เรื่องหนักใจของรัฐบาลไทยและกัมพูชา ที่เป็นปัญหาร่วมกันอยู่ในเวลานี้ คือการตกเป็นเป้าขึ้นภาษีมหาโหดจาก “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งการขอเจรจาลดภาษี ต้องมีข้อแลกเปลี่ยนที่เป็นผลประโยชน์ของสหรัฐฯ อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม
เมื่อโจทย์ใหญ่ถูกกำหนดไว้เช่นนั้น การเจรจานอกรอบของผู้นำทั้งสองชาติที่พบปะหารือกัน เมื่อวันที่ 23-24 เม.ย. 2568 ในโอกาสครบรอบ 75 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-กัมพูชา จึงถูกจับตาว่าอาจมีการหยิบยกประเด็นเรื่องการพัฒนาแหล่งพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา (Overlapping Claims Area: OCA) ขึ้นมาหารือหรือไม่ อย่างไร
แม้เบื้องลึกการหารือลับจะยังไม่มีใครแพลมอะไรออกมา แต่ถึงนาทีนี้ เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่อง OCA คือหนึ่งในข้อเจรจาต่อรองสำคัญที่ 3 ประเทศคือ ไทย - กัมพูชา - สหรัฐฯ มีแนวโน้มสูงยิ่งที่จะหยิบยกขึ้นมาเจรจาทั้ง “บนโต๊ะ” และ “ใต้โต๊ะ” เพราะแหล่งพลังงานดังกล่าว ถือเป็น “ขุมทรัพย์” ซึ่งกลุ่มทุนพลังงานสัญชาติสหรัฐฯ อย่างเชฟรอน ถือครองสัมปทานอยู่หลายแปลง แต่การดำเนินการสำรวจหยุดชะงักงัน เนื่องจากการเจรจาระหว่างรัฐบาลไทย-กัมพูชา เรื่อง OCA ยังไม่ได้ข้อยุติ
ถ้าจะใช้คำว่า “MOU 2568” เป็นคำเรียกขานการเจรจาดังกล่าว ก็คงไม่ผิดไปจากความเป็นจริงเท่าใดนัก แถมยังเป็น MOU ที่จะว่าไปก็คือการส่งไม้ต่อจาก “พ่อ” สู่ “ลูก” อีกด้วย
กล่าวสำหรับผลประโยชน์บนขุมทรัพย์ OCA ซึ่งกลุ่มทุนพลังงานจากสหรัฐฯ และชาติอื่น ๆ รวมถึงกลุ่มทุนพลังงานของไทยถือครองสัมปทาน แต่ชะงักงันมาเป็นเวลาเนิ่นนานนั้น เมื่อทรัมป์ฟาดประเทศคู่ค้าด้วยการขึ้นภาษี ซึ่งไทยและกัมพูชาเจอไปจุก ๆ จึงเป็นโอกาสที่สหรัฐฯ จะฉกฉวยจังหวะนี้ เร่งรัดกดดันให้รัฐบาลทั้งสองประเทศแสวงหาความร่วมมือเพื่อให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว และลงมือพัฒนาแหล่งพลังงานในพื้นที่ OCA ตามเป้าประสงค์ เป็นข้อแลกเปลี่ยน เป็นผลประโยชน์ต่างตอบแทน หากไทยและกัมพูชาต้องการเจรจาลดภาษีกับสหรัฐฯ
แน่นอน รัฐบาลทั้งสามประเทศย่อมต้องฝันให้ไกลไปให้ถึง เพราะหากดีลสองเด้งสำเร็จ ถือเป็นผลประโยชน์ที่เรียกว่า วิน - วิน กันทุกฝ่าย แต่ก็บอกได้เลยเช่นกันว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะจากฝั่งรัฐบาลไทยที่เวลานี้ต้นทุนความน่าเชื่อถือทางการเมืองต่ำเตี้ยเรี่ยดินลงไปทุกที
สำหรับการไปเยือนกัมพูชารอบนี้ ภาพเปิดอย่างเป็นทางการ ยืนยันถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างผู้นำของไทยจาก “ตระกูลชินฯ” และผู้นำของกัมพูชาจาก “ตระกูลฮุนฯ” โดยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย เข้าเยี่ยมคารวะสมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน ประธานวุฒิสภาและประธานองคมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ถือเป็นการเยือนกัมพูชาครั้งที่สองของนายกรัฐมนตรีไทย นับตั้งแต่สมเด็จฯ ฮุน มาเนต เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีของไทย และสมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา ได้ร่วมหารือเต็มคณะ ก่อนร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามความตกลง จำนวน 7 ฉบับ ซึ่งเป็นความร่วมมือในการแก้ไขมลพิษข้ามแดน ด้านแรงงาน การปรับปรุงถนน ก่อสร้างสะพานข้ามพรมแดนแห่งใหม่ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ ทั้งการค้าและการลงทุน เพื่อรับมือกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวน
เป็นการลงนามความตกลงที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า “ยิบย่อย” เกินกว่าที่จะในการเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ
ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่หัวงจังหวะเวลาดังกล่าวจะเป็นที่คาดหมายว่า น่าจะมีการเจรจาเรื่องขุมทรัพย์ใต้ทะเลอ่าวไทยเป็นหัวข้อสำคัญเสียมากกว่า ยิ่งยามที่ถูกสหรัฐฯ ใช้นโยบายรีดภาษีโหดคือ ไทยโดนไป 36% ขณะที่กัมพูชาหนักกว่าคือ 49% ก็ยิ่งถูกที่ถูกเวลาที่จะพูดคุยกันในเรื่อง OCA ซึ่งเป็นพื้นที่ที่คาดว่ามีทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอย่างมหาศาล ประมาณ 10 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุตของก๊าซฯ และน้ำมันกว่า 300 ล้านบาร์เรล โดยทั้งสองประเทศต่างอ้างสิทธิ์ในพื้นที่นี้มายาวนานกว่า 40 ปี
ที่ผ่านมา รัฐบาลไทย ภายใต้การนำของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แสดงท่าทีชัดเจนว่าต้องการฟื้นฟูการเจรจากับกัมพูชาเพื่อเข้าถึงแหล่งพลังงานใหม่ ลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และบรรเทาค่าครองชีพภายในประเทศ
ขณะที่กระแสสังคมมีข้อกังขาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน จากความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของ “ตระกูลชินฯ” และ “ตระกูลฮุนฯ” โดยเฉพาะนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย และสมเด็จฮุน เซน อดีตนายกฯกัมพูชา รวมถึงประเด็นอ่อนไหวต่อความรู้สึกเรื่อง “เสียดินแดน” หรือยอมอ่อนข้อให้กัมพูชา จนทำให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยไม่กล้าขยับต่อในเรื่องนี้
สถานะล่าสุดของเรื่อง OCA ที่จะมีการตั้งนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (Joint Technical Committee: JTC) เพื่อเจรจาแก้ไขปัญหาพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา นายภูมิธรรม กล่าวว่า ยังไม่คืบหน้า และเป็นหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศ ที่จะนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)
นายอังกูร กุลวานิช รองอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวในเวทีสัมมนา “OCA ไทย-กัมพูชา : ข้อเท็จจริงและทางเลือก” จัดโดย กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา และคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2568 ถึงการนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี รับทราบ และขออนุมัติกรอบการเจรจาจากคณะรัฐมนตรี รวมถึงการตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (Joint Technical Committee : JTC) ว่า ขณะนี้ได้เสนอโครงสร้างและองค์ประกอบของคณะกรรมการ JTC ให้คณะรัฐมนตรี พิจารณาแล้ว กำลังรอว่าจะมีการอนุมัติแต่งตั้งเมื่อใด
ส่วนในฟากฝั่งรัฐบาลกัมพูชา แสดงความพร้อมที่จะเจรจา โดยเห็นว่าแหล่งพลังงานในอ่าวไทยสามารถเป็นฐานรายได้ที่มั่นคงในอนาคต ท่ามกลางสถานการณ์การส่งออกที่ถูกกระทบจากนโยบายของสหรัฐฯ โดยรัฐบาลกัมพูชาเผชิญกับกระแสที่มีการอ้างสิทธิ์เหนือเกาะกูดโดยมวลชนบางกลุ่ม
ทั้งนี้ การต่อสู้ช่วงชิงของมหาอำนาจสหรัฐฯ-จีน ในทุกมิติ ได้สร้างความปั่นป่วนไปทั่วโลก และส่งผลกระทบต่ออย่างกว้างขวาง ภายใต้แรงกดดันจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน กัมพูชาได้รับการลงทุนจากจีนเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล โดยมีสัดส่วนเงินลงทุนจากจีนมากกว่า 50% ของการลงทุนทางตรง หรือ FDI ทั้งหมด และจีนยังมีบทบาทในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานในประเทศกัมพูชาอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มว่าบริษัทน้ำมันของจีน เช่น CNOOC อาจมีส่วนในการลงทุนหากพื้นที่ทับซ้อนฯ เปิดให้มีการพัฒนา
ในขณะเดียวกัน ไทยก็พยายามกระจายความเสี่ยงจากสงครามการค้าสหรัฐฯ - จีน ด้วยการหันไปเน้นความร่วมมือภายในอาเซียนและเปิดประมูลแหล่งสำรวจพลังงานแห่งใหม่ เช่น ในทะเลอันดามัน แทนการรอความชัดเจนในพื้นที่ทับซ้อนฯ
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังคงมองว่า หากบรรลุข้อตกลงกับกัมพูชาได้ ก็จะสามารถดึงบริษัทน้ำมันข้ามชาติอย่าง Chevron ซึ่งถือสัมปทานในพื้นที่ OCA กลับมาลงทุนได้ในอนาคต รวมถึงทุนพลังงานจากฝรั่งเศสอย่าง Total เพื่อสร้างสมดุลและลดอิทธิพลจีนในอ่าวไทย
ขณะที่ชาติอาเซียนในฐานะกลไกการรวมกลุ่มระดับภูมิภาค แม้จะไม่มีบทบาทโดยตรงในการเจรจาระหว่างไทย-กัมพูชา แต่ก็มีส่วนในการสร้างแรงกดดันเชิงบวกให้ทั้งสองประเทศแก้ปัญหาอย่างสันติ โดยอาเซียนเองส่งเสริมแนวทาง “การแบ่งปันผลประโยชน์โดยไม่ต้องเคลียร์เรื่องอธิปไตยก่อน” ดังเช่นกรณีเขตพัฒนาร่วมระหว่างไทย-มาเลเซีย ซึ่งสามารถใช้เป็นต้นแบบให้กับไทยและกัมพูชาได้
กล่าวโดยสรุปแล้ว นโยบายภาษีของทรัมป์และแนวทางปกป้องการค้าแบบชาตินิยมของสหรัฐฯ แม้จะไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับเขตทางทะเลในอ่าวไทย แต่ได้สร้างบริบทเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง ในขณะที่ยังต้องรักษาสมดุลกับมหาอำนาจต่างชาติอย่างจีนและสหรัฐฯ
การเจรจา OCA จึงเป็นภาพสะท้อนของภูมิรัฐศาสตร์ระดับภูมิภาค ที่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเมืองของไทยและกัมพูชา ต้องเผชิญกับแรงดึงรั้งจากชาติมหาอำนาจในยุคที่นโยบายขึ้นภาษี อาจส่งผลไปถึงแหล่งก๊าซฯใต้ทะเลอีกฟากหนึ่งของโลก
“การได้มาคุยกับนายกรัฐนตรีกัมพูชา เราได้พูดคุยถึงกรอบความร่วมมือของอาเซียนว่า แต่ละประเทศมีความแข็งแรงของตัวเองอย่างไรบ้าง และถ้ามารวกันในกรอบของอาเซียนทำอะไรได้บ้าง เพราะจริงๆ แต่ละประเทศมีทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่เหมือนใคร และมีจุดแข็งอีกมาก ถ้ามาร่วมกันแล้วเพิ่มอำนจการต่อรองจะเป็นไปได้หรือไม่ ซึ่งยังคงเป็นแค่แนวความคิด ยังไม่มีการลงนามหรือเซ็นเอกสารใด”แพทองธารให้สัมภาษณ์ระหว่างเดินทางเยือนกัมพูชา
ถึงตรงนี้ คงต้องกล่าวว่า นับเป็นความสลับซับซ้อนของปัญหา และใหญ่เกินกว่าความสามารถของผู้นำประเทศของไทยในเวลานี้ คือ “นายกฯ อิ๊งค์” จะคลี่ปมได้ ส่วน “อดีตนายกฯ ผู้พ่อ” ในฐานะผู้มีอำนาจตัวจริงจะใช้วิธีใดและโอกาสความสำเร็จมีไหม บอกได้เลยว่า ห้ามกระพริบตา”