xs
xsm
sm
md
lg

ครบ 1 ปี ไฟไหม้ วิน โพรเสส ... หลุมดำปัญหากากอุตสาหกรรม EP.3 ความเสียหายที่เกิดจากการ “ละเว้น” เป็นหน้าที่ “ชาวบ้าน” หรือ “รัฐ” ต้องเดือดร้อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



รายงานพิเศษ

อ่านประกอบ EP.1 “ไม่มีเงิน” หลุมดำที่กระทรวงอุตฯ ยังหาทางออกไม่เจอ

EP.2 หลุมดำความเสียหาย 1.7 พันล้าน “ไม่มี จนท.รัฐ” ผิด แม้แต่คนเดียว

“แม้จะมีข้อมูลและหลักฐานมากมายเกี่ยวกับพฤติกรรมที่น่าสงสัยของเจ้าหน้าที่รัฐ จากกรณีการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมที่โรงงาน วิน โพรเสส ... แต่นี่เป็นหนึ่งในกรณีที่ไม่เคยนำประเด็นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย เพราะเมื่อคำนวณถึงผลที่จะได้รับแล้ว อาจเป็นภาระที่มากเกินไปสำหรับผู้ได้รับผลกระทบ”


ชำนัญ ศิริรักษ์ ทนายความของชาวชุมชนหนองพะวา ต.บางบุตร อ.บ้านค่าย จ.ระยองซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากโรงงาน วิน โพรเสส ยืนยันว่า การตรวจสอบเพื่อเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐในฐานที่ปล่อยให้เกิดการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมจนสร้างความเสียหายในหลักนับพันล้านบาทเป็นสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้น แต่ควรจะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐเองมากกว่า

ทนายชำนัญ ซึ่งเป็นทนายความให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากกากอุตสาหกรรมแบบเดียวกันในอีกหลายกรณี เปิดเผยว่า ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากโรงงานกลุ่มรับกำจัดหรือบำบัดของเสีย (Waste Processor) ในทุกกรณี ต่างก็มีข้อร้องเรียนต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐทั้งสิ้น ตั้งแต่ขั้นตอนการออกใบอนุญาตจัดตั้งโรงงาน ขั้นตอนการกำกับดูแลที่ไม่มีประสิทธิภาพเพราะโรงงานบางแห่งไม่มีใบอนุญาต บางแห่งประกอบการเกินเลยไปกว่าใบอนุญาตก็ยังสามารถดำเนินการอยู่ได้ ไปจนถึงขั้นตอนการตรวจสอบและออกคำสั่งลงโทษ ซึ่งชาวบ้านมักจะมองว่า มักจะเป็นคำสั่งที่ส่งผลดีกับโรงงานมากกว่าด้วยซ้ำ

“ในกรณีของชาวหนองพะวากับโรงงาน วิน โพรเสส เราเห็นพฤติกรรมมากมายของเจ้าหน้าที่รัฐในหลายระดับที่ทำให้รัฐพลาดโอกาสที่จะยับยั้งความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากโรงงานไป ... ซึ่งมีอีกความหมายหนึ่งว่า ความเสียหายจากโรงงานที่รุนแรงขึ้นมาเรื่อยๆ มาจากการที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่ทำหน้าที่หยุดยั้งความเสียหายนั้น ทั้งที่มีข้อร้องเรียนจากชาวบ้าน มีหลักฐาน เห็นความผิดของโรงงานอย่างชัดเจนแล้ว”

“แต่สำหรับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ การจะเริ่มออกเดินทางเพื่อต่อสู้ด้วยกระบวนการยุติธรรม ชาวบ้านก็ต้องต่อสู้เพื่อเรียกร้องค่าชดเชยเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับพวกเขาไปแล้วก่อน ซึ่งก็คือ คดีทางแพ่ง ... โดยหวังว่า การดำเนินการในคดีทุจริต จะเป็นหน้าที่ที่หน่วยงานรัฐมองเห็นและดำเนินการไปด้วย ... แต่การสอบสวนการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐโดยหน่วยงานหรือกระทรวงต้นสังกัดเองไม่เคยเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีวิน โพรเสส หรือโรงงานอื่นๆก็ตาม ... เท่าที่เคยเห็นก็จะมีเพียงการดำเนินการตรวจสอบโดย ป.ป.ช. ซึ่งทราบว่าทำอยู่ แต่ก็เงียบหายไปนานมากแล้ว”
ทนายชำนัญ กล่าว

*****

ชำนัญ ศิริรักษ์




หากย้อนกลับไปดูตามลำดับเหตุการณ์ จะพบว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐมีโอกาสหลายครั้งที่จะหยุดยั้งไม่ให้เกิดความเสียหายขึ้นจากโรงงาน วิน โพรเสส ... แต่มันก็ไม่เกิดขึ้น

วิน โพรเสส มาตั้งที่ชุมชนหนองพะวา ตั้งแต่ปี 2554 พยายามขอใบอนุญาตจัดตั้งโรงงานเป็นโรงงานคัดแยกขยะหรือฝังกลบของเสียไม่อันตราย แต่ไม่ได้รับใบอนุญาต เพราะถูกชาวบ้านคัดค้าน ... แต่หลังจากนั้นก็มีรถขนส่งวิ่งเข้าออกโรงงาน

กระทั่งในปี 2557 มีน้ำเสียในชุมชนหนองพะวา และชาวบ้านมั่นใจว่ามีกลิ่นเหม็นออกมาจากโรงงาน กลิ่นรุนแรงจนไปกระทบกับการเรียนการสอนของโรงเรียนที่ตั้งอยู่ใกล้แหล่งน้ำที่เป็นทางน้ำต่อมาจากโรงงาน ชาวบ้านจึงรวมตัวกันนำรถแบคโฮไปขุดดินในพื้นที่ของโรงงาน จนพบการลักลอบฝังของเสียอันตราย

จากเหตุการณ์ลักลอบฝังของเสียอันตราย แทนที่ วิน โพรเสส จะถูกดำเนินคดี แต่กลับมีผลที่ตรงกันข้ามในอีก 3 ปี ต่อมา

มีนาคม 2560 วิน โพรเสส ที่สร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม กลับได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน 2 ใบพร้อมกัน คือ บดอัดกระดาษ และหล่อหลอมโลหะ ... จากนั้น ในเดือนกันยายน 2560

จากนั้น ... ก็มีของเสียอันตรายในรูปของเหลวถูกขนเข้ามาที่โรงงานในรูปแบบถัง 200 ลิตร และ 1,000 ลิตรอยู่ตลอด จนมีปริมาณนับพันนับหมื่นตัน ทั้งที่ของเหลวทั้งหมดนี้ ไม่มีความเชื่อมโยงใดๆเลยกับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานทั้ง 2 ใบ ที่โรงงานแห่งนี้มีอยู่






ผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตรของชาวหนองพะวาเริ่มเกิดขึ้น ที่เห็นได้ชัด คือ สวนยางพาราของนายเทียบ สมานมิตร ที่อยู่ติดกับรั้วโรงงานเริ่มให้น้ำยางน้อยลงและทยอยยืนต้นตาย ชาวบ้านร้องเรียนให้อุตสาหกรรม จ.ระยอง เข้าไปตรวจโรงงานหลายครั้ง มีรูปแบบการตั้งคณะกรรมการติดตามการแก้ปัญหา จนพบว่า วิน โพรเสส นำ “น้ำมันที่ใช้แล้ว” มาจัดเก็บไว้เป็นจำนวนมาก ทั้งที่ไม่สามารถมีของเสียชนิดนี้อยู่ในโรงงานได้ แต่แทนที่จะดำเนินคดีหรือสั่งปิดโรงงาน ... เจ้าหน้าที่อุตสาหกรรม จ.ระยอง กลับมีหนังสือคำสั่งเพียงแค่ว่า ... “ขอให้โรงงานปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย” .... ทั้งที่ไม่รู้ว่า จะปฏิบัติได้อย่างไร

เกิดการร้องเรียนอีกครั้งเมื่อเดือนมิถุนายน 2563 หลังพบว่า ในโรงงาน วิน โพรเสส ไม่มีเครื่องจักรแม้แต่ชิ้นเดียว แต่กลับมีถังบรรจุสารเคมีอยู่เต็มโรงงานรวมทั้งมีกากอุตสาหกรรมจำนวนมากอยู่ในถุงบิ๊กแบ็ก ... แต่เมื่ออุตสาหกรรม จ.ระยอง เข้าไปตรวจสอบ กลับออกเป็นคำสั่งให้โรงงาน “ปิด ปรับปรุง” ... ท่ามกลางคำถามจากชาวหนองพะวาว่า โรงงานที่ไม่มีเครื่องจักรเลย เป็นเหมือนถังขยะมากกว่าโรงงานด้วยซ้ำ จะปรับปรุงด้วยวิธีการใด

อีกหนึ่งตัวอย่างสำคัญ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2563 ซึ่งอุตสาหกรรม จ.ระยอง เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับวิน โพรเสส ฐานครอบครองวัตถุอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นครั้งแรก หลังเรื่องนี้กลายเป็นข่าวดังในหน้าสื่อสารมวลชน ... ทั้งที่มีข้อร้องเรียนจากชาวบ้านและตรวจพบมาตั้งแต่ 6 เดือนก่อนหน้านั้น โดยอุตสาหกรรม จ.ระยอง ณ ขณะนั้น ให้เหตุผลในการไม่ดำเนินคดีตั้งแต่ 6 เดือนก่อนว่า ต้องรอให้โรงงานนำใบอนุญาตครอบครองวัตถุอันตรายมาแสดง ทั้งที่เจ้าหน้าที่สามารถหาข้อมูลได้เองจากระบบคอมพิวเตอร์ในสำนักงานของตัวเองว่า โรงงาน มีใบอนุญาตครอบครองวัตถุอันตรายหรือไม่

เมื่อดำเนินคดีล่าช้า ... ความเสียหายจากการรั่วไหลของสารเคมี ก็ลากยาวต่อเนื่องไปอีก 6 เดือน

******






จากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ ทนายชำนัญ จึงมีความเห็นว่า มีข้อมูลเพียงพอแล้วที่หน่วยงานต้นสังกัดเองจะสามารถดำเนินการตรวจสอบว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ ไม่ควรรอให้เป็นหน้าที่ของผู้ได้รับผลกระทบ

“พฤติกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐเช่นนี้ อาจจะยังไม่สามารถสรุปได้ทันทีว่า เป็นการละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ ... ถ้าจะพิสูจน์ ก็ต้องอาศัยกลไกของ ป.ป.ช. แต่อย่างที่บอกไปแล้วว่า ไม่มีใครรู้ว่า ป.ป.ช.ดำเนินการไปถึงขั้นตอนไหนแล้ว”

“ถ้าไม่อยากรอ ป.ป.ช. แต่อยากฟ้องคดีทุจริต ชาวบ้านก็ต้องไปฟ้องตรงกับศาลอาญาคดีทุจริตด้วยตัวเอง ซึ่งผมเห็นว่ามีปัญหาคือ ชาวบ้านลำบากจากการได้รับผลกระทบอยู่แล้ว ฟ้องคดีแพ่งชนะก็ยังไม่ได้รับค่าชดเชยตามคำสั่งศาลแม้แต่บาทเดียว ยังจะต้องดิ้นรนไปฟ้องคดีทุจริตทำไม ต้องมาเสียค่าทนาย เสียเวลาเพิ่ม และถึงแม้ว่าศาลจะพิพากษาว่ามีการทุจริตจริง ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรกับชาวบ้าน ยังคงไม่ได้รับผลตอบแทนใดๆเลยอยู่ดี ... ดังนั้น เมื่อชาวบ้านหรือสื่อมวลชนได้ช่วยกันขุดคุ้ยและนำเสนอสู่สาธารณชนไปแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นต้นสังกัด หรือหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ก็ควรจะดำเนินการได้เอง”
ทนายชำนัญ ย้ำ

ส่วนอีกช่องทางหนึ่งที่ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบเคยทำไปแล้ว คือ การไปฟ้องศาลปกครองว่าเจ้าหน้าที่รัฐต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อความเสียหาย เพราะความเสียหายเกิดขึ้นจากการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่

ทนายชำนัญ เปิดเผยว่า คดีที่มีการร้องไปที่ศาลปกคครอง คือ กรณีโรงงานแวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล ที่ จ.ราชบุรี และโรงงานเอกอุทัย ที่ จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งผลการพิจารณาของศาลปกครอง ระบุว่า ให้หน่วยงานที่ถูกร้อง “กลับไปปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้อง” แต่ในคำพิพากษาไม่ได้สั่งลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐ

“คดีที่ไปศาลปกครอง แม้ว่า คำพิพากษาจะมีความหมายคล้ายกัน คือ สรุปว่า เจ้าหน้าที่รัฐเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความเสียหายขึ้น แต่ให้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับเจ้าหน้าที่รัฐต่างกันมาก เพราะศาลจะใช้คำว่า “ละเลย” ซึ่งหมายถึง เป็นการบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ ... ไม่ใช้คำว่า “ละเว้น” ซึ่งจะไปเข้าฐานความความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ... ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐ ไม่มีความผิด”

“เรายังอยากเห็นการตรวจสอบหรือสอบสวนเจ้าหน้าที่รัฐว่า “ทุจริตต่อหน้าที่หรือไม่” อยู่นะครับ ... แต่ถ้าดูช่องทางตามกระบวนการยุติธรรมแล้ว นี่คงไม่ใช่สิ่งที่ชาวบ้านหรือองค์กรพัฒนาเอกชนจะทำเองได้ ... กลไกรัฐเองต่างหาก ที่ต้องแสดงออกให้เห็นว่า จริงจังกับเรื่องนี้ ถ้าเจ้าหน้าที่ทำผิด ก็ต้องถูกลงโทษ”
ทนายชำนัญ ทิ้งข้อเสนอไว้ให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้รับไปพิจารณา




กำลังโหลดความคิดเห็น