เพิ่งจะสร้างภาพในฐานะ “นายกสมาคมชาวปักษ์ใต้” ในการช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้พี่น้องชาวใต้เดินทางกลับบ้านในช่วงเทศกาลสรงกรานต์ไปได้ไม่เท่าไหร่ “บิ๊กโจ๊ก-พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล” อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติก็กลับมาอยู่ในความฉาวโฉ่อีกครั้ง
เมื่อตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ตำรวจไซเบอร์) กองบังคับการ 1 นำกำลังพร้อมหมายจับ “ศาลอาญากรุงเทพใต้” เข้าจับกุม “ดร.นิด” หรือ “ดร.ขนิษฐา เลิศบรรเจิดวงศ์” ในข้อหาร่วมกันเอาไปซึ่งเอกสารของผู้อื่นในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ตาม ป.อาญา มาตรา 188 โดยนำข้อสอบ “คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ออกไปให้ผู้อื่นทำ ก่อนจะส่งต่อไปให้ “อดีตนายตำรวจยศ พลตำรวจเอก” นายหนึ่งคัดลอก
ที่มาของการเข้าจับกุม “ดร.นิด” ก็ต้องย้อนกลับไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ตำรวจ บก.สอท.1 และ บก.สอท.3 ได้ทำการจับกุมเว็บพนันเครือข่ายเว็บพนันออนไลน์ “Betflik" และ เว็บเครือข่ายรวม 7 เว็บไซต์ จนสาวไปถึง “สาวน้อยร้อยเว็บ” เจ้าแม่เว็บพนันออนไลน์รายใหญ่ “มินนี่” หรือ น.ส.ธันยนันท์ สุจริตชินศรี
จากนั้นตำรวจไซเบอร์ได้ใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยี ตรวจสอบเครื่องมือสื่อสารต่างๆ ของ “มินนี่” จนมาพบข้อมูลหลักฐานบางส่วนที่เป็นการสนทนากันของตำรวจกลุ่มหนึ่งที่มี “อดีต รอง ผบ.ตร. 1 นาย ระดับ รองผู้กำกับ 1 นาย และ ระดับสารวัตร 1 นาย” ซึ่งตำรวจทั้ง 3 นาย ก็อยู่ระหว่างตกเป็นผู้ต้องหาในคดีเว็บพนันออนไลน์
ข้อความการสนทนาดังกล่าวเกิดขึ้น เมื่อช่วงปี 2566 เป็นบทสนทนาถึงการนำข้อสอบของคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาคค่ำ (นอกเวลาราชการ) หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการบริหารงานภาครัฐและกฎหมายมหาชน ออกมาเพื่อทำการทุจริต
พฤติการณ์แห่งคดีคือ ตำรวจระดับ “รองผู้กำกับ” และ ตำรวจระดับ “สารวัตร” จะเป็นตัวต้นเรื่อง ประสานกับทางเจ้าหน้าที่หลักสูตรให้นำข้อสอบออกมาจากห้องสอบ เพื่อเอามาให้กับ “ดร.นิด” ที่ตอนนั้นอ้างว่าเป็นเลขาฯ ส่วนตัวของ “โจ๊ก”
จากนั้น ข้อสอบจะถูกส่งต่อไปให้นักกฎหมายชื่อ “อู๊ด” ทำข้อสอบให้ และเมื่อแล้วเสร็จก็มีทีมมอเตอร์ไซค์ควบมาส่งคำตอบที่หน้าห้องสอบตามเดิม เหมือนในหนังดังพันล้าน เรื่อง "ฉลาดเกมส์โกง" ยังไงยังงั้น
ที่ต้องขีดเส้นใต้ก็คือ “โจ๊ก” จะไม่ได้สอบตามตารางปกติที่วิญญูชนทำกัน แต่จะแจ้งขอเลื่อนสอบ โดยอ้างว่าติดภารกิจราชการสำคัญ ในฐานะตำรวจชั้นผู้ใหญ่ แถมยังขอเลื่อนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเหลือผู้สอบคนเดียวคือ “โจ๊ก”
พอถึงวันสอบเดี่ยว จะมีก๊วนตำรวจลูกน้องของโจ๊ก แห่มารอกันเต็มหน้าห้องสอบแล้ว “ดร.นิด” ซึ่งมีคราบเป็นอาจารย์ มีความน่าเชื่อถือ หาโอกาสเข้าไปนำข้อสอบออกจากห้อง โดยที่กรรมการคุมสอบ เมื่อเห็นว่าเป็น โจ๊ก ก็ไม่เพ่งเล็งอะไรมาก เพราะเชื่อในเกียรติของตำรวจคนดัง
สุดท้าย “อดีตรอง ผบ.ตร.คนดัง” ก็สำเร็จการศึกษา พร้อมสวมชุดครุยจุฬาฯ ถ่ายภาพแสดงความสำเร็จของตนเอง ท่ามกลางการรุมล้อมของบรรดาน้องๆ นิสิตอย่างชื่นมื่น รวมไปถึงมีภาพ “โจ๊ก” คู่กับ “ดร.นิด” ร่วมยินดีอยู่ในโมเมนต์แห่งความยินดีนี้ด้วย
ในครั้งนั้น “บิ๊กโจ๊ก” ได้โพสต์ถึงความสำเร็จของตนเองในเพจชาวปักษ์ใต้ ข้อความว่า “สวัสดีครับ แฟนเพจ ทุกท่าน เนื่องด้วยวันนี้เป็นวันพระราชทานปริญญาบัตรให้แก่บัณฑิตในรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผมเองได้ใช้โอกาสในการเรียนรู้เพิ่มเติมในช่วงเวลาที่ว่าง เพื่อศึกษาเพิ่มเติมในคณะนิติศาสตร์ เพื่อเป็นการ up-skill พัฒนาตัวเอง เพิ่มเติมความรู้เพื่อนำความรู้ กลับมาใช้ในงานเพื่อทำประโยชน์ให้กับประเทศและพ่อแม่พี่น้องต่อไป ขอแสดงความยินดีกับบัณฑิตทุกท่าน ในปีนี้ด้วยครับ”
นอกจากนั้น จากรายงานการสอบสวนทำให้ทราบว่า ข้อสอบรายวิชาดังกล่าว คือวิชาสัมมนากฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งวิชานี้มีอาจารย์ 2 คน ต้องทำการสอบ 2 ครั้ง แบ่งเป็นครั้งละ 50 คะแนน รวม 100 คะแนน ซึ่งการสอบผ่านวิชานี้ต้องได้ 50 คะแนนขึ้นไป
รายงานข่าวระบุว่า การสอบครั้งแรก นายพลคนดังได้ 0 คะแนน ดังนั้น การสอบครั้งที่สองต้องได้คะแนนเต็ม 50 คะแนน ถึงจะผ่านเกณฑ์สำหรับวิชานี้ ปรากฏว่าภายหลังสอบเสร็จ นายพล ได้คะแนน 45 คะแนน สุดท้ายเหมือนจะมีการปัดคะแนนให้ จนผ่านในรายวิชาดังกล่าว
สังคมบางส่วนและแฟนคลับชาวหวานเจี๊ยบอาจจะมองว่าเป็น “การกลั่นแกล้ง” หรือเปล่า เพราะยากที่จะเชื่อว่าเป็นความจริง
ตอบว่า ไม่ใช่ ด้วยมีคำยืนยันจากแถลงการณ์ของ “คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย” ถึงต้นสายปลายเหตุในปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างละเอียดยิบหลังมีการจับกุม “ดร.ขนิษฐา”
“คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต ภาคบัณฑิต (นอกเวลาราชการ) รู้สึกเสียใจยิ่งกับเหตุการณ์ที่สร้างความเสียหายให้หลักสูตรฯ ในครั้งนี้ และขอเรียนว่า หลักสูตรฯ ได้รับการประสานจาก บช.สอท. ครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา และหลักสูตรฯ ได้ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการแสวงหาและรวบรวมพยานหลักฐานในคดีนี้มาโดยตลอด
หลักสูตรฯ ขอเรียนว่า ผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมดำเนินคดีครั้งนี้ มิใช่ศิษย์เก่าและมิได้เป็นบุคลากรของมหาวิทยาลัย แต่ได้อาศัยโอกาสกระทำการดังกล่าว จากการเข้ามาติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่ของหลักสูตรโดยที่เจ้าหน้าที่มิได้สังเกตพิรุธ (รายละเอียดอยู่ในขั้นตอนคดี) ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่ของหลักสูตรได้ให้ข้อมูลและแจ้งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมายแล้ว
คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ได้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง รวมทั้งประสานข้อมูลเพิ่มเติมทางการสอบสวน และหากมีการกระทำผิดเกี่ยวกับการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นในกรณีนี้หรือกรณีอื่น คณะนิติศาสตร์จะดำเนินการอย่างเคร่งครัดตามกฎหมายและข้อบังคับของมหาวิทยาลัย เช่นเดียวกับการจัดการในกรณีอื่นๆ ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ คณะนิติศาสตร์ ขอยืนยันเจตจำนงในอันที่จะรักษามาตรฐานการจัดการศึกษา การให้ปริญญา ตลอดจนคุณภาพบัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและระบบการศึกษาของไทย”
อย่างไรก็ดี หลังจากสอบปากคำนานกว่า 10 ชั่วโมง “ดร.นิด” ก็ได้รับการประกันตัวด้วยการวางหลักทรัพย์ 100,000 บาท ขณะที่เจ้าตัวไม่ตอบคำถามแต่อย่างใด
ขณะที่มีรายงานว่า “ดร.นิด” ให้การว่า ไม่ได้เป็นคนเอาข้อสอบไปให้นายพลคนดัง แต่เป็นเจ้าหน้าที่ของคณะนำไปให้ อีกทั้งเจ้าหน้าที่ของคณะเป็นคนใต้เหมือนกัน อาจอยากเข้าหานายพลคนดังเพื่อทำความรู้จักก็เป็นได้ ซึ่งระหว่างการสอบปากคำ ดร.นิดร้องไห้ และสาบานด้วยว่า ไม่ได้เป็นคนเอาข้อสอบไปให้นายพลคนดัง
ขณะเดียวกันทางตำรวจก็บอกเช่นกันว่า เจ้าหน้าที่ของคณะได้ทวงข้อสอบคือจาก “ดร.นิด” ซึ่งตำรวจได้มีการสอบปากคำเจ้าหน้าที่คณะไปแล้วประมาณ 5-6 ปาก
คำถามมีอยู่ว่า “ดร.นิด” กับ “บิ๊กโจ๊ก” นั้น รู้จักมักจี่และมีความสัมพันธ์กันได้อย่างไร ซึ่งเมื่อสืบไปสืบมา ก็พบว่า สายสัมพันธ์ระหว่างบิ๊กโจ๊กกับดร.นิด ย้อนไปถึงช่วงปี 2563 ในระหว่างที่อดีตรอง ผบ.ตร.คนดังเข้าศึกษาระดับปริญญาเอกที่คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ม.มหิดล
และในครั้งนั้น ก็ปรากฏชื่อของดร.นิด เข้ามาเกี่ยวข้องในลักษณะเป็นที่ปรึกษาการเรียนปริญญาเอกของบิ๊กโจ๊ก ซึ่งบิ๊กโจ๊กก็สอบป้องกันวิทยานิพนธ์ผ่าน ได้ปริญญาเอก หลักสูตรปรัชญา ดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาอาชญาวิทยา การบริหารงานยุติธรรมและสังคม
นอกจากนี้ รายงานข่าวระบุว่า “สองลูกน้องคนสนิท” ของ “บิ๊กโจ๊ก” ก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นส่วนหนึ่งในขบวนการขโมยลักลอบนำข้อสอบออกมา โดยทั้งคู่ได้ชิงเข้าพบพนักงานสอบสวนก่อนที่จะมีการออกหมายเรียก จึงทำให้หากสอบปากคำเสร็จสามารถที่จะปล่อยตัว และนัดมาพบในภายหลัง
ส่วนในเรื่องคดีความ ก็มีคำยืนยันจาก “พล.ต.ท. ไตรรงค์ ผิวพรรณ” ว่า อดีตนายตำรวจปฏิเสธได้ยากเนื่องจากข้อสอบที่ใช้นั้น จากการสอบถามกับทางมหาวิทยาลัย ทราบว่า เป็นข้อสอบเฉพาะรายบุคคล ยกตัวอย่างหากตนเองเป็นคนไปสอบ ก็จะระบุเลยว่า ข้อสอบนี้เป็นของ พล.ต.ท.ไตรรงค์ ข้อสอบของแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน
ดังนั้น คงต้องติดตามกันต่อไปว่า “คดีโกงข้อสอบครั้งประวัติศาสตร์” นี้จะดำเนินไปอย่างไร แต่ที่แน่ๆ คือตำรวจคงมั่นใจว่ามีหลักฐานเพียงพอ ไม่เช่นนั้นคงไม่กล้าเสี่ยงที่จะจับกุมดำเนินคดีอย่างแน่นอน.