ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ และ ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน เปิดศึกวิวาทะกันอีกรอบในวันพุธ(23เม.ย.) เกี่ยวกับความพยายามยุติสงครามที่ยืดเยื้อมานานกว่า 3 ปีในยูเครน โดยผู้นำอเมริกาตวาดใส่ เซเลนสกี ต่อกรณีที่ไม่ยอมรับรองการยึดครองไครเมียของรัสเซีย
เจดี แวนซ์ รองประธานาธิบดีของทรัมป์ บอกว่ามันถึงเวลาแล้วที่รัสเซีย และ ยูเครน ต้องเห็นพ้องกับข้อเสนอสันติภาพของสหรัฐฯ หรือไม่อย่างนั้น อเมริกา ก็จะถอนตัวออกจากกระบวนการนี้ จุดยืนที่เป็นไปในทิศทางเดียวกับคำเตือนของทรัมป์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ระหว่างให้สัมภาษณ์กับพวกผู้สื่อข่าวในอินเดีย แวนซ์บอกว่าข้อเสนอของสหรัฐฯ เรียกร้องให้ตรึงดินแดนแนวหน้า "ไว้ ณ ระดับใกล้เคียงกับที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน" และ "มีทางออกทางการทูตในระยะยาวหนึ่งๆ ที่หวังว่าจะนำไปสู่สันติภภาพในระยะยาว" นอกจากนี้แล้วเขายังระบุด้วยว่า "มีเพียงหนทางเดียวที่จะหยุดการเข่นฆ่าอย่างแท้จริง นั่นก็คือกองทัพทั้ง 2 ชาติต้องวางอาวุธ และตรึงสิ่งนี้ไว้"
อดีตเจ้าหน้าที่ตะวันตกรายหนึ่งซึ่งรับรู้เกี่ยวกับข้อเสนอของสหรัฐฯ ระบุว่าในข้อเสนอดังกล่าวยังเรียกร้องให้รับรองการผนวกไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งในดินแดนของรัสเซีย
นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งในเดือนมกราคม ทรัมป์ กลับหัวกลับหางนโยบายของสหรัฐฯที่มีต่อสงครามในยูเครน หันมากดดันให้เคียฟยอมตกลงในข้อตกลงหยุดยิงหนึ่งๆ ขณะเดียวกันก็ผ่อนแรงกดดันรัสเซีย ซึ่งเปิดฉากรุกรานยูเครนอย่างเต็มรูปแบบในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2022
เซเลนสกี เมื่อวันอังคาร(29เม.ย.) เน้นย้ำว่า ยูเครน จะไม่ยอมสละไครเมียให้รัสเซีย "จะไม่มีการพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องนั้น มันขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญของเรา"
ทรัมป์ ซึ่งโต้เถียงกับเซเลนสกี ระหว่างการพบปะหารือครั้งหายนะในห้องทำงานรูปไข่ของทำเนียบขาวเมื่อเดือนมีนาคม เรียกแถลงนี้ของผู้นำยูเครนว่า ทำให้เป็นเรื่องยากกว่าเดิมในการบรรลุสันติภาพ เขาบอกว่ายูเครนสูญเสียไครเมียไปตั้งแต่หลายปีก่อนแล้ว และมันไม่ใช่แม้กระทั่งเป็นประเด็นที่ต้องหยิบยกมาพูดคุย
"ไม่มีใครขอให้ เซเลนสกี รับรองไครเมียในฐานะดินแดนรัสเซีย แต่ถ้าเขาต้องการไครเมีย แล้วทำไมพวกเขาไม่สู้เพื่อมันตั้งแต่เมื่อ 11 ปีก่อน ตอนที่มันถูกส่งมอบแก่รัสเซีย โดยไม่มีการยิงกระสุนแม้แต่นัดเดียว" ทรัมป์เขียนบนทรัสต์โซเชียล
เซเลนสกี โพสต์ข้อความบนแพลตฟอร์มเอ็กซ์ในเวลาต่อมา ยอมรับว่าการเจรจาในลอนดอน ระหว่างพวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ยูเครนและยุโรป ในวันพุธ(23เม.ย.) เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก แต่แสดงความหวังว่าจะทำงานร่วมกันในอนาคตที่นำไปสู่สันติภาพ
เขาเน้นย้ำอีกครั้งว่ายูเครนจะยึดมั่นรัฐธรรมนูญ และแสดงความเชื่อมั่นว่าบรรดาพันธมิตรทั้งหลายของเคียฟ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ "จะดำเนินการตามกรอบการตัดสินใจต่างๆที่หนักแน่น"
โพสต์ของ เซเลนสกี ได้แนบปฏิญญาไครเมีย 2018 จาก ไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ครั้งที่ ทรัมป์ ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก ซึ่งระบุไว้ว่า "สหรัฐฯขอปฏิเสธความพยายามของรัสเซียในการผนวกไครเมียและสัญญาจะธำรงไว้ซึ่งนโยบายนี้ จนกว่าจะกอบกู้บูรณภาพดินแดนของยูเครน"
มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯคนปัจจุบัน ล้มแผนเดินทางไปร่วมประชุมในลอนดอน ทำให้ต้องยกเลิกการประชุมในวงกว้างกับบรรดารัฐมนตรีต่างประเทศจากยูเครน, สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส และ เยอรมนี ตอกย้ำให้เห็นว่ามีช่องว่างขนาดใหญ่ระหว่างวอชิงตันกับเคียฟและบรรดาพันธมิตรยุโรป เกี่ยวกับแนวทางยุติสงครามนี้
ทรัมป์ ซึ่งให้สัญญาระหว่างหาเสียงเลือกตั้ง ว่าจะยุติสงครามนี้ภายใน 24 ชั่วโมงแรกที่กลับสู่ทำเนียบขาว ดุด่าเซเลนสกีอีกรอบ และเน้นย้ำสหรัฐฯพยายามหยุดการเข่นฆ่าในยูเครน ในขณะที่ แคโรไลน์ ลีวิตต์ โฆษกทำเนียบขาวบอกกับพวกผู้สื่อข่าวว่า "ทรัมป์ผิดหวังกับความรวดเร็วของการเจรจา และดูเหมือนว่าเซเลนสกี กำลังเดินหน้าไปผิดทิศผิดทาง"
กองทัพรัสเซียบุกยึดแหลมไครเมียในปี 2014 ความเคลื่อนไหวที่เรียกเสียงประณามจากนานาชาติ
แหล่งข่าวหลายคนบอกว่าข้อเสนอจาก สตีฟ วิตคอฟฟ์ ทูตพิเศษของทรัมป์ ซึ่งเดินทางไปร่วมประชุมในลอนดอนแทนรูบิโอ ในนั้่นไม่ใช่แค่รับรองการผนวกแคว้นไครเมียของรัสเซีย แต่ยังรวมถึงการยอมรับการควบคุมของรัสเซียเหนือพื้นที่ต่างๆที่คิดเป็นสัดส่วนราวๆ 20% ของดินแดนยูเครน หลังเข้ายึดดินแดนเหล่านี้ระหว่างทำศึกสงคราม เช่นเดียวกับการปลดมาตรการคว่ำบาตรที่ตะวันตกกำหนดเล่นงานมอสโกและตัดความเป็นไปได้ที่ยูเครนจะเข้าเป็นสมาชิกนาโต
เมื่อวันอาทิตย์(20เม.ย.) ทรัมป์ เพิ่มแรงกดดันถาโถมเข้าใส่คู่สงคราม โดยแสดงความหวังว่ามอสโกและเคียฟจะสามารถบรรลุข้อตกลงหนึ่งๆในสัปดาห์นี้ เพื่อยุติความขัดแย้ง
นับตั้งแต่ ทรัมป์ แสดงความปรารถนาเป็นคนกลางสันติภาพในยูเครน และสร้างความประหลาดใจด้วยการต่อสายโทรศัพท์หาปูตินในเดือนกุมภาพันธ์ ทางฝั่งยุโรปพยายามดิ้นรนหาทางเดินหน้าสนับสนุนเคียฟในการรับมือกับมอสโก ขณะเดียวกันก็พยายามโน้มน้าวให้สหรัฐฯอยู่ฝ่ายเดียวกับพวกเขาต่อไป
ถ้อยแถลงร่วมจากสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศสและเยอรมนี ที่เผยแพร่ออกมาตามหลังการพุดคุยในลอนดอน ระบุว่าทุกฝ่ายเน้นย้ำแรงสนับสนุนอย่างแข็งขันต่อคำมั่นสัญญาของทรัมป์ ที่จะหยุดการเข่นฆ่า และบรรลุเป้าหมายสันติภาพที่ยั่งยืน พร้อมบอกต่อว่า "มีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญในการบรรลุจุดยืนร่วมกันในก้าวย่างถัดไป และทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันให้ยังคงประสานงานใกล้ชิด และตั้งตาคอยการเจรจาเพิ่มเติมเร็วๆนี้"
(ที่มา:รอยเตอร์)