ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - “Foodpanda” ประกาศอำลาสังเวียน “Food Delivery” เมืองไทย สังเวยปมขาดทุนสะสม 5 ปี 1.3 หมื่นล้านบาท โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค.2568 ซึ่งการปิดฉากแพลตฟอร์มธุรกิจส่งอาหารของ Foodpanda ได้เปลี่ยนภูมิทัศน์สมรภูมิ Food Delivery เมืองไทย เข้าสู่การแข่งขันแบบ Duopoly ผูกขาดโดยผู้เล่น 2 ราย อย่าง “Grab - LINE MAN” อย่างน่าจับตา
ย้อนกลับไปกลางปี 2567 ผู้เล่นดาวเด่นในธุรกิจ Food Delivery อย่าง“Robinhood”ที่กำลังได้รับความนิยมได้ประกาศปิดตัวลง โดยทาง“บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด(มหาชน)” หรือ “SCBX”ได้แจ้งยุติการให้บริการแอปฯ “Robinhood” เนื่องจากประสบภาวะขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง 4 ปี รวมกันสูงถึง 5,565 ล้านบาท ก่อนที่สุดท้ายจะมีการเจรจาปิดดีลลงตัวด้วยการขายหุ้น 2,000 ล้านบาทให้กลุ่ม“ยิบอินซอย”
ที่ผ่านมา ตลาดบริการส่งอาหารของไทยแข่งขันกันอย่างดุเดือด โดยมี ผู้เล่น 4 แพลตฟอร์ม“Grab - LINE MAN - FoodPanda และ Robinhood”ห้ำหั่นกันท่ามกลางปัญหาขาดทุนต่อเนื่องจากการเผาเงินไปกับการทำการตลาด รวมทั้งผลกระทบจากปริมาณการสั่งอาหารผ่านแอปฯ ลดลง เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ซึ่งมี “Grab” เพียงรายเดียวที่คืนทุนและทำกำไรในธุรกิจ Food Delivery
ล่าสุด “Foodpanda” ประกาศถอนตัวในธุรกิจ Food Delivery โดย “บริษัท เดลิเวอรี่ ฮีโร่ (ประเทศไทย) จำกัด”เจ้าของแบรนด์ Foodpanda ประกาศปิดให้บริการแอปพลิเคชันในไทยผ่านทางช่องทางโซเชียล มีผลตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค.2568 โดยให้เหตุผลว่า “สภาพตลาดในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับกลยุทธ์ระยะยาวของบริษัท”
รายงานของ Delivery Hero SE แพลตฟอร์มเดลิเวอรีระดับโลก เปิดเผยว่าการตัดสินใจครั้งนี้สอดคล้องกับแนวทางการปรับกลยุทธ์เชิงภูมิศาสตร์ของ Delivery Hero ซึ่งเคยดำเนินการมาแล้วในหลายประเทศ เช่น เดนมาร์ก กานา สโลวาเกีย และสโลวีเนีย โดยบริษัทจะมุ่งเน้นทรัพยากรไปยังตลาดอื่นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APAC) ที่มีศักยภาพในการเติบโตและผลตอบแทนที่สูงกว่า
ทั้งนี้ ทีมงานระดับภูมิภาคที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย ซึ่งรับผิดชอบงานสนับสนุนด้านต่าง ๆ เช่น การตลาด และการบริหารทรัพยากรบุคคลสำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จะยังคงดำเนินงานตามปกติต่อไป
สำหรับ Foodpanda ก่อตั้งขึ้นในปี 2555ประเทศเยอรมนี เป็นหนึ่งในบริษัทในเครือ Rocket Internet บริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในการสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพระดับโลก โดย Foodpanda เป็นหนึ่งในแอปพลิเคชันสั่งอาหารรายใหญ่ในประเทศไทย โดยเริ่มทำตลาดในเมืองไทยปี 2555 ปักหมุดพื้นในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ก่อนขยายบริการครอบคลุมครบทั้ง 77 จังหวัดภายในปี 2563 นับเป็นผู้ให้บริการ Delivery รายแรกๆ ที่ให้บริการทั่วประเทศอย่างเต็มรูปแบบ
กล่าวสำหรับ Foodpanda ประสบภาวะขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง อ้างอิงข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ รายงานผลประกอบการของ บริษัท เดลิเวอรี่ ฮีโร่ (ประเทศไทย) จำกัด ปี 2562-2566 ไว้ ระบุว่า ปี 2562 รายได้ 818,156,828 บาท ขาดทุน 1,264,503,583 บาท, ปี 2563 รายได้ 4,375,128,919 บาท ขาดทุน 3,595,901,657 บาท, ปี 2564 รายได้ 6,786,566,010 บาท ขาดทุน 4,721,599,978 บาท, ปี 2565 รายได้ 3,628,053,048 บาท ขาดทุน 3,255,107,979 บาท, ปี 2566 รายได้ 3,843,303,372 บาท ขาดทุน 522,486,848 บาท รวมระยะเวลา 5 ปี ขาดทุนสะสมรวม 13,359,600,045 บาท
แม้การขาดทุนจะลดลงอย่างมากในปี 2566 แต่การจะพลิกมาทำกำไรอาจไม่ใช่เรื่องที่ง่าย จนในเดือนกันยายนปีเดียวกัน ก็ได้มีข่าวลือว่า บริษัท เดลิเวอรี่ ฮีโร่ (ประเทศไทย) จำกัดกำลังขายกิจการ Foodpanda ในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ในท้ายที่สุด ทาง Niklas Östberg ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งได้ออกมายอมรับว่า “ดีลล่ม” เพราะไม่สามารถตกลงกับผู้ซื้อได้
แม้ดีลจะล่ม แต่ Foodpanda ก็ต้องออกมาสื่อสารกับลูกค้าว่า ยังอยู่ เพราะผู้บริโภคบางคนอาจเข้าใจผิดว่า Foodpanda เลิกทำตลาดในไทย ในรูปแบบวิดีโอสั้นผ่านแคมเปญ #Foodpandaยังไม่เจ๊ง! ที่ได้ #ยายป๋อมแป๋ม มาช่วยสื่อสาร
แต่สุดท้าย วันที่ 23 เมษายน 2568 Foodpanda ก็ได้ประกาศ #ยุติการให้บริการในประเทศไทย โดยจะให้บริการถึงวันที่ 23 พฤษภาคมนี้ เพื่อนำทรัพยากรไปเน้นในตลาดที่มีศักยภาพเติบโต และให้ผลตอบแทนสูงกว่า เหมือนกับที่เคยดำเนินการมาแล้วในหลายประเทศ เช่น เดนมาร์ก กานา สโลวาเกีย และสโลวีเนีย
ถือเป็นการปิดฉากการเดินทาง 13 ปีของแพนด้าสีชมพูในตลาดไทย พร้อมกับสะท้อนให้เห็นถึงความเข้มข้นในธุรกิจ Food Delivery แต่การรักษาความได้เปรียบเชิงการแข่งขันในระยะยาวก็เป็นเรื่องที่ท้าทาย แม้จะเป็นผู้บุกเบิกตลาดก็ตาม
ทั้งนี้ การถอนตัวของ Foodpanda ในตลาด Food Delivery ประเทศไทย เปิดประเด็นร้อนในวงการธุรกิจเทคโนโลยี นำไปสู่ปรากฏการณ์ Duopolyหรือ การผูกขาดโดยผู้เล่น 2 รายหลักๆ คือ ระหว่าง“Grab” และ “LINE MAN”ซึ่งโครงสร้างตลาดที่มีผู้เล่นหลักเพียง 2 รายที่มีอำนาจและส่วนแบ่งในตลาดสูงมาก มีอิทธิพลต่อการกำหนดทิศทางของตลาดนั้นๆ ซึ่งต่างจากการผูกขาดแบบ Monopoly ที่มีผู้เล่นเพียงรายเดียว
สำหรับ ผู้เล่นหลักในตลาด Food Delivery เมืองไทย“Grab”ภายใต้การดำเนินงานของ“บริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด”ครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับหนึ่ง โดยเป็นเพียงรายเดียวที่คืนทุนและทำกำไรแล้ว อ้างอิงผลประกอบการจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ปี 2563 มีรายได้ 4,890,633,384 บาท มีผลขาดทุน 284,280,850 บาท, ปี 2564 มีรายได้ 11,375,559,973 บาท มีผลขาดทุน 325,252,107 บาท, ปี 2565มีรายได้ 15,197,479,521 บาท มีกำไร 576,134,254 บาท และ ปี 2566 มีรายได้ 15,622,426,576 บาท มีกำไร 1,308,464,289 บาท
ขณะที่“LineMan”ภายใต้การดำเนินงานของ “บริษัท ไลน์แมน (ประเทศไทย) จำกัด”ครองส่วนแบ่งทางการตลาดอันดับ 2 พบว่า ปี 2563 รายได้รวม 1,066.37 ล้านบาท ขาดทุน 1,114.67 ล้านบาท, ปี 2564 รายได้รวม 4,140.04 ล้านบาท ขาดทุน 2,386.52 ล้านบาท, ปี 2565 รายได้รวม 7,802.77 ล้านบาท ขาดทุน 2,730.85 ล้านบาท, ปี 2566 รายได้รวม 11,634.42 ล้านบาท ขาดทุน 253.81 ล้านบาท
ทั้งนี้ การเติบโตของ LINE MAN Wongnai ปัจจุบันมีจำนวนผู้ใช้งาน 10 ล้านคนต่อเดือน จำนวนไรเดอร์กว่า 100,000 ราย และพาร์ทเนอร์ร้านค้ากว่า 500,000 ร้าน ขณะที่มูลค่าการทำธุรกรรมระหว่าง ม.ค.2023-ต.ค.2024 เติบโตถึง 35%
อย่างไรก็ดี แม้ผู้เล่นในธุรกิจ Food Delivery จะลดลง แต่ภาพรวมตลาด Food Delivery ในไทยยังเติบโตราว 7% โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 1.2 แสนล้านบาท โดยคาดว่าปี 2568 ตลาดยังเติบโตได้ต่อเนื่องที่ 7% ซึ่งการเติบโตของตลาด Food Delivery มาจากจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นจากผู้ใช้เดิมมีการใช้บริการต่อเนื่อง และกลุ่มผู้ใช้ใหม่โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาจบใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่วัยทำงาน ซึ่งเติบโตมากับเทคโนโลยี และคุ้นชินกับการทำสิ่งต่างๆ ด้วยเทคโนโลยี
แน่นอนว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างความตื่นตระหนกให้กับทั้งผู้บริโภค ร้านค้า และกลุ่มไรเดอร์ โดยความเคลื่อนไหว ล่าสุดนายยอด ชินสุภัคกุลซีอีโอของ LINE MAN Wongnai ได้ออกมาให้ความเห็นว่า การถอนตัวของ Foodpanda ทำให้อุตสาหกรรมฟู้ดเดลิเวอรีของไทยเข้าสู่สภาวะ Duopoly อย่างเต็มตัว
อ้างอิงจากข้อมูลของ Redseer เปิดเผยว่าช่วงครึ่งแรกของปี 2567 บริการ LINE MAN นั้นครองส่วนแบ่งตลาด Food Delivery ไทยสูงถึง 44% ขณะที่ Foodpanda มีส่วนแบ่งเพียงแค่ 5% เท่านั้น เมื่อ Foodpanda ถอนตัวออกไป ตลาดนี้จึงส่งสัญญาณเหลือผู้เล่นหลักเพียง 2 ราย ทำให้เกิดสภาวะการแข่งขันที่เข้าข่าย Duopoly อย่างชัดเจน
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของตลาด จากที่เคยเป็น “สงครามราคา” ที่ผู้ให้บริการแต่ละรายพยายามตัดราคากันเพื่อแย่งชิงลูกค้า กำลังจะเปลี่ยนไปเป็น “สงครามคุณภาพ”แทน โดยผู้เล่นที่เหลือจะหันมาเน้นพัฒนาคุณภาพบริการและบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
อย่างไรก็ดี เกิดผลกระทบทางตรงและทางอ้อมต่อผู้บริโภคโดยทั่วไปอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะตัวเลือกบริการยังคงมีให้เลือกใช้ทั่วประเทศ โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือ ไรเดอร์และร้านค้าที่เคยอยู่ในระบบของ Foodpanda ซึ่งจำเป็นต้องย้ายแพลตฟอร์ม
ทั้งนี้ ในส่วนนี้ LINE MAN Wongnai ได้เตรียมมาตรการรองรับอย่างรวดเร็ว โดยเปิดช่องทางให้ไรเดอร์สามารถเข้ามาสมัครเป็นพาร์ทเนอร์ได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ Foodpanda เคยให้บริการ เพื่อลดผลกระทบจากการว่างงาน
สำหรับร้านค้า ทาง LINE MAN ได้เปิดช่องทางพิเศษให้ร้านที่เคยอยู่บน Foodpanda สามารถเข้าร่วมขายบนแพลตฟอร์มได้ทันทีผ่านเว็บไซต์ พร้อมเงื่อนไขพิเศษเพื่อให้ร้านค้าปรับตัวได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ LINE MAN ยังได้เปิดตัวฟีเจอร์ใหม่อย่างการแปลภาษาอัตโนมัติแบบเต็มรูปแบบ เพื่อรองรับลูกค้าต่างชาติให้สั่งอาหารได้สะดวกมากยิ่งขึ้น
คำถามสำคัญ สภาวะ Duopoly จะส่งผลดีหรือผลเสียต่อผู้บริโภคในระยะยาวอย่างไร? และการแข่งขันที่เข้มข้นระหว่างผู้เล่นหลัก 2 รายจะทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่หรือไม่? หรืออาจนำไปสู่การร่วมมือกันกำหนดราคาและเงื่อนไขที่อาจไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค? ซึ่งประเด็นเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องติดตามกันต่อไป
เช่นเดียวกับปรากฏการณ์ Duopoly อื่นๆ ในวงการเทคโนโลยีที่ต้องมีการศึกษาและวิเคราะห์ถึงผลกระทบในหลายด้าน ยกตัวอย่าง กรณีของ Apple และ Google ซึ่งรายงานในปี 2567 ระบุว่าสหราชอาณาจักรกำลังหาทางใช้มาตรการใหม่ ในการสอบสวนการผูกขาดระบบเบราว์เซอร์เรียกดูเว็บไซต์บนอุปกรณ์มือถือระหว่าง Apple และ Google ซึ่งจะต้องมีการวิเคราะห์ถึงอนาคตของตลาด รวมถึงข้อดีข้อเสียที่จะเกิดขึ้นกับทั้งผู้บริโภคและอุตสาหกรรมอย่างเต็มรูปแบบ
อย่างไรก็ดี พฤติกรรมการบริโภคยุคใหม่เทรนด์Lazy Economy หรือ เศรษฐกิจของความขี้เกียจทำให้ผู้คนหันมาใช้เทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันมากขึ้น เป็นปัจจัยหนุนให้การสั่งอาหารผ่าน Food Delivery ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
รายงาน e-Conomy SEA 2024 ของ Google, Temasek และ Bain & Company ระบุว่า มูลค่าตลาดการขนส่งและบริการส่งอาหารออนไลน์ในไทย ปี 2567 อยู่ที่ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.32 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 6%
พอจะสรุปได้ว่าธุรกิจ Food Delivery ในประเทศไทย เป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโต แต่ก็ต้องเผชิญกับความท้าทายที่หลากหลาย ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าหากสายป่านไม่ยาวพอ สู้ไม่ไหวก็ย่อมเป็นพ่ายแพ้ในสมรภูมิแห่งนี้ แต่แม้ผู้เล่นในธุรกิจ Food Delivery จะลดลง แต่ภาพรวมตลาด Food Delivery ในไทยยังเติบโตราว 7% โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 1.2 แสนล้านบาท โดยคาดว่าปี 2568 ตลาดยังเติบโตได้ต่อเนื่องที่ 7%
ต้องติดตามว่าภูมิทัศน์ของสมรภูมิ Food Delivery กับการแข่งขันแบบ Duopoly ผูกขาดโดยผู้เล่น 2 รายใหญ่ “Grab” และ “LINE MAN” จะเปลี่ยนโฉมตลาด Food Delivery ไปในทิศทางใด.