ขอจัดสรรเครื่องอุปกรณ์ดังกล่าวให้แก่นักเรียนจำนวนกว่า 600,000 คน ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 ในกลุ่มโรงเรียนคุณภาพชุมชนและโรงเรียนขยายโอกาส
ทั้งนี้ ปรากฎว่าล่าสุดโครงการในภาพรวมมีความคืบหน้าไปสมควร โดยพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ระบุว่า เวลานี้อยู่ระหว่างการจัดทำทีโออาร์ และรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรอบที่2 โดยกระบวนการทั้งหมดต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ โปร่งใส และเป็นธรรม เพื่อให้สามารถจัดซื้ออุปกรณ์ที่เหมาะสมสำหรับนักเรียนได้โดยเร็ว คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ทันเปิดภาคเรียนที่ 2/2568
อย่างไรก็ตามโครงการลักษณะนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในรัฐบาลชุดปัจจุบัน เพราะในอดีตรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อครั้งเป็นนายกรัฐมนตรีได้ดำเนินการมาแล้ว ครั้งนั้นชื่อโครงการว่า “โครงการแท็บเล็ตพีซีเพื่อการศึกษาไทย” หรือ “One Tablet PC per Child (OTPC)”
ระยะเวลาการดำเนินการของโครงการสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์มีเวลาเพียง 2 ปี (ปี 2555 – 2556) งบประมาณรวม 6,611 ล้านบาท แบ่งเป็น งบประมาณปี 2555 แจกแท็บเล็ตประมาณ 858,869 เครื่อง งบประมาณรวม 2,000 ล้านบาท งบประมาณปี 2556 แจกแท็บเล็ตประมาณ 1,634,314 เครื่อง งบประมาณรวม 4,611 ล้านบาท
โดยเวลานั้นสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้สรุปผลการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการจัดการเรียนการสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พบว่า การจัดสรรแท็บเล็ตให้แก่นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ล่าช้า โรงเรียนบางแห่งมีความพร้อมในการชาร์ตไฟแท็บเล็ต เนื่องจากผู้บริหารโรงเรียนเห็นความสำคัญของการชาร์ตไฟ จึงได้จัดซื้อตู้สำหรับชาร์ตไฟที่มีความปลอดภัย โดยใช้งบประมาณของโรงเรียนเอง และพบว่าการชาร์ตไฟแท็บเล็ตของโรงเรียนจำนวนมากถึง 41 แห่ง จากทั้งหมด 80 แห่งที่สุ่มตรวจสอบ หรือคิดเป็นร้อยละ 51.25 ยังไม่มีความปลอดภัยเพียงพอ เหมาะสม ก่อนจะมีการยกเลิกโครงการดังกล่าวภายหลังเกิดการรัฐประหาร 2557