xs
xsm
sm
md
lg

ไม่ใช่แค่คลองปานามา! ทรัมป์ทวงบุญคุณอยากเห็นเรือสหรัฐฯ ล่องผ่านคลอง'สุเอซ'ไม่ต้องจ่ายค่าผ่านทาง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ อ้างว่าทั้งคลองปานามาและคลองสุเอซ จะไม่อยู่รอดหากปราศจากอเมริกา และเรียกร้องอนุญาตให้เรือสินค้าและเรือกองทัพสหรัฐฯ แล่นผ่านน่านน้ำสำคัญทั้ง 2 แห่งโดยไม่ต้องจ่ายค่าผ่านทางใดๆ

ที่ผ่านมา ทรัมป์ เคยแสดงเจตนาซ้ำๆในการทวงคืนคลองปานามา บ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ในการใช้หนทางด้านเศรษฐกิจหรือทางการทหารถ้าจำเป็น ล่าสุดในวันเสาร์(26เม.ย.) ประธานาธิบดีสหรัฐฯแสดงความปรารถนาปกป้องผลประโยชน์ "ความมั่นคงแห่งชาติ" จากคู่แข่งจีน ครอบคลุมอีกน่านน้ำยุทธศาสตร์ นั่นก็คือคลองสุเอซของอียิปต์ ซึ่งเชื่อมทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไปยังทะเลแดง

"เรืออเมริกา ทั้งเรือกองทัพและเรือพิษริชย์ ควรได้รับอนุญาตให้เดินทาง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ผ่านคลองปานามาและคลองสุเอซ คลองเหล่านี้จะไม่อาจอยู่รอดหากปราศจากสหรัฐฯ" ประธานาธิบดีบอกกับทรัตช์ โซเชียล

ทรัมป์เผยด้วยว่า มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ได้สั่งการให้เข้าดูแลสถานการณ์นี้ในทันที"

อ้างอิงรายงานของสำนักข่าวอัลจาซีราห์ แม้คลองสุเอซ เกิดขึ้นภายใต้แรงสนับสนุนทางการเงินและก่อสร้างในช่วงทศวรรษ 1850 โดยสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส แต่อียิปต์ได้รับเงินช่วยเหลือต่างประเทศจากสหรัฐฯมากกว่า 87,000 ล้านดอลลาร์ มาตั้งแต่ปี 1946 ส่งผลให้ประเทศแห่งนี้กลายเป็นหนึ่งในชาติตะวันออกกลางที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากสหรัฐฯ มากที่สุด รองจากอิสราเอล

ขณะเดียวกัน สหรัฐฯและสหภาพโซเวียต ก็มีบทบาทสำคัญในการกดดันสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศสและอิสราเอล ให้ถอนทหารออกจากอียิปต์ระหว่างวิกฤตคลองสุเอซช่วงปี 1956-1957 ซึ่้งเท่ากับเป็นการทวงคืนการควบคุมเหนือคลองแห่งนี้ให้แก่อียิปต์เช่นกัน

ต่อมา หลังจากอิสราเอลรุกรานและยึดครองคาบสมุทรไซนายในปี 1967 และปิดตายคลองสุเอซเป็นเวลา 8 ปี สหรัฐฯทำหน้าที่เป็นคนกลางข้อตกลงสันติภาพ ซึ่งช่วยอียิปต์ทวงการควบคุมเหนือคลองแห่งนี้คืนมาอีกครั้งในปี 1982

ในส่วนของคลองปานามา ซึ่งเชื่อมมหาสมุทรแอตแลนติกกับมหาสมุทรแอตแลนติก สหรัฐฯไม่ใช่เป็นเพียงแค่ผู้สร้างเท่านั้น ในช่วงต้นทศวรรษที่ 20 แต่ยังเป็นผู้ควบคุมดูแลการรับประกันเอกราชของปานามา ที่แยกตัวออกจากโคลอมเบีย ประเทศเพื่อนบ้าน

สิทธิการควบคุมคลองปานามาโดยสมบูรณ์ ถูกโอนถ่ายสู่ ปานามา ในปี 1999 ภายใต้สนธิสัญญาตอร์ริโฮส–คาร์เตอร์ ซึ่งกำหนดให้คลองแห่งนี้คงความเป็นกลางและเปิดกว้างสำหรับทุกประเทศ

ทรัมป์ และ พวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ อ้างว่าความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจของจีน ในนั้นรวมถึงโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานและปฏิบัติการท่าเรือต่างๆ อาจละเมิดสนธิสัญญาความเป็นกลางของคลองปานามาปี 1977 ซึ่งไฟเขียวให้สหรัฐฯมีสิทธิ์ปกป้องน่านน้ำแห่งนี้

พวกเจ้าหน้าที่ปามานา เคยปฏิเสธคำกล่าวอ้างและคำขู่ของทรัมป์ ในขณะที่องค์การบริหารคลองปานามา ยืนกรานว่าคลองแห่งนี้ควบคุมดูแลโดยปานามาแต่เพียงฝ่ายเดียว ไม่มีหลักฐานสนับสนุนคำกล่าวอ้างว่ามันตกไปอยู่ภายใต้การควบคุมของจีน ขณะที่ประธานาธิบดีโฮเซ ราอูล มูลิโน เน้นย้ำว่าคลองแห่งนี้เป็น "มรดกที่ไม่อาจแบ่งแยกได้" ของปานามา และเน้นย้ำว่าประเทศของเขา คงไว้ซึ่งการควบคุมปฏิบัติการต่างๆเหนือคลองปานามาโดยสิ้นเชิง

อย่างไรก็ตาม หลังจาก รูบิโอ ยื่นคำขาดของ ทรัมป์ ไปยัง ปานามา ในเดือนกุมภาพันธ์ ทาง มูลิโน ยอมอ่อนข้อให้แก่วอชิงตัน ด้วยการปฏิเสธต่ออายุข้อตกลงปี 2017 ที่ปานามาทำไว้กับจีน ภายใต้โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของปักกิ่ง

เมื่อช่วงกลางเดือน พีธ เฮกเซธ รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ แถลงประจำการเรือของกองทัพเรืออเมริกาหลายลำ ทรัพย์สินต่างๆของยามชายฝั่ง และฝูงบิน ทั้งในและรอบๆคลองปานามา "ส่วนหนึ่งในก้าวย่างแรกที่กล้าหาญ ในการกอบกู้การป้องกันตนเองและความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงของเรา ที่เกี่ยวข้องกับเราทั้ง 2 ประเทศ"

(ที่มา:อาร์ทีนิวส์)
กำลังโหลดความคิดเห็น