“รู้สึกโล่งใจและสบายใจ เหมือนปลดล็อกความรู้สึกที่ตกเป็นจำเลยของสังคมมาตลอดระยะเวลานาน โดยวันนี้กระบวนการยุติธรรมชี้ให้เห็นแล้วว่าตนเองริสุทธิ์ ซึ่งที่ผ่านมาพยายามต่อสู้และแสดงหลักฐานที่เป็นข้อเท็จจริงต่อศาลที่เป็นผู้พิจารณามาโดยตลอด “
นั่นคือคำให้สัมภาษณ์ของ “บิ๊กอ๊อด-พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง” อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เมื่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางมีคำพิพากษา “ยกฟ้อง” พร้อมจำเลยรายอื่นๆ อีก 5 ราย ในคดีร่วมกันกระทำผิดเปลี่ยนแปลงพยานหลักฐานในคดี คำให้การพยานความเร็วรถยนต์ เพื่อช่วยเหลือนายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา เพื่อให้พ้นผิดหรือรับโทษน้อยลง จากเหตุการณ์นายวรยุทธขับรถยนต์สปอร์ตเฉี่ยวชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ตำรวจ สน.ทองหล่อ เสียชีวิตขณะขี่รถ จยย.บนถนนสุขุมวิท เหตุเกิดช่วงเช้ามืดวันที่ 3 กันยายน 2555 ที่ผ่านมา
แต่พิพากษาลงโทษอีก 2 คนคือ นายเนตร นาคสุข อดีตรองอัยการสูงสุด จำเลยที่ 8 ให้ต้องโทษจำคุกเป็นเวลา 3 ปี และนายชัยณรงค์ แสงทองอร่าม อดีตอัยการอาวุโส จำเลยที่ 4 จำคุกเป็นเวลา 2 ปี
อย่างไรก็ดี คงต้องบอกว่า “อย่าเพิ่งดีใจไปอ๊อด” เพราะเป็นเพียงคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ซึ่งโดยปกติแล้วพนักงานอัยการโจทก์และฝ่ายทนายความจำเลยจะขอคัดคำพิพากษาฉบับเต็มมาพิจารณายื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน
ที่สำคัญไปกว่านั้นอยู่ตรงที่ นอกจากศาลเผยแพร่ข่าวสรุปผลคำพิพากษาตัดสินคดีนี้แล้ว ยังมีการเปิดเผยบันทึกความเห็นแย้งคำพิพากษา ของ “นายอุเทน ศิริสมรรถการ” อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ซึ่งเห็นว่า จำเลยทั้งแปด ในคดีนี้ มีการกระทำกันเป็นขบวนการ ในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ
โดยสำนวนคดีในตอนแรกนั้น “บอส วรยุทธ” ขับรถยนต์ เฟอร์รารี่ ชนท้ายรถจักรยานยนต์ตราโล่ ที่ “ดต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ” เป็นผู้ขับขี่ จนถึงแก่ความตาย
ในการคำนวณความเร็วของรถเฟอร์รารี่ จากกล้องวงจรปิดขณะชนนั้น มีความเร็วเฉลี่ยประมาณ 177 กม.ต่อชั่วโมง
แต่จำเลยทั้งแปด สมคบกันกระทำความผิด ด้วยการวางแผนร่วมกันเปลี่ยนแปลงความเร็วของรถยนต์ให้เหลือไม่เกิน 80 กม.ต่อชั่วโมง เพื่อประโยชน์ในทางคดี
สุดท้ายผลการคำนวณความเร็วใหม่ ได้ความเร็วของรถยนต์ 79.22 กม.ต่อ ชั่วโมง
แล้วส่งข้อมูลให้จำเลยที่ 8 “เนตร นาคสุข” พนักงานอัยการ ผู้มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาสั่งคดี สั่งไม่ฟ้อง “บอส” ในข้อหาขับ รถโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ทั้งๆ ที่ขัดแย้งกับพยานหลักฐานอื่น ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายของรถยนต์เฟอร์รารี่ รถจักรยานยนต์ของ “ดต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ” รวมทั้งรอยครูดบนพื้นถนนที่ไกลถึง 164.45 เมตร และที่สำคัญ คือไม่ปรากฏรอยห้ามล้อรถยนต์ บริเวณจุดชนแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม หลังจาก ศาลพิเคราะห์คำเบิกความของโจทก์-จำเลย และพยานหลักฐานต่างๆแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า “นายชัยณรงค์” จำเลยที่ 4 กระทำผิดตามฟ้อง หรือไม่ เห็นว่าขณะเกิดเหตุจำเลยที่ ดำรงตำแหน่งอัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักงานอัยการพิเศษ ฝ่ายคดีอาญา 6 โดยสำนักงานดังกล่าวนี้ ไม่ได้รับผิดชอบคดีที่เกิดพื้นที่ สน.ทองหล่อ จำเลยที่ 4 ไม่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้เป็นพนักงานอัยการผู้รับชอบสำนวนคดีนี้ และไม่ได้หน้าที่พิเศษ ตามที่ทางราชการมอบหมายในคดีนี้แต่อย่างใด จำเลยที่ 4 จึงไม่มีสิทธิตามกฎหมาย ที่จะเข้าไปร่วมประชุม เพื่ออธิบายข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายให้แก่พนักงานสอบสวน หรือบุคคลอื่น
นั่นแสดงถึงมูลเหตุจูงใจของ จำเลยที่ 4 ที่จะเข้าไปกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อโน้มน้าวให้พนักงานสอบสวนคล้อยตามความเห็นของตน โดยเฉพาะถ้อยคำของจำเลยที่ 4 ที่ว่า "อยากให้ขอให้ความเร็ว เป็น 79.22 กม.ต่อชั่วโมง ตามที่อาจารย์สายประสิทธิ คำนวณ" "คือตามกฎหมายห้ามขับเกิน 80 อยากจะขอความกรุณาให้มันอยู่ range ตรงนั้น"
พิพากษาว่า จำเลยที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา 157 และ มาตรา 200 วรรคหนึ่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการ ทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา172 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ส่วน จำเลยที่ 8 “เนตร นาคสุข” มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 200 วรรคหนึ่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172
ให้จำคุกจำ เลยที่ 4 กำหนด 2 ปี จำคุกจำเลยที่ 8 กำหนด 3 ปี และให้ยกฟ้องโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 1-3 และ 5-7 แต่ออกให้หมายขังจำเลยที่ 1-3,5-7 ไว้ระหว่างอุทธรณ์
ทั้งนี้ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตฯ ได้ทำความเห็นแย้งคดีนี้ไว้ช่วงท้ายคำพิพากษาด้วยว่า จำเลยที่ 1-3 และ 5-7 มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนด้วย ซึ่งความเห็นแย้งนี้จะแนบไปกับสำนวนในชั้นพิจารณาของศาลอุทธรณ์ด้วย
ดังนั้น จึงต้องย้ำเตือนอีกครั้งว่า “อย่าเพิ่งดีใจไปอ๊อด”
อย่างไรก็ดี จุดที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ แม้ศาลฯ จะให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1-3 และ 5-7 แต่ให้ออกหมายขัง จำเลยที่ 1-3 และ 5-7 ระหว่างอุทธรณ์ (หลังศาลฯ อ่านคำพิพากษา จำเลยที่ถูกศาลพิพากษาจำคุก เเละให้ขังระหว่างอุทธรณ์อยู่ระหว่างยื่นประกันตัว)
จำเลยที่ 1 คือ “บิ๊กอ๊อด-พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง
จำเลยที่ 2 คือพล.ต.ต.ธวัชชัย เมฆประเสริฐสุข
จำเลยที่ 3 คือ พ.ต.อ.วิรดล ทับทิมดี
จำเลยที่ 5 นายชูชัย หรือพิชัย เลิศพงศ์อดิศร
จำเลยที่ 6 นายธนิต บัวเขียว
จำเลยที่ 7 รศ.ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม
คำถามเกิดขึ้นทันทีว่า การออกหมายขังดังกล่าวมีนัยอย่างไรบ้าง?
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมจากแหล่งข่าวในแวดวงตุลาการและข้อมูลจากสำนักข่าวอิศราทำให้ได้คำตอบที่น่าสนใจยิ่ง เพราะการที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลย แต่ให้ออกหมายขังจำเลยระหว่างอุทธรณ์นั้น เรียกกันว่า “ไม่ได้เป็นการยกฟ้องขาด” แต่ยังมีข้อสงสัยซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสองบัญญัติไว้ว่า เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลย ได้กระทำผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัย ให้แก่จำเลย ไม่พิพากษาลงโทษ
“ ในกรณีนี้ทางกลับกันศาลยังคงมีความสงสัยจึงไม่ยกฟ้องขาด จึงให้ออกหมายขังจำเลยระหว่างอุทธรณ์ซึ่งทำได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 ซึ่ง แม้จะยกฟ้องแล้ว แต่ให้ขังจำเลยจนกว่าคดีถึงที่สุด“ แหล่งข่าวกล่าว
ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 ระบุว่า ถ้าศาลเห็นว่าจำเลยมิได้กระทำผิดก็ดี การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดก็ดี คดีขาดอายุความแล้วก็ดี มีเหตุตามกฎหมายที่จำเลยไม่ควรต้องรับโทษก็ดี ให้ศาลยกฟ้องโจทก์ปล่อยจำเลยไป แต่ศาลจะสั่งขังจำเลยไว้หรือปล่อยชั่วคราวระหว่างคดียังไม่ถึงที่สุดก็ได้
เมื่อศาลเห็นว่าจำเลยได้กระทำผิด และไม่มีการยกเว้นโทษตามกฎหมาย ให้ศาลลงโทษแก่จำเลยตามความผิด แต่เมื่อเห็นสมควรศาลจะปล่อยจำเลยชั่วคราวระหว่างคดียังไม่ถึงที่สุดก็ได้
ขณะที่คดีนี้ แม้ศาลฯ จะให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1-3 และ 5-7 แต่ให้ออกหมายขัง จำเลยที่ 1-3 และ 5-7 ระหว่างอุทธรณ์ ก็แสดงให้เห็นว่าศาลยังคงมีความสงสัยจึงไม่ยกฟ้องขาด นอกจากนี้ นายอุเทน ศิริสมรรถการ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง บันทึกความเห็นแย้งคำพิพากษา ชี้ว่าจำเลยในคดีนี้ มีการกระทำกันเป็นขบวนการ ลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ ซึ่งถือเป็นความเห็นที่มีน้ำหนัก แต่ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐาน โจทก์ต้องยื่นอุทธรณ์สู้คดีต่อ
ดังนั้น จึงต้องย้ำเตือนอีกครั้งว่า “อย่าเพิ่งดีใจไปอ๊อด”
ส่วนคดีนายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา ข้อหาขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี อายุความ 15 ปี จะขาดอายุความในวันที่ 3 ก.ย.2570 นี้ ซึ่งว่าก็ว่าเถอะ “คงไม่มีทางที่จะติดตามบอสมารับโทษได้อย่างแน่นอน” เพราะฉะนั้น “ดีใจล่วงหน้า” เอาไว้ได้เลย.